วิจารณ์หนังสือกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลของพระยาศรีวิศาลวาจา


พระยาศรีวิศาลวาจาได้รับอิทธิพลจากตำรากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลของฝรั่งเศส
หนังสือกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลที่อ่านมีชื่อว่า กฎหมายระวางประเทศแผนกคดีบุคคล เขียนโดยพระยาศรีวิศาลวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) พิมพ์ในงานฝังศพนางคำ ฮุนตระกูล เมื่อปีมะเมีย พ.ศ.2473 พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร หนังสือไม่มีสารบัญ ไม่มีบรรณานุกรม และผู้เขียนมิได้แยกเป็นบทเป็นตอน แต่ได้เขียนต่อเนื่องกันไป โดยเนื้อหาในหนังสือได้กล่าวถึงปัญหา 4 ประการของกฏหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล คือ 1.เรื่องสัญชาติ ผู้เขียนได้นิยามความหมายของคำว่าสัญชาติ คือ เครื่องมัดโดยนิตินัยที่ผูกพัน บุคคลไว้กับประเทศ โดยที่กฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นคือ พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2456 ซึ่งตามความในมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.นี้ ได้บัญญัติว่า คนไทย คือ (1)บุคคลผู้ได้กำเนิดแต่บิดาเป็นคนไทย แม้เกิดในพระราชอาณาจักร์สยามก็ดี เกิดนอกพระราชอาณาจักร์ก็ดี (2)บุคคลผู้ได้กำเนิดแต่มารดาเป็นคนไทย แต่ฝ่ายบิดาไม่ปรากฏ (3)บุคคลผู้ได้กำเนิดในพระราชอาณาจักร์สยาม (4)หญิงต่างด้าวผู้ได้ทำงานสมรสกับคนไทยตามกฏหมายประเวณี (5)คนต่างประเทศผู้ได้แปลงชาติมาถือเอาสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติ ส่วนความตกลงกับต่างประเทศในเรื่องสัญชาติที่ประเทศสยาม(ไทย)ได้ทำขึ้นกับนานาประเทศนั้น มีอยู่ 3 ฉบับที่มีบทบัญญัติว่าด้วยการถือสัญชาติในอาณาเขตต์สยาม คือสัญญากับอังกฤษ ฝรั่งเศส และเดนมาร์ก 2.เรื่องฐานะของคนต่างด้าว ผู้เขียนได้อธิบายว่า โดยทั่วไปคนต่างด้าวในกรุงสยามย่อมได้รับการปฏิบัติเสมอเหมือนกับคนไทย ยกเว้นสิทธิเกี่ยวกับการเมือง แต่เนื่องจากการเคยมีสภาพนอกอาณาเขตต์ในกรุงสยาม คนต่างด้าวบางจำพวกยังมีเอกสิทธิเฉพาะกาลเกี่ยวกับการศาลในประเทศสยาม 3.เรื่องกฎหมายขัดกัน ผู้เขียนได้อธิบายว่า กฎหมายขัดกันมิได้แปลว่ากฎหมายของประเทศต่างๆขัดขืนต่อกัน แต่เป็นกรณีที่จะพึงเอากฎหมายของประเทศต่างๆมาปรับใช้ได้ในคดีอันเดียวกัน ถ้าคดีที่เกิดขึ้นมีลักษณะต่างประเทศปะปนกันอยู่ ผู้เขียนยังได้กล่าวถึงเรื่องของฐานะและความสามารถของบุคคล บุคคลที่มีสองสัญชาติในเวลาเดียวกัน บุคคลที่ไม่มีสัญชาติ บุคคลที่แปลงชาติ การสมรส ความสามารถ อสังหาริมทัพย์ มรดก สังหาริมทรัพย์ และสัญญา เป็นต้น 4.เรื่องคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ผู้เขียนได้กล่าวถึงนานาประเทศจะรับรู้คำพิพากษาที่ศาลนอกอาณาเขตต์ ได้ตัดสินดังนี้ (1)โดยศาลในอาณาเขตต์บังคับให้มีผลดุจเดียวกันกับคำพิพากษาของตน ซึ่งศาลประเทศทางคอนติเนนต์(ภาคพื้นยุโรป)ใช้วิธีนี้ (2)โดยถือว่าคำพิพากษานั้นเป็นหลักฐานแห่งกำเนิดของหนี้ ซึ่งศาลอังกฤษ สหรัฐอเมริกา รวมทั้งศาลสยาม(ไทย)ใช้วิธีนี้ (3)โดยถือว่าคำพิพากษานั้นเป็นหลักฐานแห่งหนี้เดิมที่เป็นมูลโต้เถียงกัน ซึงศาลบางประเทศเช่น สเปน สวีเดน และนอร์เวย์ ใช้วิธีนี้ จากการที่หนังสือกฎหมายระวางประเทศแผนกคดีบุคคลของพระยาศรีวิศาลวาจา ได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 เรื่องดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่า พระยาศรีวิศาลวาจาได้รับอิทธิพลจากตำรากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลของฝรั่งเศส เพราะผู้เขียนได้จัดเรื่องสัญชาติและคนต่างด้าวไว้ในหนังสือด้วย ซึ่งแตกต่างจากตำรากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลของประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ซึ่งจะไม่จัดเรื่องสัญชาติและคนต่างด้าวไว้ในขอบข่ายของวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลเลย โดยเห็นว่าเรื่องทั้งสองไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกใช้กฎหมายต่างประเทศ แต่กลับตกอยู่ในขอบเขตของกฎหมายปกครองซึงเป็นกฎหมายภายในของรัฐ ดังนั้น ตำรากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลของชาติต่างๆส่วนใหญ่ จึงกล่าวถึงเฉพาะเรื่องกฎหมายขัดกันและเรื่องการรับรองและการบังคับคำพิพากษาเท่านั้น ยกเว้นตำราของประเทศฝรั่งเศสและไทย
หมายเลขบันทึก: 48710เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2006 20:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท