คนทำฮอ
นาวาอากาศโท สมเกียรติ ฮุ้นสกุล

To know the IT...Intelligence Technology


รู้เขารู้เราในยุคไอที...สู่ปัญญานำเทคโนโลยี

     ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ปัญหาสำคัญที่มักพบกันอยู่เป็นประจำ คือ ความกลัวเทคโนโลยี (technophobia) เพราะบางครั้งเทคโนโลยีมักเป็นสิ่งใหม่ๆ ที่เรายังไม่คุ้นเคย เสมือนเป็นคนแปลกหน้าหรือบางทีใช้ไม่เป็นบ้าง ทำให้เกิดความยุ่งยากในการใช้งาน นอกจากนี้เทคโนโลยีมักเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนบางครั้งเราเองก็ตามไม่ทัน

     อ.ดร.ปรัชญานันท์ฯ ท่านไปออสเตรเลียมาท่านเล่าให้ฟังว่า "เมื่อก่อนเวลาเราจะขึ้นเครื่องบินต้องนำตั๋วเครื่องบินไปติดต่อกับพนักงานที่เคาน์เตอร์เพื่อออกบัตรที่นั่งให้ ปัจจุบันที่สนามบินมีการอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร โดยการติดตั้งเครื่องเช็คอินอัตโนมัติ เพื่อให้ผู้โดยสารออกบัตรที่นั่งโดยใช้เครื่องนี้ได้เองแถมท่านยังค้นหาสถานที่ที่ท่านจะไปสามารถดูได้จาก google ซึ่งเป็นภาพเสมือนจริง สะดวกสบาย" แต่เรื่องการจองตั๋วออกบัตรด้วยตนเองยังไม่เป็นที่นิยมนักเพราะความกลัวในเทคโนโลยีทำให้เราไม่กล้าที่จะรับสิ่งใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ ซึ่งเทคโนโลยีนั้นมีทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์เช่นกัน

     สาเหตุที่เทคโนโลยีสารสนเทศได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็วมาจากประโยชน์ที่ได้รับอย่างกว้างขวางทั้งในด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผล คือ ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เกิดการได้เปรียบในการแข่งขัน และยังช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีก็เหมือนกับเครื่องมืออื่นๆ ที่นอกเหนือจากจะมีผลดีแล้วยังมีผลเสียด้วยเช่นกัน คือ ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ โรคเครียดจากเทคโนโลยี ขาดทักษะในทางสังคม ปัญหาด้านจริยธรรม ฯลฯ

     Roger (Roger's Diffusion of Innovation) ได้จำแนกมนุษย์ไว้ 5 ประเภท คือ

     1) Innovators คือ เป็นนักเทคโนโลยี 2.5%

     2) Early Adopters คือ พวกยอมรับ 13.5%

     3) Eary Majority คือ กลุ่มจำเป็นต้องใช้ 34%

     4) Late Majority คือ พวกใช้ก็ใช้แต่หลังชาวบ้านเขา 34% และ

     5) Laggards คือ กลุ่มไม่รับเทคโนโลยี 16% เป็นพวกที่มีคอมพิวเตอร์ให้ใช้แต่ยังจะใช้เครื่องพิมพ์ดีดอยู่ มีเครื่องคิดเลขก็ไม่เอาจะเอาลูกคิด

     พระพรหมคุณาภรณ์ ท่านจำแนกมนุษย์ในสังคมไทยเราที่มีความสัมพันธ์กับเทคโนโลยีไว้ 4 ประเภท คือ

     1) พวกตื่นเต้น  เป็นพวกชอบเสพของใหม่ๆแปลกๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าวสารหรือเทคโนโลยี แต่การรับรู้เรื่องราวต่างๆ เป็นไปอย่างผิวเผิน พวกนี้จะรู้ว่ามีกล้องดิจิทัลรุ่นใหม่ออกมา หรือมีมือถือสามรถถ่ายรูปได้ชัด แต่ห้ามถามรายละเอียดเพราะจะไม่ทราบทั้งนี้ก็เพราะฟังต่อมาจากคนอื่นอีกที เราจะพบคนกลุ่มนี้มาก

     2) พวกตามทัน พวกนี้ดีกว่าตื่นเต้น คือ มีข่าวสารข้อมูลอะไรก็ตามทันหมด เกิดอะไร ที่ไหน เมื่อไร รู้หมด แต่ไม่เข้าถึงความจริง เช่นไม่รู้ว่ามีคุณและโทษอย่างไร เหตุปัจจัยเป็นอย่างไร

     3) พวกรู้ทัน นอกจากตามทันแล้ว ยังเข้าใจและเท่าทันว่าเป็นมาอย่างไร มีข้อดีหรือข้อจำกัดอย่างไร จะมีท่าทีอย่างไร เช่น พวกนี้จะทราบดีว่าใช้มือถือมากอาจมีผลต่อสมองอย่างไรบ้าง ควรใช้มากน้อยแค่ไหน ไม่ได้ใช้เพื่อความโก้เก๋

     5) พวกอยู่เหนือมัน พวกนี้ยิ่งกว่ารู้ทัน คือ อยู่เหนือกระแส เป็นพวกที่บริหารจัดการได้ จัดการกับกระแสได้ เป็นพวกที่สามารถใช้การเปลี่ยนแปลงให้เป็นประโยชน์และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง พวกนี้จะไม่ตามกระแสแฟชั่นของเทคโนโลยี หากกระแสที่มีอยู่สร้างผลเสียก็จะนำสิ่งที่ดีกว่า ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมมาใช้ เช่นการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบ้านเรา

     เป็นไงครับท่านอ่านแล้วท่านเข้าข้อไหนของ Roger หรือเข้าข้อไหนของหลวงพ่อพระพรหมคุณาภรณ์ผู้เป็นปราชญ์ด้านสงฆ์ของบ้านเรา...การพัฒนาเยาวชนคนในชาติจะต้องไม่เริ่มจากวัตถุ แต่ควรเริ่มจากการสร้างความใฝ่รู้ สร้างวัฒนธรรมแบบวิทยาศาสตร์ มีความอุตสาหะ สู้สิ่งยาก จะได้เป็นพื้นฐานและภูมิต้านทาน เพื่อจะได้ไม่มุ่งบริโภคเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว และเทคโนโลยีสารสนเทศต้องอยู่ภายใต้วัฒนธรรมแห่งปัญญา...นั่นคือการพัฒนาคนให้เหนือเทคโนโลยี...ไม่ตกเป็นทาสเทคโนโลยี...When good ideas come to you, file them is boxes or folders according to categories...เมื่อเกิดความคิดดีๆ แต่ยังไม่มีโอกาสลงมือทำ อย่าละเลยที่จะจดความคิดนั้นไว้ คราที่เหมาะสมก็นำความคิดดีๆ นั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำงานได้ครับ.

คำสำคัญ (Tags): #To know the IT...Intelligence Technology
หมายเลขบันทึก: 487097เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 05:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 09:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท