รู้และเข้าใจการสอน อีกมุมหนึ่ง 3 จบ ชาตรี สำราญ


จะทำอย่างไรที่จะให้ผู้เรียน สามารถเรียนรู้ลักษณะกระบวนการเหล่านี้ได้ ตรงตามสถานะของผู้เรียนแต่ละกลุ่มแต่ละคนได้

บทที่  ๓

  

                ในบทที่  2  ก่อนจะจบบทนั้นผมได้กล่าวว่า เวลาเราวิเคราะห์มาตรฐานช่วงชั้นนั้น  เราต้องวิเคราะห์ออกมาให้เห็นภาพชัดเจนว่า จะให้ใคร ทำอะไร แค่ไหน อย่างไร เพราะสิ่งเหล่านี้จะผูกพันไปถึงการตั้งจุดประสงค์การเรียนรู้  การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ต่อ ๆ ไปจนถึง กิจกรรมการเรียนรู้และสาระการเรียนรู้

                ในมาตรฐานช่วงชั้นนั้น  มักจะกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ไว้ชัดเจน  หรือกล่าวอีกมุมหนึ่งว่า  “มาตรฐานช่วงชั้นจะกำหนด ทักษะกระบวนการเรียนรู้ไว้ชัดเจน  พร้อม ๆ กับ กำหนดสถานการณ์เรียนรู้ไว้ด้วย”  เช่น

         

            “สังเกต  สำรวจ  ตรวจสอบ  เปรียบเทียบ  ความแตกต่างระหว่างมีสิ่งมีชีวิตกับสิ่งไม่มีชีวิต  โครงสร้างและหน้าที่ของโครงสร้างต่างๆ  ของพืชและสัตว์ในท้องถิ่น ที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน”

 

                ลองพิจารณาดูให้ดีว่า  ทักษะกระบวนการเรียนรู้ที่กำหนดให้นั้น จะมีความเนื่องต่อกันอย่างลูกโซ่  ที่ผู้สอนจะต้องฝึกฝนผู้เรียนให้คนรอบคอบ คือจะต้องเป็นนักสังเกตที่ลุ่มลึกไม่ใช่มองผ่าน ๆ อย่างผิวเผิน  ต้องเพียรพินิจเจาะลึก  สำรวจ ตรวจสอบ แล้วนำผลมาเปรียบเทียบ ระหว่างกันเพื่อที่จะหาว่า

  1. สิ่งที่เราเรียนรู้อยู่นั้นมีสิ่งใดร่วมกันบ้าง
  2. สิ่งที่มาร่วมกันนั้น มีจุดใดที่สำคัญมากที่สุด
  3. สิ่งที่มาร่วมกันนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง
  4. สิ่งที่มาร่วมกันนั้นมีหลักเกณฑ์  หลักการอะไรร่วมกันบ้าง

นั่นคือ ทักษะที่แฝงเข้ามาในทักษะการสำรวจ การสังเกต การตรวจสอบ  การเปรียบเทียบ โดยเฉพาะสองทักษะหลังนี้ ประเด็นคำถามทั้ง  4  ข้อ นั้นสามารถนำมาใช้ได้ นั่นคือ ผู้เรียนจะต้องดึงทักษะการวิเคราะห์มาพินิจพิจารณาข้อมูลที่ได้มาทั้งหมด  ถอดรหัสออกว่า มีอะไรร่วมกันบ้าง  นำมาเปรียบเทียบให้เกิดความชัดเจน  สร้างหลักเกณฑ์และหลักการพิจารณาให้ชัด  เมื่อได้ข้อมูลมา สามารถนำมาสังเคราะห์ จัดหมวดหมู่ สรุปเป็นตำราวิชาการของผู้เรียนที่เขียนมาด้วยตนเองได้

                ส่วนเรื่องราวที่นำมาเรียนรู้นั้น เรียกว่า สถานการณ์ หมายความว่า ทั้ง  4  ทักษะคือ การสังเกต  สำรวจ  ตรวจสอบ  เปรียบเทียบนั้นผู้เรียนจะต้องเรียนรู้ในสถานการณ์ของเรื่องสิ่งมีชีวิตกับสิ่งไม่มีชีวิต  ที่จะต้องดูให้ลึกถึงสถานการณ์ของ

     ความแตกต่าง

   โครงสร้าง

    หน้าที่ของโครงสร้าง

ของพืชและสัตว์ในท้องถิ่นที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต  ในสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน

                นั่นหมายถึงว่า  ในสถานการณ์(เรื่องนั้น  ผู้เรียนจะต้องใช้กลวิธีเรียน ที่จะสามารถสืบค้นข้อมูลมาได้โดยการสังเกต  สำรวจ ได้มาแล้วต้องตรวจสอบ แล้วนำข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบเรียบร้อยแล้วมาเปรียบเทียบ เมื่อได้ผลสรุปมาก็ดำเนินการวิเคราะห์  สังเคราะห์  สรุปเป็นองค์ความรู้  จัดทำเป็นตำราเรียนเขียนด้วยผู้เรียน “เอง”

                องค์ความรู้ใหม่นั้น หมายถึง การที่ผู้เรียนไปสืบค้นข้อมูลความรู้ด้วยทักษะการเรียนรู้ ที่ตนถนัดหรือที่ได้รับการมอบหมายแล้วนำข้อมูลความรู้นั้น วิเคราะห์  เจาะลึกเรื่องราวสนใจใคร่รู้  แล้วนำมาสังเคราะห์ข้อมูลความรู้เหล่านั้น   จนกระทั่งเกิดอาการลุกโพลง ขึ้นเป็นปัญญาของผู้เรียน  ตัวลุกโพลงที่เป็นปัญญาของผู้เรียนนี่แหละ คือ ความรู้ใหม่หรือองค์ความรู้ของผู้เรียนคนนั้น  ไม่ใช่มาจากการบอก  จด  จำ แต่มาจากการกระทำด้วยตนเองจริง ๆ  จนรู้อย่างแจ่มแจ้งเฉพาะตน  เป็นความรู้ใหม่ที่ซ้อนทับกับความรู้เดิมที่มีอยู่  กลายเป็นว่าผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องราวใหม่ ๆ ที่ต่อยอดออกมาจากเรื่องราวความรู้เดิมที่ตนมีอยู่ก่อนแล้ว  เมื่อเป็นอย่างนี้ ผู้เรียนก็จะเป็นผู้รู้จริง ๆ จะสามารถอธิบายได้ว่า

                1.  สิ่งที่รู้เพิ่มขึ้นมากับความรู้เดิมที่มีอยู่แล้วนั้น  มีสิ่งใดที่ร่วมกันบ้าง ร่วมกันอย่างไร

                2.  สิ่งที่ร่วมกันนั้น มีจุดสำคัญตรงไหน  แบบใด

                3.  สิ่งที่หรือข้อมูลเดิมกับข้อมูลใหม่ที่เราเรียนรู้ได้นั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง

                4.  สิ่งที่มาร่วมกันนั้นมีอะไรเป็นหลักเกณฑ์และหลักการร่วมกัน

มาถึงตอนนี้ เราจะเห็นได้ว่า ตลอดเวลาที่มีการเรียนรู้มีทักษะหนึ่งที่ผู้เรียนจะต้องนำใช้ตลอดเวลา  คือ ทักษะการวิเคราะห์ ผมคิดว่า ทักษะนี้เราต้องฝึกฝนให้เป็นนิสัยการเรียนรู้ ของผู้เรียน

                ผมได้ลองเก็บข้อมูลทักษะการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้รับการกำหนดให้เรียนรู้ในมาตรฐานช่วงชั้นที่ 1-3 ในสาระวิชาวิทยาศาสตร์อย่างคล่าว ๆ ดังนี้

                ทักษะการสังเกต  ทักษะการสำรวจ  ทักษะการสืบค้น  ทักษะการทดลอง  ทักษะการเปรียบเทียบ  ทักษะการตรวจสอบ  ทักษะการอภิปราย  ทักษะการอธิบาย

                ทักษะการวิเคราะห์  ทักษะการสังเคราะห์  ทักษะการประเมินค่า  ทักษะการนำใช้  ทักษะการจัดกลุ่ม  ทักษะการบันทึกข้อมูล  ทักษะการตั้งคำถาม  ทักษะการวางแผน  ทักษะการสร้างสถานการณ์

                ทักษะกระบวนการเรียนรู้ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้  เป็นสิ่งจำเป็นที่คุณครูจะต้องฝึกฝนให้ผู้เรียนเรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง  สามารถนำใช้ในชีวิตจริงได้จริง ๆ  คุณครูจะต้องฝึกฝนจนผู้เรียนเกิดความช่ำชอง สามารถนำทักษะหนึ่งทักษะใดมาใช้ในชีวิตจริงได้ตรงกับสถานการณ์นั้น ๆ 

                ทักษะกระบวนการเหล่านี้  ผู้เรียนสามารถนำไปใช้เฟ้นหาความรู้ที่ตนต้องการได้

                โลกปัจจุบันนี้  ความรู้มีอยู่มากมาย  เรียนรู้ได้ไม่หมด  และความรู้นั้นเกิดใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ  ถ้าหากผู้เรียนมีความสามารถในการนำทักษะการเรียนรู้มาใช้เฟ้นหาความรู้ตามที่ตนต้องการได้ก็เหมือนกับแพทย์แผนโบราณเดินเข้าไปในป่าสมุนไพร  โดยที่ตนมีความรู้ความชำนาญ ด้านการเลือกใช้ตัวยาสมุนไพรจากพืชในป่าเหล่านั้นจะสามารถนำมาเลือกเด็ด  ดึงต้นยามาใช้ได้ตรงกับโรค  ได้ตรงกับจุดประสงค์

                มาถึงตรงนี้ก็จะมีคำถาม ถามว่า “จะทำอย่างไรที่จะให้ผู้เรียน  สามารถเรียนรู้ลักษณะกระบวนการเหล่านี้ได้ ตรงตามสถานะของผู้เรียนแต่ละกลุ่มแต่ละคนได้”  คำถามนี้มีความสำคัญมาก สำหรับคุณครูและพ่อแม่ผู้ปกครอง เพราะถ้าสามารถฝึกฝนให้เยาวชนของชาติรู้วิธีการเรียนรู้ได้จริงแล้ว  ก็เท่ากับจัดการกับชีวิตการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ครึ่งหนึ่งและนั่นหมายถึงว่า จำเป็นแล้วที่จะต้องฝึกให้ลูก  หลาน  ลูกศิษย์ของเรา  เรียนรู้วิธีการเรียนรู้

                การที่จะฝึกให้ผู้เรียนเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ได้นั้น ผู้สอนต้องตอบคำถามได้ว่า  จะรู้เพียงใด  อย่างไร  ตรงนี้สำคัญมาก  เพราะความชัดเจนของระดับการเรียนจะส่งผลสู่ความชัดเจนของระดับการวัดประเมินผล

                ผมเองนั้นได้ออกแบบการวิเคราะห์ตัวบ่งชี้ของกิจกรรมการเรียนรู้หรือวิธีการเรียนรู้ แต่ละตัว  แต่ละระดับเอาไว้  ซึ่งในที่นี้จะยกตัวอย่างให้ดูเพียงตัวอย่างเดียว คือ

 

ตารางที่  3   ตัวบ่งชี้ของพฤติกรรมการเรียนรู้ทักษะการสังเกต

 

ชั้น ป.1

ชั้น ป.2

ชั้น ป.3

ดู แล้วสอบถามชื่อ
    ของสิ่งที่ดู

ดู อย่างพิจารณา
   เปรียบเทียบความ
   สูง –ใหญ่ เล็ก-
   บาง-หนา หรือ
   รูปร่างลักษณะ
   ของสิ่งนั้น

ดู ความแตกต่าง
   ของสิ่งที่ตั้งใจดู

ดู สภาพที่อยู่อาศัย
   ลักษณะที่ตั้งของ
   สิ่งนั้น

นำสิ่งที่ตั้งใจดูมาบอกเล่า/วาดรูปหรือนำภาพถ่ายมานำเสนอ

ตั้งใจดู สิ่งทีกำหนดให้แล้วสืบค้นชื่อของสิ่งนั้น

ตั้งใจดู ลักษณะรูปร่าง ความต่าง-เหมือนของสิ่งนั้น

ตรวจวัด ลักษณะรูปร่าง ความแตกต่างของสิ่งนั้น

ตรวจดูอย่างตั้งใจ ถึงที่อยู่  ที่ตั้ง ลักษณะที่อยู่ ที่ตั้งของสิ่งนั้น

ตรวจและแยกแยะ ความเหมือน – ต่าง พร้อมบอกหลักเกณฑ์ หลักการการแยกแยะ นำบันทึกข้อมูลที่เรียนรู้ มานำเสนอ

วางแผนการสังเกต ปฏิบัติงานตามแผนด้วยความตั้งใจดู

-ลักษณะความเป็นอยู่

-ความเหมือน-ต่างกัน

-กำหนดหลักเกณฑ์ หลักการการพิจารณาลักษณะความเหมือน-ต่างกันของสิ่งนั้น

-นำข้อมูล คุณลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้นที่ตรวจสอบจากแหล่งความรู้เดิมมาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ตั้งใจดูมา นำมาอภิปรายหาข้อสรุปร่วม จัดทำเป็น “หนังสือเรียนเขียนด้วยเด็ก” และนำเสนอต่อผู้เชี่ยวชาญ

 

ชั้น ป. 4,5,6

วางแผนการสำรวจ  ปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ นำผลการปฏิบัติมาร่วมอภิปราย สรุป ตั้งคำถามใหม่ เพื่อจะตรวจสอบ และหาข้อมูลเพิ่มเติม  ดำเนินการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม  ตอบคำถามที่ตั้งไว้ใหม่  นำผลการเรียนรู้มาร่วมอภิปราย สรุป  ถ้าข้อมูลความรู้เป็นที่พอใจ  เขียนเป็นตำราวิชาการของการค้นพบใหม่ มีการอ้างอิงความรู้เดิมจากแหล่งเรียนประกอบการเขียน  ถ้ายังไม่พอใจ ตั้งคำถามและดำเนินการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจนเป็นที่น่าพอใจ

 

 

                จะเห็นได้ว่า ตัวบ่งชี้ถ้าลงรายละเอียดปลีกย่อยได้มากเท่าไร  จะเป็นผลดีต่อการนำมาสร้างเครื่องมือวัดและประเมินผล กับจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและรวมถึงการสร้างจุดประสงค์การเรียนรู้ที่จะสอดรับซึ่งกันและกัน

                มีข้อน่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง  ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ของผมเอง คือ พฤติกรรมการเรียนรู้  หรือทักษะการเรียนรู้หนึ่งใดนั้น ถ้าหมั่นฝึกฝนจนรู้ลึก  รู้จริงแล้ว เมื่อนำใช้ค้นหาความรู้จะได้ข้อมูลความรู้ที่ลึกซึ้ง  กว้างขวางและละเอียดอ่อนกว่าผู้ที่ขาดทักษะการเรียนรู้  หรืออ่อนเชิงต่อทักษะการเรียนรู้นั้น ๆ

                เวลาที่คุณครูจะเขียนตัวบ่งชี้หรือจุดประสงค์การเรียนรู้หรือประเด็นการวัดและประเมินผล คุณครูควรชำเลืองดู หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานก่อนว่า ได้กำหนดจุดเน้น แต่ละช่วงชั้นว่าอย่างไรบ้าง เช่น

                “ช่วงชั้นที่ 1 และ 2 ........มุ่งเน้นให้ผู้เรียนพัฒนาคุณภาพชีวิตกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม  ทักษะพื้นฐานด้านการอ่าน การเขียน  การคิดคำนวณ  การคิดวิเคราะห์  การติดต่อสื่อสารและพื้นฐานความเป็นมนุษย์  เน้นการบูรณาการอย่างมีสมดุล ทั้งในด้านร่างกาย สติปัญญา  อารมณ์  สังคมและวัฒนธรรม”

 (หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2544 : 3 )

                “ช่วงชั้นที่ 3 ......มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสำรวจความสามารถ  ความถนัด  ความสนใจของตนเอง และพัฒนาบุคลิกภาพส่วนตน  พัฒนาความสามารถทักษะพื้นฐานด้านการเรียนรู้  ความคิด ความสามารถ  ความดีงามและรับผิดชอบต่อสังคม  สามารถสร้างเสริมสุขภาพส่วนตนและชุมชน  มีความภูมิใจในความเป็นคนไทย ตลอดจนใช้เป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพหรือศึกษา   ต่อ…..” 

(หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  2544 : 10)  

โดยที่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน : 2544  ได้วางแนวการจัดการเรียนรู้แต่ละช่วงชั้นไว้ว่า

                “ช่วงชั้นที่ 1 ......สถานศึกษาต้องจัดการเรียนรู้ให้ครบทุกกลุ่มสาระในลักษณะการบูรณาการที่มีภาษาไทยและคณิตศาสตร์เป็นหลัก  เน้นการเรียนรู้ทางสภาพจริง  มีความสนุกสนาน ได้ปฏิบัติจริง เพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์  ทักษะพื้นฐานการติดต่อสื่อสารในการคิดคำนวณ  การคิดวิเคราะห์  พัฒนาลักษณะนิสัยและสุนทรียภาพ...”

( หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน : 2544 : 22 )

            “ช่วงชั้นที่  2......มุ่งเน้นทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม  การสอนแบบบูรณาการ  โครงงาน การใช้หัวเรื่องในการจัดการเรียนการสอน หรือมุ่งให้ผู้เรียนเกิดทักษะในการคิด  การค้นคว้าหาความรู้ สร้างความรู้ด้วยตนเอง  สามารถสร้างสรรค์ผลงานแล้วนำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น

( หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน : 2544 : 22 )

            “ช่วงชั้นที่ 3....ควรเน้นการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานมากขึ้น  เพื่อมุ่งให้ผู้เรียนเกิดความคิด  ความเข้าใจและรู้จักตนเองในด้านความสามารถ  ความถนัด  เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพ....”

( หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน : 2544 : 23 )

และในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้นั้น  หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานก็ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า

                “....การวัดและประเมินผลระดับชั้นเรียน มีจุดมุ่งหมายสำคัญของการประเมินระดับชั้นเรียน คือ มุ่งหาคำตอบว่า ผู้เรียนมีความก้าวหน้าทั้ง

                ด้านความรู้

                ทักษะกระบวนการ

                คุณธรรมและค่านิยมอันพึงประสงค์  อันเป็นผลเนื่องมาจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ หรือไม่เพียงใด.....

                ....ดังนั้น การวัดและประเมินจึงต้องใช้วิธีการที่หลากหลาย  เน้นการปฏิบัติให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสาระการเรียนรู้  กระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนและสามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปในกิจกรรมของผู้เรียน...”

( หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน : 2544 : 24-25 )

 

                ถ้าหากคุณครูอ่านจุดเน้น และแนวทางการจัดการเรียนรู้ ที่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดไว้ โดยใช้ดุลยพินิจ พิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้วจะเห็นว่า

                จุดประสงค์การเรียนรู้

                การวัดและประเมินผล

                กิจกรรมการเรียนรู้

จะต้องลงสู่คลองเดียวกัน จึงจะไปกันได้ ดังนั้น ทุกครั้งที่คุณครูจะสอบ คุณครูจะต้องจัดกิจกรรมนำสอนก่อน สอนจนผู้เรียนรู้และเข้าใจแล้วจึงจะสอบ แต่ทั้งนี้ไม่ใช่นำข้อสอบมาสอน แต่หมายถึงว่า เรื่องที่สอนนั้น ผู้เรียนจะต้องเรียนรู้มาก่อน  ไม่ใช่สอนอย่างหนึ่งแต่สอบอย่างหนึ่ง เพราะการสอบและการสอน ซ่อนอยู่ข้างในเป็นหนึ่งเดียวนั่นคือ

                ทุกครั้งที่สอนจะต้องมีการสอบ

                ทุกครั้งที่สอบจะต้องมีการสอน

 

  อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ https://docs.google.com/docume...

หมายเลขบันทึก: 486998เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2018 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท