เรื่องเล่าจากผู้อพยพเชื้อสายไทยจากเกาะกง


ผู้พลัดถิ่นเกาะกง

วันเสาร์ที่28 เมษายน 2555 ฉันออกเดินทางแต่เช้ามืดจากกรุงเทพ เพื่อไปยังอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ชื่ออำเภออาจจะไม่คุ้นเหมือนเกาะช้าง เกาะกูด แต่อำเภอนี้มีอะไร ทำไมฉันต้องเดินทางไกลมานะเหรอ

เคยได้ยินคำเหล่านี้มั้ย

“ผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง”

“คนไทยพลัดถิ่นจากเกาะกง”

 

ที่นี่มีผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง อาศัยอยู่ ย้อนไปเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เดิมเมืองประจันตคีรีเขตต์(เกาะกง) อยู่ในการปกครองของสยาม แต่เมื่อมีการทำ “อนุสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส แก้ไขเพิ่มเติมข้อบทแห่งสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม รัตนโกสินทรศก 112 ว่าด้วยดินแดนกับข้อตกลงอื่น ๆ ฉบับลงนาม ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก 122 Convention entre la France et le Siam Modifiant les Stipulations du Traité du 3 Octobre 1893, Concernant des Territoires et des Autres Arrangements, Signé à Paris le 13 Février” ขึ้นเพื่อแลกเมืองจันทบุรีกลับคืนมา แต่ฝรั่งเศสกลับยึดด่านซ้ายและตราด รวมถึงเกาะกงไว้เป็นประกัน

ตาม “หนังสือสัญญาระหว่างสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามกับเปรสิเดนต์แห่งริปับลิกฝรั่งเสศ 23 มีนาคม ร.ศ.125  Traité entre Sa Majesté la Roi de Siam et Monsieur le Président de la République Française, fait à Bangkok, le 23 mars 1907” เพื่อให้ได้เมืองตราดกลับมา สยามยอมยกเขมรส่วนในให้ฝรั่งเศสปกครอง (ข้อ1,2) โดยเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2450 หรือร.ศ.126 ฝรั่งเศสทำพิธีมอบตราดคืนให้แก่สยาม แต่ไม่ได้ประจันตคีรีเขตต์ (เกาะกง) คนเชื้อสายไทยที่อยู่อาศัยในเกาะกง จึงกลายเป็นคนในบังคับฝรั่งเศส ซึ่งต่อมาดินแดนส่วนนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศกัมพูชานั่นเอง

เมื่อเขมรแดงเรืองอำนาจ เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คนเชื้อสายไทยที่อาศัยอยู่ที่นั่นไม่สามารถอยู่อาศัยอีกต่อไปได้ จึงหนีเข้ามายังดินแดนของประเทศไทย ในพื้นที่จังหวัดตราด บ้างก็เล่าว่าเดินข้ามเขาข้ามน้ำมา บางคนก็นั่งเรือมาทางทะเล จากปัญหาความไม่มั่นคงในชีวิต ทรัพย์สิน ความอดอยาก พวกเขาต้องทิ้งบ้านเรือน ทรัพย์สินไว้เบื้องหลัง เพื่อให้มีชีวิตรอด ไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าแม้เมื่อเข้ามาอยู่บนผืนแผ่นดินไทยจะเป็นอย่างไร คงเหมือนกับคำที่ว่า “หนีไปตายเอาดาบหน้า” 

จากการพูดคุยกับคนไทยพลัดถิ่นจากเกาะกง ต้องถือว่าพูดภาษาไทยได้ชัดเจนดี แม้จะมีสำเนียงเหน่อๆ  แต่ก็เหมือนเวลาที่เราพูดกับคนตราด แม้กระทั่งคนแก่ที่เป็นคนเชื้อสายไทยที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในเกาะกง ยังพูดภาษาไทยได้ชัดถ้อยชัดคำ ต่างกับผู้ที่ไม่ใช่คนเชื้อสายไทย แม้จะถือบัตรผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา“เลขหลักที่หก-เจ็ดเป็น 63”, บัตรผู้หลบหนีเข้าเมืองเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา“เลขหลักที่หก-เจ็ดเป็น 64”, บัตรผู้หลบหนีเข้าเมืองจากกัมพูชา “เลขหลักที่หก-เจ็ดเป็น 65” แต่กลับพูดภาษาไทยไม่ชัดเลย ทำให้เกิดข้อข้อสังเกตว่าเขาอาจไม่ใช่คนเชื้อสายไทยที่อาศัยอยู่ในเขตเกาะกง ?

ผ่านประเด็นเรื่องภาษา มาที่เรื่องวิถีชีวิตกันบ้าง ส่วนใหญ่คนไทยพลัดถิ่นที่นี่จะประกอบอาชีพเกี่ยวกับการประมง อาศัยอยู่ริมคลองต่างๆ เช่น คลองสน คลองมะขาม คลองไม้รูด เป็นต้น ขอบอกว่าอาหารทะเลที่นี่สดมาก ประเพณีวัฒนธรรมก็ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากเราคนไทยเลย เช่นมีงานขึ้นบ้านใหม่ บวช แต่งงาน สงกรานต์ ลอยกระทง 

แต่จะสังเกตได้ว่าในชุมชนคลองสนนี้มีแรงงานชาวกัมพูชาอาศัยอยู่ด้วย นอกจากความต่างเรื่องภาษายังสังเกตเห็นได้ถึงความแตกต่างในเรื่องวิถีชีวิต เช่น ชอบใส่ชุดนอนลายการ์ตูนเป็นชุดในเวลากลางวัน ซึ่งเหมือนกันคนกัมพูชาที่ฉันไปพบเห็นที่เกาะกง พี่คนไทยพลัดถิ่นเล่าให้ฉันฟังว่า เค้าไม่ได้แยกว่าชุดนอนต้องใส่เวลานอน 

ตามพ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ.2555 ได้แยกกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่เป็น “ผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทย” หรือจะได้รับการคืนสัญชาติไทย ด้วยเพราะคนกลุ่มนี้สืบสายโลหิตจากบรรพบุรุษที่เป็นคนไทย (หลักสืบสายโลหิต) โดยแบ่งเป็น2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1. คนไทยพลัดถิ่น ตามมาตรา 3 ซึ่งได้ให้คำนิยามไว้ว่า “คนไทยพลัดถิ่นหมายความว่า ผู้ซึ่งมีเชื้อสายไทยที่ต้องกลายเป็นคนในบังคับของประเทศอื่นโดยเหตุอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของราชอาณรจักรไทยในอดีต ซึ่งปัจจุบันผู้นั้นมิได้ถือสัญชาติของประเทศอื่น และได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่งและมีวิถีชีวิตเป็นคนไทย โดยได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด หรือเป็นผู้ซึ่งมีลักษณะอื่นทำนองเดียวกันตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”ซึ่งต้องดำเนินการพิสูจน์ความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ตามมาตรา 9/6 “ให้ผู้ซึ่งคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นให้การรับรองควมเป็นคนไทยพลัดถิ่น เป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด”

2. คนไทยพลัดถิ่นที่ได้รับสัญชาติไทยก่อนวันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ (คนไทยพลัดถิ่นตามมาตรา 5 พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ.2555)

พบว่า คนไทยพลัดถิ่นที่บ้านคลองสนแห่งนี้มีผู้ทรงสิทธิทั้ง 2 กลุ่มนี้ SWIT ได้ให้ความรู้ในเรื่องผู้ทรงสิทธิ เพื่อให้ชาวบ้านได้รู้ว่าใครอยู่กลุ่มไหน เพื่อจะได้ดำเนินการอะไรต่อไป แต่โดยส่วนใหญ่ ที่ถือบัตรหลักที่หก-เจ็ดเป็นเลข 63 64 65 นั้นจะเป็นผู้ทรงสิทธิกลุ่มที่หนึ่ง ที่ต้องได้รับการพิสูจน์ความเป็นคนไทยพลัดถิ่นเสียก่อน จึงจะได้คืนสัญชาติ ส่วนผู้ทรงสิทธิกลุ่มที่สอง บ้างก็ได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ หรือได้ตามม.7ทวิ หรือ หากเป็นคนรุ่นที่เกิดในเมืองไทยก็จะได้สัญชาติตามมาตรา23 ไปแล้วบ้าง

คนไทยพลัดถิ่นที่เป็นเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นจังหวัดตราด จะทราบเรื่องกฎหมาย และกลุ่มผู้ทรงสิทธิ มีการเตรียมความพร้อมในการพิสูจน์ความเป็นคนไทยพลัดถิ่น เช่นทำแผนผังเครือญาติ (family tree)ไว้ เพราะคนที่อยู่ที่คลองสนก็เป็นเครือญาติกันอยู่แล้ว บางคนสามารถนำแผนพังเครือญาติของอีกครอบครัวมาเชื่อมโยงกันได้ ส่วนใหญ่จะใช้นามสกุลสุขสวัสดิ์ เนื่องจากบางคนแม้จะอพยพเข้ามาในประเทศไทยพร้อมกับครอบครัว แต่เมื่อมีการจัดทำบัตรประจำตัว กลับกลายเป็นว่าได้บัตรผู้หลบหนีเข้าเมืองเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง กัมพูชาบัตรผู้หลบหนีเข้าเมืองจากกัมพูชา แต่คนอื่นๆในครอบครัวถือบัตรผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกงกัมพูชาก็มี อย่างน้อยแผนผังเครือญาติก็แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงเชื้อสายไทยของคนที่ถือบัตรประจำตัวประเภทต่างๆ รวมถึงผู้ที่ถือบัตรประจำตัวสัญชาติไทยด้วย แตกต่างกับคนไทยพลัดถิ่นที่คลองไม้รูด ที่ฉันได้ไปพบมา คนที่นี่ไม่รู้เรื่องกฎหมาย ผู้ทรงสิทธิ ไม่รู้ว่าตนเป็นผู้ทรงสิทธิตามกลุ่มไหน ไม่มีการเตรียมความพร้อมในการพิสูจน์ความเป็นคนไทยพลัดถิ่น เพราะคิดว่าเมื่อมีกฎหมาย เดี๋ยวผู้ใหญ่บ้านนำเรื่องมาแจ้ง รัฐก็จะดำเนินการให้ตน เปรียบกับการรอการดำเนินงานภาครัฐฝ่ายเดียว โดยทางอ.ดรุณีได้ชี้แจงถึงกฎหมาย พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่5 ผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายนี้ และสอนให้ชาวบ้านกลุ่มนี้ทำแผนผังเครือญาติ เมื่อเข้าใจเป็นที่ตรงกันแล้ว มีคุณลุงคนหนึ่งพูดว่า “ก็ไม่นึกว่าชีวิตนี้จะได้มีสัญชาติไทยกับเขา”

เมื่อเช้าวันที่ 30 เมษายน 2555 ผู้ทรงสิทธิกลุ่มที่สองนี้ได้ไปสอบถามกับปลัดจิระศักดิ์ ชูแก้ว ปลัดฝ่ายทะเบียน อำเภอคลองใหญ่ ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงฐานข้อมูล เพื่อจะได้เป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด แต่ปลัดก็แจ้งว่ายังไม่มีแนวทางปฏิบัติลงมา ยังดำเนินการให้ไม่ได้ หากมีหนังสือสั่งการมาแล้วก็ยินดีดำเนินการให้  และวันนี้เช่นกันซึ่งทราบในภายหลังว่า ได้มีหนังสือ มท.0309.1/ว1910 เรื่องแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีคนไทยพลัดถิ่นตามพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่5) พ.ศ.2555 ข้อ(3.3)สรุปความได้ว่า  คนตามมาตรา 5 พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่5 พ.ศ.2555 จะต้องยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลทะเบียนราษฎรให้ถูกต้องตรงกับสถานะที่กฎหมายให้การรับรองไว้ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันทีที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ

แต่ในส่วนสรุปตอนท้ายหนังสือ ข้อ 2) กรณีขอเปลี่ยนแปลงสถานะเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดในทะเบียนบ้าน ซึ่งใช้บังคับกับบุคคลตามมาตรา5 พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ.2555 นั้น ได้ระบุว่า “ขณะนี้กรมการปกครองโดยสำนักทะเบียนกลางกำลังดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงโปรแกรมการปฏิบัติงานทะเบียนราษฎรด้วยระบบคอมพิวเตอร์”

ในฐานะนักกฎหมายก็เห็นช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมาย แม้พ.ร.บ.จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับแล้ว แต่ระบบราชการไทยยังไม่พร้อมดำเนินการเพื่อการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย -"-

 

ดูรายละเอียดสนธิสัญญาได้ที่ 

[1]http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A1-%E0%B8%9D%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%AA_%E0%B8%A3.%E0%B8%A8._122 และ

http://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B8%9D%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%AA%E0%B8%AF_%E0%B9%91%E0%B9%93_%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B9%8C_%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%81_%E0%B9%91%E0%B9%92%E0%B9%92

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ,  ประมวลสนธิสัญญา อนุสัญญา ความตกลง บันทึกความเข้าใจ และแผนที่ ระหว่างสยามประเทศไทยกับประเทศอาเซียนเพื่อนบ้าน : กัมพูชา-ลาว-พม่า-มาเลเซีย. กรุงเทพ:  มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2554, น.116

 

หมายเลขบันทึก: 486949เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 18:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 สิงหาคม 2012 14:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท