รู้และเข้าใจการสอน อีกมุมหนึ่ง 2/1 ชาตรี สำราญ


การวัดผลและประเมินผลนั้น คุณครูต้องดูที่จุดประสงค์ว่าต้องการให้ผู้เรียน รู้ ทำและเกิดอะไรขึ้นกับผู้เรียน

บทที่  ๒

  

ในบทที่  ๑   ได้แสดงให้เห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างจุดประสงค์การเรียนรู้สู่การวัดและประเมินผล โดยการสร้างความเข้าใจต่อคำที่ย้ำให้เห็นพฤติกรรมที่ต้องการให้ปรากฏในตัวของผู้เรียน

                ถ้าเรามองให้ลึกลงไปในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนครั้งหนึ่ง ๆ นั้น  เราจะเห็นวัฏฏสงสารของชีวิตการเรียนการสอนที่วนเวียนอยู่อย่างไม่รู้จบและเป็นห่วงโซ่ร้อยรัดกันไปตลอดเวลาที่มีการเรียนการสอน  ดังนี้

 

วงเวียนการเรียนรู้

 

จุดประสงค์

 

กิจกรรมการเรียนการสอน                 วัดและประเมินผล

 

 (ดูรูปได้ที่ https://sites.google.com/site/chatreesamran/hnangsux/-doc-11 ครับ)

 

            ความสัมพันธ์สอดรับเป็นวงกลมของการจัดการเรียนการสอนนี้จะไม่มีที่สิ้นสุด  ตราบใดที่ชีวิตนี้ยังมีการเรียนรู้เกิดขึ้น

                ชีวิตทุกชีวิตย่อมมีเป้าหมาย และเป้าหมายของชีวิตนั้นๆ ย่อมมีการนำมานั่งทบทวนตนเองว่า ได้เดินทางไปสู่เป้าหมายที่วางไว้มาก – น้อยเพียงใด

                คนกินข้างเสร็จแล้วจะทบทวนถามตนเองว่าอิ่มมากน้อยเพียงใด  ภาพเหล่านี้เป็นภาพที่ซ่อนลึกอยู่ในวงเวียนการเรียนรู้ เพราะในการกินข้าวครั้งหนึ่ง ๆ  ก็ย่อมมีจุดประสงค์ แล้วลงมือกินข้าว คือ กิจกรรม  กินไป ๆ  ก็ต้องตรวจดูว่า อิ่มแล้วยัง นั่นคือ การวัดและประเมินผล การกินข้าว

                สิ่งที่น่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่งคือ เมื่อคิดจะประเมินผลการกินข้าวจะมีคำถามซ่อนอยู่ว่า “อิ่มแล้วยัง”  ตรงนี้แหละคือสิ่งที่เราน่าจะนำมาพิจารณาว่า   ในชีวิตจริงของคุณครูนั้น   มีคำถามอย่างนี้ซ่อนอยู่ระหว่างการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนบ้างไหม  “คุณครูเคยถามตนเองบ้างไหมว่า

  • เด็ก ๆ ทำได้ไหม
  • เด็ก ๆ ทำได้มาก น้อยเพียงใด
  • เด็กทำได้กี่คน  ทำไม่ได้กี่คน
  • ทำไมเด็กคนนี้ทำได้  ทำไมเด็กคนนี้ทำไม่ได้
  • แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไปอีก

คุณครูลองนำโจทย์ปัญหานี้ถามตนเองขณะที่ดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  แล้วมองหาภาพลึก ๆ ที่ซ่อนอยู่ในชั้นเรียนเพื่อจะนำมาประมวลเป็นคำตอบ  ตอบคำถามข้างต้น เหมือนกับที่เราถามตนเองว่า อิ่มแล้วยัง ขณะที่กำลังกินข้าว

การวัดผลและประเมินผลนั้น  คุณครูต้องดูที่จุดประสงค์ว่าต้องการให้ผู้เรียน รู้ ทำและเกิดอะไรขึ้นกับผู้เรียน  ถ้าคุณครูพลิกกลับไปดู “ ภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างจุดประสงค์การเรียนรู้กับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้”  ที่ทำเป็นตัวอย่างในบทที่  1  แล้วนั้น  คุณครูก็จะเห็นภาพได้ชัดเจนว่า จุดประสงค์การเรียนรู้ต้องการอะไร  ซึ่งเราผู้สอนก็ต้องวัดและประเมินผลสิ่งนั้นให้ปรากฏภาพมาตอบจุดประสงค์การเรียนรู้ให้ได้

สิ่งที่คุณครูพึงรำลึกไว้เสมอว่า  ทุกครั้งที่วัดผลการเรียนรู้นั้น  คุณครูจะต้องอาศัยองค์ประกอบที่สำคัญคือ

1.  จะต้องมีจุดมุ่งหมายของการวัดผลระบุไว้ให้ชัดเจนว่า

      1.1  จะวัดอะไร

      1.2  จะวัดในสถานการณ์ใด

      1.3  จะวัดไปทำไม

คำถามทั้ง  3  ข้อนี้จะช่วยให้คุณครูเดินทางได้ตรงเป้าและเส้นทางที่ปรากฏในภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างจุดประสงค์กับการวัดประเมินผลที่แสดงผ่านมานั้นจะตอบคำถามทั้ง  3  ข้อนี้ได้  ทั้งนี้คุณครูผู้สอนต้องเขียนระบุคำตอบเหล่านี้ให้ชัดเจนใน “สิ่งที่ผู้วัดและประเมินผลต้องค้นหาให้พบ” ซึ่งจะเป็นเครื่องช่วยให้คุณครูทำงานได้ตรงทิศทาง  ถ้าเราไม่เขียนไว้ให้ชัดเจนก็จะลืมได้  การลืมส่งผลให้วัดผลได้ไม่ตรงประเด็นเท่าที่ควรจะทำให้ข้อมูลที่ได้มาขาดความน่าเชื่อถือ

2.  เมื่อคุณครูรู้ว่า เราจะวัดอะไร  ในสถานการณ์ใดและวัดไปทำไมแล้ว  คุณครูต้องกำหนดเครื่องมือการวัดให้ตรงกับงานที่ต้องการใช้ เช่น แบบสัมภาษณ์   ข้อสอบ  มาตรการประเมินค่า  แบบการสังเกต  พร้อมกับมีเกณฑ์คะแนนที่ชัดเจนด้วย

3.  เมื่อคุณครูวัดผลได้มาแล้ว  อย่าลืมว่า ความสำคัญของการวัดผลนั้นอยู่ตรงที่คุณครูนำผลที่วัดได้มาแปลผลและนำใช้ประโยชน์ในการพัฒนาผู้เรียน  ตรงนี้สำคัญมาก

ส่วนในการประเมินผล นั้น  เป็นกระบวนการต่อเนื่องจากการวัด  การประเมินผลจะต้องอาศัยข้อมูลจากการวัดที่เป็นปรนัย  กล่าวคือ มีความเที่ยงตรง  เชื่อถือได้  หรือในบางครั้งการประเมินผลต้องอาศัยการ “สังเคราะห์ข้อมูล” จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำมาตัดสินคุณค่าของสิ่งนั้น โดยคุณครูสามารถอาศัยองค์ประกอบที่สำคัญ  3  ส่วนอีกเช่นกัน คือ

  1. ข้อมูลจากการวัด
  2. การตีความหมาย
  3. การกำหนดคุณค่าตามเกณฑ์มาตรฐาน 

นั่นแสดงว่า การวัดกับการประเมินจะมีความสัมพันธ์เชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียว  เพราะคุณครูประเมินผลได้ดี มีผลที่น่าเชื่อถือได้ก็ต้องอาศัยข้อมูลจากการวัดมาตีค่าความหมายแล้วกำหนดคุณค่าว่า ดี  ดีมาก  น่าพอใจ  มากน้อยเพียงใด  โดยอาศัยเกณฑ์มาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว

เมื่อมาถึงตรงนี้  คุณครูก็อาจจะมองเห็นคุณค่าของ “ภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างจุดประสงค์การเรียนรู้กับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้” และ “กรณีความสอดรับกันระหว่างการวัดและประเมินผลการเรียนรู้กับพฤติกรรมที่ผู้เรียนแสดงออกในขณะที่เกิดการเรียนรู้” เพราะทั้งสองส่วนนี้จะช่วยให้คุณครูดำเนินการสร้างเครื่องมือและตอบคำถามที่คุณครูถามเพื่อเป็นแนวทางในการค้นหาคำตอบได้อย่างดี

คำถามสำคัญที่คุณครูจะต้องน้อมรำลึกอยู่เสมอทุกครั้งที่เตรียมการสอน ลงมือทำการสอนและเมื่อสอนเสร็จแล้ว คือ “สอนทำไม และผู้เรียนจะได้อะไร หรือผู้เรียนจะนำไปใช้ประโยชน์ที่ใดได้บ้าง” คำถามนี้คือข้อที่คุณครูควรสำเหนียกไว้ทุกลมหายใจเข้าออก เพราะเป็นกุญแจสำคัญของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

สอนทำไม จะควบคู่ไปกับวัดและประเมินผลทำไม  คุณครูต้องค้นหาประโยชน์ของการวัดและประเมินผล คำถามแรกนี้เป็นคำถามที่จะนำคุณครูให้คิดวางแผนการวัดและประเมินผล ข้อต่อไปได้  ถ้าคุณครูตอบได้ว่า “วัดและประเมินผลทำไม” แล้วคุณครูจะสามารถเขียนจุดประสงค์ของการวัดและประเมินผลได้ตรงเป้าหมาย ชัดเจนและง่าย

ในการวัดและประเมินผลนั้น  คุณครูส่วนใหญ่จะวัดและประเมินผล  3  ช่วง ของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนครั้งหนึ่ง ๆ คือ ก่อนสอน  ระหว่างสอน  และหลังสอน

การวัดและประเมินผลก่อนสอน  นั้นเพื่อที่จะจัดวางตำแหน่งของผู้เรียนว่า ใครอยู่ในกลุ่มการเรียนเก่ง  ปานกลาง  และอ่อน  เพื่อง่ายต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน

การวัดผลประเมินผลระหว่างสอน  นั้นเพื่อที่คุณครูผู้สอนจะได้ดูว่า  ผู้เรียนแต่ละคน  แต่ละกลุ่มพัฒนาการเรียนรู้ขึ้นมาในระดับใด  มีด้านใดที่ต้องเติมเต็มให้อีก  เพราะหน้าที่ของครูคือ

เติมเต็มให้รู้

เติมดูให้เห็น

เติมเล่นให้เรียน

เติมเขียนให้อ่าน

            แล้วเด็กจะสร้างผลงานให้ครูเห็นได้

                การวัดและประเมินผลหลังสอน เป็นการสรุปผลการเรียนรู้ของผู้เรียนว่า พัฒนาขึ้นมาเพียงใด และสรุปผลการสอนของคุณครูว่า กิจกรรมใดที่ผู้เรียนนำใช้แล้วเกิดการเรียนรู้  กิจกรรมใดที่ทำให้ผู้เรียนสับสน  ต้องแก้ไขต่อไป การวัดและประเมินผลหลังสอนจะมีประโยชน์ต่อการตัดสินผลสัมฤทธิ์ทางระดับการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วย

  อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ https://docs.google.com/docume...


หมายเลขบันทึก: 486927เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 14:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2018 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท