532.ครั้งแรกของโลก


เกิดขึ้นที่นี่

 

 

 

ครั้งแรกของโลก ณ ที่นี่ ศรีลังกา

 

ผมเคยเล่าเรื่องวัดทีปทุตตมารามมาแล้วในหลายโอกาส อย่างไรก็ดีขอท้าวความนิดนึงว่าเป็นวัดพุทธในชานกรุงโคลัมโบที่มีชื่อเสียงในโคลัมโบเพราะมีเจ้าชายพระภิกษุจากสยามมาบวชและเป็นเจ้าอาวาสที่นี่ พระชินวรวงศ์ได้สร้างประวัติที่โดดเด่นมากมายในศรีลังกาและในอินเดีย นอกจากจะเป็นพระภิกษุต่างชาติองค์แรกที่ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดพุทธในศรีลังกาแล้ว ยังพัฒนาวัดและสงเคราะห์ชาวพุทธในยามที่ถูกศาสนาอื่นรุกหนัก เป็นที่มาของการตั้งโรงเรียนเด็กยากจนสำหรับชาวพุทธที่สอนเป็นภาษาอังกฤษซึ่งเป็นโรงเรียนแรกในโคลัมโบ

แต่บันทึกนี้ขอข้ามเรื่องเด่นอื่น ๆ ไปก่อน จะขอกล่าวถึงครั้งแรกของโลก ณ ที่นี่ ศรีลังกาซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญยิ่ง นั่นคือธงพุทธซึ่งได้รับการออกแบบโดยคนศรีลังกา และถูกชักขึ้นเสาธงเป็นครั้งแรกของโลกที่จุดนี้ ในวัดแห่งนี้ ตรงที่ผมยืนในภาพนั่นแหละ

ธงที่ว่านี้คือธงพุทธศาสนา  (Buddhist Flag)  หรือธงฉัพพรรณรังสี ผู้ออกแบบคิดได้อย่างน่าทึ่งว่าเครื่องหมายที่จะเป็นตัวแทนของพระพุทธองค์น่าจะใช้แสงที่ออกมาจากพระวรกายซึ่งมี 6  สี จึงเรียกว่าฉัพพรรณรังสี เนื่องจากคริสต์ก็จะมีรูปไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์ของคริสต์ศาสนา พุทธก็น่าจะมีเครื่องหมายอะไรแสดงเช่นกัน เมื่อคิดได้เช่นนั้นจึงออกแบบธงพุทธซึ่งมีทั้งแนวนอนแนวตั้งสำหรับใช้แขวนทั้งแนวนอนและแนวตั้งซึ่งต่อมาก็นิยมติดไว้ตาวัด ตามบ้านและสถานที่ต่างๆ ทั่วเกาะ ธงนี้ประกอบด้วยสี 6 สี คือ สีฟ้า หรือ นีละ (ซึ่งแทนความเมตตากรุณาและสันติสุข) เหลืองทอง หรือ ปีตะ (ซึ่งแสดงถึงทางสายกลาง) แดง หรือโลหิต (แทนพรอันประเสริฐจากการปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์) ขาว หรือ โอทตะ (แทนความบริสุทธิของพระธรรม ) ส้ม หรือ มันเชสตะ (แทนคำสั่งสอนของพระพุทธองค์) และสีแก้วผลึก หรือประภัสสระ (แก่นแท้ของแสง) ซึ่งเกิดจากนำสีทั้งห้าดังกล่าวมาผสมกัน สีทั้งหกนี้เป็นแสงสีที่เปล่งออกมาจากพระวรกายขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในขณะที่พระองค์ทรงบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ โดยสีฟ้ามาจากพระเกศา สีเหลืองทองจากพระฉวี สีแดงคือแสงจากพระมังสาและพระโลหิต สีขาวมาจากพระอัฐิและพระทนต์ และสีส้มคือแสงจากฝีพระโอษฐ์และฝ่าพระบาท

บัดนี้ ผมได้มายืนอยู่ในจุดที่สำคัญที่เป็นครั้งแรกของโลก ผมยืนแหงนหน้ามองธงที่อยู่บนยอดเสา และยืนนิ่งไว้อาลัยให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกคนในอดีตในช่วงนั้น  เป็นเพราะการต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันแก่ชาวพุทธศรีลังกาในสมัยอาณานิคมของคณะกรรมการป้องกันพุทธศาสนา (Buddhist Defense Committee) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2428 โดยผู้ที่เป็นต้นตำหรับความคิดเรื่องธงฉัพพัณรังสีก็คือ พันตรี เฮนรี สตีล โอลคอตต์ (Colonel Henri Steel Olcott) อดีตนายทหารชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการดังกล่าวและเป็นแกนนำสำคัญของขบวนการฟื้นฟูพุทธศาสนาในศรีลังกา โดยหวังจะให้ธงนี้กลายเป็นสัญลักษณ์สากลของพุทธศาสนาเช่นเดียวกับที่ไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์นั้นเอง ส่วนผู้ที่ออกแบบรูปลักษณ์และสีสันของธงก็คือนาย แคโรลิส ปูชิถะ คุณวรรเทนะ (Carolis Pujitha Gunawardena) ซึ่งเป็นเลขาธิการของคณะกรรมการดังกล่าวในขณะนั้น ธงนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นธงชาวพุทธทั่วโลกในการประชุมองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกครั้งแรกในวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2498

 

 

ผมจึงอยากจะให้ชาวไทยได้เห็นความสำคัญของธงพุทธนี้ และต้องชื่นชมกับคนศรีลังกาที่ได้ต่อสู้รณรงค์ในการรักษาพระพุทธศาสนามาจนทุกวันนี้ ทุกอย่างมีที่มา มีต้นกำเนิด ซึ่งล้วนมีผลต่อทุกสิ่งทุกอย่างในปัจจุบัน

ลองคิดดูว่าถ้าศรีลังกาไม่ได้รับพุทธศาสนาจากสมณทูตของพระเจ้าอโศกมหาราชในครั้งนั้นและไม่ดูแลทะนุบำรุงพุทธศาสนา ซึ่งต้องผ่านวิกฤตมามากมายหลายประการ และในยามพุทธศาสนาเสื่อม จนไม่มีพระสงฆ์เหลืออยู่เลยสักองค์ หากไม่ตั้งใจจริง คงไม่ขอพระสงฆ์จากสยามมาช่วยฟื้นฟูการบวช ซึ่งการขอก็ไม่ได้ง่าย ส่งคณะทูตไปสยามถึง 3 ครั้ง 3 ครา เรืออับปาง 2 ครั้ง คณะทูตล้มตายทั้งสองครั้ง ก็ไม่ทำให้เลิกความพยาย่าม จนครั้งที่ 3 จึงรอดปลอดภัยไปถึงกรุงศรีอยุธยา  ฝ่ายไทยเองก็เช่นกัน เพราะเราเองก็ตั้งใจส่งสมณทูตไปช่วยศรีลังกาเช่นกัน หากคณะทูตอันมีพระอุบาลีเป็นหัวหน้าคณะไม่มีความตั้งใจจริง ไม่มีบารมีอันแรงกล้าที่จะรักษาสัจจะวาจาของกษัตริยแห่งสยามแล้ว ก็คงล้มเลิกการเดินทางไปแล้ว สยามวงศ์ในศรีลังกาก็คงจะไม่มีเหมือนเช่นทุกวันนี้

จึงจะเห็นว่าทั้งสองประเทศทั้งไทยและศรีลังกามีบารมีที่ต้องได้รับการชื่นชมด้วยกันทั้งคู่ การไปเยี่ยมวัดทีปทุตตมารามของผมจึงต้องรำลึกถึงเรื่องธงและเสาธงให้มากหน่อย เพราะหากไม่มีธงพุทธธงนี้ อาจจะไม่มีอะไรอื่นๆ ตามมาเช่นในปัจจุบันนี้

ขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนในการต่อสู้เพื่อชาวพุทธนี้ ขอให้ท่านจงได้รับบุญกุศลจากการนี้ด้วย ชาวพุทธรุ่นหลังยังคงระลึกถึงบุญคุณของท่านเสมอมา ณ วันที่บันทึกเรื่องธงพุทธนี้ ทั่วศรีลังกากำลังประดับธงพุทธตามถนนหนทางเต็มไปหมดเพราะใกล้ถึงวันวิสาขบูชาประจำปี 2555 ซึ่งศรีลังกาฉลองวันวิสาขบูชาในวันที่ 7 พค.เร็วกว่าประเทศไทยเกือบ 1 เดือน จะเป็นการฉลองวันวิสาขบูชาครั้งแรกของผมในศรีลังกาด้วย ซึ่งจะได้นำเรื่องมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป

หมายเลขบันทึก: 486875เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สุดยอดค่ะท่านทูต เป็นตำนานแห่งชีวิตบทหนึ่งเลยนะคะ

Ico24 อ.นุ และ Ico24 ดร. จันทวรรณ ปิยะวัฒน์.

ขอบคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจครับ

มีเรื่องราวต่างๆ ที่คนไทยไม่ได้นึกถึง ไม่ทราบหรือลืมเกี่ยวกับศรีลังกา

เป็นหน้าที่ของนักการทูตจะเชื่อมโยงช่องว่างตรงนี้ต่อไปครับ

ดีจังเลยครับ ผมเคยศึกษาแนวการอธิบายและการให้ทรรศนะต่อความจริงพื้นฐานของพุทธธรรมในแง่มุมต่างๆที่จะสามารถเชื่อมโยง ทำความเข้าใจได้ทั้งความสอดคล้องกลมกลืนและความแตกต่างกับระเบียบวิธีและการทำงานความรู้ตามวิธีการสมัยใหม่ ทำให้ได้รู้จักอรรถาธิบายเรื่องภาวะความเป็นจริงของจิตเดิมแท้หรือจิตประภัสสร ต่อมาก็ทำให้รู้จักและสรุปเป็นความเข้าใจเอาเองต่อวิธีอธิบายความเป็นจริงที่สัมพันธ์กับผัสสะ ที่อธิบายผ่านเรื่องการเปล่งฉัพพรรณรังสี ทำให้เห็นความเป็นเรื่องเดียวกันของหลายเรื่อง เป็นต้นว่าสาระสำคัญของพุทธธรรมที่ว่าด้วยเรื่องความเป็นเหตุปัจจัยพื้นฐานของจิตใจและแก่นแกนของการกำกับความเป็นเหตุปัจจัยเบื้องต้นออกจากจิตใจ เลยทำให้เห็นระบบความรู้และแนวทฤษฎีที่อยู่ในกลุ่มการมีความเชื่อพื้นฐานต่อพลังตื่นรู้ กระบวนการทางสังคมวัฒนธรรมจิตใจ และชีวิตด้านในของมนุษย์

กับอีกทางหนึ่ง ก็ทำให้เห็นระบบวิธีคิดภายใต้เรื่องผัสสะ ที่เชื่อมต่อได้กับการอธิบายเกี่ยวกันการเห็นในระดับต่างๆของมนุษย์ ผ่านเรื่องสีพื้นฐานทั้ง ๖ ความที่ในอีกด้านหนึ่งนั้น ผมมีพื้นฐานการศึกษาและทำงานศิลปะอยู่ด้วย ก็เลยเห็นแนวคิดหลายอย่างที่สอดคล้องกัน รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้พัฒนาแนวการทำงานความรู้ในหลายเรื่องเลยละครับ ขอบคุณท่านทูตพลเดชที่นำเอาเรื่องราวอย่างนี้มาถ่ายทอดให้ได้อ่านครับ

Ico48

ขอบคุณอจ.วิรัตน์ครับ

เมื่อวานนี้ ผมนั่งรถไปทำงาน สองข้างทางมีการประดับประดาด้วยธงพุทธเต็มไปหมดเนื่องจากการฉลองวิสาขบูชาในศรีลังกาจะเริ่มในวันที่ 5-6 พค. ศกนี้ 

นั่งดูธงซึ่งมีการออกแบบในแบบที่ผมเองก็เคยรู้สึกไม่เข้าใจและรู้สึกขัดๆ แต่วันนี้ มองไปก็มีความหมายที่ดี 6แถบสีแนวตั้งและแถบรวมสีทุกสีแนวนอน ทำนอง 6 คือ1 และ 1 คือ 6 

นึกชื่นชมคนศรีลังกาที่เป็นนักต่อสู้เพื่อสิ่งที่ตนยึดมั่นครับ

แต่ว่าจนถึงบัดนี้ มาอยู่บนเกาะได้ 74 วัน ยังไม่มีโอกาสทำงานศิลปะเลยครับ อจ.สบายดีนะครับ

Ico24 ครูตา ลป.

ขอบคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจครับ

ขอบพระคุณท่านมากๆ เลยครับ ผมไปเห็นตอนไปงาน ถามใครๆ ก็ไม่ได้คำตอบ ตั้งใจว่าจะหาซื้อ เพื่อนำมาสอนนักเรียน แต่ยังไม่เข้าใจความหมาย พอได้อ่านบทความในวันนี้ เวลาที่ผมอ่าน 21:39 น. ทำให้เข้าใจและคิดว่า จะทำเป็นแผ่นภาพ ไปสอนนักเรียนและอบรมลูกเสือต่อไปครับ ขอเรียนถามอีกนิดครับ ขนาด ของแถบสีแต่ละแถบสี กำหนดอัตราส่วนไว้หรือเปล่าครับท่าน

Ico48
krumoo

ครับ ไม่ได้กำหนดไว้ครับ แต่ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ครับ ที่ผมเห็นประดับตามถนนในโคลัมโบตอนนี้เป็นแถบยาวเหมือนตุง ก็ยืดแถบสีลงมาครับ ที่สำคัญคือให้มีทั้งแนวนอนและแนวตั้ง 

               

ถ้าใช้เป็นแบบแนวตั้ง ก็ต่อลงมาติดกันเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท