กฎหมายกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (ตอนที่ ๒) : บทพิสูจน์บทบาทของรัฐก้าวหน้าหรือหยุดนิ่ง


กฎหมายฉบับนี้จะออกมาหน้าตาดีเพียงใด ขึ้นอยู่กับว่ากรรมาธิการและสภานิติบัญญัติจะมีความเข้าใจในหลักการของกองทุนที่ควรจะเป็นมากน้อยเพียงใด?หรือสังคมมีความเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องหลักการมากน้อยเพียงใด?ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้เป็นการแสดงออกของรัฐเกี่ยวกับทิศทางของการบริหารจัดการสื่อในยุคหลังการปฎิรูปสื่อว่าจะขยับไปข้างหน้าหรือหยุดน่ิงอยู่ที่เดิม …..

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๓ ที่มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติภาพยนตร์เป็นต้นมา จนกระทั่งมีการปฎิรูปสื่อในปี ๒๕๔๐ ทำให้บทบาทของรัฐในการบริหารจัดการสื่อได้เร่ิมเปลี่ยนบทบาทจากการควบคุมกลายมาเป็นบทบาทในการคุ้มครองประชาชนที่บริโภคส่ื่อ มีการจัดตั้งองค์กรอิสระในการทำหน้าที่กำกับดูแลและให้ความสำคัญการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาสื่อที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการพัฒนารูปแบบของการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสื่อก็เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ร่างกฎหมายกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรคฉบับนี้์จึงเป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาของรัฐในด้านการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาสื่อที่ชัดเจนมากขึ้นอีกก้าวหนึ่ง กองทุนฯนี้มีเป้าหมายหลักอยู่ ๒ เรื่องเพื่อเติมเต็มในส่วนที่เป็นช่องว่างในสังคมไทยก็คือ หนึ่ง คือเพื่อส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาสื่อเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนให้มีปริมาณและรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น คุณภาพที่ดีมากขึ้น สอง เด็กและเยาวชนในสังคมไทยมีทักษะและความสามารถในการเลือกใช้สื่อเพื่อตอบสนองต่อกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง พัฒนาชุมชน และสังคม

แน่นอนว่า หากต้องการทำให้บรรลุถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ จำเป็นที่จะต้องร่วมกัน “คิด” เพื่อออกแบบระบบการบริหารจัดการกองทุนฯที่ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อระบบการจัดการเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับกองทุนส่งเสริมการผลิตสื่อสำหรับเด็ก” ในปี ๒๕๓๗ และถูกยุบเลิกไปในอีก ๕ ปีต่อมาเนื่องจากข้อจำกัดของระเบียบราชการทำให้กองทุนนี้สนับสนุนในลักษณะให้กู้ยืมเป็นหลัก ประกอบกับการพิจารณาสนับสนุนใช้เวลานานทำให้ผลิตรายการไม่ทันกับเวลาในการออกอากาศ และ ระบบการสนับสนุนไม่ครบวงจรเน้นเฉพาะการให้กู้ยืมเงินเท่านั้นไม่ได้มีระบบสนับสนุนด้านความรู้ การสนับสนุนด้านการตลาด ประชาสัมพันธ์ ส่งผลให้กองทุนนี้ถูกพิจารณายุบเลิกไปในที่สุด…ทั้งหมดนี้เป็นบทเรียนที่ีมีคุณค่าต่อกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่กำลังจะเกิดขึ้น

จากบทเรียนทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ ทำให้ได้ข้อสรุปสำคัญเกี่ยวกับการออกแบบหรือจัดวางระบบการบริหารจัดการกองทุนฯอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงหลักการพื้นฐานในการจัดการกองทุนอย่างน้อย ๕ เรื่อง

หลักการพื้นฐานแรก ต้องท่องให้ขึ้นใจและต้องทำความเข้าใจกับสังคมให้ชัดเจนว่า กองทุนนี้ไม่ได้หมายถึงแต่เงินทุนเท่านั้น และกองทุนนี้ไม่ควรจำกัดกรอบของการทำงานเพียงแค่การรณรงค์การผลิตและการพัฒนาสื่อเท่านั้น โดยต้องตระหนักว่า “กองทุน = การสนับสนุนด้านงบประมาณ + เทคโนโลยีสมัยใหม่ + การวิจัยเพื่อการพัฒนา + การสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างกระแสสังคม + การให้คำปรึกษาด้านการจัดการธุรกิจ + การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต + อื่นๆ หากไปดูประสบการณ์จากสภาภาพยนตร์แห่งประเทศเกาหลีซึ่งเป็นองค์กรอิสระภายใต้การสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาล เป้าหมายขององค์กรคือสนับสนุนให้ภาพยนตร์เป็นสินค้าส่งออกเชิงวัฒนธรรม มีการจัดแบ่งหน่วยงานภายในแบบใหม่ที่สอดคล้องกับทิศทางการบริหารประเทศแนวใหม่ มีทั้งหมด ๗ ฝ่าย คือ ศูนย์สนับสนุนภายในประเทศ ศูนย์สนับสนุนระหว่างประเทศ ฝ่ายวิจัยและพัฒนา สถาบันวิชาการด้านภาพยนตร์ โรงถ่ายภาพยนตรขนาดใหญ่ ฝ่ายสนับสนุนด้านเทคนิคเน้นการวิจัยแนวโน้มของภาพยนตร์ในอนาคน เช่น 3D และ ฝ่ายการจัดการทั่วไปเน้นการสนับสนุนด้านงบประมาณ

หลักการพื้นฐานที่สอง โครงสร้างการบริหารจัดการกองทุนแบบก้าวหน้าเน้นความคล่องตัว และสร้างความยั่งยืน กองทุนฯ นี้จะมีสถานะเป็นกองทุนของรัฐหรือเป็นอิสระจากรัฐหรือไม่่นั้นอาจจะไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาก็คือ ระบบการบริหารกองทุนที่จะต้องคล่องตัว ขั้นตอนการพิจารณามีความรวดเร็ว ระบบการเบิกจ่ายงบประมาณไม่ล่าช้าและคำนึงถึงรูปแบบของการสนับสนุนที่สามารถสร้างความยั่งยืนในการทำงานให้กับผู้รับการสนับสนุนด้วย ทั้งนี้รูปแบบของการสนับสนุนด้วยงบประมาณอาจเน้นที่รูปแบบของการร่วมลงทุนระหว่างกองทุนกับผู้รับการสนับสนุน นอกเหนือไปจากรูปแบบของการให้เปล่า ให้กู้ยืมแบบมีดอกเบี้ย การให้ยืม ส่วนการสนับสนุนในรูปแบบที่ไม่ใช่เงิน เช่น การจัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่ผู้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องโดยถือเป็นภารกิจหลักของกองทุนฯ การสร้างระบบพันธมิตรด้านการส่งเสริมร่วมกับหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆเพืื่อทำให้เกิดการ “ร่วมสนับสนุน” หรือ “ร่วมต่อยอดผลลัพธ์” ที่ได้จากการสนับสนุนอันส่งผลให้ผู้รับการสนับสนุนเกิดความเข้มแข็งรวมไปถึงการมีระบบการสนับสนุนที่ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับกองทุนนี้กองทุนเดียวตลอดไป

หลักการพื้นฐานที่สาม การกระจายความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรโดยสร้างกลไกของการทำงานในระดับท้องถิ่นคู่ขนานไปกับการทำงานในระดับมหภาค ต้องไม่ลืมว่า ผู้ที่จะขอรับการสนับสนุนจากกองนี้ไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือ ผู้ประกอบอาชีพสื่อเท่านั้น แต่หมายรวมถึง บุคคลต่างๆที่มีความสนใจที่จะผลิตสื่อ หรือ บุคคลผู้ที่ต้องการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาการใช้สื่อเพื่อพัฒนาสังคมด้วย ประเด็นนี้มีความเกี่ยวพันกับการบริหารจัดการกองทุนทั้งในส่วนของกรรมการบริหารกองทุนที่ต้องมีความเป็นอิสระจากการถูกแทรกแซงในการใช้อำนาจในการบริหารจัดการกองทุน และสามารถใช้ระบบการสร้างการมีส่วนร่วมจากระดับท้องถิ่น เช่น การจัดตั้งสภาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในระดับจังหวัดเพื่อเป็นคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการต่างๆ หรือ การจัดทำสมัชชาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเสนอทิศทางของการทำงานของกองทุนในระยะต่อไปโดยคำนึงถึงประเด็นสำคัญในระดับท้องถิ่นประกอบไปกับความหลากหลายของผู้รับการสนับสนุน

หลักการพื้นฐานที่สี่ กองทุนกับบทบาทที่แตกต่างจากเดิมในการวางรากฐานความมั่นคงให้กับมนุษย์ในสังคมไทย ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้นโยบายเรื่องการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้โดยใช้ไอซีทีของเกาหลีใต้นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการประกาศเจตนารมย์ การจัดทำแผนแม่บทหรือการปฎิรูปกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่เร่ิมต้นด้วยการให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักถึงการใช้ประโยชน์จากไอซีทีให้กับประชาชนแบบเข้มข้นคู่ขนานไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ต่อมาจึงมีการพัฒนาแผนแม่บทระดับชาติ รวมไปถึงการปฎิรูปกฎหมายที่มีผลต่อการสร้างเสถียรภาพในการใช้งานและการจัดระบบองค์กรในการจัดการที่คล่องตัวซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนที่เป็นอิสระและทำงานเสริมหน่วยงานรัฐ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้น่าจะต้องกำหนดกรอบแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างความตระหนักให้กับสังคมนี้หมายถึงการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักเพื่อให้เห็นความสำคัญของการใช้สื่อเพื่อเป็นเครื่องมือในการศึกษาและการเรียนรู้ให้ตนเองและสามารถขยายผลต่อไปในระดับชุมชนและสังคมได้

หลักการพื้นฐานสุดท้าย การสร้างการมีส่วนร่่วมของประชาชนทั้งการร่วมบริหารจัดการและการติดตามผลลัพธ์ของการทำงาน เพื่อทำให้ร่างกฎหมายกองทุนฯนี้เป็นกฎหมายสามารถใช้บังคับได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นที่จะต้องพิจารณากลไกของการมีส่วนร่วมของประชาชนใน ๓ ลักษณะ คือ หนึ่ง การเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นเพื่อกำหนดทิศทางของประเด็นที่สังคมต้องการ สอง การจัดสมัชชาสืื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ประจำปีซึ่งเรามีตัวอย่างของการทำงานจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและสมัชชาครอบครัวโดยสมัชชานี้จะเป็นกลไกสำคัญของการจัดทำข้อมูล “ขาขึ้นจากท้องถิ่น” เพื่อมาประกบกับข้อมูล “ขาล่องจากส่วนกลาง” อันนำไปสู่การพัฒนาระบบบริหรจัดการและทิศทางของการทำงานในระดับส่วนกลางและท้องถิ่น สาม การรายงานผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงานให้กับสังคมผ่านสื่อสาธารณะ การเปิดพื้นที่ของการมีส่วนร่วมนี้เองจะเป็นตัวอย่างนำร่องของการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

เพื่อให้กองทุนนี้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทรงพลังในการสร้าง “นวัตกรรม” ของระบบการสนับสนุนการพัฒนาสื่อในยุคหลังการปฎิรูปสื่อที่มีความยั่งยืนและมีความก้าวหน้าไปอีกขั้น ไม่อาจมองข้ามหลักการพื้นฐานทั้ง ๕ ส่วนนี้ได้ และกองทุนนี้จะแข็งแรงมากยิ่งขึ้นหากแนวคิดพื้นฐานการนำแนวคิดพื้นฐานนี้ถูกบรรจุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมายฉบับนี้

กฎหมายฉบับนี้จะออกมาหน้าตาดีเพียงใด ขึ้นอยู่กับว่ากรรมาธิการและสภานิติบัญญัติจะมีความเข้าใจในหลักการของกองทุนที่ควรจะเป็นมากน้อยเพียงใด?หรือสังคมมีความเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องหลักการมากน้อยเพียงใด?ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้เป็นการแสดงออกของรัฐเกี่ยวกับทิศทางของการบริหารจัดการสื่อในยุคหลังการปฎิรูปสื่อว่าจะขยับไปข้างหน้าหรือหยุดน่ิงอยู่ที่เดิม …..

 

หมายเลขบันทึก: 486810เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 11:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 19:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท