กฎหมายกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ตอนที่ ๑ : ที่มาก่อนที่จะพิจารณาถึงแนวทางอันเป็นที่ไปที่ควรจะเป็น


ร่างกฎหมายกองทุนฯฉบับนี้ จึงเป็นผลลัพธ์สำคัญที่จะแสดงออกซึ่งบทบาทของรัฐในด้านการสนับสนุนส่งเสริมในการพัฒนาสื่อและผู้รับสื่อ อย่างไรก็ตาม กองทุนนี้ต้องบรรลุถึงการเข้าไปจัดการปัญหาที่ต้นเหตุของปัญหา ทั้ง การเพ่ิมปริมาณและคุณภาพสื่อเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน ครอบครัว การใข้สื่อเพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน สังคม และต้องบรรุถึงการแสดงจุดยืนของรัฐในยุกการปฎิรูปสื่อในส่วนของการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยเฉพาะในระดับท้องถิ่นรากหญ้าที่ต้องการความชัดเจนมากขึ้น

เมื่อวันอังคารที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕ คณะรัฐมนตรีได้มติเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ… นับเป็นปีที่ ๑๐ นับตั้งแต่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๖ ที่มีมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการกำหนดแนวทางการใช้สื่อของรัฐเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ก่อนที่จะอธิบายถึงประเด็นท้าทายที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมด้านระบบการบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมหรือสนับสนุนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่รัฐบาลและสังคมไทยน่าจะต้องขบคิดกันต่อในบทความตอนที่ ๒ นั้น มีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจร่วมกันในประเด็นพื้นฐานสำคัญใน ๔ ประเด็นเพื่อที่จะทำให้เห็นถึงที่มาของร่างกฎหมายฉบับนี้ก่อนที่จะร่วมกันคิดถึงที่ไปของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์นี้ต่อไปได้

ประเด็นแรก ทำไมต้องมีกฎหมายฉบับนี้ ? ก่อนที่เราจะทำความเข้าใจกับรายละเอียดของกฎหมาย เราคงต้องทำความเข้าใจถึงสาระสำคัญอันเป็น “เหตุผล” อันเป็นที่มาของการบัญญัติกฎหมายกองทุนฯนี้ โดยถ้อยคำที่ปรากฎในร่างกฎหมายฉบับนี้อธิบายถึงสาเหตุหลักๆ ๓ ส่วนประกอบกันคือ (๑) เพราะสื่อมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้และพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน (๒) เพราะสืื่อที่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชนมีจำนวนน้อย (๓) เพราะในการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มีอุปสรรคและข้อจำกัดหลายประการ ดังนั้นจึง“ต้องมีแหล่งเงินทุนในการผลิตและเผยแพร่สื่อที่มีคุณภาพ” แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงเจตนารมย์ของกฎหมายที่ต้องการใช้กองทุนนี้เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาสื่อที่มีคุณภาพมีเนื้อหาสาระที่ตอบสนองต่อการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก และเยาวชน เรียกให้เข้าใจได้ง่ายๆว่า สื่อเพื่อเด็กและเยาวชน

ประเด็นที่สอง สาระสำคัญอันเป็นประเด็นหลักที่ปรากฎในร่างกฎหมายฯ ในร่างกฎหมายมีรายละเอียดทั้งหมด ๓๕ มาตรา โดยจัดแบ่งเป็น ๓ หมวด กล่าวคือ หมวด ๑ การจัดตั้งกองทุน หมวดที่ ๒  เป็นเรื่องของการบริหารจัดการกองทุน และ หมวด ๓ การติดตามประเมินผลฉบับนี้ได้กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย

กองทุนนี้มีสถานะทางกฎหมายเป็นนิติบุคคล โดยมีแหล่งเงินทุนหลักจาก ๗ แหล่งหลัก โดยเฉพาะที่น่าสนใจก็คือเงินที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรร คลื่นความถี่ ฯ อีกทั้งยังมีเงินที่ได้จากค่าปรับจำนวนครึ่งหนึ่งที่ได้รับชำระตามคำพิพากษาลงโทษผู้ละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธ์

โดยร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้กองทุนมีภารกิจหลักในการรณรงค์การผลิตและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบอาชีพในการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้สามารถรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อที่ไม่เป็นสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ในส่วนของการบริหารจัดการกองทุนนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จำนวน ๑๗ คนโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รวมถึง คณะอนุกรรมการบริหารจัดการกองทุนจำนวนไม่เกิน ๖ คน ซึ่งมีปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธาน และ กำหนดให้มีผู้จัดการกองทุนในการดูแลบริหารจัดการสำนักงานกองทุน

ประเด็นที่สาม บทบาทของรัฐในการบริหารจัดการสื่อในสังคมไทยจากระบบควบคุมกลายมาเป็นการคุ้มครอง กำกับดูแลและขยับมาเน้นการส่งเสริมเป็นหลัก นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๓ เป็นต้นมาที่ประเทศไทยมีการใช้บังคับพระราชบัญญัติภาพยนตร์ และพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุทัศน์ พ.ศ.๒๕๓๕ ต่อมาในปี ๒๕๕๑ มีการยกเลิกกฎหมายทั้งสองฉบับและบังคับใช้พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์ ๒๕๕๑ แทน ซึ่งหากพิจารณาถึงรูปแบบของการใช้อำนาจรัฐจะพบว่าเปลี่ยนจากระบบการควบคุม เช่น การเปลี่ยนระบบการพิจารณาภาพยนตร์จากระบบเซ็นเซอร์มาเป็นระบบการจัดประเภทภาพยนตร์ ซึ่งปรากฎในมาตรา ๒๖  พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ หรือการกำหนดให้มีคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดีทัศน์แห่งชาติที่มีสัดส่วนจากภาคเอกชนและภาคประชาชนร่วมอยู่ด้วยแสดงนัยให้เห็นถึงการสนับสนุนการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ในส่วนของจัดทำนโยบายที่เน้นด้านการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดีทัศน์เป็นหลักมากกว่าการเข้าไปใช้อำนาจในการควบคุมหรือจัดทำมาตรการที่มีผลต่อการควบคุมการเติบโตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์

ในส่วนของกฎหมายว่าด้วยสื่อวิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคมนั้น หลังจากมีการปฎิรูปสื่อในปี ๒๕๔๐ และได้มีการรับรองแนวคิดของการปฎิรูปสื่อไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นต้นมา พบว่าบทบาทของรัฐมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เร่ิมตั้งแต่การปฎิรูปแนวคิดเรื่องทรัพยากรคลื่นความถี่เป็นของสาธารณะไม่ใช่เป็นของรัฐหรือรัฐบาลส่งผลให้บทบาทของรัฐที่มีอยู่ก่อนการปฎิรูปที่เน้นการควบคุมเป็นหลักนั้นก็เปลี่ยนแปลงและให้ความสำคัญกับการคุ้มครองและการส่งเสริมสนับสนุนเป็นหลัก โดยรัฐมีหน้าที่ในการกระจายโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดความเหลื่อมลำ้และสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสื่อให้กับประชาชน

หากพิจารณาจากบทบาทของรัฐจากกฎหมายและนโยบายด้านการบริหารจัดการสื่อที่ปรากฎอยู่ในบ้านเราขณะนี้ให้ความสำคัญกับบทบาทด้านการสนับสนุน และ ส่งเสริมการพัฒนาสื่อมากขึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังขยับไปอีกขั้นด้วยการให้องค์กรอิสระที่ไม่ได้เป็นหน่วยงานรัฐเข้ามาเป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจในการบริหารจัดการ เช่น กสทช โดยที่มีการกำหนดรูปแบบและวิธีการในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องสื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างชัดเจนและเปิดพื้นที่ของการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น

ร่างกฎหมายกองทุนฯฉบับนี้ จึงเป็นผลลัพธ์สำคัญที่จะแสดงออกซึ่งบทบาทของรัฐในด้านการสนับสนุนส่งเสริมในการพัฒนาสื่อและผู้รับสื่อ อย่างไรก็ตาม หากต้องการให้กองทุนนี้บรรลุถึงการเข้าไปจัดการปัญหาที่ต้นเหตุของปัญหาด้านสื่อเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนที่มีอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนของเด็ก เยาวชน หรือเมื่อเทียบกับประเภทและระดับคุณค่าของเนื้อหา หรือหากต้องการแสดงจุดยืนของรัฐในยุกการปฎิรูปสื่อในส่วนของการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยเฉพาะในระดับท้องถิ่นรากหญ้าที่ต้องการความชัดเจนมากขึ้น การจัดทำกองทุนนี้จึงอาจจะต้องคิดอย่างละเอียดรอบคอบมากขึ้นเพื่อให้สอดรับกับทิศทางของบทบาทของรัฐในยุคนี้ และหากจะให้ดีต้องพัฒนาระบบที่ลำ้ยุคกว่ากองทุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน เรื่องนี้ฝ่าฟันมาถึงขนาดนี้แล้ว คิดและปรับอีกสักนิดก็น่าจะดี….

หมายเลขบันทึก: 486561เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2012 00:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 16:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท