ชีวิตที่พอเพียง : 105. ฝึกมองให้ทะลุ


        เช้าวันอาทิตย์ที่ ๒๓ กค. ๔๙ ผมมีโอกาสอยู่บ้าน     ภรรยาสงสัยว่าสุดสัปดาห์นี้เกิดอะไรขึ้น     สามีอยู่บ้านทั้งสองวัน     แต่ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือและใคร่ครวญเรื่องต่างๆ อย่างมีความสุข

        หยิบนิตยสาร Scientific American ฉบับเดือนพฤษภาคม 2006 ที่ยืมจากห้องสมุด สกว. มาอ่าน     มีเรื่อง The Birth of the Mighty Amazon น่าสนใจมากครับ     สรุปก็คือ เมื่อ ๑๕ ล้านปีก่อน แม่น้ำอะเมซอนคือส่วนหนึ่งของทะเลครับ     โดยที่เมื่อ ๒๓ ล้านปีก่อน แผ่นดินของทวีปอเมริกาใต้ยังแยกอยู่กันเป็นแผ่นใหญ่ๆ (คือเกาะนั่นแหละ) ๔ แผ่น    แล้วค่อยๆ เคลื่อนเข้าหากัน แนบสนิทกันเข้าเรื่อยๆ     จนรอยต่อแคบเข้าๆ กลายเป็นแม่น้ำอะเมซอน

         แต่จริงๆ แล้วไม่ตรงไปตรงมาขนาดนั้น     แผ่นดินมันไม่ได้มาประกบกันเฉยๆ แต่มีการดันให้เกิดภูเขาแอนดีสทางฝั่งตะวันตก และแผ่นดินทางตะวันตกยกสูงขึ้นๆ     ในช่วงแรกที่แผ่นดินมาประกบกันเกิดระบบทะเลสาบใหญ่ที่มีเนื้อที่ถึง หนึ่งล้านตารางกิโลเมตร ที่มีช่องเปิดสู่ทะเลแคริบเบียน     พอถึงช่วงที่น้ำทะเลสูง น้ำทะเลก็เข้ามาท่วมบริเวณนี้     พอถึงช่วงที่น้ำทะเลลดระดับลงไป บริเวณทะเลสาบก็เป็นน้ำจืด     พอพื้นดินทางตะวันตกยกมาเข้า และระดับน้ำทะเลลดลง     ก็เกิดแม่น้ำอะเมซอนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน    เป็นเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลง     หรือวิวัฒนาการของพื้นที่พิเศษหนึ่งเดียวของโลกที่มีการวิจัยนับพันชิ้น     เมื่อนำมาปะติดปะต่อกันเข้าก็เกิดความเข้าใจเรื่องการเกิดแม่น้ำขึ้นใหม่   

        เขาอธิบายอย่างนี้จากหลักฐานทางธรณีวิทยา และหลักฐานทางชีววิทยา     ในแม่น้ำอะเมซอนมีปลากระเบนน้ำจืด  มีปลาโลมาน้ำจืด (ที่ปากยาวมาก)     ที่จริงผมคิดจะถ่ายรูปปลาโลมา (Inia geoffrensis) นี้มาให้ดูกัน แต่เกรงจะมีปัญหาลิขสิทธิ์ครับ     และมีสิ่งมีชีวิตอีกหลายอย่างที่แสดงว่าแม่น้ำอะเมซอนน่าจะเคยเป็นส่วนหนึ่งของทะเล   

       บทความนี้ทำให้ผมนึกถึง Salt Pond ที่ผมไปรู้จักตอนไปเที่ยว Cape Cod เมื่อเดือน มิย. ๔๙    นึกถึงการเกิด Cape Cod ที่ได้รับคำอธิบายจากการดูวิดีโอแสดงผลการค้นคว้ากำเนิดของ Cape Cod    ที่เป็นผลของการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาอันเกิดจากยุคน้ำแข็ง และการเปลี่ยนแปลงในช่วงระหว่างยุคน้ำแข็ง

        ทั้งสองเรื่อง ทำให้ผมหันกลับมามองตัวเอง     ว่าเวลาเห็นอะไร ผมก็เห็นแค่ตื้นๆ      เคยมองแม่น้ำอะเมซอน (ผมไม่เคยไป) ว่าก็คงเหมือนกับแม่น้ำปิง คือเกิดจากน้ำไหลมาจากภูเขา เป็นลำธารเล็กๆ    หลายลำธารเล็กรวมกันเป็นลำธารใหญ่ จนกลายเป็นแม่ปิง     แล้วแม่ปิงก็ไหลไปรวมกับแคว วัง ยม น่าน กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา

        แต่ความรู้ที่ค้นคว้าวิจัยมานำเสนอเรื่องกำเนิดแม่น้ำอะเมซอน ให้มุมมองใหม่แก่ผมเรื่องการเกิดแม่น้ำโดยสิ้นเชิง    ทำให้ผมเข้าใจว่าแม่น้ำเกิดได้หลายแบบ     แบบที่เราเข้าใจโดยทั่วไปเกิดจากการรวมตัวของน้ำจืด หรือน้ำฝนที่ไหลมาจากป่าเขา     แต่ยังมีแม่น้ำที่เกิดจากการถอยตัวของน้ำเค็ม     หรือเกิดจากแผ่นดินมันเคลื่อนเข้าหากันจนเกิดเป็นแม่น้ำ     แล้วน้ำจืดจากป่าเขาก็ค่อยๆ ไล่น้ำเค็มออกไปทีละน้อยๆ เป็นเวลาหลายล้านปี     คือแม่น้ำอะเมซอนเกิดจากหลายกลไกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน     น่าสนใจมากสำหรับผม  

       ความรู้เชิง explicit เชิงวิทยาศาสตร์ แบบนี้มีคุณมาก     ช่วยให้เรามองทะลุ มองเห็นเบื้องหลัง และที่มาที่ไป ของสิ่งที่เราเห็นในปัจจุบัน   

       มองอีกมุมหนึ่ง     สิ่งต่างๆ ที่เราเห็น ที่เราเข้าใจ เป็นมายาเกือบทั้งสิ้น     เราเข้าใจสิ่งเหล่านั้นได้เพียงตื้นๆ เข้าใจได้เพียงชั้นเดียวหรือสองชั้น    มิติเดียวหรือสองมิติ     คนที่เขาเป็นปราชญ์ เป็นผู้มีความรู้กว้างขวางลึกซึ้ง เขาสามารถรู้หรือเข้าใจหลายมิติ   การที่คนเราฝึกฝนเล่าเรียนตลอดชีวิตให้เข้าใจสิ่งต่างๆ  ที่ซับซ้อน ได้ครบถ้วนมากขึ้น เป็นคุณอย่างยิ่งต่อการอยู่ร่วมกัน      เพราะจะทำให้เราอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างในด้านต่างๆ ได้มากขึ้น

        ตอนไปเที่ยว Cape Cod ถ้าผมไม่ได้เข้าไปดูภาพยนตร์เรื่องกำเนิด Cape Cod ผมก็จะมีมุมมองต่อ Cape Cod ว่าเกิดจากตะกอนจากแม่น้ำมาทับถม     ไม่เข้าใจไกลไปหลายหมื่นปีอย่างที่แสดงในหนัง     ไม่เห็นความเชื่อมโยงกับ Ice Age หลายยุค อย่างที่อธิบายในหนัง

       ยิ่งคิดผมก็ยิ่งเห็นความจำเป็นที่สังคมไทยต้องมี พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น     ที่เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ และพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรม  เน้นที่มีการค้นคว้าให้เกิดความเข้าใจท้องถิ่นในมิติที่ลึกและกว้าง      เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ช่วยให้คนมองทะลุมายา ไปเข้าใจธรรมชาติและวัฒนธรรมในมิติที่ไม่ใช่เพียงแค่เห็นด้วยตา    แต่สามารถเห็นด้วยใจ  และเห็นด้วยปัญญา

วิจารณ์ พานิช
๒๓ กค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 48624เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2006 13:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 12:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท