ตัวอย่างแผนการเรียนรู้เรื่อง สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่น่าเรียนรู้ ภาคผนวก 2 โดย ชาตรี สำราญ


ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

               

                เมื่อพูดถึงคำว่า “ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”  แล้วนั้น  เราควรทำความเข้าใจกับคำว่า

                                ทรัพยากรธรรมชาติ

                                และคำว่า สิ่งแวดล้อม

                สิ่งแวดล้อม   หมายถึง  ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา  ทั้งที่เป็นสิ่งที่เราสามารถสัมผัสได้ด้วยกายสัมผัส  เช่น  คน  สัตว์  สิ่งของ  และสัมผัสได้ด้วยความรู้สึกนึกคิดหรือจิตสัมผัส เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณี   ประสบการณ์  วัฒนธรรม  ความสวยงาม  ความดี  ความชั่ว  ความถูกต้อง  เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งแวดล้อม  ที่มนุษย์ทุกคนจะต้องพบเห็นและสัมผัสรับรู้อยู่ทุกวัน

                ความหมายของสิ่งแวดล้อม  อาจจะแตกต่างกันตามแต่ละคนคิดเห็น  แต่สำหรับองค์ประกอบของสิ่งแวดล้อมจะไม่แตกต่างกัน  สิ่งแวดล้อมมี องค์ประกอบ สำคัญดังนี้

  1. ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่รอบตัวมนุษย์
  2. เป็นทั้งรูปธรรม ( จับต้องได้ ) และ นามธรรม ( จับต้องไม่ได้ )  เช่น วัฒนธรรมแบบแผนประเพณีความเชื่อ  หรือสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้น

3.สิ่งแวดล้อมจะมีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบหรือมีอิทธิพลต่อกัน

4.สามารถอำนวยประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย  รวมถึงการดำรงชีวิตของมนุษย์ด้วย

 

ประเภทของสิ่งแวดล้อม

                การจัดประเภทสิ่งแวดล้อมนั้น  นิยมจัดกัน  2   ประเภทใหญ่ ๆ  คือ

                1.  สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ  เช่น ดิน  น้ำ  ป่าไม้  ภูเขา  สัตว์ป่า   อากาศ   ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ  และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติก็ยังถูกแบ่งออกเป็น  2  ประเภทอีก คือ

1.1    สิ่งมีชีวิต  เช่น  พืช  สัตว์  มนุษย์   ซึ่งเกิดขึ้นมาโดยธรรมชาติมีลักษณะและคุณสมบัติเฉพาะตัว  เราเรียกว่า  สิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ ก็ได้

1.2    สิ่งไม่มีชีวิต   เช่น  ดิน   น้ำ  ก๊าซ  อากาศ  ควัน  แร่ธาตุ  เมฆ  รังสีความร้อน  เสียง  ภูเขา  เราเรียกว่า  สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ

 2.  สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น   เป็นสิ่งที่มวลมนุษย์ได้สร้างขึ้นมา   แบ่งออกได้เป็น  2  ประเภท คือ

1.1   สิ่งแวดล้อมทางวัตถุ  หรือสิ่งแวดล้อมที่สามารถมองเห็นได้  เช่น  ถนน  สะพาน  บ้านเรือน  เครื่องบิน  วิทยุ โทรทัศน์  รถไฟ

1.2   สิ่งแวดล้อมทางสังคม  หรือสิ่งแวดล้อมทางนามธรรม  เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข  ได้แก่  ระบอบการปกครอง  ศาสนา  การศึกษา อาชีพ  ความเชื่อ เจตคติ  กฎหมาย  ขนบธรรมเนียมประเพณี  สิ่งแวดล้อมเหล่านี้มักจะมองเห็นในรูปพฤติกรรม

 สิ่งแวดล้อมทางสังคมนี้ เราเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม  ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือกำหนดขึ้นเช่นกัน   อันรวมถึงวัฒนธรรมและศิลปกรรม  ความก้าวหน้าทางวิทยาการต่าง ๆ  ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้คุณภาพของมนุษย์ดีขึ้น  สร้างเสริมสังคมให้สงบเรียบร้อย  สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม  นอกจากจะมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์แล้วยังมีผลทางด้านจิตใจ   ซึ่งต้องอาศัยความงามของศิลปกรรมและธรรมชาติประกอบกัน

 

คุณสมบัติของสิ่งแวดล้อม

                สิ่งแวดล้อมทั้งหลายต่างก็มีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่พอจะสรุปได้ดังนี้

1.  ความเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้   นั่นคือ  สิ่งแวดล้อมแต่ละประเภท จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว  โดยการแสดงความเป็นสิ่ง ๆ นั้น  เช่น เป็นมนุษย์   เป็นโต๊ะ  เก้าอี้   เป็นต้นไม้   เป็นรูปภาพ

                2.  ความไม่อยู่อย่างโดดเดี่ยวในธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อม   ต่าง ๆ มักจะมีสิ่งแวดล้อมอื่นอยู่ด้วยเสมอ จะไม่อยู่โดดเดี่ยวในธรรมชาติ  เช่น  มนุษย์กับที่อยู่อาศัย   มนุษย์กับสังคม  ต้นไม้กับดิน  สัตว์กับพืช

                3.  การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  สิ่งแวดล้อมประเภทหนึ่งต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งแวดล้อมอีกประเภทหนึ่งเสมอ  เช่น  พืช  ต้องอาศัยดิน  อาศัยน้ำ   น้ำต้องอาศัยต้นไม้     ดินต้องอาศัยสัตว์              จุลินทรีย์   พืช    สัตว์ต้องอาศัยอากาศหายใจ  น้ำ   พืชเป็นอาหาร

                4.  มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันแบบห่วงโซ่   สิ่งแวดล้อมทั้งหลายไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว  จะมีการพึ่งพาอาศัยกัน  เพราะ ฉะนั้นจึงมีความสัมพันธ์กันเสมือนลูกโซ่  เช่น  มีต้นไม้มาก ๆ ก็เป็นป่าไม้  มีป่าไม้  มีสัตว์  มีน้ำ  มีฝน   มีดิน  อุดมสมบูรณ์   ความสมบูรณ์ของดิน  ทำให้มีป่าไม้   ป่าไม้ทำให้มีฝน   ถ้าทำลายป่าไม้อย่างเดียวก็จะมีผลกระทบถึงลมฟ้าอากาศด้วย   เพราะทุกอย่างมีความสัมพันธ์กัน

                5.  ความทนทานและความเปราะบาง   เป็นคุณสมบัติของสิ่งแวดล้อมที่ผู้ใช้ต้องใช้ดุลยพินิจว่า สิ่งใดมีความคงทน  สิ่งใดเสื่อมสลายได้ง่าย

                6.  มีความเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา  เป็นธรรมชาติของสรรพสิ่งทั้งหลายมีการเกิด  ดับ  เช่น  ต้นไม้งอกงามได้  เติบโตได้  และก็ต้องตายไปในที่สุด  นี่คือความจริงของธรรมชาติ

 

อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่มีต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์

                สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ตลอดมา  มนุษย์อาศัยสิ่งแวดล้อม  เพื่อสนองความต้องการของตนเอง  ในด้านปัจจัยสี่ คือ อาหาร   เครื่องนุ่งห่ม  ที่อยู่อาศัย  และยารักษาโรค  โดยที่แรกเริ่ม  สิ่งแวดล้อมเหล่านั้นเกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ  แต่ต่อมามนุษย์ก็นำทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นมาปรุงแต่งผลิตสิ่งของ  สนองความต้องการของมนุษย์และสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์จนกลายเป็น สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมขึ้น  เช่น

 

                1.  ลักษณะอาหารที่บริโภค    มนุษย์บริโภคอาหารตามสภาพของสิ่งแวดล้อมที่มีทั้งสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและ
สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม  เช่น  คนเอเชีย  และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  บริโภคข้าวเจ้า  ข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก  ตามลักษณะของภูมิประเทศที่เหมาะในการปลูกข้าวเจ้าและข้าวเหนียว   ส่วนคนในทวีปยุโรปและทวีปอเมริกา  ซึ่งมีอากาศอบอุ่น  จึงบริโภคข้าวสาลี และมันฝรั่งเป็นหลัก   แต่ชาวอิตาลีบริโภคมักกะโรนีและสปาเกตตี  เพราะข้าวสาลีที่ปลูกเป็นชนิดแข็งทำขนมปังไม่ได้   ชาวญี่ปุ่นนิยมบริโภคปลา  เพราะปลาหาได้ง่าย  ส่วนคนในทะเลทรายบริโภคอินทผลัม   นมแกะ   นมแพะ  เพราะมีมากในแถบนั้น

                2.  ลักษณะเครื่องนุ่งห่ม    ภูมิอากาศจะเป็นตัวกำหนดเครื่อง นุ่งห่มของมนุษย์และวัตถุดิบที่นำมาใช้ประกอบเป็นเครื่องนุ่งห่ม   กำหนดลักษณะความหนาบางของเครื่องนุ่งห่ม  เช่น  เขตร้อน ปลูกฝ้าย   เพราะเหมาะกับอากาศ   คนจึงใช้ผ้าฝ้ายเป็นเครื่องนุ่งห่ม

                3.  ลักษณะที่อยู่อาศัย    นี่ก็สำคัญ  มนุษย์สร้างที่อยู่อาศัยโดยอาศัยลักษณะอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม  เช่น เรือนทรงไทย ของคนไทย เหมาะสำหรับเขตอากาศร้อนชื้นเพราะใต้ถุนบ้านสูง  หลังคา ทรงแหลม  หน้าจั่วสูง  หน้าต่างมาก  มีเฉลียง  จึงระบายอากาศได้ดี   บ้านในเขตอบอุ่น  มักสร้างด้วยปูนซีเมนต์  หน้าต่างน้อย   ส่วน

 

พวกมองโกเลีย อยู่ในเขตอากาศแห้งแล้งก็จะใช้หนังสัตว์ทำกระโจมที่พักซึ่งเหมาะต่อการอพยพ

                สำหรับในย่านชุมชนแออัดก็จะมีสลัม  ถ้าคนมีรายได้มากขึ้นก็จะมี อพาร์ตเมนต์    แฟลต    ทาวน์เฮาส์  หรือคอนโดมีเนียม

                4.  ลักษณะสุขอนามัย    มนุษย์ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมดีก็จะมีสุขอนามัยดี  สุขภาพทางกายทางจิตก็จะดีขึ้นด้วย   ส่วนผู้ที่อยู่ใน     ที่ ๆ  มีสิ่งแวดล้อมไม่ดี  โรคภัยไข้เจ็บก็มักจะมีมากขึ้นด้วย  บริเวณที่อยู่ในเขตอากาศร้อนจะมีแมลงมาก   จึงเป็นพาหะนำโรคมากกว่า เขตอบอุ่นหรือเขตหนาว

                เราจะเห็นได้ว่า   สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อมนุษย์ในด้าน   ต่าง ๆ มาก  เราจึงต้องเรียนรู้จักสิ่งแวดล้อมไว้  เพื่อป้องกันตัวเราเอง  หรือพูดง่าย ๆ  ว่า  ให้เราอยู่ในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ได้อย่างสงบสุข

 

หมายเลขบันทึก: 486238เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2012 09:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2012 09:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท