เกริ่นก่อนกล่าว – การจัดการความรู้ กับ CUP Manager


การจัดการความรู้มีหลากหลายวิธี หลากหลายสำนัก แต่จุดมุ่งหมายที่คล้ายคลึงกันก็คือ การได้มาซึ่งองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์แก่การปฏิบัติงาน และนำพาองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ได้ในที่สุด

การเรียนครั้งที่ ๓ ของหลักสูตร (หลังจากเรื่อง Health Systems Management และ Biostatistics) จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๓-๒๔ มีนาคม ๒๕๕๕ ครั้งนี้เปลี่ยนบรรยากาศการเรียนเข้ามาในเมืองหลวงหลังจากเรียนที่ขอนแก่นมาในสองครั้งแรก จากตารางเรียน เราได้เห็นรายชื่อของวิทยากรจากหลายๆ สาขา น่าเสียดายที่ตามกำหนดการเดิมเราจะได้เรียนกับ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ต้องถูกเปลี่ยนแปลงไป แต่ถึงอย่างไร การเรียนในครั้งนี้ก็ทำให้เราได้มุมมองเรื่องการจัดการความรู้ (Knowledge Management; KM) อยู่ไม่น้อย

คาบแรกเราได้ทบทวนเนื้อหาที่ได้รับมอบหมายจาก อ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ เมื่อเดือนที่แล้วเกี่ยวกับหนังสือ “กระชากหน้าธุรกิจยาข้ามชาติ” และ “อุบายขายโรค” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีการทางการตลาดของบริษัทยาที่มีอิทธิพลต่อความรู้ทางการแพทย์และผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ ทำให้เรา ในฐานะแพทย์ผู้ปฏิบัติเพื่อการดูแลรักษาประชาชนที่เจ็บป่วย ต้องใช้วิจารณญาณอย่างมากในการรับรู้ข้อมูลต่างๆ ที่จะนำมาซึ่งการวินิจฉัยและการรักษาโดยใช้ยา ว่ามีความเหมาะสม และมีที่มาที่เกิดจากการจัดการความรู้ที่ถูกต้อง และปราศจากซึ่งอิทธิพลของผู้หวังผลประโยชน์ทางการค้าหรือไม่

เราเริ่มต้นเข้าบทเรียนด้วยการรู้จักกับการจัดการความรู้เบื้องต้น โดยในประเด็นของความสำคัญของ KM นั้น ศ.นพ.ประเวศ วะสี กล่าวไว้ว่า “การจัดการความรู้ จะทำให้เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ทุกคนล้วนมีประสบการณ์” ความรู้ในโลกนี้สามารถจัดประเภทได้หลากหลายแบบ รูปแบบหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเรียนของเรา คือ การจัดเป็น ความรู้เชิงระบบ กับ ความรู้เชิงปฏิบัติ เพราะในขอบเขตงานของแพทย์นั้น ผู้นำการพัฒนาสุขภาพชุมชน ควรจะต้องมีความรู้เชิงระบบมากกว่าแพทย์ทั่วไป

ในส่วนของรายละเอียดของการจัดการความรู้ มีวิทยากร ๔ ท่านที่มาให้ความรู้แก่เรา ได้แก่

๑)      ดร.พยัต วุฒิรงค์

ประธานกรรมการ Wisdom World Group ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด ในเครือซีเมนต์ไทย (SCG)

๒)      ดร.ยุวดี เกตสัมพันธ์

หัวหน้างานพัฒนาคุณภาพการพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

๓)      คุณประไพ จรูญนาถ

รองกรรมการผู้จัดการด้านบริหารงานสารสนเทศบุคคลกลาง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)

๔)      นพ.ประเทือง ตียะไพบูลย์สิน

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตาคลี อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

ผลสรุปจากบทเรียนการจัดการความรู้ในครั้งนี้ ทำให้ทราบถึงหลักการของการจัดการความรู้ที่มีหลากหลายวิธี หลากหลายสำนัก แต่จุดมุ่งหมายที่คล้ายคลึงกันก็คือ การได้มาซึ่งองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์แก่การปฏิบัติงาน และนำพาองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ได้ในที่สุด

 

การจัดการความรู้ ถือเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ช่วยสร้างให้งานประจำของเรามีคุณค่ามากขึ้น ในองค์กรแต่ละองค์กรย่อมมีความรู้แฝงเร้นอยู่ ประสบการณ์ของคนทำงานทุกคนล้วนมีประโยชน์ที่จะช่วยพัฒนาองค์กรให้บรรลุเป้าหมายของการทำงานได้ การจัดการสิ่งเหล่านี้ให้ปรากฏออกมาเป็นความรู้ที่ชัดแจ้ง จะกลายเป็นสมบัติอันล้ำค่าที่จะทำให้ชนรุ่นหลังหรือแม้แต่ตัวเราเองได้รับประโยชน์จากความรู้เหล่านั้น

ติดตามอ่านเนื้อหาสรุปบทเรียนได้ในบันทึกถัดไปครับ >> คลิก http://www.gotoknow.org/blogs/posts/486214

หมายเลขบันทึก: 486208เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2012 22:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กรกฎาคม 2012 14:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณค่ะที่ให้ความรู้ ชอบค่ะ อยากเรียน แต่ไม่มีโอกาส คอยอ่านบันทึกดีดีจากคุณหมอก็แล้วกันนะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท