นอกไข่แดงคือการเรียนรู้


เขียนโดย วิเชียร ไชยบัง : ครูใหญ่โรงเรียนนอกกะลา

ภายในไข่แดงคือขอบเขตของความปลอดภัย เป็นการทำงานของโหมดปกติด้วยความเคยชิน เป็นการดำเนินชีวิตให้ผ่านไปแต่ละวันแบบไม่ต้องคิดใคร่ครวญให้มาก เช่น ตื่นนอน เราเข้าส้วม นั่งถ่าย ฉีดสายชำระ แปรงฟัน รดน้ำต้นไม ขับรถไปที่ทำงาน ทุกอย่างเป็นไปได้อย่างอัตโนมัติ

แต่การออกนอกเขตไข่แดง จะทำให้เราได้ไตร่ตรองครุ่นคิด เพื่อโยงสิ่งที่พบพานใหม่กับประสบการณ์ที่มี มวลประสบการณ์ทั้งหลายจะโยงใยเพื่อเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาใหม่ที่เข้ามา เช่น ตอนที่เราไปเที่ยวทะเล เราเรียนรู้การหายใจด้วยปากเมื่อต้องใช้สน็อกเกิ้ล ความไม่เคยชินแรกๆ อาจทำให้บางครั้งสำลักน้ำ แต่เมื่อเราลองทำครั้งแล้วครั้งเล่า เราก็สามารถดำน้ำดูปะการังที่สวยงามนั้นได้ ซ้ำเรายังสามารถปรับแต่งอุปกรณ์ให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วย ตัวเอง ความยากก่อนหน้านั้นกลายเป็นเรื่องง่ายๆ

ลูกไก่สามารถมีชีวิตอยู่ได้สี่ห้าวันหลังจากฟักโดยไม่ต้องกินอะไร ทั้งนี้เพราะไข่แดงที่ติดตัวมา หากมันไม่หัดคุ้ยเขี่ยและจิกกินอาหารตั้งแต่วันแรกๆ ที่ฟักออกมา ไม่กี่วันเมื่อไข่แดงหมดมันก็จะง่อยเปลี้ยและตายไป

โหมดอัตโนมัติ หรือ การอยู่ในไขแดงเองก็ใช้ประโยชน์สำหรับการดำรงอยู่ได้อย่างจำกัด เพราะในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอย่างยิ่งนี้ การออกจากไข่แดงอยู่เนืองๆ จะเกิดการเรียนรู้อยู่เสมอๆ นั่นจะขยายขอบเขตไข่แดงของเราเองให้กินขอบเขตมากขึ้น ซึ่งพอจะรับประกันได้ว่าเราจะยังอยู่ในโลกได้อย่างไม่ลำบาก
 
 

อ่านเพิ่มเติมhttp://lamplaimatpattanaschool.blogspot.com/2010/04/blog-post_02.html



หมายเลขบันทึก: 485934เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2012 13:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2012 20:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท