พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวบุญธรรม : พรทิพย์ ม่วงทอง กับ จุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยในฐานะบุตรบุญธรรมตามกฎหมายของคนสัญชาติไทย


สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว (Right to family creation) สิทธิในการอยู่รวมกันเป็นครอบครัว (Right to family unification) เป็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้รับการยอมรับจากนานารัฐ ให้มีกับมนุษย์ทุกผู้ โดยไม่เลือกความแตกต่างในเชื้อชาติ สัญชาติ หรืออื่นใด --- ข้อกฎหมายการวิเคราะห์สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวบุญธรรมของคนไร้สัญชาติในประเทศไทย

พรทิพย์ ม่วงทอง : จุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยในฐานะบุตรบุญธรรมตามกฎหมายของคนสัญชาติไทย

 

สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว (Right to family creation) สิทธิในการอยู่รวมกันเป็นครอบครัว (Right to family unification) เป็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้รับการยอมรับจากนานารัฐ ให้มีกับมนุษย์ทุกผู้ โดยไม่เลือกความแตกต่างในเชื้อชาติ สัญชาติ หรืออื่นใด

ดังนั้น พรทิพย์ ม่วงทอง คนต่างด้าวไร้สัญชาติ ประเภทคนไร้รากเหง้าในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยก็ได้รับการรับรอง คุ้มครองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวบุญธรรม ซึ่งเป็นสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวในรูปแบบหนึ่ง โดยฐานแห่งสิทธิประกอบข้อเท็จจริงในการก่อตั้งครอบครัวบุญธรรมครั้งนี้เป็นไปตามข้อกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายไทย ดังต่อไปนี้

กฎหมายระหว่างประเทศที่รับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว

1.ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR)

            ข้อ 16 “(1) Men and women of full age, without any limitation due to race, nationality or religion, have the right to marry and to found a family. They are entitled to equal rights as to marriage, during marriage and at its dissolution.

            (2) Marriage shall be entered into only with the free and full consent of the intending spouses.

            (3) The family is the natural and fundamental group unit of society and is entitled to protection by society and the State.”

2. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights :ICCPR)

            ข้อ 23 (1) The family is the natural and fundamental group unit of society and is entitled to protection by society and the State.

 

กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้อง

                รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550

                หมวด 3 สิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 35 กำหนดว่า “สิทธิในครอบครัว....ย่อมได้รับความคุ้มครอง”

                โดยพิจารณาประกอบกับ บทบัญญัติว่าด้วยบททั่วไปของรัฐธรรมนูญ ซึ่งบังคับใช้เพื่อรับรองและคุ้มครองสิทธิของมนุษย์ทุกคนในประเทศไทย

                หมวด 1 บททั่วไป มาตรา 4 กำหนดว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง"

                ดังนั้น ในเบื้องต้น สิทธิในครอบครัวของ พรทิพย์ บุคคลซึ่งปรากฎตัวและมีภูมิลำเนาในประเทศไทย ก็ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

                พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481

                เนื่องด้วยข้อเท็จจริงในการรับบุตรบุญธรรมครั้งนี้ เป็นการรับบุตรบุญธรรมระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรม คือ แม่กนกพร และพ่อพิเศษฐ์ คู่สามีภรรยาสัญชาติไทย กับนางสาวพรทิพย์ ม่วงทองคนไร้สัญชาติในทะเบียนราษฎรไทย มีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนในประเทศไทย และมีสถานะเป็นคนต่างด้าวในประเทศไทย ตาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4 พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 4  และเมื่อการรับบุตรบุญธรรมจะกระทำในประเทศไทย นิติสัมพันธ์ดังกล่าวจึงมีลักษณะระหว่างประเทศ อันทำให้ตกอยู่ภายใต้การขัดกันแห่งกฎหมาย จึงจำเป็นต้องใช้หลักกฎหมายขัดกัน (Conflict of Laws) แห่งถิ่นที่เกิดนิติสัมพันธ์ดังกล่าว เข้ามาค้นหากฎหมายที่จะนำมาบังคับใช้กับการรับบุตรบุญธรรม กล่าวคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 โดยพิจารณาตามบทบัญญัติดังนี้

             มาตรา 35 กำหนดว่า “ถ้าผู้รับบุตรบุญธรรม และบุตรบุญธรรมมีสัญชาติแตกต่างกัน ความสามารถและเงื่อนไขแห่งการรับบุตรบุญธรรมให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย แต่ผลแห่งการรับบุตรบุญธรรมระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรม ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของผู้รับบุตรบุญธรรม”

             มาตรา 6 กำหนดว่า “สำหรับบุคคลผู้ไร้สัญชาติ ให้ใช้กฎหมายภูมิลำเนาของบุคคลนั้นบังคับ ถ้าภูมิลำเนาของบุคคลนั้นไม่ปรากฏ ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ”

            ดังนั้นจากบทบัญญัติทั้งสอง สรุปได้ว่า เงื่อนไขและคุณสมบัติความสามารถของแม่กนกพร พ่อพิเศษฐ์คนสัญชาติไทย ผู้จะเป็นผู้รับบุตรบุญธรรม ย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  และเช่นเดียวกัน พรทิพย์ ม่วงทองผู้มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทย ในฐานะรัฐเจ้าของภูมิลำเนาของพรทิพย์ ย่อมเข้ามาเป็นตัวกำหนดเงื่อนไขและคุณสมบัติเรื่องความสามารถในการเป็นบุตรบุญธรรมในครั้งนี้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทย

บรรพ 5 ลักษณะ 2 หมวด 4 ว่าด้วยบุตรบุญธรรม ตั้งแต่ มาตรา 1598/19 - มาตรา 1598/37 ซึ่งสามารถสรุปหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเงื่อนไขและคุณสมบัติ ของบุตรบุญธรรมและผู้รับบุตรบุญธรรมได้ ดังต่อไปนี้

1. ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และอายุมากกว่าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมไม่น้อยกว่า 15 ปี

2. การรับบุตรบุญธรรม ถ้าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี ผู้นั้นต้องให้ความยินยอม

3.ผู้จะรับบุตรบุญธรรมหรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสอยู่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน

4.ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใดอยู่จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีกในขณะเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่เป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญ

            จากการพิจารณาข้อเท็จจริงของนางสาวพรทิพย์ และแม่กนกพร พ่อพิเศษฐ์ ประกอบกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สามารถสรุปได้ว่า นางสาวพรทิพย์ ซึ่งบรรลุนิติภาวะ และไม่เคยจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมมาก่อน เมื่อได้รับความยินยอมจากสามีที่ชอบด้วยกฎหมาย คือ นายคูโดะ ก็สามารถจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมของ แม่กนกพร และพ่อพิเศษฐ์ คู่สามีภรรยาซึ่งอายุมากกว่าพรทิพย์ตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายว่าด้วยการรับบุตรบุญธรรม

 

             อย่างไรก็ตามเมื่อวิเคราะห์ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับ การพิจารณาเงื่อนไขและคุณสมบัติด้านความสามารถของผู้รับบุตรบุญธรรมและผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม และปรากฎว่าทั้งสองฝ่ายมีความสามารถตามกฎหมายของประเทศที่จะจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมได้แล้วนั้น

             เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมครั้งนี้จะดำเนินการในประเทศไทย ซึ่งกระบวนการการจดทะเบียนบุตรบุญธรรมนั้นเป็นเรื่องตามกฎหมายมหาชน กฎหมายที่มีผลบังคับกับกระบวนการในครั้งนี้ สำหรับกรณีที่ “ผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมบรรลุนิติภาวะ” ก็คือ กฎหมายไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว กล่าวคือ พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2478 ประกอบกับ ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2541

ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2541

         หมวด 5 การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม

         ข้อ 28 กำหนด กระบวนการการยื่นขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมในกรณที่ ผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมบรรลุนิติภาวะแล้ว โดยเอกสารที่พรทิพย์ และแม่กนกพร พ่อพิเศษฐ์จะต้องยื่นในวันที่จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมนั้น เป็นไปตาม ข้อ 8 แห่ง ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2541  และเมื่อได้ตรวจสอบตามข้อกฎหมาย ประกอบกับการหารือกับ คุณปลัดอมรรัตน์ แห่งสำนักทะเบียนอำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นสำนักทะเบียนที่มีอำนาจรับจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมในครั้งนี้ เนื่องจาก เป็น “สำนักทะเบียนตามภูมิลำเนาของผู้รับบุตรบุญธรรม ในกรณีที่การรับบุตรบุญธรรมนั้นกระทำโดยผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว” สามารถสรุปถึงเอกสารที่ต้องยื่นประกอบการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมในครั้งนี้ กล่าวคือ

                กรณีผู้รับบุตรบุญธรรม (แม่กนกพร และพ่อพิเศษฐ์)

                1.บัตรประจำตัวประชาชน

                2. ทะเบียนบ้าน

                3. ทะเบียนสมรส และใบสำคัญการสมรสระหว่างแม่กนกพร พ่อพิเศษฐ์ (ซึ่งต้องให้ความยินยอมแก่อีกฝ่าย และทั้งสองเองก็ต้องการรับพรทิพย์เป็นบุตรบุญธรรมของตน)

               4.ใบเปลี่ยนชื่อสกุล (กรณีมีการเปลี่ยนชื่อสกุล)

              กรณีผู้เป็นบุตรบุญธรรม (นางสาวพรทิพย์ ม่วงทอง)

             1.บัตรประจำตัวบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน

              2.แบบรับรองรายการบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ทร.38ข

              3. กรณีมีคู่สมรสจึงต้อง แนบใบสำคัญการสมรส และทะเบียนสมรส

            กรณีการแสดงความยินยอมของสามี ของนางสาวพรทิยพ์ ม่วงทอง

           1.หนังสือเดินทางของ นายคูโดะ (เพื่อประกอบการยืนยันตัวบุคคลซึ่งเป็นสามีตามกฎหมายของนางสาวพรทิพย์  และโดยหลักจะต้องดำเนินการแปล เป็นภาษาไทย และรับรองความถูกต้องโดย กรมการกงสุล  แต่กรณีนี้ เจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสมรสและนายคูโดะ รู้จักและเคยตรวจสอบสถานะของนายคูโดะมาตั้งแต่ คราวยื่นขอจดทะเบียนสมรส จึงเชื่อได้ว่าไม่มีกรณีสวมตัว ทางเจ้าหน้าที่จึงยกเว้นไม่ต้องดำเนินการแปลหนังสือเดินทางเป็นภาษาไทยแต่อย่างใด)

          2.การแสดงความยินยอมให้มีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม โดยนายคูโดะสามารถไปแสดงความยินยอมได้ด้วยตนเอง ณ สำนักทะเบียน หรือทำหนังสือแสดงความยินยอม โดยผ่านการแปลและรับรองความถูกต้อง ในกรณีที่นายคูโดะไม่ได้มาแสดงความยินยอมด้วยตนเอง

 

จากการประสานงาน กับทางคุณปลัดอมรรัตน์ และความช่วยเหลือของ อาจารย์วิศรุต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งอาสาให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และเป็นล่ามแปลภาษา การแสดงความยินยอมของนายคูโดะ จากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทย ในวันที่ดำเนินการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม คือ วันที่ 18 เมษายน 255 บัดนี้การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมระหว่าง แม่กนกพร พ่อพิเศษฐ์ และนางสาวพรทิพย์ ม่วงทอง ได้สำเร็จลง จึงทำให้นางสาวพรทิพย์ ม่วงทอง ได้รับการรับรองตามกฎหมาย ว่าเป็น “คนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรของประเทศไทย ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายของคนสัญชาติไทย”

กระบวนการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการรับรองและคุ้มครองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวบุญธรรมของคนไร้สัญชาติในประเทศไทย คือ นางสาวพรทิพย์ ด้วยแล้ว ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าปัจจุบัน นางสาวพรทิพย์ ม่วงทอง มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทย ในฐานคนต่างด้าวไร้สัญชาติในทะเบียนราษฎรไทย และบุคคลซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายของคนสัญชาติไทย

(โปรดอ่านเพิ่มเติม บันทึกกระบวนการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม http://www.gotoknow.org/blogs/posts/485620 และ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/485619  โดย อาจารย์วิศรุต สำลีอ่อน )

หมายเลขบันทึก: 485863เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2012 19:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท