ชีวิตที่พอเพียง : ๑๕๔๐. นั่งตากอากาศใต้ร่มไทร ลานหน้าตึกจามจุรี ๔ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 

          เช้าวันที่ ๑๖ มี.ค. ๕๕ ผมมีประชุมคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ตึกจามจุรี ๔  จุฬาฯ    แต่ผมไปถึงก่อนเวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง   จึงมีบุญได้นั่งทำงานกลางแจ้งใต้ร่มไทร ตรงลานหน้าตึกจามจุรี ๔

          อากาศยามเช้าเย็นสบาย แม้จะเป็นหน้าร้อน   ลมโชยเพิ่มความสดชื่นขึ้นไปอีก   มีเก้าอี้เหล็กวางไว้ให้ คนนั่งพักผ่อน   และมีคนมาเดินหรือวิ่งออกกำลังกาย และมานั่งตากอากาศ    และที่น่าชื่นใจคือมีคนนำคนแก่ นั่งรถเข็นมาพักผ่อนหย่อนใจคนหนึ่ง  

          ผมคุ้นเคยกับบริเวณนี้มากว่าสิบปี เพราะมาประชุมสภามหาวิทยาลัยของจุฬาฯ และของ มอ.   และได้เห็นการปรับปรุงบริเวณให้สวยงามร่มรื่นขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันร่มรื่นมาก   น่าชมทางฝ่ายจัดการ สถานที่ของจุฬาฯ    และน่าชื่นชมยิ่งขึ้นไปอีกที่เขาจัดสถานที่เพื่อเอื้อเฟื้อให้คนภายนอกเข้ามาใช้เป็นที่ ออกกำลังกาย และพักผ่อนหย่อนใจ    คล้ายๆ เป็นสวนสาธารณะเล็กๆ และผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง 

          แต่ ศ. นพ. วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ที่มาประชุมเดียวกัน ให้ความเห็นว่า ลานนี้มีพื้นคอนกรีตมากเกินไป ทำให้ร้อน และสะท้อนความร้อนเข้ามาในตึกด้วย   ซึ่งผมก็เห็นด้วย   ผมชอบให้มีสนามหญ้ามากๆ

          เช้าวันรุ่งขึ้น คือวันเสาร์ที่ ๑๗ มี.ค. ๕๕ ผมไปที่เดียวกัน เวลาเดียวกัน เพื่อไปประชุมสภามหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์   ได้มีโอกาสเปรียบเทียบบรรยากาศระหว่างวันธรรมดากับวันหยุด   แต่เข้าใจว่าวันธรรมดาช่วง ปลายเดือนมีนาคมไม่คึกคักเหมือนช่วงเปิดเทอมตามปกติ   บรรยากาศจึงไม่แตกต่างกันมาก   แต่ก็เห็นชัดว่า คนจีนสูงอายุที่มีนิวาสสถานในบริเวณใกล้เคียงเป็นผู้มาใช้สถานที่เป็นส่วนใหญ่  

          ผมตั้งใจไม่กินอาหารเช้าที่บ้าน เพื่อมากินที่ร้านอาหาร สนอ. ซึ่งอยู่ติดกับอาคารจามจุรี ๔   และเปิดให้บริการวันจันทร์ - เสาร์   ผมจึงได้พบว่าอาหารราคาถูกเหลือเชื่อ   คือข้าวราดกับ ๒ อย่าง ๒๔ บาท   ใส่ไข่ดาวอีก ๑ ฟอง ๓๐ บาท   จึงเกิดความคิดว่า น่าจะมีคนทำวิจัยเปรียบเทียบราคาอาหารในโรงอาหาร ในมหาวิทยาลัยต่างๆ  และเปรียบเทียบกับราคาในร้านอาหารในศูนย์การค้า    หาสาเหตุที่ทำให้ราคาแตกต่าง กันมาก   ทำความเข้าใจเชื่อมโยงสู่ระบบเศรษฐกิจสังคมไทยในปัจจุบัน

          มีเวลาว่างก่อนประชุมประมาณ ๑ ชั่วโมง   ผมลองนั่งในโรงอาหาร ซึ่งว่างมาก แต่พบว่าอากาศไม่ถ่ายเท   จึงไปนั่งในสวนด้านหลังอาคารจามจุรี ๔ ซึ่งร่มรื่นสวยงามมาก   ได้สังเกตข้อดีของการออกแบบอาคารให้มี ใต้ถุนสูง หรือชั้นล่างโล่ง   และมีที่นั่งปูนหินซัดให้คนนั่ง    จุฬาฯ มีประสบการณ์ยาวนานในการออกแบบ สถานที่ต่างๆ ในมหาวิทยาลัย   จึงมีตัวอย่างดีๆ มากมายให้มหาวิทยาลัยอื่นได้ศึกษา    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีสถานที่ให้นิสิตนักศึกษาทำกิจกรรม ทั้งในวันปกติและวันหยุด   การเรียนรู้ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งของเยาวชน คือการทำกิจกรรม ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของ Learning by Doing หรือ PBL

          แต่สวนด้านหลังตึกจามจุรี ๔ ก็ยังไม่เป็นสัปปายะสถานช่วง ๘ น. วันนี้   เพราะอับลม   ผมจึงย้ายอีกครั้งหนึ่ง ไปนั่งที่เก้าอี้เหล็กด้านหน้าซ้ายมือของอาคาร หันหน้าไปทางอาคารมหาธีรราชานุสรณ์    ตรงนี้ลมดีมาก และได้ซึมซับบรรยากาศจากอีกมุมหนึ่ง ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับใต้ต้นไทรที่ผมนั่งเมื่อวาน   เวลาไปในสถานที่สัปปายะ ผมจะพยายามเรียนรู้สุนทรียะของสถานที่และธรรมชาติ   โดยการเดินไปมอง (หรือถ่ายรูป) จากต่างมุม   ถ้าได้ถ่ายรูป ก็ได้มีโอกาส AAR รูปด้วย   ว่าที่เราเห็นด้วยตา กับที่เห็นจากรูปถ่าย ให้สุนทรียะต่างกันอย่างไร   ผมฝึกจนเกิดทักษะในการมองหาวิวสวยๆ    เห็นปุ๊บถ่ายปั๊บ ได้รูปสวยๆ   จนมีคนสังเกตเห็นทักษะข้อนี้ของผม และคอยตามไปถ่ายวิวเดียวกัน

          ความแม่นยำของสายตาในการตรวจสอบความงดงามของวิวถ่ายรูปนี้ เราไม่ต้องการความแม่นยำมาก และทำผิดได้ ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย   กล้องถ่ายรูปดิจิตัล ช่วยให้การถ่ายรูปเป็นการเรียนรู้สุนทรียะทางสายตา ได้มาก   รูปไหนไม่สวยเราก็ลบทิ้ง   เก็บไว้เฉพาะที่สวยหรือที่เป็นบทเรียนว่ารูปที่สวยกับที่ไม่สวยถ่ายจากมุม แสง จุดโฟกัส และ composition ที่แตกต่างกันอย่างไร

          ตอนไปซื้อข้าวราดแกงที่ร้านอาหาร สนอ. ผมได้เรียนรู้เรื่องการเรียนรู้ทักษะสำหรับ ศตวรรษที่ ๒๑ โดยบังเอิญ   จากความทะเร่อทะร่าของผม   ไม่รู้กติกาการซื้อและกินอาหารที่โรงอาหารนี้ (เดาว่าของจุฬาฯ  ทั้งหมด)    และเนื่องจากเป็นช่วงที่แทบไม่มีคน   ที่ร้านที่ผมไปซื้อมีชายหนุ่มซื้ออยู่แล้ว ๑ คน (เดาว่าเป็นนิสิต)    ผมเข้าไปทางซ้ายของหน้าร้าน เพราะชายหนุ่มเขาอยู่ทางขวา   พอชายหนุ่มซื้อเสร็จเขาก็เดินผ่านผม (ทำให้ผมต้องหลบให้) ไปทางซ้าย   ผมหลบให้และนึกในใจว่าทำไมเขาไม่เดินออกไปทางขวา เพราะไม่มีคนอื่นอีกเลย

          ผมมาได้คำเฉลย เมื่อไปนั่งกินอาหารและมองไปทางหน้าร้าน จึงเห็นลูกศรชี้ทางเข้าหน้าร้านว่าต้องเข้า ทางขวาออกทางซ้าย   ผมทำผิดกติกาของที่นี่

          พอย้ายที่นั่งไปนั่งทางตะวันออกที่สุดของโรงอาหาร จึงพบป้ายอธิบายวิธีใช้บริการในโรงอาหาร ว่าให้เข้าคิวซื้ออาหาร ที่ช่วยให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยที่น่าชื่นชมมาก   ผมจึงยิ่งตระหนักในความเปิ่นของตัวเอง

          แต่ก็อดเถียงตัวเองไม่ได้ว่า หากผมเป็นชายหนุ่มคนนั้นผมจะทำอย่างไร   ผมจะเดินไปทางซ้ายตาม ระเบียบของโรงอาหารและแสดงท่าทีให้ตาแก่สวมเสื้อนอกที่ไม่รู้จักปฏิบัติตามกฎหลีกทางให้ หรือผมจะเดินออกไปทางขวาโดยไม่มีคนรอคิวอยู่เลย   พฤติกรรมสองแบบนี้มาจากหลักคิด (mental model) ที่แตกต่างกัน

          พฤติกรรมแบบแรก ยึดหลักถูกต้องตามกฎ    คนที่ไม่รู้จักกฎเป็นคนผิด เปิ่น น่ารังเกียจ   ยอมไม่ได้

          พฤติกรรมแบบหลัง ยึดหลักความยืดหยุ่น   ให้อภัยแก่คนที่ไม่รู้กฎ   และกฎนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต เพราะตอนนั้นไม่มีลูกค้าคนอื่น  

          ผมมองว่า นี่คือทักษะชีวิตอย่างหนึ่ง ที่คนเราต้องเรียนรู้   และการศึกษาต้องฝึกทักษะนี้ให้แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา    โดยที่ต้องเข้าใจว่า ไม่มีคำตอบเดียวที่ถูกต้อง    ขึ้นอยู่กับบริบทด้วย    และหากเหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นในช่วงมีคนมาก   ผมจะรู้สึกขอบคุณหากชายหนุ่มจะบอกผมว่า “คุณลุงครับ เข้าคิวด้วยครับ ปลายคิวอยู่ ทางขวา”    นี่คือทักษะย่อยหนึ่งของทักษะชีวิต เป็นทักษะการสื่อสารและสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น 

          เอามาเล่าไว้ ว่าทุกขณะจิตเป็นการเรียนรู้จริงๆ

 

วิจารณ์ พานิช

๑๗ มี.ค. ๕๕

 

 ร่มไทรจุดที่ผมนั่งในวันที่ ๑๖ มี.ค. ๕๕


 

 ถ่ายรูปไปทางหน้าอาคารจามจุรี ๔ มีต้นโพธิ และคนมาเดินออกกำลัง


 

 ถ่ายไปทางทิศใต้ เห็นอาคารโรงเรียนสาธิตอยู่ไกลๆ

 


 

 ถ่ายไปทางทิศเหนือ เห็นอนุสรณ์สถาน นร. สห. ๒๔๘๘ อยู่ไกลๆ


 

 อนุสรณ์สถาน นร. สห. ๒๔๘๘ อันงดงาม


 

 คำอธิบายอนุสรณ์สถาน


 

 คำกลอนไพเราะซึ้งใจ สอนใจเยาวชน


 

 ถ่ายจากด้านบนอนุสรณ์สถานไปทางทิศใต้


 

 

ความงามของปาล์มจีบ ที่ผมหลงใหล


 

 สวนด้านหลังอาคารจามจุรี ๔ 



 

ถ่ายจากจุดที่นั่งหน้าอาคารจามจุรี ๔ วันที่ ๑๗


 

หมายเลขบันทึก: 485856เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2012 17:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ทักษะชีวิตอย่างหนึ่ง ที่คนเราต้องเรียนรู้ และการศึกษาต้องฝึกทักษะนี้ให้แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา โดยที่ต้องเข้าใจว่า ไม่มีคำตอบเดียวที่ถูกต้อง ขึ้นอยู่กับบริบทด้วย ขอบคุณท่านอาจารย์มากครับ สิ่งเหล่านี้ในทฤษฎีมีให้เรียนรู้หลากหลาย แต่การนำไปปฏิบัติในชีวิต และสังคมผมว่ายังน้อยกว่าในอดีต นั้นคือวัฒนธรรมไทยอันดี ที่รู้จักให้อภััย ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ และเข้าใจซึ่งกันและกัน (ยิ้ม ไหว้ ทักทาย : หายไปมากแล้วครับ) ภาพที่อาจารย์นำมาลงเผยแพร่เป็นบรรยากาศที่สดชื่น มุมหนึ่งของ กทม. ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท