แนวทางการจัดการ กับ อุปสรรค 7 ประการที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริหารมือใหม่ ตอนที่ 3


ผู้นำคนใหม่

 

4. คุณเป็นคนส่งสัญญาณเสมอ 

     เมื่อยังไม่ได้เป็นผู้บริหาร คุณจะพูดจะแสดงความคิดอย่างไร ก็แทบไม่มีความสำคัญและผลกระทบต่อทุกคนในองค์กร เพราะคนไม่ได้ใส่ใจเก็บเอาไปคิดตีความหมายกัน  แต่เมื่อคุณมีตำแหน่งเป็นผู้บริหาร การพูดจา และ อากัปกิริยา ต่างๆ ของคุณ จะกลายเป็นสิ่งมีความหมายให้คนในองค์กรตีความไปหมด คนในองค์กรจะพยายามปรับตัวให้เข้ากับสัญญาณที่คุณส่งออกมา ถ้าผู้บริหารคนใหม่เป็นคนตรงไปตรงมา ลูกน้องก็ไม่เล่นอ้อมค้อม ผู้บริหารเป็นผู้ส่งสัญญาณเสมอ ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังการส่งสัญญาณโดยไม่ตั้งใจด้วยเพราะคำพูดเปรยๆแบบไม่ตั้งใจบางคำอาจทำให้ลูกน้องเอาไปตีความหมายว่าเจ้านายของตนต้องการอะไร และพยายามทำเพื่อเอาใจเจ้านาย ซึ่งอาจกลายเป็นผลเสียต่อองค์กรในภายหลัง 

     สิ่งแรกที่คุณควรสื่อสารหรือแสดงท่าทีนั้น อาจเริ่มสื่อสารจากเรื่องเล็กๆน้อยๆก่อน หรืออาจจะเป็นเรื่องใหญ่ๆเลย ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆขององค์กรนั้นๆ สิ่งที่คุณต้องการสื่อสารหรืออยากให้ทุกคนปฏิบัติตามนั้นก็อาจจะเป็นเรื่องง่ายๆและเป็นประโยชน์ ตามคำแนะนำของ Jack Welch กล่าวไว้ว่า  การเปิดกว้างให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างแนวคิดเพื่อใช้การพัฒนาองค์กร จัดให้มีการเสนอแนะในสิ่งที่เหมาะสม , เป็นเหตุเป็นผล และพร้อมให้รางวัลกับผู้ที่มีแนวคิดดีๆและเป็นประโยชน์กับองค์กรแล้วนำไปต่อยอดด้วยการปฏิบัติจริง  หรือมีส่วนร่วมในการผลักดันให้องค์กรประสบความสำเร็จเสมอ  เพราะนั่นเปรียบเสมือนการปูรากฐานที่ดีในองค์กรแห่งอนาคต ถึงแม้ว่าคุณอาจจะต้องเปลี่ยนวัฒธรรมเก่าๆขององค์กรก็ตาม แต่อย่าลืมว่าพนักงานระดับหัวหน้างานขึ้นไปส่วนใหญ่พร้อมที่จะปฏิบัติตามแนวทางของคุณ คุณอาจจะเริ่มจากเรื่องเล็กๆ แล้วค่อยๆขยายเป็นวงกว้างเพื่อสนับสนุนสิ่งที่คุณพูดว่าเป็นสิ่งที่คุณต้องการจริงๆ และเฝ้าติดตามเรื่องนี้เป็นระยะๆ เพื่อให้แน่ใจว่า ทุกคนไม่ได้เกิดความเข้าใจผิดในสิ่งที่คุณพยายามจะสื่อสารให้กับพวกพนักงานทุกคนที่เกี่ยวข้อง 

5.เมื่อคุณมีตำแหน่งแต่ไร้อำนาจ 

      ทั้งๆที่มีตำแหน่งเป็นผู้บริหาร แต่ผู้บริหารใหม่หลายๆคน กลับรู้สึกคล้ายกับว่า มีตำแหน่งแต่ไร้อำนาจ เพราะขาดความชัดเจนของกรอบอำนาจและความรับผิดชอบระหว่างคุณกับกรรมการบริษัท ทำให้คุณวางตัวลำบากในการใช้อำนาจ และเริ่มรับรู้ว่าตนเองไม่ได้เป็นนายใหญ่ที่แท้จริง ยังมีบารมีของประธานกรรมการบริษัท หรืออำนาจแฝงของกรรมการบริษัทบางคนครอบงำองค์กรอยู่ และหลายองค์กรก็มอบอำนาจให้กับผู้บริหารอย่างจำกัดจนผู้บริหารเกือบมีสภาพเป็นเพียงคนส่งสาส์น ที่คอยส่งสาส์นจากระดับนโยบายไปสู่ระดับปฏิบัติเท่านั้น แม้ว่าผู้บริหารได้เข้าสู่ตำแหน่งเพราะถูกเลือกถูกสรรหามาก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาเลือกให้มาเป็นผู้นำสูงสุดขององค์กร จริงๆแล้วเขาเลือกมาใช้ทำงานตามความต้องการของผู้เลือกเท่านั้น 

     

ด้วยสาเหตุข้างต้นจึงทำให้ผู้บริหารหลายๆคนไม่กล้าตัดสินใจที่จะทำอะไรเนื่องจากไม่แน่ว่าสิ่งที่ตนตัดสินใจจะอยู่ในกรอบอำนาจที่ตนตัดสินใจได้หรือไม่ ดังนั้นสิ่งที่คุณสามารถทำได้ในฐานะผู้บริหารใหม่ คือ ก็ต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของผู้นำขององค์กร และต้องทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดให้กับองค์กร ดังนั้นสิ่งที่คุณจำเป็นต้องทำเมื่อเจอในสถานการณ์ดังกล่าวจึงมี 2 ประการคือ

1) การมองโลกในแง่ดี

      ก่อนอื่นสิ่งที่มีความจำเป็นในกรณีที่ได้รับตำแหน่งผู้บริหารแต่ปรากฏว่าไม่มีความชัดเจนเรื่องอำนาจ ก็คือการมองโลกในแง่บวก ตามคำกล่าวของ Price Pritchett ซึ่งกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ถ้าชีวิตของคนเรา มัวแต่มองในแง่ลบ ก็จะทำให้เราไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาได้เนื่องจากจะทำให้เกิดความท้อแท้และหดหู่ใจ จนไม่มีเรี่ยวแรงที่จะแก้ไขปัญหาได้  ดังนั้นสิ่งแรกคือต้องคิดในแง่บวก คิดว่าเป็นการทดสอบความสามารถของเราที่บริษัทได้ตั้งไว้ ให้ถือว่าเป็นความท้าทายที่ควรข้ามผ่านไปให้ได้ การมองโลกแง่บวกเป็นทัศนคติของผู้ชนะและมันเป็นกุญแจดอกสำคัญสู่การมีชีวิตที่ดีขึ้น 

2) รู้วิธีบริหารเจ้านายของคุณ

     ก่อนอื่นคุณต้องพยายามสร้างความประทับใจเมื่อพบกันครั้งแรก โดยสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดในขั้นตอนนี้คือ ยิ้มเข้าไว้ สร้างความเป็นมิตรกับกรรมการทุกคน ต่อมาสิ่งที่คุณควรต้องรู้คือ กรรมการแต่ละคนมีความต้องการด้านใด เพื่อที่จะสามารถสื่อสารต่อกรรมการแต่ละคนของคุณได้ว่าคุณมิได้มีวัตถุประสงค์ใดๆที่ต้องการแย่งสิ่งที่กรรมการคนนั้นๆ ต้องการไปจากเขาไป

     โดยความต้องการของคนส่วนใหญ่ที่ได้กล่าวไว้ โดย McClelland นั้นแบ่งได้ออกเป็น 3 ประเภท ดังต่อไปนี้

1) ความต้องการประสบความสำเร็จ ( need for achievement : n-Ach

2) ความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ( need for affiliation : n-Aff )

3) ความต้องการมีอำนาจ ( need for Power : n-Pow )

    โดยเจ้านายทั่วๆไป นั้นมักจะเป็นคนที่ได้รับแรงกระตุ้นจากความต้องการมีอำนาจหรือเป็นผู้ควบคุมความต้องการที่จะทำเพื่อสิ่งที่ดีให้องค์กร และต้องการประสบความสำเร็จส่วนตัวอยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม หากคุณสามารถทราบว่าแรงกระตุ้นของคณะกรรมการส่วนใหญ่ของคุณคืออะไร คุณก็จะสามารถทำตัวในทางที่สอดคล้องกับแรงกระตุ้นของพวกเขา ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆกฎถูกแนะนำโดย David J. Lieberman ซึ่งได้กล่าวถึงวิธีการสะกดใจคนไว้อย่างน่าสนใจ โดยขออนุญาตยกตัวอย่างมาหนึ่งตัวอย่างซึ่งก็คือ กฎที่ว่าด้วยความคล้ายคลึงกัน ซึ่งกล่าวว่า คนที่มีลักษณะคล้ายคลึงมีแนวโน้มที่จะชอบพอกันสูงมากกว่าคนที่มีลักษณะต่างกัน แต่ถึงคุณจะไม่สามารถทำได้ทั้งหมด อย่างน้อยสิ่งที่คุณทำได้คือคุณต้องไม่ไปขัดขวางความต้องการของคณะกรรมการส่วนใหญ่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น โดยสรุปคือการบริหารเจ้านายมีมากมายหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ตัวคุณเองในฐานะผู้บริหารใหม่ อาจต้องปรับเปลี่ยนตนเองไปตามสถานการณ์ต่างอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้ความขัดแย้งกับเจ้านายของคุณ แต่สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ สิ่งคุณทำต้องไม่ทำให้คุณต้องสูญเสียตัวตนที่แท้จริงของตนเองไปเพราะนั่นอาจจะหมายถึงความสุขในการทำงานของคุณในอนาคตได้หมดลงไปแล้ว

  มีต่อตอนที่ 4

เขียนใน GotoKnow โดย 
 ใน NANA
หมายเลขบันทึก: 485816เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2012 09:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มกราคม 2014 21:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท