บันทึกช่วยจำ "ศาลาแหลมท่าตะเคียนทอง"


ศาลาแหลมท่าตะเคียนทอง

เช้าวันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน 2555 ครอบครัวของข้าพเจ้าได้มีโอกาสร่วมงานบุญประเพณี "ทำบุญส่ง" ศาลาแหลมท่าตะเคียน แม่เตรียมอาหารตั้งแต่เช้าตรู่เตรียมใส่ปิ่นโต ตักข้าวสวยร้อนๆ ใส่ขันข้าว ไม่ลืมที่เอาจานเปล่าไปด้วย 3-4 ใบ ไปถึงศาลาแหลมท่าตะเคียน จัดแจงหาที่นั่ง น้าษรเอาเสื่อปูรองนั่ง แม่เอาปิ่นโตอาหารไปตั้งบริเวรกึ่งกลางแถวที่พระนั่งสวดมนต์  เดินกลับมาหยิบขันข้าวไปเข้าแถวตักข้าวสวยใส่บาตรที่กรรมการวัดนำมาตั้งไว้ให้ญาติที่มาทำบุญได้ตั้งจิตอธิฐาน ก่อนตักข้าวสวยร้อนๆ ใส่บาตร วันนี้มีพระสงฆ์จากวัดพลงช้างเผือก เกือบ 20 รูป สามเณรบวชเรียนภาคฤดูร้อน ร่วม 80 รูป มาสวดมนต์ที่ศาลา ญาติโยมมาจนเต็มศาลาแหลมท่าตะเคียน หลายๆครอบครัวพากันนั่งในเต้นท์ผ้าใบที่ทางกรรมการชุมชนพลงช้างเผือก จัดเตรียมไว้ จนเต็มหมดทั้ง 4 เต้นท์ 
   พระมหาชวน เจ้าอาวาสวัดพลงช้างเผือกนำสวดมนต์ สามเณรน้อยหลายรูปสวดมนต์ได้แล้ว สวดเสียงดังฟังชัด จากนั้นญาติโยมก็น้อมใจกันประเคนอาหารหวานคาวแค่พระสงฆ์และสามเณร ระหว่างที่ฉันภัตาหาร กรรมการวัดก็กล่าวขอบคุณผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์ฯ เพื่อร่วมทำนุบำรุงศาสนา แล้วก็กล่าวเชิญ สจ.กนกวรรณ เบญจาทิกุล สจ.เขตอำเภอแกลง พะปะพี่น้องประชาชน ชี้แจงแถลงไขการเรื่องกิจกรรมงานพัฒนา งานเทศกาลผลไม้ของอำเภอแกลง ที่กำลังจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2555 ณ บริเวณจัดงาน ถนนสายบ้านบึงแกลง กม.ที่ 99 นี้ 
    จากนั้นท่านนายกสมชาย จริยเจริญ นายกเทศมนตรีตำบลเมืองแกลง ซึ่งเดินสายร่วมงานทำบุญส่ง ซึ่งจัดพร้อมๆกันหลายแห่ง ท่านเดินทางมาถึง พิธีกรได้กล่าวเชิญท่าน ได้พูดคุยกับพี่น้องที่ร่วมทำบุญอย่างเป็นกันเอง เล่าถึงความเป็นไปเป็นมาของศาลาแหลมท่าตะเคียนให้ลูกหลาน ได้ทราบความเป็นมา ว่าจากเดิมศาลาแห่งนี้ 
   เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2500 ศาลาริมน้ำที่สร้างอยู่ริมน้ำบ้านแหลมท่าตะเคียนทอง หลังเดิมได้ถูกรื้อย้ายมายกใหม่ให้มีพื้นที่กว้างขึ้นกว่าหลังเดิม เพื่อใช้เป็นศาลาท่าน้ำไว้ขึ้นลง ข้างของผลิตผลต่างๆ เช่น กะปิ น้ำปลา ข้าว เป็นอาทิ ใช้เป็นที่พักชั่วคราวยามว่าง และใช้เป็นที่ทำบุญในช่วงตรุษสงกรานต์เรื่อยมา
    กาลต่อมา ศาลาแหลมท่าตะเคียนหลังเดิมนี้ที่อยู่ในพื้นที่รอยต่อของชุมชนวัดพลงช้างเผือกและชุมชนบ้านหนองกระโดง ประสบปัญหากระแสน้ำในคลองกัดเซาะริมตลิ่งเข้ามาเรื่อยๆ ด้วยเป็นบริเวณช่วงเลยคุ้งน้ำที่รับกระแสน้ำ ซึ่งพุ่งมาตรงๆ พอดี และถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีความพยายามนำเอาเสาไฟฟ้าคอนกรีตมาตอกเป็นแนวไว้และยึดเป็นลานบนริมฝั่ง แต่ก็ไม่อาจทานความแรงของกระแสน้ำจนฉุดเสาและพื้นคอนกรีตพังลงไปในคลองเป็นแถบ
     ในปี พ.ศ. 2547 เมื่อเทศบาลตำบลเมืองแกลงเห็นว่าหากปล่อยไว้จะทำให้เกิดผลจากปัญหาน้ำกัดเซาะลึกเข้ามาเรื่อยๆ ผมจึงได้เข้าเจรจากับคณะกรรมการประจำศาลาแหลมท่าตะเคียนทอง เพื่อขอให้ยกที่ดินบริเวณนั้น รวมถึงที่ดินอันเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแหลมท่าตะเคียนทองให้เป็นทรัพย์สินของเทศบาลแต่ในชั้นแรกเสียก่อน เพื่อจะได้สามารถเข้ามาแก้ปัญหานี้ได้อย่างเต็มที่และอีกหนทางหนึ่ง ยังได้เล็งเห็นว่า บริเวณที่ดินผืนนี้ น่าจะยังสามารถขยายพื้่นที่ออกไปได้อีก เพื่อให้เมืองมีพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนเพิ่มขึ้นและชาวบ้านได้มีที่ทางไว้ใช้ร่วมกันต่อไป เมื่อคณะกรรมการต่างเห้นพ้องกับแนวคิดและแนวทางดังกล่าว หลังจากน้ันในเดือนเมษายน 2549 เทศบาลฯ จึงได้เริ่มต้นโดยการก่อสร้างพนังกั้นน้ำตามมาตรฐานงานช่างความยาวตามแนวชายคลองประมาณ 30 เมตร สิ้นเงินไป 1,423,000 บาทในจุดที่เกิดปัญหาโดยด้านบนพนังได้ออกแบบทำเป็นลานเอนกประสงค์พร้อมปันไดท่าน้ำไว้กระทั้งบัดนี้ 
  ต่อมา เมื่อคณะกรรมการศาลาฯ และชาวบ้านเมื่อเห็นว่าเทศบาล ได้มีเจตนาที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาโดยทำตามที่แจ้งไว้แต่คราวแรกแล้ว จึงได้ช่วยกันเรี่ยไรรวบรวมเงินบริจาคไปจัดซื้อที่ดินบริเวณเดียวกันมาเพิ่มเติมให้เป็นทรัพย์สินของเทศบาลฯ เพิ่มขึ้นอีกรวมเนื้อที่เดิมแล้วมีจำนวนสัก 2 ไร่ 1 งานเศษ ต่อมาเทศบาลฯ โดยความเห็นชอบของสภาเทศบาลฯ จึงได้อนุมัติงบประมาณจำนวนหนึ่งร่วม 2 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อที่ดินบริเวณติดต่อกับแปลงที่ดินสมทบเข้าไปอีกประมาณ 7 ไร่ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2550 รวมเป็นพื้นที่กว่า 9 ไร่ 1 งานเศษ และเมื่อเดือนกันยายน 2551 ยังได้ให้งบประมาณอีกจำนวน 2,287,000 บาทไปถมดินปรับระดับพื้นที่ รวมถึงขุดสระน้ำไว้ลูกหนึ่งแล้ววางท่อระบายน้ำต่อออกไปถ่ายเทไปมากับระดับน้ำในคลอง ให้เรียบร้อยสวยงามและใช้ประโยชน์ได้
   กระทั้งในเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2553 ต่อเนื่อง 2554 เทศบาลฯ โดยความเห็นชอบของสภาเทศบาลฯ ก็ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 1,948,000 บาท ให้สร้างศาลาแหลมท่าตะเคียนทองหลังใหม่ เพื่อทดแทนศาลาหลังเดิมที่เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลาและไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้คนจำนวนมากที่มาทำบุญในช่วงตรุษสงกรานต์ ทั้งนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไปออกแบบศาลาหลังใหม่โดยอาศัยเค้าโครงรูปร่างลักษณะ สัดส่วนรายละเอียดต่างๆ ของศาลาหลังเดิมเป็นพื้น แต่ให้มีพื้นที่ใช้ประโยชน์ในศาลาเพิ่มมากขึ้น ส่วนศาลาหลังเดิมก็ได้รื้อถอนไม้ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เพื่อนำไปสมทบกับเรือนไม้เก่าจากบ้านปากน้ำประแสที่เทศบาลฯ นำมาประกอบสร้างใหม่อีกครั้ง ณ ริมน้ำคลองประแส บริเวณสนามกีฬาและสวนธารณะเฉลิมพระเกียรติ 80 พระพรรษาของเทศบาลฯ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการปลูกเรือนของชาวเมืองแกลงแต่อดีต
    ศาลาแหลมท่าตะเคียนทองหลังใหม่ มีรูปทรงสี่เหลี่ยมด้านเท่า ยอดหลังคาจตุรมุข ระดับความลาดเอียงของหลังคาเท่ากับระดับศาลาเดิม มีบันไดขึ้นลงได้ 3 ด้าน ภายในศาลารวมแล้วไม่น้อยกว่า 280 ตารางเมตร ส่วนแท่นประดิษฐานพระพุทธรูปประจำศาลา สนนราคา 40,000 บาท และคันทวนติดเสาศาลาอีก ตัวละ 1,500 บาท จำนวน 20 ตัว เป็นเงิน 30,000 บาท ได้สร้างขึ้นจากการร่วมกันเรี่ยไรบริจาคเงินด้านหลังศาลา ยังมีพื้นที่ดินที่เหลืออยู่ ด้านหลังมีสระน้ำ 1 ลูก มีคอกเลี้ยงวัวและคอกสัตว์ต่างๆ ที่เทศบาลฯ เลี้ยงไว้เพื่อกำจัดขยะอินทรีย์จำพวกผักผลไม้และเศษอาหารที่เกิดขึ้นในระบบเมืองอยู่ทุกวัน นอกจากนี้ยังไม้กันพื้นที่ไว้ส่วนหนึ่งที่จะได้ร่วมกันปลูกต้นตะเคียนไว้ในวันพิธีเปิดศาลา เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2555 ในคราวเทศกาลงานบุญกลางบ้าน ปีที่ 9 ประจำปี 2555 เพื่อให้เป็นที่หมายแห่งที่มาของชื่อเรียกขานย่านดังกล่าว พื้นที่ด้านหน้าอีกฝั่งถนนหนึ่งของศาลา เป็นที่ตั้งของโรงสีข้าวกล้อง ตรา "ข้าวแกลง" ที่ได้รับงบประมาณการก่อสร้างสนับสนุนมาจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เพื่อเป็นอีกหนทางหนึ่งในมาตรการที่จะลดภาวะโลกร้อนโดยการลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการขนส่งข้าวจากต่างถิ่น สร้างความมั่นคงทางอาหารและความเป็นเมืองแห่งข้าวปลาอาหารของผู้คนชาวเมืองแกลงไว้สืบไป
    ในเร็ววันนี้ ศาลาแหลมท่าตะเคียนทองแห่งนี้ จะเพิ่มเนื้อหาการใช้สอยตัวศาลาและที่ดินบริเวณที่เป็นทรัพย์สินของเทศบาลทั้งหมด ให้เป็นประโยชน์สำหรับชาวเมืองแกลงให้มากยิ่งขึ้น นอกจากที่เคยใช้ในการทำบุญช่วงตรุษสงกรานต์ จะมีการปรับปรุงก่อสร้างถนนบริเวณนี้ใหม่ และต่อยาวย้อนขึ้นไปทางทิศเหนือจรดริมคลอง พร้อมกับก่อสร้างสะพานข้ามคลองประแสความยาวราว 54 เมตร ไปเชื่อมกับพื้นที่อีกฟากคลองหนึ่งที่เป็นรอยต่อระหว่างชุมชนบ้านในยางและชุมชนบ้านแหลมยาง เพื่อย่นระยะการเดินทางของผู้คนทั้งสองฟากคลองให้ไปมาถึงกันได้สะดวกยิ่งขึ้นและลดความแออัดของยานยนต์ในเขตตลาดสามย่านโดยเทศบาลฯ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากงบยุทธศาสตร์จังหวัดระยองครับ...
    ฟังท่านนายกชี้แจงแถลงไขเสร็จสรรพ พระสงฆ์สวดมนต์ให้พร ปะพรมน้ำพุทธมนต์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ทำพิธีปล่อยเรือที่มีเสบียงอาหารใส่ลำเรือไปด้วย แล้วพิธีกรกล่าวเรียกผีกลับลงเรือนกลับบ้านเก่า หลังจากได้ปล่อยมาเยี่ยมญาติในช่วงตรุษสงกรานต์ 
   พวกเรานำปิ่นโตมาล้อมวงกันข้าวด้วยกันในวงศาคณาญาติ ช่างมีความสุขเสียจริง ปีใหม่ไทยปีนี้
   
    

หมายเลขบันทึก: 485800เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2012 22:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท