KM00098 : "เข้าใจ" และ "ถูกต้อง"


ไม่แปลกอะไรที่นักเรียนก็ยังคงนั่งชื่นชมกับคะแนนเมื่อทำข้อสอบได้ถูกต้อง จนลืมไปว่าตนเองบวกเลขเป็นและสามารถใช้ความสามารถในการบวกเลขไปทำอย่างอื่นได้

ผมเคยเขียนถึงเรื่องเกี่ยวกับ การเน้นกระบวนการ (Process) มากกว่าผลลัพธ์ (Outcome) ไว้ครั้งหนึ่ง จากการได้อ่านหนังสือ "LIVE & LEARN" ของ อ.วรากรณ์ สามโกเศศ ท่านได้ยกตัวอย่างเกี่ยวกับการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นเอาไว้ เช่น จำนวนเต็ม ๔ เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง และแน่นอนย่อมมีมากมายไม่รู้จบ ผมลองเอามาเล่นกับลูกว่า "อะไรบวกกันแล้วได้ ๑๐" ผ่านไปเกือบ ๓ เดือน ลูกผมยังหาคำตอบมาให้เรื่อยๆ และยังรู้สึกสนุกกับการหาคำตอบนั้นอยู่

หันกลับมาดูบ้านเรา ก็ยังเห็นข้อสอบคณิตศาสตร์ของเด็กที่ยังคงเน้นให้เด็กทำข้อสอบ "ให้ถูกต้อง" (และตรงใจครู) มากว่าจะสอนให้ "เข้าใจ" ๒+๒ = ......., ๕ + ๓ =.......... จึงยังปรากฏให้เห็นในแบบฝึกหัดของเด็กในทุกวันนี้  หนำซ้ำพ่อแม่ผู้ปกครองบางท่าน (และส่วนใหญ่) ยังต้องส่งลูกออกไปหาคำตอบ "ให้ตรงใจครูในโรงเรียน จากครูนอกโรงเรียน" เพื่อเด็กจึงตอบได้อย่างถูกต้องว่า ๒+๒ = ๔ หรือ ๕+๓=๘ มากกว่าที่จะเข้าใจว่าการบวกคือการเอามารวมกัน

ครั้งหนึ่งผมเคบอ่านหนังสือของ อ.วรภัทร ภู่เจริญ เล่าถึงสมัยเป็นอาจารย์อยู่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ท่านออกข้อสอบโดยการให้นักศึกษาออกข้อสอบพร้อมเฉลยเอง ผมจำไม่ได้มากนักว่าผลออกมาเป็นอย่างไร แต่เท่าที่พอจำได้ก็ไม่ได้ผลออกมาดีมากนัก

เขียนนำมาซะยาวยืดเพียงแต่จะบอกว่า วันนี้ผมออกมาทำงานด้านข้อมูลสุขภาพ ก็ยังเห็นแนวคิดชอบความ "ถูกต้อง" มากกว่าความ "เข้าใจ" โดยเฉพาะเมื่อคนกำกับหรือคนควบคุม (ซึ่งก็อาจเปรียบได้กับคุณครู) ก็ยังคงบอกโจทย์แบบ ๒+๒ = ? อยู่ จึงไม่แปลกอะไรที่นักเรียนก็ยังคงนั่งชื่นชมกับคะแนนเมื่อทำข้อสอบได้ถูกต้อง จนลืมไปว่าตนเองบวกเลขเป็นและสามารถใช้ความสามารถในการบวกเลขไปทำอย่างอื่นได้

ขยายความให้เห็นภาพ ผมเข้าไปอ่านในสังคมออนไล์ ที่เกี่ยวกับเรื่องการบันทึกข้อมูลสุขภาพ ส่วนใหญ่ก็มักคุยกันเรื่องความสมบูรณ์ของข้อมูล มีการแลกเปลี่ยนเทคนิคและวิธีการต่างๆ มากมาย ขณะเดียวกันผมลองถามกลับไปในบางแห่งที่มีข้อมูลค่อนข้างจะสมบูรณ์ว่า "แล้วมีอัตราการการใช้บริการเท่าไหร่" อาจมีคำตอบเพียงเบาๆ หรือไม่มีกลับมา

"อะไรบวกกันได้ ๑๐ บ้าง" จึงเป็นคำถามที่อยากให้ผู้ตอบเข้าใจหลักการของการบวก แต่ก็มีผลลัพท์ที่ถูกต้องที่ได้มาพร้อมๆ กัน เช่นเดียวกันกับ  "อัตราการการใช้บริการเท่าไหร่" หากคนตอบสามารถรู้วิธีหาคำตอบ ก็จะเข้าในหลักการบันทึกข้อมูลอย่างถูกต้องไปแบบ "เป็นธรรมชาติ" และนั่นคือ "การหาผลลัพท์ที่เน้นกระบวนการ" เหมือนกัน

และสุดท้ายก็ขอยกเรื่องเดิมที่อ่านกี่ทีก็มีประโยชน์ จาก อ.วรากรณ์ ที่พูดถึงสิ่งที่เรียกว่า DISCIPLINARY THINKING คือ

 

ก)      การคิดที่ไม่ “ยึดติด” กับเนื้อหา แต่ให้เข้าใจ “บริบท” (ผู้เขียน : เช่น ไม่จำเป็นต้องไปจำปีที่กรุงศรีอยุธยาแตก แต่ควรเข้าใจว่าเพราะเหตุใดกรุงศรีอยุธยาจึงแตก)

ข)      สามารถเก็บสะสมข้อมูลต่างๆ และนำสรุปเป็นทฤษฎีหรือนำมาตั้งข้อสังเกตใด (ผู้เขียน : อาจต้องต่อเนื่องจากข้อแรก คือ เมื่อเข้าใจในบริบทของเรื่องต่างๆ มากเข้าก็สามารถนำมาคิดต่อยอดได้)

ค)      ไม่ยึดติดกับสาขาการศึกษาเดียวในการวิเคราะห์  เช่น เมื่อเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ก็ใช้วิชาเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์เพียงแต่อย่างเดียว (ผู้เขียน : อันนี้เราพบบ่อย ยิ่งเมื่อเรียนมากขึ้นบางครั้งก็ยึดติดกับสาขาที่ตัวเองเรียนมา จนอาจปิดกั้นเรื่องอื่นๆ ทำให้มุมมองแคบลง พูดง่ายคือมี “อัตตา” เพิ่มมากขึ้น)

ง)       มีความสามารถในการคิดบังคับตนเองให้กระทำในสิ่งที่สำคัญ พูดง่ายคือ คิดในเรื่องที่ควรคิดและเป็นประโยชน์

 

 

คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 485732เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2012 01:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 14:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท