กรณีศึกษาที่ครูน่านำสอน 3 โดย ชาตรี สำราญ


ความรู้ (Knowledge) นั้นเป็นความรู้ที่มีอยู่ในตำรายังไม่ได้นำออกมาใช้ แต่ความรู้ที่ผุ้เรียนนำวิธีการหาความรู้ไปหาแล้วได้ความรู้มานั้น เรียกว่า ปัญญา (Wisdom) ความรู้อย่างมีปัญญาประกอบนี้แหละ คือความรู้ที่โลกต้องการ

เคล็ด (ไม่) ลับ

 

                สิ่งที่ผู้สอนพึงสำเนียกอยู่เสมอว่า  กรณีศึกษานั้นเป็นวิธีการเรียนรู้หรือวิธีการหาความรู้  อย่าคิดว่ากรณีศึกษานั้นเป็นความรู้ทั้งหมด  และต้องรำลึกต่อไปอีกว่า  วิธีการหาความรู้นั้นมีความสำคัญเท่าๆ กับตัวความรู้ที่หามาได้  ขอเน้นย้ำว่าตัวความรู้ที่หามาได้   ไม่ใช่ความรู้ที่อยู่ในตำรา  ถ้าถามว่าความรู้ทั้งสองนี้ต่างกันอย่างไร  ต่างกันอย่างนี้  ความรู้ (Knowledge)  นั้นเป็นความรู้ที่มีอยู่ในตำรายังไม่ได้นำออกมาใช้  แต่ความรู้ที่ผุ้เรียนนำวิธีการหาความรู้ไปหาแล้วได้ความรู้มานั้น  เรียกว่า  ปัญญา  (Wisdom)  ความรู้อย่างมีปัญญาประกอบนี้แหละ  คือความรู้ที่โลกต้องการ  เพราะความรู้อย่างนี้จะมี

                -   ตัวความรู้ที่ผู้ค้นหาเองรู้

                -   วิธีการค้นหาความรู้ที่ซ่อนอยู่ในความรู้ที่รู้

                -  ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการหาความรู้ซ่อนอยู่ด้วย

ความรู้ที่เป็นปัญญาของแต่ละคนนี้  จะเป็นความรู้ที่ยั่งยืนคงทนอยู่ในคนๆ นั้น  แต่ทว่ามิใช่ความรู้ในตำราวิชาการไม่สำคัญ  ความรู้ในหนังสือตำราวิชาการนั้นมีความสำคัญตรงที่เป็นแหล่งค้นคว้าแหล่งหนึ่ง  เป็นแผนที่ที่ย่นระยะทางของการค้นหา  แต่ถ้าความรู้นั้นอยู่ในตำรา  จะเป็นความรู้แห้งๆ  เราต้องนำมาใช้แล้วจะเกิดความรู้ต่อยอด  คือจะมีทั้งวิธีการหาความรู้และมีวิธีการใช้  มีความรู้สึกนึกคิดของผู้รู้หรือผู้ใช้เข้าไปผสมอยู่และมีตัวความรู้ที่ต่อยอด  ความรู้ตัวหลังจะไม่นิ่งจะต่อยอดออกไปเรื่อยๆ  ถ้ามีการนำไปใช้

                พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ว่า  บุคคลผ฿แสวงหาต้องเปี่ยมด้วย

                ปริยัติ    คือ            ตัวความรู้ที่มีอยู่เดิมในตำราในคัมภีร์ที่เปรียบ

                                                เหมือนแผนที่นำทาง

                ปฏิบัติ   คือ            การนำความรู้มาใช้

                ปฏิเวธ   คือ           ผลของการปฏิบัติตามความรู้จนรู้แจ้งในเรื่อง

                                                นั้น  เรียกว่า  ปัญญา

                กรณีศึกษาเป็นกระบวนการเรียนรู้กระบวนการหนึ่ง  ที่จะนำพาผู้เรียนไปสู่ทางแห่งปัญญาเหมือนๆ กับ Story line  และโครงงาน

                ถ้าเรามองในด้านของอริยสัจสี่  ก็พอจะเห็นภาพได้ว่า

                -   ปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องนั้นๆ ที่เรานำมาศึกษาเป็นรายกรณี  นั่นคือ  สมุทัย

                -   ผลที่เกิดจากปัญหาที่ศึกษา  ซึ่งเรายังไม่รู้เรื่องในเรื่องนั้นๆ  ทำให้เกิดวิตกกังวล  อยากรู้อยากเห็น  นั่นคือ  ทุกข์

                -   การนำกรณีศึกษามาสืบค้นเรื่องราว  คลี่คลายปัญหาให้รู้เรื่อง  นั่นคือ  มรรค

                -   ผลจากการนำกรณีศึกษามาคลี่คลายปัญหาจนรู้จริง  รู้แจ้ง  ในเรื่องนั้นๆ  นั่นคือ  พิโรธ

                ถ้าจะมองให้ลึกลงควบคู่กับมองเห็นอริยสัจสี่  ในกระบวนการเรียนรู้กรณีศึกษาแล้ว  ผู้สอนจะต้องรำลึกอยู่เสมอว่า  นำกรณีศึกษามาสอนเพื่ออะไร  แค่ไหน  ให้ผู้เรียนรู้ลึกซึ้งเพียงใด  เพราะระดับการรู้มีอยู่ 3 ระกับ  คือ

                - รู้จัก      About    รู้เรื่องกระบวนการเรียนรู้แบบ

                                                กรณีศึกษา

                -   รู้จริง  In            รู้เรื่องลึกๆ ขนาดบอกได้  อธิบายได้ 

                                                ทำให้ดูได้  และพอใจที่จะนำกรณีศึกษา

                                                มาใช้สืบค้นหาความรู้

                -   รู้แจ้ง  For         สามารถเลือกประเด็นปัญหาที่ใคร่รู้มา

                                                เรียนรู้ด้วยวิธีการกรณีศึกษาได้อย่าง

                                                ถูกต้องและสัมฤทธิ์ผล  อีกทั้งนำ

                                                กรณีศึกษามาเผยแพร่แก่ผู้สนใจอยู่เสมอ 

                                                เพื่อความยั่งยืนของกรณีศึกษา

จะเห็นได้ถึงความลุ่มลึกของการเรียนรู้และตัวความรู้  ว่ามีระดับที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด  ถ้าผู้สอนตั้งใจที่จะให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้กรณีศึกษาระดับใด  กิจกรรมการเรียนรู้ก็จะเข้มและข้นขึ้นตามระดับนั้นๆ  ถ้าหากผู้สอนเห็นความสำคัญของวิธีการเรียนรู้  วิธีการเรียนรู้นั้น  ผู้สอนจะต้องจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เอื้อต่อกรณีศึกษาบ่อยๆ ในต่างสถานการณ์  ต่างเรื่องราวที่จะเรียนรู้เพื่อไม่ให้ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่าย  สถานการณ์การเรียนรู้ที่จะสั่งสมประสบการณ์การเรียนรู้แก่ผู้เรียนนั้น  จะต้องจัดให้ผู้เรียนผจญกับปัญหาที่ผู้เรียนต้องคิดวิเคราะห์บ่อยๆ  แล้วนำผลมาสังเคราะห์สรุปเป็นองค์ความรู้ย่อย  เมื่อจบบทเรียนองค์ความรู้ย่อยก็จะขยายเป็นองค์ความรู้ใหญ่ของสถานการณ์นั้นๆ  ในขณะเดียวกันนั้น  ตัวองค์ความรู้และวิธีการเรียนรู้กับความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ต้องบอกได้  ประเมินผลได้ว่าบรรลุหรือสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ใด  สาระการเรียนรู้ใด  นี่คือการจัดการเรียนการสอนที่ไม่สูญเปล่า

                ได้กล่าวมาในตอนต้นแล้วว่า  หัวใจของกรณีศึกษา  อยู่ที่การวางแผนการเรียนรู้และการตั้งคำถาม  ทั้ง 2 ประเด็นนี้  ผู้สอนจะต้องฝึกฝนให้เกิดขึ้นใจจิตวิญญาณของผู้เรียนให้จงได้

                การตั้งคำถามมองดูว่าเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ถ้ามองให้ลึกๆ แล้วจะเห็นว่าผู้เรียนส่วนใหญ่ยังตั้งคำถามเชิงคิดวิเคราะห์ไม่เป็น  ถามได้แต่คำถามที่ผู้ตอบตอบแบบรู้จำเท่านั้น  เช่น

                -   หนังสือเล่มนี้ราคาเท่าไร

                -   เราจะไปตรงนั้นได้อย่างไร

                -   เมื่อไรเขาจะมา

                -   มีอะไรบ้างในกล่องนั้น

คำถามเหล่านี้  ผู้ตอบจะต้องใช้ข้อเท็จจริงตอบ  (ใคร  ที่ไหน  เมื่อไร  เท่าไร)  และบางคำถาม  (อย่างไร  อะไร)  ผู้ตอบจะใช้ข้อเท็จจริงกับความคิดเห็นเล็กๆ น้อยๆ ตอบ  แต่ถ้าต้องการให้ผู้เรียนสามารถใช้กลวิธีในการสืบค้นหาเรื่องราวที่ต้องการเรียนรู้ได้  ผู้เรียนจะต้องถามด้วยคำถาม  “ทำไม”  เพราะคำตอบที่ได้มานั้นผู้ตอบจะต้องคิดวิเคราะห์  แล้วตอบคำถาม  ถ้าผู้เรียนตั้งคำถามแบบเจาะลึก  เพื่อสืบค้นถึงสาเหตุถึงผลของเรื่องราวที่ผ่านมาจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน  ผู้ถามต้องพยายามกลั่นกรองคำถาม  “ทำไม”  ให้มากๆ

                คำถามเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้แบบสืบค้นหาความจริงในสถานการณ์ต่างๆ  ดังนั้นผู้เรียนจะต้องฝึกฝนทักษะการตั้งคำถาม  และตัวครูผู้สอนเองก็ต้องฝึกฝนทักษะกระตุ้นให้ผู้เรียนตั้งคำถามเป็น  ด้วยการใช้  คำถามนำ  ตรงนี้สำคัญมาก  ผู้สอนจะต้องเข้าใจถึงวิธีการตั้งคำถามนำกระตุ้นให้ผู้เรียนตั้งคำถามเพื่อการสืบค้นเป็น  อันนำไปสู่การคิดวิเคราะห์  คิดสังเคราะห์  และการคิดสร้างสรรค์  ที่รัฐต้องการให้เกิดแก่ผู้เรียนในปัจจุบันนี้  นั่นหมายถึงว่า  ทั้งผู้เรียนและผู้สอนรู้จักการตั้งคำถามเชิงคิดวิเคราะห์เป็น

                การตั้งคำถามนั้น  ถ้าผู้เรียนต้องการรู้เรื่องหนึ่งเรื่องใดแล้ว  ผู้เรียนจะต้องตั้งคำถามเจาะลึกลงไปเรื่อยๆ จนได้ข้อมูลมากพอที่จะสู่การคิดวิเคราะห์  สรุปเป็นตัวคำตอบได้

                การที่จะค้นหาสาเหตุของปัญหาใดๆ นั้นจะถามด้วยคำถามเพียงข้อสองข้อ  ถามคนสองสามคน  แล้วได้คำตอบมาสรุปนั้นจะได้คำตอบที่อาจจะไม่ตรงตามความเป็นจริงได้  ดังนั้นคำถามแต่ละชุดที่ผู้เรียนเตรียมไว้จะต้องนำไปถามแหล่งความรู้หรือผู้ให้ข้อมูลมากคน  ต่างวัย  ต่างเพศ  ต่างความคิด  จะได้คำตอบหลากหลายคำตอบ  หลากหลายแง่มุม  แล้วนำมาสรุปเป็นข้อมูลความรู้ที่น่าเชื่อถือได้

อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ครับ https://docs.google.com/docume...

หมายเลขบันทึก: 485522เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2012 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2018 12:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ได้อ่านทุกตอนที่เขียน อ่านไปก็คิดไป ชวนคิดได้ดีนะค่ะ ทำให้คิดย้อนไปถึงแนวปฏิบัติที่ผ่านมาของตัวเองเช่นกันค่ะ :-))

ขอบคุณครับ ผมเองแม้ไม่ได้เป็นผู้เขียน แต่ก็รู้สึกดีใจด้วยครับ ที่มีผู้ได้รับประโยชน์ครับ

แต่ละบทมีความกระจ่างชัดเจน  และสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง อ่านแล้วมีความสุขและมองเห็นแสงสว่างที่ใกล้เข้ามามากขึ้นค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท