คำว่า “แมนดาริน” มาจากภาษาสันสกฤต


               นานมาแล้ว ผมอ่านหนังสือที่ฝรั่งบันทึกเรื่องแผ่นดินสยาม สมัยอยุธยา มีรูปชาวสยาม ต้นไม้ บ้านเรือน เครื่องดนตรี ฯลฯ มีรูปหนึ่งเขียนว่า Mandarin ก็เข้าใจว่าเป็นคนจีน หรือขุนนางจีน

Large_tachard_mandarin

               อันที่จริง mandarin นั้นเป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ไม่ใช่คำจีน  แต่ฝรั่งใช้เรียก ภาษาจีนกลาง แล้ว ยังหมายถึง ขุนนาง ได้ด้วย

            ภาษายุโรปหลายภาษาใช้คำว่า mandarin ในความหมายดังกล่าว เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน ปอร์ตุเกส แต่ฝรั่งพวกแรกที่ใช้คำศัพท์นี้คือชาวปอร์ตุเกส เดิมเขียนว่า mandarim (น่าจะออกเสียงว่า มันดาริม) โดยเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1524 (พ.ศ. 2067) คือ ต้นสมัยกรุงศรีอยุธยา

Large_mandarinsiam

            ศัพท์นี้ ชาวปอร์ตุเกสเองได้รับมาจากภาษามลายูอีกทอดหนึ่ง ว่า manteri (ออกเสียงว่า มันเตอรี พูดเร็วๆ ก็ มันตรี)

            ศัพท์ภาษามลายูนี้ ได้รับมาจากภาษาสันสกฤตอีกทอดหนึ่ง คือ มนฺตฺรี (mantrī) หรือ มนตรี ในภาษาไทยเรานี้เอง

            สรุปตอนนี้ก่อน กันลืม ว่า แมนดารินที่เราคุ้นเคยนี้ มาจากภาษาสันสกฤต โดยผ่านภาษามลายู

 

มนตรี ในภาษาสันสกฤต

               คำว่า มนตรี นี้ รูปเดิมคือ มนฺตฺรินฺ (मन्त्रिन्) ในภาษาสันสกฤต หมายถึง ผู้รู้มนตร์ และต่อมาหมายถึงผู้ฉลาด อำมาตย์ในราชสำนัก ตัวหมากรุก (เทียบกับของฝรั่งว่า queen ของไทยว่าอย่างไร ผมก็ไม่ทราบ เพราะเล่นหมากรุกไม่เป็น)  ศัพท์นี้ปรากฏหลายครั้งในภควัทคีตา แต่ไม่ปรากฏในฤคเวท ในความหมายว่าผู้รู้มนตร์ (ผมอาจจะหาไม่เจอเอง ไว้ค่อยหาต่อไป)

               เหตุที่ มนตรี แปลว่าผู้รู้มนตร์ มีที่มาจากคำว่า มนตร์ (มันตระ) นั้นเอง

               มันตระ หมายถึง คาถา หรือบทร้อยกรองหนึ่งบท (โดยทั่วไปคือ 4 วรรค)

               จาก มนตร์ (มนฺตฺร) กลายเป็น มนฺตฺรี ได้อย่างไร มีวิธีดังต่อไปนี้

มนฺตฺร ตามด้วย {อินฺ}  คำนามใดๆ ที่ต่อท้ายด้วยอิน จะมีความหมายว่า มี เช่น วัชริน (ผู้มีสายฟ้า) มนฺตฺร+อินฺ จึงกลายเป็น มนฺตฺริน คำว่า มนตริน นี้เป็นศัพท์เดิมที่ยังไม่ได้เปลี่ยนตามไวยากรณ์ ภาษาอื่นที่จะยืมไปใช้ มักนำคำศัพท์รูปประธาน เอกพจน์ไปใช้ นั่นก็คือ มนฺตฺรี (คำว่า วัชริน ถ้าเป็นประธาน เอกพจน์ ก็คือ วัชรี)

               ทั้งมลายูและไทย ก็ใช้ มนตรี แต่ออกเสียงต่างกันไปตามความคุ้นเคยในการออกเสียงของภาษาตน

 

แมนดารินของฝรั่ง

               ฝรั่งนำคำว่า แมนดาริน ไปใช้ในความหมายว่า ขุนนางนักวิชาการ ผู้ชำนาญด้านตำราความรู้ต่างๆ ต่อมาฝรั่งนำมาใช้หมายถึงข้าราชการของจีน และใช้เรียกภาษาจีนมาตรฐานฝ่ายเหนือ เพราะเป็นภาษาที่ใช้ในหมู่ข้าราชการราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิง คาดว่าคงจะใช้แปลศัพท์ กวานหั่ว (官話) ที่แปลว่า ภาษาของขุนนาง

            แต่ก่อนที่จะใช้คำว่า mandarin นั้น ฝรั่งใช้คำว่า Loutea  (อาจสะกดแตกต่างไปบ้างในแต่ละถิ่น) ในความหมายว่าข้าราชการฝ่ายบุ๋นดังกล่าว

            เมื่อฝรั่งเศสมาไทยในสมัยอยุธยา เห็นขุนนางก็ใส่ว่า แมนดาริน ไปด้วย เพราะเห็นเป็นชาวตะวันออก ก็ทึกทักไปว่าคงจะเหมือนๆ กัน (วาดภาพคนไทยใส่หมวกกรวยแบบจีนก็มี)

            ปัจจุบันนี้ แม้ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า mandarin ก็คงหมายถึงขุนนางสมัยโบราณ ไม่ได้หมายถึง มนตรี หรือรัฐมนตรีดังที่ใช้กันในภาษาอินเดีย 

            สรุปดื้อๆ ว่า แมนดาริน ที่เราคุ้นเคยว่าเกี่ยวข้องกับจีนนั้น แท้จริงแล้ว มาจากภาษาสันสกฤต นั่นเอง...

หมายเลขบันทึก: 485395เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2012 21:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบพระคุณมากคะ เป็นความรู้มากๆเลย

รอบนี้เหมือนต้องรบกวนอาจารย์อีกแล้ว กับคำว่า ทรรศนะ และ ทัศนะ ทราบมาว่าสองคำนี้มีความหมายเหมือนกัน ในรูปของบาลีสันสกฤต

แต่ทำไมมันเขียนต่างกันละ คือเรื่องของเรื่องหนูไม่รู้ว่าจะแกะออกมาเป็นตัวอักษรไทยอย่างไร เพราะเห็นอักษรโรมันมีหลายแบบไปหมด ทั้ง darshan , dazana แต่หนูหาอักษรโรมันแบบ IAST ไม่เจอเลยคะ ดูโง่ไหมคะ อาจารย์อนาถตัวเอง เลยแกะออกมาเป็นอักษรไทยไม่ได้

ลองเทียบเป็นอักษรไทยเล่นๆ ได้แบบนี้อะคะ ไม่รู้ว่าจะถูกหรือเปล่า ทรศน อย่างไรขออาจารย์ได้โปรดเมตตาอธิบาย และแสดงเป็นอักษรโรมันและไทยในแบบที่ถูกต้องให้หนูดูด้วยนะคะ แล้วก็ความหมายของคำนี้ แปลว่าเห็น อย่างเดี่ยวได้หรือไม่ หรือสามารถแปลเป็นอย่างอื่นได้อีก ขอบคุณคะ

สวัสดีครับ

เขียนต่างกัน น่าจะเป็นเพราะเอาระบบของบาลีมาใช้ด้วย สันสกฤตด้วย

-บาลีเขียน ทสฺสน ถอดเป็นไทยว่า ทัสสนะ

-สันสกฤตเขียน ทรฺศน ถอดเป็นไทยว่า ทรรศน, ไทยเราใช้ ทัศนะ บ้าง ทรรศนะ บ้าง แบบนี้แล...

ทรฺศน (เทวนาครี : दर्शन)

- Roman : darśana

- HK : darzana

- ITRANS : darshana

แปลว่า การเห็นครับ

 

ออกเสียงประมาณว่า ทัร-ศะ-นะ (ตัว ร มี จุด  จึงไม่ออกเสียงสระ แต่ออกเสียงเหมือน r เมื่ออยู่หลังสระ เช่น cartoon ในภาษาอังกฤษ)

คำว่าเห็นนั้น ถ้าเป็นธาตุ (คือกริยาตัวเดิมที่ยังไม่ได้นำมาใช้ในประโยค) ใช้ ทฺฤศฺ (दृश्) นี่แหละครับ แต่ใช้ โลกฺ (लोक्) ก็ได้

 

การเขียนระบบ IAST ดูที่นี่ครับ

http://en.wikipedia.org/wiki/International_Alphabet_of_Sanskrit_Transliteration

-ระบบ HK ดูที่นี่ครับ

http://en.wikipedia.org/wiki/Harvard-Kyoto

-ระบบ ITRANS

http://en.wikipedia.org/wiki/ITRANS

ลองศึกษาดูนะครับ ใจเย็นๆ ไปเรื่อยๆ แต่สม่ำเสมอ

 

สวัสดีค่ะ

ดีจังค่ะ ดีใจที่ภาษาจีนเกี่ยวข้องกับสันสกฤตด้วย

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ คุณ หยั่งราก ฝากใบ 

คงจะมีคำอื่นๆ อีก ค่อยๆ ค้นกันไปครับ

คำจีนก็มีใช้ในสันสกฤตนะครับ

"จีน" (จีนะ) แปลว่าจีน หรือผ้าไหม(จีน)ก็ได้


ภาพวาดโดยต่างชาติเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาและหน้าตาพระนาราย เขาก็วาดตามจริงที่เขาเห็นนั้นแหละไม่ได้เกิดจากจินตนาการใดๆ แต่ต่อมาหลังเสียกรุงศรีครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน สภาพกรุงศรีฯ ก็สิ้นสุดลง เพราะไม่มีคนไท/ไตอีกแล้ว เราไม่ใช่คนไทยโดยดีเอ็นเอ แต่แค่เป็นคนพื้นเมืองที่ถูกปกครองโดยคนไตผิวขาวจากมองโกเลีย ซึ่งเป็นกษัตริย์อยธุยา

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท