ตอนที่ 4 : คุณค่าแห่งการตรัสรู้ต่อมนุษยชาติ (2)


คอลัมน์พิเศษ : มรน. ร่วม ฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ โดย อาจารย์ญาณภัทร ยอดแก้ว

"…ศาสนาในอนาคตจะเป็นศาสนาแห่งสากลจักรวาล ศาสนานั้นควรข้ามพ้นความเชื่อที่เป็นตัวเป็นตนของพระ เจ้าและหลีกเลี่ยงความเชื่อมุ่งให้เชื่อตามแต่อย่างเดียว(โดยไม่พิสูจน์)และลัทธิเทวนิยม(พึ่งเทพเจ้าเป็นหลักใหญ่)  แต่ควรเป็นศาสนาที่ครอบคลุมทั้งเรื่องธรรมชาติและจิตวิญญาณ โดยมีพื้นฐานมาจากสำนึกทางศาสนาที่เกิดจากประสบการณ์ที่ได้ประสบกับสรรพสิ่ง ทั้งจากธรรมชาติและจิตวิญญาณ ด้วยนัยความหมายที่มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งพระพุทธศาสนาสามารถให้คำตอบในสิ่งที่พรรณนามาดังกล่าว  ถ้าจะมีศาสนาใดที่รองรับได้กับความต้องการของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ศาสนานั้นก็คือ พระพุทธศาสนา…." (อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์)

 

        คุณค่าแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกประการหนึ่ง นอกเหนือจากทำให้ชาวพุทธผู้ศรัทธาและศึกษาปฏฺบัติตามได้หลัก “ทำใจ” (เข้าใจสัจธรรม) และ “ทำดี” (ปฏิบัติธรรม) ก็คือ ความเป็น “ศาสตร์” และ “ศิลป์”เพื่อชีวิตและสันติสุขอย่างแท้จริง

 

แก่นสำคัญของศาสตร์นี้ คือ “การพัฒนาคน” จาก “ปุถุชน” สู่แนวทางแห่ง “กัลยาณชน” เพื่อเข้าถึงความเป็น “อริยชน” โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาจิตใจมากกว่าการพัฒนาทางด้านวัตถุหรือร่างกาย แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่สนใจเรื่องด้านกายภาพเอาเสียเลย เพียงแต่ให้ความสำคัญเน้นหนักเรื่องด้านจิตใจมากกว่า เพราะที่สุดแล้วสุขหรือทุกข์ก็อยู่ที่จิตใจเป็นสำคัญ สมกับคำโบราณที่ว่า “ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว” นั่นเอง

 

        คำกล่าวของไอน์สไตน์เป็นเครื่องยืนยันถึงความเป็นศาสนาที่ข้ามพ้นความเชื่อหรือศรัทธาที่ขาดปัญญาไตร่ตรองและการพึ่งพาเทพเจ้าของพระพุทธศาสนาได้อย่างชัดเจน 

 

พระพุทธศาสนามิเป็น “ศาสนา” ในความหมายที่แปลมาจากคำว่า “religion” ซึ่งมาจากภาษาละตินว่า “religare” หมายถึง ความผูกพันอย่างเหนี่ยวแน่นกับพระเจ้า  แต่มีความหมายตามภาษาสันสกฤตว่า “คำสอน”  พุทธศาสนา จึงหมายถึง คำสอนของพระพุทธเจ้า ผู้ที่ตรัสรู้สัจธรรมโดยพระองค์เอง ผ่านประสบการณ์การปฏิบัติฝึกฝนค้นหาวิธียกระดับจิตใจจากปุถุชนสู่อริยชน เป็นผู้ประเสริฐเพราะละสิ่งเศร้าหมองภายในจิตใจที่เรียกว่า “กิเลส” อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงเสียได้

 

เมื่อทรงสั่งสอนสัจธรรมเหล่านั้นพร้อมทั้งปฏิปทาที่จะให้บรรลุธรรมตามพระองค์แก่เวไนยสัตว์แล้ว คำสอนเหล่านั้นจึงเป็นที่มาของพุทธศาสนาโดยลำดับ เป็นภูมิปัญญาที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง และคุณค่าที่ว่านั้นก็บูรณาการได้ทุกมิติของชีวิตและสังคม โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนา

 

        ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้กล่าวไว้ว่า “พุทธศาสนาเป็นภูมิปัญญาสูงสุดของมนุษย์ ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นสมบัติของชาติ  ซึ่งถือเป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่ายิ่ง

 

พุทธศาสนามีความเป็นเอกในมัชฌิมาปฏิปทาและบูรณาการ  พระพทธศาสนาก็เป็นสมบัติของประเทศไทยอยู่แล้ว แม้จะพร่องไปแต่ก็ยังฝังตัวอยู่ง่ายที่จะนึกถึงและสื่อสารให้นึกถึง น่าจะถึงคราวที่สังคมไทยจะต้องเจียระไนรัตนะอันฝังอยู่ในโคลนตมแห่งวัตถุนิยมวิสัย ขึ้นมาใช้เพื่อสร้างความเจริญอย่างแท้จริงให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข  สมกับที่พุทธศาสนาเป็นภูมิปัญญาสูงสุดของมนุษย์และประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นสมบัติของชาติ”

 

         สำหรับคนจำนวนมากในสังคมไทย คงจะคุ้นเคยกับคุณค่าของพระพุทธศาสนาในมิติของศิลปะและวัฒนธรรม ในฐานะที่เป็นบ่อเกิดและเบ้าหลอมศิลปะและวัฒนธรรมไทย จนเรามีเอกลักษณ์ของชาติที่สวยงามมากมาย วัดวาอารามที่สวยงาม ประเพณีที่งดงาม มารยาทไทยที่สง่างาม รวมถึงวิถีชีวิต วิถีแห่งเมตตา กตัญญูและการให้ของคนไทย เหล่านี้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าเป็นคุณค่าที่เป็นรูปธรรมของพระพุทธศาสนาที่ชาวพุทธในสังคมไทยไม่ควรลืมและเพิกเฉยต่อการตระหนักรู้

 

        แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น ในยามที่บ้านเมืองประสบวิกฤติ ในยามที่ต่างฝ่ายต่างคิดแก้ปัญหาเพื่อสังคม ในยามที่เราต้องการ “ศาสตร์” และ “ศิลป์” เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มิติที่เป็นภูมิปัญญาหรือองค์ความรู้ที่เป็นหลักคิด หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา เป็นโจทย์หนึ่งที่สังคมไทยไม่ควรละเลยที่จะเหลียวมอง และหยิบยกมาใช้ประโยชน์

 

ด้วยความเชื่อมั่นว่า “พุทธธรรมเป็นภูมิปัญญาสูงสุด เกิดจากการตรัสรู้ของพุทธเจ้า ย่อมมีเหตุมีผลที่จะสร้างสรรค์เป้าหมายที่ดีงามตามที่เราปรารถนาแน่นอน”

 

.... ขอพุทธธรรมจงเป็นที่พึ่งและแสงสว่างให้สังคมไทยและโลกไปตราบนานเท่านาน

 

        (โปรดอ่านต่อฉบับหน้าและร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่ www.gotoknow.org/blogs/books/view/buddhajayanti)

หมายเลขบันทึก: 484931เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2012 01:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

May I suggest internationalization of the word "Buddhajayanti" instead of "bhuddhajayanti"?

This would put your blog's url up many places by most search engines and give better likelyhood of being read.

[ In Romanized Paali, bh = ภ and b = พ ]

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท