KM00097 : "กรรม" อีกแล้ว


พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้อย่างชัดเจนว่าเรื่องของ "กรรม" เป็นเรื่อง "อจินไตย" หมายถึงสิ่งที่ไม่ควรคิด หรือสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยตรรกะสามัญของปุถุชน ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องไปสนใจมันนะครับ แต่หมายถึงให้เข้าใจว่ามันมีอยู่จริงและมีความซับซ้อนอย่างมาก ทางที่ดีทีสุดคือ สร้างความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ในปัจจุบันขณะครับ

ครั้งหนึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระสมณโคดม) เสวยพระชาติเป็นลูกชาวประมง เมื่อเห็นชาวประมงฆ่าปลาก็มีความชื่นชมยินดี ด้วยผลกรรมครั้งนั้น (ซึ่งย่อมนานแสนนานมาแล้ว) เมื่อตายไปเกิดในอบายภูมิอยู่นาน แม้ในชาติที่เป็นพระพุทธเจ้าก็ยังมีเศษกรรมเหล่านั้นตามติดมา ทำให้ทรงมีอาการปวดศีรษะ

วันนี้เปิดเรื่องมาด้วยเรื่องของ "กรรม" เพราะเมื่อวานไปเดินร้านหนังสือ ก็ยังพบว่าหนังสือประเภท "กรรม" ยังคงอยู่ในอันดับต้นๆ ของหนังสือขายดีอยู่ ก็อดไม่ได้ที่ต้องมาคิดว่า ทำไมระยะหลังนี้หนังสือพวกนี้จึงขายดีและมีคนเขียนเรื่องเหล่านี้มากขึ้น และดูเหมือนจะมีท่าน "ผู้รู้" เรื่องของ "กรรม" เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามไปด้วย 

เรื่องของ "กรรม" ที่ยกมาในตอนต้นนนั้น ผมอยากสะท้อนให้เห็นในหลายๆ ประเด็น ที่อาจเป็นประโยชน์ได้ ประเด็นแรกก็คือ ศาสนาพุทธ หรือ พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องของ "กรรม" มาเกือบ ๒,๖๐๐ ปีแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรร กรรมเหล่านี้ยังเป็นบ่อเกิดแห่งชาติภพตามมาไม่จบสิ้นด้วย และอาจเรียกได้ว่าเป็น "พื้นฐาน" ของความเข้าใจในการเดินไปสู่หนทางแห่งการ "ดับทุกข์" ก็ว่าได้ เพราะก่อนที่พระพุทธเจ้าจะรู้แจ้งในหนทางแห่งการทำลายกิเลสอันทำให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิด (อาสวักขญาณ) นั้น ทรงระลึกชาติอันมากมายของพระองค์ และเห็นการเกิดและการตายของสัตว์ทั้งหลายอันเป็นผลแห่ง "กรรม" มาก่อนในยามต้น และยามสอง

ประเด็นที่สอง ทรงแสดงให้เห็นอย่างแน่ชัดแล้วว่า "กรรม" ที่เป็นผลจากการ "กระทำ" ในอดีต ย่อมไม่มีทางหลีกพ้นไปได้ อย่างจริงแท้แน่นอน เพราะแม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังทรงต้องรับ "ผลกรรม" เหล่านั้นด้วยเช่นกัน (นับประสาอะไรกับเราจะไป "แก้กรรม" ได้อย่างไร) ขณะเดียวกัน "กรรมใหม่" ในปัจจุบันที่สร้างขึ้นก็จะส่งต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึง "กรรม" เรามักคิดไปในทางไม่ดี จริงๆ แล้ว กรรมมีทั้ง "กรรมดี" และ "กรรมไม่ดี" การหยุดทำ "กรรมไม่ดี" และสร้าง "กรรมดี" ในปัจจุบัน แม้แต่ผมก็สามารถพยากรณ์ได้เลยว่าท่านต้องได้รับผลกรรมดีเหล่านั้นในอนาคตอย่างแน่นอน ในทางตรงข้ามหากท่านยังสร้าง "กรรมไม่ดี" ผมก็พยากรณ์อีกได้เช่นกันว่าท่านต้องได้รับผลกรรมดีเหล่านั้นในอนาคตอย่างแน่นอน

ประเด็นที่สาม เรื่องที่ยกมาแสดงให้เห็นว่าการสร้างกรรมทางจิตใจ หรือ "มโนกรรม" ก็สามาถส่งผลกรรมได้ แม้แต่กับสัตว์เดรัจฉาน (ปลา) ก็ยังให้ผลของกรรมได้ขนาดนี้ ดังนั้น เราจึงควรระวังไม่สร้างกรรม ทั้งทางกาย วาจา และใจ ต่อใคร เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่าคนที่เราทำไม่ดี หรือคิดไม่ดีด้วยนั้น เป็นคนดีหรือไม่ดี เป็นผู้ถือศีลหรือเป็นผู้บรรลุธรรม เพราะยิ่งท่านเหล่านั้นเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์เท่าไหร่ ผลกรรมย่อมมากตามไปด้วยอย่างไม่ต้องคาดคิด (หากใครสนิทกับผมดีมักได้ยินผมพูดบ่อยๆ ว่า "อย่าไปว่าเขา" ก็ด้วยเหตุนี้แหละครับ)

โดยส่วนตัวผมก็ไม่ได้บอกว่าหนังสือ ".......กรรม" เหล่านั้นไม่ดี แถมบางครั้งก็ยังเปิดอ่านด้วยซ้ำ (เพราะอยากรู้ว่าเขียนอะไรข้างใน) บางเล่มอ่านแล้วก็เป็นประโยชน์ บางเล่มก็เน้นคุณวิเศษของผู้เขียนมากไป จนคนอ่านอาจสนุกแล้วลืม "แก่น" ของเรื่องไป และจะว่าไปเรื่องเหล่านี้ที่ถูกให้ความสนใจมากขึ้น (ดูจากหนังสือและรายการโทรทัศน์) นั้น อาจไม่ใช่เกิดจากการสนใจสาระของ "กรรม" เท่าไหร่ แต่อาจเกิดจาก "ความอยากรู้" และ "ความกลัว" ที่จะต้องเผชิญกับสิ่งที่ตนเองทำไว้มากกว่า และข้อเท็จจริงก็คือท่านผู้รู้เรื่อง "กรรม" เหล่านั้นก็ไม่สามารถจะทราบได้ทั้งหมดว่า "ผลกรรม" ที่เกิดขึ้นกับใครคนใดคนหนึ่งเกิดจาก "กรรม" ที่ทำไว้เมื่อไหร่ (ที่แน่ๆ เป็นผลจากอดีต) พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้อย่างชัดเจนว่าเรื่องของ "กรรมวิสัย" หรือ "กฏแห่งกรรม" เป็นเรื่อง "อจินไตย" หมายถึงสิ่งที่ไม่ควรคิด หรือสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยตรรกะสามัญของปุถุชน ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องไปสนใจมันนะครับ แต่หมายถึงให้เข้าใจว่ามันมีอยู่จริงและมีความซับซ้อนอย่างมาก ทางที่ดีทีสุดคือ สร้างความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ในปัจจุบันขณะครับ

 

คำสำคัญ (Tags): #กรรม
หมายเลขบันทึก: 484743เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2012 22:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 14:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อันนี้ไม่รู้ว่ากรรมดี หรือกรรมไม่ดี ส่วนผมเรียกว่ากรรมดี เมื่อปีพ.ศ.2546 ผมถูกบังคับให้ไปอบรมหลักสูตรผู้บริหารสาธารณสุขแนวใหม่ โดยเพื่อนคนหนึ่งส่งชื่อไป สัปดาห์แรกของการอบรมฯต้องไปปฎิบัติธรรม นั่งสมาธิ เดินจงกรม กินอาหารมังสวิรัติที่วัดราชโอรส เขตจอมทอง กรุงเทพฯ ขับรถไปเอง เอามือถือไปด้วย เสื้อผ้าไปเปลี่ยนกะว่าอยูไม่ได้กูกลับ ผ่านไปวันที่สามผมอึดอัดมาก พระอาจารย์ที่ดูแลบอกว่าถ้าไม่วาง ไม่ปล่อยก็จะไม่ได้อะไรกลับไป เลยปล่อยเลยวางอยู่กับตัวเอง จนสิ้นสุดการอบรมที่วัด 5คืน 6 วัน และก็ได้ยึดถือปฎิบัติมาทุกวันนี้ ไปกันเกือบ 100 คนเหลือผมกินมังสิรัติอยู่คนเดียวทุกวันนี้อันนี้ผมเรียกว่ากรรมดี และก็แบ่งบุญให้เพื่อนคนที่เป็นผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอที่ใส่ชื่อผมไปอบรม

ถ้าไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และยิ่งหากทำให้ผู้อื่นมีความสุขด้วย ก็คงต้องเรียกว่า "กรรมดี" หรือ "กุศลกรรม" ครับ ยังโชคดีที่คุณพีระพนต์ กลับมาอย่างสุขใจ ไม่งั้นเพื่อนที่ส่งชื่อไปคงไม่ได้ "กุศลกรรม" นั้นไปด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท