แหม.. งานเรานะเครียดจะแย่..ขำกันอยู่ได้ ตอน - ว่าแล้วเธอจะวิ่งออกไปไหน นั่น???


แหม..ไอ้เราก็ลืมเกริ่นนำน้องผู้ช่วยว่าเราต้องการอะไร คิดว่าน้องจะได้ยินว่าเสียงนั้นมันหายไปเหมือนที่เราได้ยิน ว่าแล้วเธอจะวิ่งออกไปไหน นั่น???

ณ ห้องผ่าตัดศัลกรรมกระดูกและข้อ โรงพยาบาลตัวใหญ่ 

          วันนี้มีผู้ป่วยนัดผ่าตัดหลายรายและเป็นการผ่าตัดหลัง..หลายคนซะด้วย การให้ยาระงับความรู้สึกต้องมีความพิเศษสักหน่อย โดยเราจะต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยาหย่อนกล้ามเนื้อที่ส่งผลต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เพราะส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะมาด้วยอาการ เดินไม่ได้ หรือ มีอาการชาที่ขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง  ดังนั้นเราจึงเลือกยาหย่อนกล้ามเนื้อที่ส่งผลต่อระบบดังกล่าวน้อยที่สุดแต่มีข้อเสียตรงที่เราต้องช่วยหายใจผู้ป่วยก่อนใส่ท่อหายใจนานกว่าปกติสักหน่อย

   (ปกติยาหย่อนกล้ามเนื้อที่ใช้ช่วยในการใส่ท่อหายใจได้เร็วใช้เวลา 60 วินาที แต่เราไม่เลือกใช้เพราะมันจะทำให้อาการผู้ป่วยเป็นมากขึ้น เราเลือกใช้ยาหย่อนกล้ามเนื้อที่ไม่ส่งผลกระทบต่ออาการของผู้ป่วยแต่ยาตัวดังกล่าวต้องใช้เวลาในการออกฤทธิ์นานกว่า 180 วินาที สรุปว่าเราต้องช่วยหายใจผู้ป่วยผ่านหน้ากากนานขึ้น ข้อควรระวัง ต้องแน่ใจว่าเราสามารถช่วยหายใจผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัยและผู้ป่วยต้องงดน้ำงดอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง)

           ในระหว่างที่รอนำสลบ เราจะต้องติดเครื่องเฝ้าระวังสัญญาณชีพของผู้ป่วยให้ครบ (ความดันโลหิต  อัตราการเต้นของหัวใจ  การทำงานของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนที่ปลายนิ้ว) เมื่อประเมินสัญญาณชีพแรกรับแล้วไม่พบความผิดปกติใดๆ เราจะเริ่มให้ยานำสลบ โดยถ้าใครเคยมีประสบการณ์ในการดมยาสลบคงจะพอจำประโยคสุดฮิต ติดปากของคนดมยาได้ ประมาณนี้

"เดี๋ยวให้หลับนะคะ เอ้า.. หายใจเข้าลึกๆยาวๆนะคะ ดมออกซิเจน ไว้ก่อน  แสบๆ (ปวดๆ) แขน (บริเวณน้ำเกลือ) หน่อยนะคะ -- คุณคะ ลืมตาค่ะ หลับยัง " 

           พอตรวจสอบการหลับโดยการแตะที่ขนตา ถ้าไม่กระพริบตาแสดงว่าหลับแล้ว เราก็ต้องลองช่วยหายใจผ่านหน้ากากดูว่าสามารถช่วยได้ดีหรือไม่ ถ้าช่วยได้ก็ให้เริ่มให้ยาหย่อนกล้ามเนื้อเพื่อใส่ท่อหายใจได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันก็อยู่ที่ตอนนี้แหล่ะ --

           ระหว่างที่เราช่วยหายใจผู้ป่วยผ่านหน้ากากอยู่ เราจะมีน้องผู้ช่วยวิสัญญีคอยช่วยเหลืออยู่ มือเราก็ช่วยหายใจไป สายตาเราก็มองไปที่การเคลื่อนไหวของทรวงอกว่ามีลมผ่านเข้า ออก ดีป่าว หูฟังเสียงจังหวะการเต้นของหัวใจและเสียงของค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนที่ส่วนปลายนิ้ว  ทันใดนั้นเอง เอ๊ะ.. เสียงค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนที่ปลายนิ้วเงียบหายไปและคลื่นแสดงผลก็หายไปจากหน้าจอ monitor ด้วยเช่นกัน แหม..ไอ้เราก็ลืมเกริ่นนำน้องผู้ช่วยว่าเราต้องการอะไร คิดว่าน้องจะได้ยินว่าเสียงนั้นมันหายไปเหมือนที่เราได้ยิน 

 บทสนทนา 

พยาบาลดมยา : น้องยาย่า (ชื่อน้องพนักงานผู้ช่วย)

น้องพนักงานผู้ช่วย : ค่ะพี่ฮานู (น้ำเสียงตอบรับอย่างกระตือรือร้น)

         หลังจากเสียงขานรับ น้องยาย่าเธอก็วิ่งออกนอกห้องด้วยความรวดเร็ว.. ทำให้ทุกคนในห้องก็ต่างงงกันเป็นแถว ว่าเธอจะวิ่งออกไปไหน นั่น???  โดยเฉพาะคุณพยาบาลฮานูเจ้าของเคส เพราะจะให้เธอช่วยขยับเครื่องตรวจออกซิเจนที่ปลายนิ้วผู้ป่วยที่อยู่ด้านที่น้องยาย่ายืนอยู่เท่านั้นเอง 

          อีกหนึ่งอึดใจต่อมาน้องยาย่าเธอก็วิ่งกลับเข้ามาในห้องด้วยสีหน้าที่บ่งบอกถึงความภาคภูมิใจ(ที่ตนเองรู้ใจพี่พยาบาลฮานู) และยื่นหน้ากากช่วยหายใจอันใหม่ให้คุณพี่พยาบาลฮานูและบอกว่า

น้องยาย่า : หนูคิดไว้อยู่แล้วค่ะ ว่าหน้ากากอันนี้มันไม่พอดีกับหน้าผู้ป่วยใช่ใหมคะ หนูก็เลยรอว่าเมื่อไหร่ที่คุณพี่เรียก หนูจะเปลี่ยนให้ทันทีค่ะ

คุณพี่พยาบาลฮานู: เอ่อ.. ป่าวค่ะ พี่จะให้น้องยาย่าช่วยขยับเครื่องที่หนีบนิ้วผู้ป่วยให้หน่อยต่างหากหล่ะ 5555

น้องยาย่า : แป่วววว.. อ้าวเหรอคะ .. 

เท่านั้นแหล่ะค่ะ.. ฮากันทั้งทีมผ่าตัด เล่นเอาพี่พยาบาลฮานูหมดแรง ไม่สามารถยก laryngoscope เพื่อใส่ท่อหายใจได้ ต้องส่งให้มือสอง (หมอดมยา) ช่วยใส่ให้หน่อยละกันค่ะ

         แต่..ก็ต้องขอชมเชยน้องยาย่านะคะ ที่เค้ามีสัญชาตญาณของดมยาเต็มตัว ช่างสังเกตและใส่ใจงาน ต้องขอปรบมือให้เลยค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 484737เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2012 21:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 09:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท