บทบาทของ Advanced Practice Nurse


บทบาทของ Advanced Practice Nurse

ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอีกช่วงเวลาหนึ่ง  นั้นก็คือ สภาการพยาบาลได้เปิดรับสมัครสอบเพื่อรับวุฒิบัตร APN ซึ่งผู้สนใจที่จะสอบต้องมีการเตรียมตัวให้มาก  โดยเฉพาะการทบทวนบทบาทของการเป็น APN ให้ชัดเจน  และจัดทำแฟ้มผลงานของตนเองไว้นะคะ  เวลาไปสอบจะได้ไม่สับสน  ในบันทึกนี้จะขอ share ในบทบาท APN อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญ  เนื่องจาก APN ต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาทักษะให้กับผู้ร่วมวิชาชีพให้มีสมรรถนะที่สูงขึ้น  บทบาทนั้นคือ บทบาทการเป็นผู้สอน ให้คำปรึกษา การเป็นพี่เลี้ยง  ซึ่งเมื่อเดือนธันวาคม 2554 และเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสเป็นครูพี่เลี้ยงของนักศึกษาพยาบาลแลกเปลี่ยนจากประเทศสวีเดน ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ประสบการณ์ที่อยากจะแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ก็คือ  การเตรียมตัวในการเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักศึกษาพยาบาลจากต่างประเทศคะ

นักศึกษาพยาบาลแลกเปลี่ยนจากต่างประเทศ  เวลาที่เขามาประเทศไทยเขาจะมีเวลาที่ค่อนข้างจำกัด  ฉะนั้นทุกนาทีจะมีค่าสำหรับนักศึกษาเหล่านี้มาก  เวลาเขาเห็นสิ่งต่างๆไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติ ประเพณี วัฒนธรรม หรืออื่นๆ  เขาจะถามทันที  ดังนั้น เราเองก็ต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อที่จะเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่เขา  และพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ต่างๆจากนักศึกษาเหล่านี้เช่นกัน 

เมื่อเราจะเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักศึกษาพยาบาลแลกเปลี่ยนจากต่างประเทศ  ควรมีการเตรียมตัวดังนี้

1.  เตรียมตัวเองเรื่องภาษาอังกฤษ ก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคนว่าจะไปเรียนเป็นคอร์ส  หรืออ่านหนังสือเอา  แต่ขอบอกว่า การพูดกับชาวต่างชาตินั้นไม่ยากอย่างที่คิด  เพราะดูจากประสบการณ์ของผู้เขียนเองได้มีโอกาสเป็นพี่เลี้ยงนักศึกษาต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นจากประเทศนอรเวย์ สวีเดน จีน หรืออินโดนีเซีย  นั้น ยอมรับว่าเขาพูดภาษาอังกฤษเก่งมาก  แต่ไม่ต้องกลัวนะคะ  ขอให้เรากล้าพูด  เขาจะพยายามฟังเรา  และพยายามเข้าใจเรา  อย่างน้อยๆก็ควรทบทวนการพูดภาษาอังกฤษเบื้องต้นในชีวิตประจำวัน  ส่วนศัพท์อื่นๆที่เกี่ยวข้องก็ทบทวนบ้าง เช่น ศัพท์ทางการเมือง ศัพท์เทคนิคทางการแพทย์/พยาบาล ศัพท์เกี่ยวกับประเพณี/วัฒนธรรม คิดว่าเท่านี้ก็ OK แล้วค่ะ ถ้าจะให้ดี กลัวว่าจะจำศัพท์ไม่ได้ก็พก Talking dict เลย นึกศัพท์ไม่ออกก็เอามาเปิดเลยค่ะ ฝรั่งไม่ว่าหรอก บางทีเขานึกคำศัพท์ไม่ออกเขาก็ใช้ talking dict เหมือนกันค่ะ ฉะนั้น ไม่ต้องกลัวนะคะ กล้าๆเข้าไว้ พอพูดแล้วเห็นเขาเริ่มโต้ตอบกับเราเป็นอย่างดีแล้วจะรู้สึกสนุกค่ะ เมื่อนั้นความกลัวก็จะหายไปเอง

2. เตรียมข้อมูลที่สำคัญเพื่อแลกเปลี่ยนกับนักศึกษาต่างชาติ  ส่วนนี้ก็สำคัญมาก  เพราะถ้าเราไม่ได้เตรียมข้อมูลไว้ เวลาเขาถามมาก็ทำให้เราเอ๋อได้เหมือนกัน อย่าลืมว่าเราเป็นพยาบาล  เราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง  บางเรื่องเรียนมาตั้งแต่สมัยประถมก็คืนครูไปหมดแล้วก็มี ฉะนั้น  เพื่อความสมาร์ทควรเตรียมข้อมูลไว้  เพราะเขาถามเราแน่นอน  เวลาคุยกับเขาจะรู้ได้เลยว่าเขาก็ศึกษาข้อมูลเหล่านี้ของประเทศเขามาเป็นอย่างดี  ข้อมูลที่ควรศึกษาก่อนรับนักศึกษาต่างประเทศได้แก่

2.1  ข้อมูลทั่วไปของประเทศเรา  ประกอบด้วย ข้อมูลภูมิศาสตร์  สภาพอากาศ  เศรษฐกิจ  ข้อมูลประชากร(จำนวน อาชีพ รายได้ การเจ็บป่วย การตาย) การเมือง/การปกครอง  ประเพณี/วัฒนธรรมที่สำคัญ  ประวัติศาสตร์ที่สำคัญ  สถานที่สำคัญ อาหารประจำชาติ

2.2 ข้อมูลสาธารณสุขของประเทศ/หน่วยงาน ได้แก่  ระบบบริการสุขภาพ   ค่าใช้จ่ายสุขภาพ(สิทธิการรักษาต่างๆ) สถิติสาธารณสุขที่สำคัญ(อัตราตาย โรคที่พบบ่อย โรคในเขตท้องถิ่น) สถิติบริการของโรงพยาบาล/หน่วยงาน  ระบบบริการสุขภาพของหน่วยงาน  วิสัยทัศน์  พันธกิจ

2.3 ข้อมูลด้านการศึกษาพยาบาล  ได้แก่  ระบบการศึกษาไทย  การเข้าศึกษาในคณะพยาบาลของรัฐ/เอกชน  ระบบการจัดการศึกษาพยาบาล  ระดับการศึกษาของพยาบาลไทย  ความก้าวหน้าในวิชาชีพ  ลักษณะงานพยาบาลวิชาชีพ  บทบาทหน้าที่  การขึ้นปฏิบัติงานในแต่ละวัน  การจัดอัตรากำลัง  เงินเดือน

2.4 ข้อมูลความรู้/วิชาการเกี่ยวกับโรคใน area ที่เขาต้องการศึกษา  นี่ก็เป็นสิ่งสำคัญซึ่งก็คงไม่ยาก  เพราะเรามีความรู้อยู่แล้ว  แต่อาจจะต้องเตรียมเล่าให้เขาฟังเป็นภาษาอังกฤษในบางโรคที่เป็น High risk/High Volume โดยเฉพาะในโรคที่บ้านเขาไม่มีแต่เจอในบ้านเรา

3. เตรียมจัดตารางเวลาการศึกษาดูงานให้พร้อม  ซึ่งเราก็รู้อยู่แล้วว่าใน รพ.เรามีจัดบริการอะไรบ้าง ใน area ที่เขาสนใจ ก็จัดตารางเตรียมไว้ และอย่าลืมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้ด้วย  เพื่อจะได้มีผู้ที่อยู่หน้างานมาคอยให้ข้อมูลด้วย  เมื่อเขามาก็พูดคุยกันว่าเขาต้องการแบบนี้ไม๊  ถ้า OK ก็เดินตามตารางได้เลย  ส่วนมากไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงเท่าไรหรอกค่ะ  การทำตารางการศึกษาดูงานไว้ล่วงหน้าก็จะช่วยให้เราได้เตรียมความพร้อมไว้ด้วยค่ะ

4. เตรียม presentation ในวันที่เขามาวันแรกอาจจะมี presentation เล็กๆ (ถ้าเป็นกลุ่มไม่ใหญ่นะ) แต่ถ้าเป็นกลุ่มใหญ่และเป็นระดับใหญ่กว่านักศึกษาอาจต้องเตรียม present เยอะหน่อย presentation ที่ควรเตรียมได้แก่ Hospital presentation, Nursing organization presentation, Department prasentation เนื้อหาที่ persent อาจจะเป็นประเด็นกว้างๆ ได้แก่ ข้อมูลรระบบบริการ เจ้าหน้าที่ วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ และข้อมูลบริการที่สำคัญ เป็นต้น

5.  การประสานงานเป็นสิ่งสำคัญ  ซึ่งอาจต้องขอความช่วยเหลือจากผู้เกี่ยวข้อง  อาจจะต้องมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของทีมที่จะดูแลนักศึกษา  พร้อมกำหนดผู้รับผิดชอบ  ควรประสานงานแต่เนิ่นๆ  เพื่อจะได้ไม่เกิดการสะดุด  งานจะได้ราบรื่น  และพึงจำไว้ว่าท่านไม่สามารถทำงานคนเดียวได้สำเร็จ  ท่านต้องมีทีม  ต้องวางแผนไว้ให้ดีว่าในแต่ละเรื่องเราจะประสานใครเป็นอันดับแรก เพราะเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดได้ตลอดเวลา

6. ทำตามตารางเวลาที่กำหนด พยายามให้มีการเลื่อนเวลาน้อยที่สุด  และที่สำคัญควรเตรียมตัวเองให้ว่างและพร้อมเสมอในการต้อนรับนักศึกษา  พร้อมทั้งเป็นมัคคุเทศน์ได้ในทุกสถานที่ อย่าปล่อยให้นักศึกษาต่างชาติอยู่กับผู้ที่ไม่สามารถสื่อสารกับเขาได้  เพราะจะรู้สึกเบื่อ  และเราก็อาจจะไม่ได้รับโอกาสดีๆนี้อีก

ที่กล่าวมาก็เป็นประเด็นหลักๆเกี่ยวกับการเตรียมตัวเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักศึกษาต่างชาติหวังว่าคงจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้สนใจไม่มากก็น้อย  หากท่านใดมีประสบการณ์และต้องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพิ่มเติมขอเชิญแสดงความคิดเห็นได้นะคะ

 

หมายเลขบันทึก: 484602เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2012 18:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท