หน้าร้อนกับหนอนแมลงวันกินก้อนเห็ดระบาดทำ อย่างไร?


หนอนศัตรูเห็ดที่ทำลายก้อนเห็ดมีสายชนิด โดยเฉพะในฤดูร้อนอย่างนี้

หน้าร้อนกับหนอนแมลงวันกินก้อนเห็ดระบาด ทำอย่างไร (1)

                -หนอนศัตรูเห็ดที่ทำลายเส้นใยและก้อนเห็ดมีหลายชนิด ทั้งหนอนผีเสื้อกลางคืน หนอนแมลงวัน และหนอนของแมลงปีกแข็ง หรือหนอนด้วง ดังที่เคยเล่าให้ฟังมาบ้างแล้ว แต่สำหรับหน้าร้อนอย่างนี้ หนอนที่ระบาดหนักที่สุด ได้แก่หนอนของแมลงหวี่ หรือแมลงวัน แล้วแต่เรียก ซึ่งก็มีไม่น้อยกว่า 10 ชนิด ที่พบในประเทศไทย ซึ่งสามารถทำให้เกิดความเสียหายได้กับเห็ดเศรษฐกิจที่เพาะในถุงพลาสติก เห็ดที่เพาะบนชั้นในโรงเรือน เช่น เห็ดแชมปิญอง และเห็ดฟางอุตสาหกรรม เป็นต้น

                -แมลงหวี่ หรื แมลงวัน ที่มีตัวอ่อนเป็นหนอนทำลายก้อนเห็ดนั้นส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ไม่มีลักษณะคล้ายแมลงวันบ้านแต่อย่างใด แต่เหตุที่เรียกเป็นแมลงวันเพราะการจัดแบ่งประเภทแมลงทางกีฏวิทยา แบ่งแมลงกลุ่มนี้ที่มีปีก 2 ปีก หรือ 1 คู่ว่าเป็นกลุ่มแมลงวันนั่นเอง

              -การระบาดของหนอนแมลงวันทำลายก้อนเห็ดมีอยู่ 2 ระยะ ซึ่งก่อให้เกิดความรุนแรงและความเสียหายที่แตกต่างกันออกไป

     1) การระบาดของหนอนแมลงวันหลังจากที่นำก้อนเชื้อเห็ดเข้าไปเปิดดอกในโรงเรือน 

      การเข้ามาระบาดของหนอนแมลงวันก็จะเริ่มจาก แมลงวันศัตรูเห็ดตัวเต็มวัยวางไข่ไว้บนดอกเห็ด หรือปากคอขวด จากนั้นเมื่อฟักเป็นตัวก็จะคลานเข้าไปกัดกินเส้นใยเห็ด เริ่มจากบริเวณใกล้ปากคอขวดลงไปถึงก้นถุง อีกส่วนที่วางไข่อยู่บนดอกเห็ด บริเวณใต้ใบเห็ดก็จะฟักเป็นตัวในเวลารวดเร็ว และกัดกินครีบเห็ดและใบเห็ด ทำให้ดอกเห็ดที่คลี่บานมีลักษณะหงิกงอหรือดอกเล็ก ดอกเน่าไม่โต คุณภาพลดลง อมน้ำ เก็บไม่ได้นาน เน่าเสียง่าย ทำให้ราคาลดต่ำลง นอกจากนั้นยังทำให้ปริมาณดอกเห็ดต่อก้อนน้อยลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ความห่างของการออกดอกในแต่ละรุ่นนานขึ้น ตัวแก่ที่ระบาดและบินตอมดอกเห็ดในโรงเรือน ยังสร้างความรำคาญและน่ารังเกียจเป็นอย่างยิ่ง

     2) การระบาดของหนอนแมลงวัน ก่อนที่จะนำก้อนเชื้อเห็ดเข้าไปเปิดดอกในโรงเรือน

     เป็นระยะที่ก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าการระบาดในโรงเรือนเปิดดอก เพราะทำให้ก้อนเห็ดที่เชื้อเห็ดยังเจริญไม่เต็มก้อนเสียหายได้ถึง 50-100 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว คือไม่สามารถเก็บดอกเห็ดได้เลย ในขณะที่การระบาดหลังเปิดดอกเห็ดแล้ว ยังเก็บผลผลิตได้อยู่บ้างจึงนับเป็นปัญหาสำคัญ สร้างความสิ้นเปลือง เพิ่มต้นทุนการผลิตเห็ดเป็นหลายๆเท่า ( ส่วนใหญ่เกษตรกรจะนำก้อนเห็ดที่เสียก่อนการเปิดดอกเห็ดมาแกะถุง ทุบ-บด และผสมทำก้อนใหม่อีกรอบ) จึงเป็นปัญหาที่น่าศึกษาและหาทางแก้ไขอย่างจริงจัง การระบาดของหนอนแมลงวันศัตรูเห็ดในระยะนี้เริ่มจาก แมลงวันตัวเต็มวัยจะบินวนและลงเกาะ วางไข่บริเวณปากคอขวด (ซึ่งหากหลังจากใส่เชื้อเห็ดแล้วมีการปิดจุกสำลี ปิดด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์รัดด้วยยางรัดวงอย่างแน่นหนา) ตามวิธีการที่เกษตรกรมืออาชีพที่ความชำนาญในการผลิตปฏิบัติก็จะมีปัญหาน้อยลง แต่หากเกษตรกรเกิดความมักง่ายหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยการใส่เชื้อเห็ดปิดจุกสำลีหลวมๆไม่ปิดปากถุงด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือรัดยางรัดวงแบบหลวมๆ ก็จะทำให้แมลงวันศัตรูเกิดหาทางชอนไชเข้าไปวางไข่ในถุงก้อนเชื้อเห็ดบริเวณปากคอขวด จากนั้นหนอนแมลงวันที่เพาะฟักเป็นตัวก็จะกัดกินเส้นใยอย่างรวดเร็ว หลายๆครั้งถึงกับทำให้เส้นใยที่เจริญไปได้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ของก้อน หยุดการเจริญเติบโตไปเลยที่เดียว แต่หากเข้าไปหลังจากเส้นใยเห็ดเจริญเติบโตไปได้มากแล้ว ก็จะทำให้เส้นใยยุ่ย เป็นขุย ไม่สามารถรวมตัว-รัดตัว ฟอร์มดอกเห็ดเล็กๆขึ้นมาได้ สังเกตว่าก้อนที่ถูกแมลงวันเข้าทำลายจะเห็นเส้นใยเห็ดเป็นขุย เห็นขี้เลื่อยไม้สีน้ำตาลแซมแดง โดยเฉพาะบริเวณใกล้ปากถุง (บ่าถุง) นอกจากนั้นจะเห็นตัวหนอนใสขนาดเล็กจำนวนมากในถุงเชื้อเห็ด ในขณะถุงเชื้อเห็ดที่สมบูรณ์จะเห็นเส้นใยสีขาวแน่นเต็มถุง ไม่มีร่องรอยการทำลายของหนอน ส่วนสำคัญอีกประการหลังจากตัวหนอนไชทำลายเส้นใยเห็ด มักจะเกิดการระบาดของเชื้อราเขียวอีกด้วย ทั้งนี้คาดการณ์ว่าก็จะมีเชื้อราเขียวศัตรูเห็ดติดไปกับแข้งขาแมลงวันเข้าไปในถุงเชื้อเห็ดนั้นเอง

            การระบาดของแมลงวันศัตรูเห็ดหลายชนิดมักระบาดในฤดูที่มีอากาศร้อน อย่างเช่นในช่วงเวลานี้ เกษตรกรที่เพาะเห็ดเป็นอาชีพควรหมั่นตรวจตรา ระวังป้องกันตามหลักวิธีที่ถูกต้องหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีฉีดพ่นลงบนดอกเห็ดโดยตรง เพราะนอกจากไม่สามารถควบคุมการระบาดได้แล้ว ยังเป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้บริโภค ในบันทึกหน้าผมจะเขียนวิธีการป้องกันกำจัดแมลงวันและแมลงหวี่ ศัตรูเห็ด จากภาคปฏิบัติของเกษตรกรและงานวิจัย (สำหรับการเพาะเห็ดระบบเปิด) 

หมายเลขบันทึก: 484221เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2012 14:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กรกฎาคม 2012 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันครับ

  • สวัสดีจ้ะ
  • แวะมาทักทายก่อนเข้านอนจ้ะคุณเจษฎา

ขอขอบคุณมากครับคุณเจษฎาผมเป็นผู้เลี้ยงเห็ดมือใหม่และประสบกับปัญหาเรื่องหนูมากเพิ่งได้คำตอบที่นี่เองขอบคุณครับ

 

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท