สิทธิของคนสัญชาติไทยในการเข้าไปทำงานในประเทศออสเตรเลียภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรี


คนไทยมีสิทธิเข้าไปทำงานในออสเตรเลีย

สิทธิของคนสัญชาติไทยในการเข้าไปทำงานในประเทศออสเตรเลียภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรี


        คนสัญชาติไทยโดยเฉพาะพี่น้องผู้ใช้แรงงานมักนิยมที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศหรือที่เรียกกันติดปากว่า “ไปขุดทอง”  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศซาอุดิอาระเบีย ญี่ปุ่น และไต้หวัน  เป็นต้น  ส่วนแรงงานที่มีฝีมือ เช่น ผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ    เช่น แพทย์ วิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญ ผู้จัดการ ผู้บริหาร นั้น  มีคนสัญชาติไทยเดินทางไปทำงานในต่างประเทศจำนวนน้อยกว่าพวกแรกเป็นอย่างมาก    ทั้ง ๆ ที่พวกหลังนี้สามารถสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและสามารถส่งเงินกลับเข้ามาในประเทศไทยได้มากกว่า    ที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากกฎหมายของประเทศที่จะเข้าไปทำงานนั้นมีเงื่อนไขหรือมีกฎหมายที่เข้มงวดห้ามเอาไว้


        แต่จากการที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีในองค์การการค้าโลก (WORLD TRADE ORGANIZATION WTO) ในส่วนของการค้าบริการ (General Agreement on Trade in Services หรือ GATs)  ซึ่งแบ่งรูปแบบการให้บริการออกเป็น 4 รูปแบบ  และในรูปแบบที่ 4 ในเรื่อง การเคลื่อนย้ายบุคคลากร (Movement of Natural Person)  จากประเทศหนึ่งเข้าไปทำงานอีกประเทศหนึ่ง  ส่งผลให้คนเริ่มมีการย้ายถิ่นเพื่อไปทำงานในต่างประเทศมากขึ้น  และเมื่อประเทศไทยมีการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับออสเตรเลีย ทำให้มีการลดอุปสรรคขัดขวางที่มีต่อการค้าบริการ และยิ่งส่งผลให้คนสัญชาติไทยได้รับประโยชน์และสามารถที่จะเข้าไปทำงานในธุรกิจบริการด้านต่าง ๆ มากกว่าที่ประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่คู่สัญญา


        ในการศึกษาเรื่องสิทธิของคนสัญชาติไทยในการเข้าไปทำงานในประเทศออสเตรเลียภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีนี้  จึงกำหนดขอบเขตของการศึกษา  โดยศึกษาจากความตกลงว่าด้วยการค้าบริการ (General Agreement on Trade in Services หรือ GATs) ลักษณะและสาระสำคัญของความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย  ในส่วนที่เปิดโอกาสให้คนสัญชาติไทยได้เข้าไปทำงานว่ามีอยู่อย่างไร จากนั้นจึงศึกษาเงื่อนไขหรืออุปสรรคของการเข้าไปทำงานของคนสัญชาติไทย และกฎหมายของประเทศไทยที่สนับสนุนหรือส่งเสริมให้คนไทยได้เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ  ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเข้าใจในสถานะภาพของความตกลงการค้าเสรีว่ามีอยู่อย่างไร  และมีปัญหาหรืออุปสรรคใดที่ต้องแก้ไข ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและผู้ที่สนใจจะเดินทางเข้าไปทำงานในประเทศออสเตรเลีย  ซึ่งมีแนวโน้มจะมีมากขึ้นอันเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยได้มีการเปิดเสรีทางการค้า


        การศึกษาเริ่มจากความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (GATs)  รายละเอียดของความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย  ในส่วนที่เปิดโอกาสให้คนไทยได้เข้าไปทำงาน ประเภทหรือธุรกิจที่เปิดให้เข้าไปทำงาน  เงื่อนไขบางประการที่จะต้องปฏิบัติ  รวมทั้งปัญหาของการปฏิบัติตามเงื่อนไข  ต่อจากนั้น จะศึกษาถึงกฎหมายของประเทศไทยที่สนับสนุนหรือส่งเสริมให้คนไทยได้เดินทางเข้าไปทำงานและบทสรุป
        


    I.  ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (GATs)
        หลักการสำคัญของ  GATs   ซึ่งเป็นความตกลงส่วนหนึ่งที่อยู่ในกรรมสารสุดท้าย (Final Act)  ขององค์การการค้าโลก (WORLD TRADE ORGANIZATION หรือ WTO)  มีอยู่ 2 ประการคือ


หลักปฏิบัติเยี่ยงผู้ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favoured Nation Treatment  หรือ MFN)  ซึ่งเป็นหลักที่ หากประเทศไทยให้สิทธิประโยชน์แก่รัฐใดรัฐหนึ่ง  ก็ต้องให้แก่รัฐอื่น ๆ ที่เป็นภาคีด้วย  แม้รัฐที่สามจะไม่ได้รู้ถึงข้อเท็จจริงอันนั้นเลยก็ตาม


- หลักปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment)  ซึ่งเป็นหลักที่ หากประเทศไทยอนุญาตให้นำเข้าสินค้าหรือบริการจากรัฐที่เป็นภาคี WTO  เข้ามา  สินค้าหรือบริหารเหล่านั้นจะต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกับสินค้าหรือบริการในประเทศทั้งนี้รูปแบบของการค้าบริการภายใต้กรอบของ GATs นี้ มีอยู่ด้วยกัน 4 รูปแบบคือ


1) การค้าบริการข้ามพรมแดน (Cross-Boader trade on services)   โดยผู้บริการและผู้รับบริการอยู่คนละประเทศ เช่น การซื้อสินค้าผ่านทาง E-Commerce


2) การบริโภคข้ามพรมแดน (Communication Aboard)  ซึ่งก็คือ  การค้าบริการที่บุคคลจากประเทศหนึ่งเดินทางเข้ามาขอรับบริการในประเทศของผู้ให้บริการ (movement of consumers to another member country)   เช่น การที่ต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย


3) ตั้งสำนักงาน (Commercial Presence)  การค้าบริการโดยผู้ประกอบการจากประเทศหนึ่งเข้ามาจัดตั้งธุรกิจเพื่อให้บริการในอีกประเทศหนึ่ง  (the right to operate business through legal entities in another member country)  เช่น การเข้ามาร่วมทุน (Joint Venture)  การไปเปิดร้านอาหารไทยในต่างประเทศ


4) การเคลื่อนย้ายบุคคลากร (Movement of Natural Person)  ซึ่งก็คือ การค้าบริการโดยบุคคลธรรมดาจากประเทศหนึ่ง เข้าไปให้บริการในอีกประเทศหนึ่ง  (Tempory Movement of national person: providing the services in another member country)  อันเกี่ยวข้องกับกฎหมายคนเข้าเมืองและสิทธิในการเข้ามาทำงานของคนต่างด้าว  เช่น พ่อครัวไทยไปทำงานในต่างประเทศ  หรือผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคเข้ามาทำงานในประเทศไทย

                


        การที่ประเทศไทยได้เปิดเสรีด้านการค้าบริการ GATs ตามหลักดังกล่าวนั้น  มีผลเท่ากับเป็นการเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาสู่ตลาดภายในได้โดยตรง  ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้คนไทยสามารถเดินทางเข้าไปทำงานในต่างประเทศได้ตามหลักต่างตอบแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 10 สาขาบริการ  คือ บริหารธุรกิจ  การสื่อสารคมนาคม  การก่อสร้างและวิศวกรรม  การจัดจำหน่าย  ด้านสิ่งแวดล้อม การเงิน การศึกษา  นันทนาการ  วัฒนธรรมและการกีฬา  การท่องเที่ยว และการขนส่ง
        การผูกพันในบริการ 10 สาขาข้างต้น  เป็นการผูกพันเพียงเท่าที่กฎหมายซึ่งบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันได้ให้อำนาจไว้เท่านั้น  กล่าวคือ   เปิดให้ชาวต่างชาติได้เข้ามาถือหุ้นในบริษัทได้ไม่เกิน49% และจำนวนผู้ถือหุ้นไม่มากกว่าคนไทย   ขณะเดียวกัน คนไทยก็ได้รับสิทธินั้นต่างตอบแทนเช่นกัน
        สำหรับการประกอบอาชีพ  ซึ่งเป็นรูปแบบที่ 4  ของ GATs  นั้น เปิดโอกาสให้คนไทยเข้าไปประกอบอาชีพได้เฉพาะในระดับผู้บริหาร  ผู้จัดการ  ผู้เชี่ยวชาญ  โดยยึดหลักว่าเป็นตำแหน่งงานที่ต้องไม่เข้ามาแย่งงานคนในท้องถิ่น และเป็นตำแหน่งที่ยังขาดแคลนในท้องถิ่นนั้น ๆ  
II. ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย


หลักเกณฑ์สำคัญที่คนสัญชาติไทยได้รับสิทธิในการเข้าไปทำงานในประเทศออสเตรเลียภายใต้กรอบความตกลง FTA  มีดังต่อไปนี้


        1.  ประโยชน์ที่คนสัญชาติไทยได้รับจากการเปิดเสรีธุรกิจบริการจากออสเตรเลีย  (ข้อมูลจาก: www.thaifta.com และwww.dtn.moc.go.th)  


1) ออสเตรเลียได้ผ่อนคลายเงื่อนไขการเข้าไปทำงาน  โดยยกเลิก Labour MarketTest ซึ่งทำให้สามารถจ้างคนไทยเข้าไปทำงานได้เลย ไม่ต้องรอประกาศจ้างคสออสเตรเลียก่อน ทำให้คนไทยสามารถเข้าไปทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร  ผู้จัดการ ผู้เชี่ยวชาญ  ได้ง่าย


2) การอนุญาตให้คนไทยที่ได้รับการว่าจ้างจากธุรกิจในออสเตรเลียเข้าไปทำงานได้ 3ปี
และพ่อครัวไทยเข้าไปทำงานได้ 4 ปี  และสามารถต่ออายุได้ไม่เกิน 10 ปี  ในขณะที่ออสเตรเลียไม่เปิดตลาดการทำงานในลักษณะนี้ให้แก่ประเทศอื่น


3) การอนุญาตให้คู่สมรสและผู้ติดตามของคนไทยที่โอนย้ายเข้าไปกับสาขาของบริษัท
ไทยที่ตั้งอยู่ในออสเตรเลียในตำแหน่งผู้บริการ ผู้จัดการ หรือผู้เชี่ยวชาญ สามารถทำงานในออสเตรเลียได้ในช่วงเวลาเดียวกับคนไทยฯที่โอนย้าย
            


4) การอนุญาตให้พ่อครัวไทยที่ได้รับวุฒิบัตรของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและมีสัญญาจ้างงาน สามารถเข้าไปทำงานได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตจากออสเตรเลียอีก


5)  ไทยยังมีความร่วมมือกับออสเตรเลียภายใต้  Working Holiday scheme  หรือ WH ซึ่งออสเตรเลียได้เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาของไทยที่เข้าไปศึกษาในออสเตรเลียสามารถทำงานได้เป็นเวลา 3 เดือน  ภายใต้เงื่อนไขว่านักศึกษานั้นต้องผ่านความเห็นชอบจากทางการของไทย เรียนจบมหาวิทยาลัยและต้องพูดภาษาอังกฤษได้ (ที่มา: www.archanwell.org/webboard/show.phn’category=board_ 1&no=2645)

2.  คุณสมบัติของคนสัญชาติไทยและเงื่อนไขของการอนุญาตทำงาน
ภายใต้กรอบความตกลง FTA  ไทย ออสเตรเลีย  ในบทที่ 10  การเคลื่อนย้ายบุคคล
ธรรมดา ข้อ 1002  ในเรื่องบทนิยาม และข้อ 1003   ในเรื่องเงื่อนไขของการอนุญาตให้ทำงาน  ได้กำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขให้คนต่างด้าว (คนสัญชาติไทย) สามารถเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศออสเตรเลีย  ดังนี้
1) นักลงทุน (INVESTOR)  หมายถึง  คนไทยผู้โอนเงินเข้ามาลงทุนในออสเตรเลียไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท  


2) ผู้โอนย้ายภายในกิจการ (INTRA-CORPORATE TRANSFER)  หมายถึง  ลูกจ้างซึ่งเป็นชาวไทยในตำแหน่งผู้จัดการ  ผู้บริหาร  ผู้เชี่ยวชาญ  ซึ่งทำงานให้กับผู้ให้บริการ ผู้ลงทุน หรือนิติบุคคลสัญชาติไทย ซึ่งจัดตั้งขึ้นในออสเตรเลีย  สามารถโอนย้ายเข้าไปทำงานในบริษัทสาขา  โดยได้รับอนุญาตให้ทำงานเป็นเวลา 1 ปี (สามารถขอต่ออายุใบอนุญาตได้คราวละ 1 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี)


3) ผู้ให้บริการตามสัญญา (CONTRACTUAL  SERVICE  SUPPLIER)  หมายถึง ชาวไทยที่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนด กฎหมาย ระเบียบ นโยบายหรือปฏิบัติตามมาตรฐานตามความตกลงไทย-ออสเตรเลีย เพื่อที่จะได้สิทธิเข้ามาทำงานในออสเตรเลีย   ซึ่งแบ่งเป็น
3.1)  ลูกจ้างของผู้ให้บริการหรือนิติบุคคลของไทย  ซึ่งไม่ได้มีการเข้ามาจัดตั้งหรือเข้ามาลงทุนในออสเตรเลีย แต่ได้ทำสัญญาบริการกับนิติบุคคลที่จดทะเบียนและมีการดำเนินธุรกิจในออสเตรเลีย  กล่าวคือ ลูกจ้างของคู่สัญญาดังกล่าวก็สามารถเข้ามาทำงานที่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลคู่สัญญาที่อยู่ในไทย 


            


3.2)   ชาวไทยที่ได้รับการว่าจ้างตามสัญญาจ้าง  โดยนิติบุคคลไทยหรือออสเตรเลียที่เข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งและมีการดำเนินธุรกิจในออสเตรเลีย


4.   ผู้เยี่ยมเยียนธุรกิจ (Business Visitor)  ชาวไทยซึ่งเป็นผู้ขายบริการ ผู้ลงทุน หรือผู้แทนของผู้ลงทุน ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองชั่วคราวเพื่อเจรจาขายสินค้า   โดยการเจรจานั้นไม่เกี่ยวกับการขายตรงต่อสาธารณชนทั่วไป   กรณีนี้ออสเตรเลียจะออกใบอนุญาตทำงานให้แก่บุคคลเหล่านั้นเป็นระยะเวลา 90 วัน 


5.   ผู้เชี่ยวชาญ (Specialist)  หมายถึง ชาวไทยซึ่งมีความรู้ความชำนาญทางวิชาการระดับสูง และผู้ที่มีความรู้ด้านการบริหาร เครื่องมือวิจัย  เทคนิค หรือการจัดการขององค์กร หรือบุคคลากรที่มีคุณวุฒิทางวิชาการหรือวิชาชีพระดับสูง  และมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์  
3. ตำแหน่งงานซึ่งเป็นที่ต้องการในออสเตรเลีย  แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม   
3.1  กลุ่มงานด้านผู้บริหาร   เช่น ผู้อำนวยการสถานพยาบาล  ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรม  
ผู้จัดการทรัพยากรมนุษย์  ผู้จัดการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด และผู้จัดการฝ่าย
ลอจิสติกส์  เป็นต้น   
3.2  กลุ่มงานด้านผู้เชี่ยวชาญ  อาทิ  นักบัญชี   ผู้สอบบัญชี  ทันตแพทย์ นักโภชนาการ
วิศวกร  โปรแกรมเมอร์  ทนายความ  เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ   นักจิตวิทยา  และครู เป็นต้น    
3.3 กลุ่มงานด้านผู้ช่วยผู้เชี่ยวชาญ  ได้แก่ ช่างก่อสร้าง  ช่างต่อและซ่อมเรือ  ช่างทำ
เฟอร์นิเจอร์  ช่างทำสวน ช่างทำผม   เป็นต้น   
ในปัจจุบัน  ออสเตรเลียได้จัดทำการยอมรับมาตรฐานฝีมือแรงงาน (Labor Standards)  
และนำคุณสมบัติของคนต่างชาติในบางอาชีพที่ต้องการเข้ามาทำงานเป็นรายกรณีไป  โดยส่งให้กับสำนักงานยอมรับมาตรฐานผู้ปฏิบัติงาน (Trade Recoanition Australia-TRA)  เป็นศูนย์กลางเพื่อพิจารณาและประสานงานกับองค์การวิชาชีพต่าง ๆ ที่รับผิดชอบในแต่ละสาขาวิชาชีพ  (ที่มา :  ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย  โอกาสส่งออกของไทย กรมเจรจาการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์)
    


            

    
III. เงื่อนไขและอุปสรรคของการเข้าไปทำงานในออสเตรเลีย


ปัญหาสำคัญของคนสัญชาติไทยที่จะเข้าไปทำงาน คือ เรื่องมาตรฐานฝีมือแรงงานหรือในเรื่องความรู้ความสามารถ  ซึ่งไม่เพียงแต่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านอาชีพแล้ว   ความรู้ในภาษาอังกฤษก็เป็นสิ่งสำคัญ  อีกทั้งหากเป็นตำแหน่งงานในระดับผู้บริหาร หรือผู้จัดการ ทั้งในระดับสูงและระดับกลาง  เช่น ผู้จัดการต้องมีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า5 ปี และสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี   ส่วนกรณีของตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานนั้น จะต้องเข้าไปพิจารณาดูรายละเอียดและเงื่อนไขของกฎหมายภายในของออสเตรเลียเป็นการเฉพาะในแต่ละสาขาวิชาชีพด้วย เช่น ตำแหน่งผู้ให้บริการทางกฎหมาย ต้องจบปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์ และได้รับอนุญาตจากหน่วยงานในรัฐต่าง ๆ เพื่อจะได้มีสิทธิให้บริการในเฉพาะรัฐนั้น ๆ   และต้องผ่านการเทียบคุณวุฒิและขอรับการทดสอบจากหน่วยงาน Legal Peactice Board (รัฐ Western  Australia) เป็นต้น (ที่มา: thaifta_service.htm)


IV. กฎหมายของประเทศไทยที่สนับสนุนหรือส่งเสริมให้คนไทยได้เดินทางไปทำงานต่างประเทศ


1. รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาตรา 36  กำหนดว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทางและมีเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่)


2. พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528  แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544


        กฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงานจัดหางานของรัฐที่ไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการ (มาตรา7) และสำนักงานจัดหางานโดยภาคเอกชน ที่มีการเรียกเก็บค่าบริการ  แต่ต้องได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการจากนายทะเบียน (มาตรา8)  โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปทำงานในต่างประเทศนั้น กฎหมายได้ให้ความคุ้มครองไว้ด้วยว่า หากเดินทางไปทำงานแล้วไม่ได้งานตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน สำนักงานจัดหางานต้องมีหน้าที่จัดการให้คนงานเดินทางกลับประเทศไทย  โดยออกค่าพาหนะค่าที่พัก   ค่าอาหารและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็น  (มาตรา 39)  ด้วย     นอกจากนั้น   กฎหมายฉบับนี้ ใน


        


มาตรา 52  ยังได้กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนงานที่ไปทำงานต่างประเทศ  ในกรณีที่ถูกทอดทิ้งเพื่อให้เดินทางกลับประเทศไทย  ทั้งนี้ เพื่อสร้างหลักประกันให้แก่คนไทยที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศอีกทางหนึ่งด้วย


                บทสรุป

    จากการศึกษาถึงสิทธิของคนสัญชาติไทยในการเข้าไปทำงานในประเทศออสเตรเลีย ภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรี  ทำให้เห็นว่าคนไทยมีโอกาสที่จะเลือกประกอบอาชีพได้มากขึ้น และมีโอกาสที่จะสร้างเนื้อสร้างตัวจากโอกาสที่เปิดให้นี้   แม้ยังมีปัญหาหรืออุปสรรคสำคัญในเรื่องของมาตรฐานแรงงานที่เข้มงวด  แต่ผู้เขียนเชื่อว่าคงไม่เกินความสามารถของพวกเราที่มีศักยภาพในการแข่งขันในเวทีโลกอย่างแน่นอน















                -8-

                  บรรณานุกรม

1. ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย
2. ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (General Agreement on Trade in Services  หรือ GATs)
3. ประโยคที่คนสัญชาติไทยได้รับจากการเปิดเสรีบริการจากออสเตรเลีย www.thaifta.com  และwww.dtn.moc.go.th
4. www.archanwell.org.th
5. ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย โอกาสส่งออกของไทย กรมเจรจาการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
6. www.thaifta.com/fta-services.htm
7. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
8. พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528  แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 8)
พ.ศ. 2544










        
    
        




หมายเลขบันทึก: 48420เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2006 14:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 01:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท