ประชุมสร้างความเข้าใจผู้จัดการเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูสอนดี ๑๕ จังหวัด



          วันที่ ๙ มี.ค. ๕๕ มูลนิธิสดศรีฯ จัดประชุมสร้างความเข้าใจผู้จัดการเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูสอนดี 15 จังหวัด   ในโครงการความร่วมมือกับ สสค.

          ผมเข้าร่วมประชุมด้วยตลอดวัน   เพื่อช่วยกันวางฐานการทำงาน ๑ ปีแรกของโครงการ    เป้าหมายส่วนตัวคือ ช่วยกันคนละไม่คนละมือ ในการฟื้นสภาพการศึกษาไทย  ให้มีคุณภาพ

          ผมบอกที่ประชุมว่าเรื่อง ครูสอนดี ในมุมมองของผม มีหลักสำคัญอยู่ ๓ ประการ


๑. ครูสอนดี ต้องเอาใจใส่ลูกศิษย์   และเอาใจใส่ทั่วทุกคน ไม่ใช่เอาใจใส่เฉพาะเด็กที่เรียนดีประพฤติดีเท่านั้น   การช่วยเด็กที่เบื่อเรียน และช่วยให้เด็กเกเรมีทักษะชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา และหน้าที่ของครู   วัดผลการทำหน้าที่ครูได้จากผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ของศิษย์


๒. สอนดีไม่พอหรือไม่ถูกต้องตามยุคสมัย   ต้องเน้นที่การเรียนของศิษย์   การสอนกับการเรียน เกี่ยวข้องกัน แต่ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน   และเรื่องผลหรือเป้าหมายของการเรียนก็เปลี่ยนไปด้วย เปลี่ยนจากเรียนความรู้หรือเรียนวิชา ไปเป็นเรียนทักษะ   คือสมัยก่อนเรียนให้รู้ สมัยนี้ต้อง เรียนให้เลยจากรู้ และเข้าใจ ไปสู่ทำได้   จึงต้องเน้นจัดการเรียนรู้โดยลงมือทำ (Learning by Doing)   คือสมัยนี้ต้องเรียนฝึกใช้ความรู้   การเรียนเน้นการฝึก ให้ได้ทักษะเชิงซ้อน ที่เรียกว่า ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑” (21st Century Skills) ซึ่งกลับไปอ่านรายละเอียดได้จากหนังสือ วิถีการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ ๒๑และการเรียนแบบเน้นฝึกทักษะเชิงซ้อนนี้ เรียกว่า PBL (Project-Based Learning)   หรือการเรียนรู้แบบทำโครงงานนั่นเอง    แต่มีเคล็ดลับหรือเทคนิคให้เรียนรู้ได้ลึกและเชื่อมโยงมากกว่าการทำโครงงานที่เราคุ้นเคย   คือต้องมีทั้งการ ลงมือทำ และการไตร่ตรองทบทวนเป็นระยะๆ


๓. ครูไทยไม่ได้เรียนมาเป็นครูฝึก (coach) ให้ศิษย์ฝึกงอกงามทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑   จึงต้องมี กิจกรรมช่วยเหลือครู ให้ได้เรียนรู้ทักษะการเป็นครูฝึก   กิจกรรมนี้เรียกว่า PLC (Professional Learning Community)   คือต้องมีการจัดการรวมตัวของครู เป็นชุมชนการเรียนรู้   เรียนวิธีทำหน้าที่ครูฝึก ในการเรียนแบบเน้นฝึกทำ    การมาหารือกันในวันนี้ ก็เพื่อให้ผู้มาจาก ๑๕ จังหวัดที่ สสค. เลือกมา ได้เตรียมพร้อมกลับไปจัด PLC ในพื้นที่ของท่าน และมีกระบวนการ ลปรร. กันข้ามจังหวัดเป็นเครือข่าย   ทั้งเครือข่าย PLC  และเครือข่าย คุณอำนวย PLC”   ทุกท่านในห้องนี้ถูกคาดหวังให้เป็นแกนนำของประเทศ ในการสร้างตัวขึ้นเป็น คุณอำนวย PLC”   จัดการเรียนรู้ของครู ที่เป็นการเรียนรู้อย่างยั่งยืน คือเรียนจากการลงมือทำ (บวกทบทวนไตร่ตรอง)


          น่าดีใจว่าผู้มาร่วมประชุมมีความหลากหลายมาก มีทั้งที่มาจาก อปท. และจากวงการศึกษา    ทั้งจาก เขตพื้นที่การศึกษา และจากมหาวิทยาลัย   ในที่สุดก็มีความชัดเจนร่วมกันว่า สิ่งที่จะทำก็คือการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ ทางการศึกษาในโรงเรียนและในเขตพื้นที่ โดยใช้เครื่องมือ PLC ผู้มาร่วมประชุมล้วนเป็นผู้มีใจและเห็นคุณค่า ของการศึกษา และเห็นพ้องกันว่า จะปล่อยให้สภาพการณ์เป็นอย่างในปัจจุบันไม่ได้แล้ว    เพราะจะทำให้ อนาคตของบ้านเมืองตีบตัน  

          ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า แรงบันดาลใจต่อการเรียนรู้ เป็นสิ่งสำคัญต่อทั้งครูและนักเรียน   คุณยุทธ วงษ์ศิริ ผอ. สำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น เล่าว่า   โรงเรียน ๔ โรงในเทศบาลนครขอนแก่น เปลี่ยนมาจัดรูปแบบการเรียนรู้เป็นลำปลายมาศพัฒนาโมเดล   ภายใน ๒ เดือนเด็กที่เบื่อเรียนและเกเรกลับ มารักเรียน และเลิกเกเร   ครูก็เกิดแรงบันดาลใจที่จะทำหน้าที่ครู    ผมบอกที่ประชุมว่า วิธีที่ มสส. แนะนำ มีของจริงให้ดูที่ รร. ลำปลายมาศพัฒนา  จ. บุรีรัมย์



วิจารณ์ พานิช

๙ มี.ค.๕๕

 

บรรยากาศในห้องประชุม

 


 

 

 

หมายเลขบันทึก: 484091เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2012 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อาจารย์่ค่ะ ทาง สสค. ร่วมกับ GotoKnow จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาระบบสนับสนุนการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ของเว็บไซต์ ClassStart.org ครั้งที่ 1/2555 ในวันที่ 18-19 เม.ย. 2555 และ 20-21 เม.ย. 2555 ณ มศว.ประสานมิตร กรุงเทพฯ ค่ะ โดยมีทีมครูใหม่เข้ามาช่วยอยู่ด้วยในวันแรกค่ะ

กำหนดการคร่าวๆ เป็นดังนี้ค่ะ

  • BAR
  • อบรมการใช้ ClassStart (Classroom Management System)
  • ลปรร. 21st century skills (ครูสอนดี และ ครูที่ใช้ ClassStart ที่อยู่ในจังหวัดนำร่องของ สสค.)
  • ลปรร. requirements ของระบบที่จะสนับสนุนการศึกษาในศตวรรษที่ 21 เพื่อนำไปพัฒนาใน ClassStart ต่อไปค่ะ
  • วางแผนขยายผล
  • AAR

ขอบคุณค่ะ อ.จัน

น่าสนใจมากเลยค่ะ แต่ทำอย่างไร ให้ "ครู" ที่สอนนักศึกษาไปเป็น "ครู" ที่ไม่ได้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้สังกัด สกอ. ได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจังบ้างคะ. จริงๆ หนูอยากมีส่วนร่วมด้วย เพราะสนใจเรื่องนี้ และทำวิจัยเกี่ยวกับด้านนี้ การพัฒนาการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานโดยใช้การวิจัยเป็นฐาน ค่ะ. แต่เท่าที่กลับมาทำงาน ยังไม่ค่อยเห็นโอกาสที่จะได้ร่วมงาน หรือร่วมกิจกรรมแชร์ความรู้กับ สถาบันฯ อื่นเท่าไรเลยค่ะ เมื่อไรการจัดการศึกษาจะมองทั้งระบบอย่างจริงจัง และ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างจริงใจ

ขอบคุณสำหรับเนื้อหาและแนวคิดดีๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท