ความยากของการบริหารค่าจ้างเงินเดือน


เรื่องของการบริหารค่าจ้างเงินเดือนนั้น จะว่าเป็นเรื่องง่าย มันก็ง่าย แต่ถ้าจะว่าเป็นเรื่องยาก มันก็ยากจริงๆ ฝ่ายบุคคลในหลายๆ บริษัทต่างก็ต้องปวดสมองกับเรื่องราวของการบริหารค่าจ้างเงินเดือนของพนักงานในหลายๆ รูปแบบที่แตกต่างกันออกไป นอกจากฝ่ายบุคคลแล้ว ตัวนายจ้าง หรือผู้บริหารระดับสูงเองก็ต้องให้ความใส่ใจในเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้มันเป็นไปตามยถากรรม จากนั้นก็มาบ่นว่าทำไมพนักงานถึงไม่ยอมทำงาน หรือทำงานแบบขอไปที

ประเด็นความยากของการบริหารค่าจ้างเงินเดือนที่ได้เคยประสบมาจากองค์กรต่างๆ ก็มีดังนี้ครับ

  • ไม่มีการกำหนดนโยบายในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนอย่างเป็นรูปธรรม พอไม่มีนโยบายผลก็คือ ต่างคนต่างก็บริหารกันเอง ไปกันคนละทิศคนละทาง ผู้บริหารว่าอย่างหนึ่ง ผู้จัดการว่าอีกอย่างหนึ่ง และแต่ละคนก็คิดกันไปคนและแบบ สิ่งที่เคยเห็นก็คือ ผู้จัดการตามฝ่ายงานต่างๆ มีสิทธิในการกำหนดเงินเดือนให้กับพนักงานกันเองโดยไม่สนใจว่า ฝ่ายอื่นจะจ้างกันเท่าไหร่ หรืออย่างไร ผลก็คือ พนักงานในองค์กรได้รับค่าจ้างเงินเดือนแบบมั่วไปหมด อยากจ้างเท่าไหร่ก็จ้างกันเอง
  • เราจะรู้ได้อย่างไรว่า อัตราเงินเดือนของบริษัทเรานั้นแข่งขันได้แล้ว นี่ก็เป็นความยากอีกอย่างหนึ่ง เพราะส่วนใหญ่นายจ้างเองมักจะมองว่า เงินเดือนที่ให้นั้นมากพอแล้ว และสามารถแข่งขันได้กับตลาด ส่วนลูกจ้างก็จะมองในทางตรงกันข้ามเสมอ ก็คือ ค่าจ้างที่ได้รับอยู่นั้น น้อยเกินไป ต้องการได้มากขึ้น แล้วจุดตรงกลางมันอยู่ตรงไหนกันแน่ วิธีแก้ไขปัญหานี้ก็คือ เราจะต้องเข้าร่วมการสำรวจค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการ หรือไม่ก็เป็นเจ้าภาพในการทำการสำรวจค่าจ้างฯ เองเลย ซึ่งก็จะได้ข้อมูลมาเปรียบเทียบว่าการจ่ายของบริษัทเรานั้นอยู่ตรงไหนของตลาด แข่งขันได้หรือไม่
  • เงินเดือนจูงใจพนักงานได้จริงๆ หรือ นี่ก็เป็นอีกประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันมากมายว่า เงินเดือนสามารถที่จะจูงใจพนักงานให้สร้างผลงานได้ดีขึ้นจริงๆ หรือ เพราะผู้จัดการหลายคนมักจะให้เหตุผลว่าที่พนักงานไม่ยอมทำงาน หรือขี้เกียจทำงานนั้นก็เพราะเงินเดือนเขาน้อยเกินไป แต่ก็มีอีกหลายองค์กรที่จ่ายเงินเดือนในระดับสูงมากๆ แต่พนักงานก็ยังคงทำงานแบบเช้าชามเย็นชามกันต่อไป แค่นั้นไม่พอ พนักงานก็ยังคงมองว่าเงินเดือนที่เขาได้นั้นยังคงน้อยเกินไปอยู่ดี
  • โบนัสควรจะให้เท่ากัน หรือต่างกันตามผลงานดี นี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่หลายๆ องค์กรประสบปัญหา องค์กรที่ให้โบนัสพนักงานเท่ากันหมดทุกคน ก็จะมีพนักงานบางกลุ่มที่มองว่าไม่เป็นธรรม เพราะบางคนสร้างผลงานได้ดีกว่าบางคน ดังนั้นควรจะให้โบนัสที่แตกต่างกันตามผลงานจะดีกว่า แต่ในบางองค์กรที่ให้โบนัสพนักงานแตกต่างกันไปตามผลงานของแต่ละคน ก็มีพนักงานบางคนที่มองว่าไม่เป็นธรรมอีกเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่า พนักงานก็ทำงานอยู่ในองค์กรเดียวกัน ช่วยกันทำให้องค์กรประสบความสำเร็จเหมือนกัน แต่ทำไมกลับได้โบนัสไม่เท่ากัน
  • มุมมองที่ต่างกันเรื่องการขึ้นเงินเดือน พนักงานอยากได้เงินเดือนขึ้นแต่ละปีเยอะๆ ขอให้ได้เยอะที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่นายจ้างมองว่าเงินเดือนเป็นเงินที่เพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้นไม่ควรขึ้นเยอะๆ เพราะจะเป็นภาระของบริษัทในระยะยาว
  • เงินเดือนควรจะขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุดหรือ ควรมีการชนเพดาน เรื่องนี้ในหลายๆ บริษัทก็มีปัญกหาเงินเดือนพนักงานบางคนขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไม่มีวันหยุด ก็เลยทำให้พนักงานบางตำแหน่งงานที่มีค่างานในระดับต้นๆ กลับมีเงินเดือนสูงกว่าพนักงานบางคนที่ดำรงตำแหน่งในค่างานที่สูงกว่า เช่น พนักงานขับรถได้รับเงินเดือนสูงกว่าวิศวกรอาวุโส เป็นต้น บางองค์กรก็บอกว่า เราควรจะต้องมีการหยุดการขึ้นเงินเดือนเมื่อเงินเดือนพนักงานสูงถึงระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งโดยทั่วไปก็คือ สูงถึงเพดานเงินเดือนในโครงสร้างเงินเดือนนั่นเอง

ประเด็นที่ผมยกมาข้างต้นนั้น พอพิจารณากันดีๆ แล้ว มันก็ไม่มีถูกไม่มีผิดเลยครับ การบริหารค่าจ้างเงินเดือนนั้น ไม่มีอะไรที่ถูกเป๊ะๆ หรือผิดไปเลยหรอกครับ สิ่งที่จำเป็นจะต้องสร้างให้ได้ในองค์กรก็คือ ความเข้าใจร่วมกันในเรื่องของการบริหารค่าตอบแทนในองค์กรระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมักจะเกิดจากมุมมองที่แตกต่างกัน และไม่มีการสื่อสารกันอย่างชัดเจนถึงเหตุผลที่มาที่ไป

ประเด็นที่สำคัญก็คือ การสื่อความในเรื่องหลักการของการบริหารค่าตอบแทนนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เช่น เราจ่ายเงินเดือนบนพื้นฐานของอะไร โบนัส การขึ้นเงินเดือน ฯลฯ เราจะให้ในเงื่อนไขของอะไรบ้าง นโยบายเหล่านี้จะต้องชัดเจนมากๆ ผมว่ามันหมดยุคสมัยแล้วครับ ที่เรื่องของนโยบายและระบบการบริหารเงินเดือนจะถูกเก็บเป็นความลับที่ไม่มีใครได้รู้เลย (ย้ำนะครับ เรื่องของระบบและนโยบาย ไม่ใช่เรื่องของตัวเลขเงินเดือน) ความโปร่งใส และสามารถอธิบายได้นั้นจะทำให้เรื่องของการบริหารค่าจ้างเงินเดือนง่ายขึ้นเยอะครับ

หมายเลขบันทึก: 484075เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2012 06:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท