จดหมายถึง...พระแม่ของแผ่นดิน ตอนที่ 1


พระแม่ของแผ่นดิน

จดหมายถึง...พระแม่ของแผ่นดิน

วิโรจน์ แก้วเรือง 

        วันที่ ๑๒ สิงหาคม คราใด ปวงชนชาวไทยล้วนเฝ้ารอคอยที่จะได้มีโอกาสรับฟังกระแสพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ   “พระแม่แห่งแผ่นดิน” ผู้ทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ เพื่อให้โอกาสชาวนาชาวไร่และครอบครัวประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ โดยไม่ต้องพะวงถึงอุปสรรคทางดินฟ้าอากาศ เป็นการยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น รวมทั้งเพื่ออนุรักษ์และสืบทอดศิลปหัตถกรรมไทยที่กำลังจะเสื่อมสูญไปให้คงอยู่โดยมุ่งผลิตผลงานที่มีคุณภาพดีเยี่ยม

        โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ หรือโครงการส่งเสริมให้ประชาชน ประกอบอาชีพโดยอาศัยศิลปะ นับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ให้ความสำคัญแก่การแก้ปัญหาความยากจนและการทำมาหากินของราษฎร โดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นสำคัญ อีกทั้งยังกล่าวได้ว่าเป็นโครงการที่พัฒนาขีดความสามารถของประชาชนผู้ยากไร้ให้พึ่งตนเองได้โครงการหนึ่ง

       โครงการศิลปาชีพ เป็นกิจกรรมที่แสดงให้เห็นชัดแจ้งถึงพระมหากรุณาธิคุณ และน้ำพระทัยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถและพระราชวงศ์ทุกพระองค์ที่ได้ทรงเสียสละพระราชทรัพย์ กำลังพระวรกายและเวลาเพื่อทรงร่วมประสานการดำเนินงานกันไปทุกด้านอย่างครบวงจร ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะยกระดับความเป็นอยู่ เพิ่มพูนรายได้และพัฒนาการอาชีพของราษฎร งานในโครงการศิลปาชีพนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับสนองพระราชดำริจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการที่จะช่วยให้พสกนิกรได้มีอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มพูนรายได้แก่ตนเองและครอบครัว ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูงานด้านหัตถกรรมต่าง ๆ อันเป็นศิลปวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ

         มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เกิดขึ้นมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนาง เจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรชาวไทยในภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ทำให้ทั้งสองพระองค์ทรงทราบถึงความทุกข์และความเดือดร้อนของราษฎร และ ทรงเห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวนาชาวไร่ ชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างอัตคัดขัดสน ต้องเผชิญกับปัญหานานาประการ เป็นต้นว่าผลผลิตน้อยเกินคาด ศัตรูพืชรบกวน ความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ ปัญหาการตลาด ล้วนกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา

        นอกจากนี้จากกระแสพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งมีแก่คณะบุคคลต่าง ๆ หลายต่อหลายครั้ง ก็จะย้ำให้เห็นถึงที่มาของโครงการส่งเสริมศิลปาชีพว่าเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังเช่น

“…..ทุกครั้งที่เมืองไทยเกิดน้ำท่วมหรือเกิดภัยพิบัติอย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำของพระราชทานไปช่วยเหลือราษฎร มักจะเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค แล้วก็รับสั่งกับข้าพเจ้าว่า การช่วยเหลือแบบนี้เป็นการช่วยเฉพาะหน้า ซึ่งไม่สำคัญ ช่วยเขาไม่ได้จริง ๆ ไม่พอเพียง ทรงคิดว่าทำอย่างไรจึงจะช่วยเหลือชาวบ้านเป็นระยะยาว คือทำให้เขามีหวังที่อยู่ดีกินดีขึ้น ลูกหลานได้เข้าโรงเรียน

        ด้วยเหตุนั้นข้าพเจ้าจึงเริ่มคิดหาอาชีพเสริมให้แก่ ครอบครัวชาวนา ชาวไร่ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงหาแหล่งน้ำให้การทำไร่ทำนาของเขาเป็นผลต่อประเทศชาติบ้านเมือง ทรงพระดำเนินไปดูตามไร่ของเขาต่าง ๆ ทรงคิดว่านี่เป็นกำลังใจ และที่ทรงให้ข้าพเจ้าดูแลครอบครัว ก็เลยเป็นที่เกิดของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ…..” (พระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๔ ) และจากกระแสพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๒ ความว่า

“…..ข้าพเจ้าก็มานับดู ได้โอกาส มีเกียรติได้เป็นพระบรมราชินีของปวงชนชาวไทยก็โดยพระมหากรุณาธิคุณทรงเลือกเอาไว้ และได้เป็นมา ๔๐ กว่าปีแล้ว ด้วยความภาคภูมิใจในประเทศชาติ บ้านเมืองและคนไทยภูมิใจในคนไทย ซึ่งข้าพเจ้าทราบดีจากที่ตั้งมูลนิธิโครงการส่งเสริมศิลปาชีพขึ้น โดยคำแนะนำจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมูลนิธินี้ได้ผลดีเป็นจำนวนมาก ได้ช่วยให้ราษฎรทั่วประเทศไทยได้แสดงความสามารถของคนไทยออกมาเป็นที่ประจักษ์ของต่างประเทศ ทั่วประเทศไทย ทุกภาค ทำให้ข้าพเจ้ามั่นใจว่าคนไทยเรานี่เป็นคนที่ฉลาดและมีความเป็นศิลปิน มีความละเอียดอ่อน ถ้าลองว่าได้โอกาสในชีวิตแล้ว เขาก็จะเป็นกำลังที่ยอดเยี่ยมของประเทศชาติ ข้าพเจ้าเชื่อมั่นอย่างนั้น…..”

        มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เป็นมูลนิธิที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙ เพื่อช่วยเหลือชาวนาชาวไร่ผู้เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ทว่ามีปัญหาเรื่องรายได้น้อย ทั้งนี้เพราะปัญหาต่างๆ อันเป็นอุปสรรคของการเพาะปลูก อาทิ สภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวนอยู่เสมอทำให้รายได้จากผลผลิตไม่พอเลี้ยงครอบครัว ประกอบด้วยศิลปหัตถกรรมไทยซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีตกำลังจะเสื่อมสูญไป เนื่องจากรูปแบบการดำเนินชีวิตของสังคมไทยพึ่งพาปัจจัยภายนอกมากขึ้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาทั้งสองประการ จึงมีพระราชดำริหาวิธีแก้ไข อีกทั้งสืบเนื่องมาจากพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

“…..ความเป็นมาของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ข้าพเจ้าก็อยากจะอวด อยากจะคุยให้ท่านทั้งหลายทราบว่า ทุก ๆ ครั้งที่มีภัยพิบัติเกิดขึ้นทั่วประเทศไทย ไม่ว่าเป็นที่ไหนก็ตามจะเป็นน้ำท่วม หรือว่าแล้งเป็นพิเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปเยี่ยม และจะทรงบ่นทุกครั้งว่า ที่เรามาช่วยเหลือประชาชนเนี่ย ก็ช่วยได้นิดเดียว ช่วยเพื่อจะว่าให้เขามีกำลังใจ มีผ้าห่ม มีอาหารเฉพาะที่เกิดอุบัติภัยอะไรขึ้นเท่านั้นเอง รับสั่งว่าไม่เป็นการแก้ปัญหาในการที่เขาขาดเงินรายได้ ขาดอาชีพ ที่จะมาเลี้ยงดูครอบครัว ก็รับสั่งว่าไหนลองช่วยกันคิดสิว่าประชาชนมีความสามารถอะไรอีก นอกจากจะเป็นนักเกษตรกรที่สามารถ ข้าพเจ้าก็กราบบังคมทูลว่า ฝีมือทอผ้าของประชาชนเนี่ยเป็นที่เยี่ยม และลายมัดหมี่ที่ดั้งเดิมที่เขาเอามาถวายเนี่ย เป็นลายที่สวยงามมาก วิจิตรพิสดารมาก ซึ่งข้าพเจ้าก็ใช้อันนั้นน่ะ บอกเขาว่าช่วยทอให้ที แล้วก็จะให้เงินเขา เขาก็ถามข้าพเจ้าว่ามัดหมี่เนี่ยเอาไปทำไม ทอไปทำไม ราชินีจะเอาไปทำไม ข้าพเจ้าก็บอกว่าเอาไปใช้สิ ก็สวยมาก เขาก็บอกว่าไม่รู้หรือว่าที่กรุงเทพฯ น่ะ มีแต่คนใช้เท่านั้นแหละที่ใช้แต่มัดหมี่ ซึ่งเดี๋ยวนี้ข้าพเจ้าก็บอกกับบุคคลทั่วไปว่า ไม่จริงเลยนะเดี๋ยวนี้คนที่กรุงเทพฯ ทุกคนน่ะ พร้อมใจกันช่วยกันซื้อผ้ามัดหมี่จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ แล้วมาตัดใส่ด้วยความภาคภูมิใจใน งานใหญ่ ๆ ด้วยซ้ำไป เพราะเชื่อมั่นว่าเนี่ยเป็นฝีมือ เป็นการทอที่สวยงดงามที่สุด เป็นงานฝีมือที่สวยที่สุด ซึ่งชาวต่างประเทศก็รับรองและเห็นด้วย…..”

        อย่างไรก็ดีมีข้อมูลว่าครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่๒พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๙๘ ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้ทอดพระเนตรเห็นหญิงชาวบ้านที่มารับเสด็จนุ่งซิ่นไหมมัดหมี่กันทุกพื้นที่ พระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยในความงามของผ้าไหมมัดหมี่มาตั้งแต่ครั้งนั้น

        ส่วนพระราชดำริครั้งแรกในการส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ น่าจะเริ่มตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ในครั้งที่ทั้งสองพระองค์เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรมที่วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรบริเวณเขาเต่าพระราชทานเงินและข้าวสารแก่ราษฎรที่ยากจน จากการที่มีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรทำให้ทรงทราบว่าราษฎรเหล่านี้ทำการประมงเป็นอาชีพหลัก บรรดาผู้ชายต้องออกหาปลา ส่วนผู้หญิงก็อยู่บ้านเลี้ยงลูกแล้วประกอบอาชีพเสริมเล็ก ๆ น้อย เช่น เก็บหอยแล้วแกะเนื้อไปขาย ซึ่งทำรายได้ไม่มากนัก ทั้งยังต้องกรำแดดและหากมีลูกเล็กก็จะทำงานไม่สะดวก เหตุนี้เองในราวเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๐๘ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงชักชวนให้หญิงชาวบ้านเขาเต่าหัดทอผ้าฝ้ายขาย โดยให้สร้างกี่ทอผ้าขึ้นที่ท้ายวังไกลกังวล และโปรดเกล้าฯ ให้ พลโท หม่อมเจ้าประเสริฐศรี ชยางกูร ราชองครักษ์ ไปขอครูทอผ้าจากราชบุรีมาสอนการทอผ้าแก่ชาวบ้านเหล่านั้นตลอดจนเป็นผู้ควบคุมโครงการด้วย  รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้ส่งรถไปรับชาวบ้านมาหัดทอผ้า ในสมัยนั้นก็ทอผ้าขาวม้า และผ้าซิ่นเป็นส่วนใหญ่ ทรงพระกรุณาพระราชทานทั้งอาหารกลางวันและค่าแรงแก่ผู้ทอ ถ้าใครมีลูกเล็กๆก็ให้นำมาด้วยได้  โปรดเกล้าฯให้นางสนองพระโอษฐ์ช่วยกันเลี้ยงดู เย็นลงก็จัดรถส่งชาวบ้านกลับบ้าน กิจการทอผ้าท้ายวังดำเนินไปเช่นนี้จนถึงเวลาเสด็จฯกลับกรุงเทพมหานคร จึงจำต้องย้ายไปอยู่ที่ใต้ถุนศาลาวัดเขาเต่าโดยมีเจ้าอาวาสวัดเขาเต่าช่วยดูแลต่อ วันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๙ ราษฎรเขาเต่าชื่อนายประสิทธิ์ และนางเจียมจิต ยอดย้อยได้เข้าเฝ้าฯ น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินจำนวน ๓ ไร่ ๖๐ ตารางวา เพื่อเป็นที่ตั้งถาวรของโครงการทอผ้าและผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมกันโดยเสด็จพระราชกุศล  สร้างตัวอาคารรวมทั้งอุปกรณ์การทอถวายมีครูใหญ่โรงเรียนบ้านเขาเต่า ชื่อนายแล สังข์สุข มาช่วยดูแลด้วย

 

         

 

 

        สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้เสด็จฯทอดพระเนตรการดำเนินงานของโรงทอผ้าแห่งนี้ ทรงรับซื้อผ้าของชาวบ้านไว้แทบทั้งสิ้น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรางวัลแก่ผู้ทอที่มีฝีมือตลอดจนมีความขยันหมั่นเพียร เป็นเหรียญทองคำหนัก ๑ บาท จำนวน ๑๓ คน เหรียญนั้นมีข้อความจารึกไว้ด้านหน้าว่า “โปรดเกล้าฯ พระราชทานคนขยัน” ด้านหลังจารึกว่า “พฤษภาคม ๒๕๐๙” และบางครั้งก็เป็นสร้อยคอทองคำ ล่วงมาถึง พ.ศ. ๒๕๑๑ กรมการพัฒนาชุมชนได้เข้ามารับผิดชอบดำเนินกิจการต่อและมอบหมายให้พัฒนาการอำเภอหัวหินดูแลโครงการนี้มาจนถึงปัจจุบัน มีการทอผ้า ย้อมสี ตัดเย็บและยังเพิ่มเติมการสอนประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์ด้วย แต่ชาวบ้านที่มาฝึกหัดและรับจ้างทำงานลดน้อยลงไปมาก เนื่องจากเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นที่มีรายได้สูงกว่า กิจการทอผ้าฝ้ายที่เขาเต่าแม้จะมิได้ขยายใหญ่โตและขณะนี้นับเป็นกิจการของกรมการพัฒนาชุมชน แต่ก็ถือได้ว่าเป็น พระราชกรณียกิจแรกทางด้านการส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมแก่ราษฎรของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

อย่าลืม! ติดตาม "จดหมายถึง...พระแม่ของแผ่นดิน" ต่อในตอนที่ 2 นะครับ

หมายเลขบันทึก: 484014เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2012 13:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท