Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

การเลี้ยงลูกเป็นการฝึกธรรมะที่ดี


การเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี เป็นหน้าที่ๆสำคัญของพ่อแม่ เพราะชีวิตครอบครัว คือการอยู่ร่วมกัน ธรรมะจึงเป็นหัวใจของครอบครัว ที่จะทำให้ครอบครัวมีความสุข สงบ สันติ

ด้วยความรักของคุณพ่อคุณแม่ที่มีต่อลูก อะไรที่คิดว่าดีเราก็อยากให้ลูกได้รับไปจนหมด อยากให้ลูกเป็นเด็กดีในมุมมองของเรา  จึงคาดหวังในตัวลูกสูงมาก หวังให้ลูกเป็นคนดีให้ได้และได้ดีมากกว่าตัวเอง ความรู้สึกแบบนี้ เคยเป็นไหมค่ะ การเลี้ยงลูกด้วยความรู้สึกนี้จึงสร้างความกดดันให้ลูก เพราะถ้าพ่อแม่ไม่รู้จริงว่าสิ่งใดดีหรือไม่ดี หรือรู้ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง คุณพ่อ คุณแม่จะสอนลูกให้เป็นคนดี คนเก่ง มีความสุขกับชีวิตได้อย่างไร จริงไหมค่ะ

การนำเอาหลักธรรมมาเป็นเครื่องมือช่วยให้คุณ คุณพ่อแม่ ผู้ปกครอง นำหลักธรรมะ คำสอนของพระพุทธเจ้าไปปรับใช้ในการเลี้ยงลูก และดำเนินชีวิตครอบครัวอย่างมีสติ เป็นการพัฒนาภาวะผู้นำทางจริยธรรมของคุณพ่อ คุณแม่  และส่งผ่านภาวะผู้นำทางจริยธรรมนั้นไปยังลูก เป็นสิ่งสำคัญค่ะ คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนเรื่องธรรมะให้กับลูกๆในชีวิตประจำวันได้ทุกวันค่ะ ไม่จำเป็นต้องสอนเฉพาะเมื่อพาลูกเข้าวัดในวันสำคัญทางพุทธศาสนาเท่านั้นนะคะ เพราะการเลี้ยงลูก พ่อแม่ต้องใช้ธรรมะ เลี้ยงลูกทุกวัน ใช้ธรรมะได้ทุกวันค่ะ

ธรรมะเป็นเรื่องของจิตใจที่เราจะต้องเรียนรู้และนำมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์กับตนเอง การเรียนรู้ธรรมะช่วยนำหลักธรรมมาแก้ไข ปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นได้ ธรรมะจึงเป็นเรื่องราวชีวิตของเราทั้งหมด ซึ่งธรรมะ จึงเป็นการเรียนรู้ความเป็นจริงในชีวิต เป็นความดีงาม ช่วยทำใจให้ดีและกระทำสิ่งที่ดีให้แก่ตนเองและผู้อื่น


ธรรมะจึงเป็นเสมือนเครื่องมือสำคัญในการทำให้เกิดประโยชน์กับชีวิตความเป็นอยู่ได้อย่างแท้จริง เพราะธรรมะสอนให้รู้จักการปรับตัวในชีวิต ไม่ใช่แค่ไปวัด ไหว้พระ นั่งสมาธิ หรือสวดมนต์ อย่างที่เราเข้าใจกัน แต่เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้า ล้วนแต่เป็นการสอนให้เรียนรู้เรื่องของตัวเรา ทั้งหมดเป็นเรื่องของใจและความดีงามของความรู้สึก เช่น สอนว่าตัวเราเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร สอนให้รู้เท่าทันชีวิต รู้เท่าทันโลก โดยเราคิดว่ารู้ไปแล้ว แต่จริงๆ เรายังไม่รู้ เรายังไม่เข้าใจ

พระพุทธเจ้าสอนให้มนุษย์เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งในสิ่งที่ดีและไม่ดีเพื่อปรับตัวเข้าหากัน และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน การเรียนรู้ปรับตัว ต้องอาศัยความอดทนความเพียรพยายาม การพูดคุย สื่อสารต่อกัน ในช่วงเวลาและสถานการณ์ที่เหมาะสมกับบุคคล

เพราะพ่อแม่ คือ แบบอย่างที่ดีชองลูก ธรรมะจึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องเข้าใจ และนำมาเรียนรู้ให้เกิดปัญญากับตัวเองก่อนแล้วจึงนำไปถ่ายทอด สอนลูกได้ พ่อแม่จึงสามารถเลี้ยงลูกให้ถูกทางอย่างมีปัญญา เมื่อพ่อแม่เข้าใจได้ว่า การอยู่ร่วมกันแบบครอบครัว คือ การเคารพความดีของตนเอง ไม่ก้าวล่วงในสิ่งที่ผิดของผู้อื่น จะทำให้ลูกเรียนรู้แบบอย่างที่ดีจากพ่อแม่ได้ง่าย แต่ถ้าพ่อแม่ลืมรู้สึกตัว ใช้อารมณ์ในการสอนลูก เช่น เวลาที่แม่โกรธเพราะลูกดื้อ แล้วก็เผลอลงมือกับลูก  ตีลูก ถึงจะบอกเหตุผลตามหลังก็ตาม แต่ลูกเข้าใจไปแล้วว่า เวลาถูกขัดใจต้องส่งเสียงแบบนี้ ต้องตีแบบนี้ เหมือนกับเวลาเราเห็นเด็กเล็กถูกขัดใจแล้วหันไปตีคนใกล้ชิด สะท้อนได้ว่า ที่บ้านต้องมีใครทำแบบนี้ให้เห็น เพราะเด็กเรียนรู้จากสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน สิ่งที่สัมผัส


ปัญหาทางสังคมสมัยใหม่ในปัจจุบัน คือ รูปแบบการดำเนินชีวิตของครอบครัวเปลี่ยนไป มีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว แต่ละครอบครัวมีลูกน้อยลง ทำให้เด็กได้รับการสนองตอบจากพ่อแม่อย่างเต็มที่ในด้านวัตถุ เด็กยุคนี้จึงปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนแปลง และการดำเนินชีวิตได้ไม่ง่าย ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการปรับตัว อยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ยากขึ้น เช่น ไม่สามารถทำงานร่วมกับคนผู้อื่นได้ดีนัก เป็นเรื่องใหญ่ที่พ่อแม่ต้องช่วยดูแล สั่งสอนลูก

พญ. สมสิริ สกลสัตยาทร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ซึ่งเป็นกุมารแพทย์ผู้ที่ใช้เวลาว่างปฏิบัติธรรม เรียนรู้ธรรมะมานานกว่า 30 ปี จนได้นำเอาหลักธรรมมาเป็นเครื่องมือช่วยให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง นำหลักการ คำสอนของพระพุทธเจ้าไปปรับใช้ในการเลี้ยงลูก และดำเนินชีวิตครอบครัวอย่างมีสติ  คุณหมอได้ให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร Mother&Care แนะนำหลักธรรมที่เหมาะกับลูกในแต่ละวัย ดังนี้

 
ในเด็กเล็กจะมีการเรียนรู้ได้จากเสียง การสัมผัส กิริยาท่าทาง สิ่งที่พ่อแม่แสดงออก ถ้าลูกเห็นพ่อแม่ในแต่ละวัน มีอารมณ์โวยวายใส่กัน ลูกก็จะเห็นสิ่งนั้นอยู่บ่อยๆ แม้ยังฟังไม่ออก แต่เห็นท่าทางก็เป็นการสอนโดยการกระทำไปแล้ว แม้คำพูดที่บอกลูกให้ทำแต่สิ่งที่ดีก็ตาม สอนทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี พ่อแม่จึงต้องรู้จักฝึกจิตใจ ทำความรู้สึกตัว ให้มีสติ การมีสติสัมปชัญญะ ตรงกับปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้า ที่สอนไม่ให้ประมาท

เด็กเล็กช่วง 3 ปีแรก เป็นช่วงทองที่สมองของลูกพัฒนามากที่สุด ขณะเดียวกัน เมื่อลูกโตขึ้น สามารถสอนได้ด้วยเหตุและผล แต่เมื่อลูกไม่ทำ ไม่น่ารัก พ่อแม่ควรไต่ถามลูกถึงสาเหตุ คุยกับลูกด้วยอารมณ์ที่ไม่โกรธ คุยให้รู้เรื่องเข้าใจกัน หมอแนะนำว่า พ่อแม่ต้องเข้าใจลูก เช่น เด็กเล็กร้องไห้ บอกถึงอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้ดูแลให้ถูกวิธี และเรียนรู้ที่จะอดทน ควบคุมอารมณ์เป็น เช่น อารมณ์ตกใจ ตื่นกลัว อารมณ์โกรธ และต้องเรียนรู้ไม่มีวันหยุด หาข้อมูลเพื่อเลี้ยงลูกตามวัย รักเขาในสิ่งที่เขาเป็น ไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่ต้องการให้เป็น แต่พ่อแม่คอยแนะนำให้ถูกทาง

การฝึกธรรมะในการเลี้ยงลูก คือ การรู้สึกตัว รู้สึกถึงอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น เมื่อมีปัญหากลับมาดูความรู้สึกที่ใจตนเอง คอยสอดส่องใจตัวเอง เพื่อแก้ไข คุณพ่อคุณแม่ต้องเรียนรู้ในการควบคุมอารมณ์ เรียนรู้ในความอดทน ในการสอนลูก ต้องสอนลูกด้วยไม่อารมณ์ที่โกรธหรือขัดใจ ต้องสอนด้วยความรู้สึกที่ลูกอยากรับฟัง

พระพุทธเจ้าบอกไว้ว่า คนทั่วไปคิดว่าชีวิตเราที่ได้ดี มีสุขทุกวันนี้ เพราะคิดว่าเราเป็นผู้ทำ ที่จริงแล้วเป็นผลของกรรม เช่นเดียวกับการเลี้ยงลูก ตอนลูกเล็กๆ เราจับเขาวางตามใจเรา เลี้ยงแบบที่เราชอบ เมื่อลูกโตขึ้นเราจะจับเขาวางเลี้ยงเขาเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว เพราะลูกมีความคิดและความรู้สึกเป็นของตัวเอง พ่อแม่ต้องเรียนรู้สถานะ ความต้องการ การกระทำที่เปลี่ยนไปของลูกอยู่ตลอดเวลา

ยกตัวอย่างลูกวัยรุ่น คุยโทรศัพท์กับเพื่อนนานๆ ลูกอยากมีเพื่อน อยากมีความเป็นส่วนตัว แม่จะรู้สึกว่าคุยอะไรกัน 2-3 ชั่วโมง แต่เวลาคุยกับแม่แค่ 2-3 ประโยค ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะลูกรู้สึกว่า คุยกับแม่ไม่สนุก แต่ถ้าสร้างความคุ้นเคยให้ลูกตั้งแต่ยังเล็กๆ โดยแม่เป็นผู้ฟัง ฟังเมื่อลูกอยากจะเล่า ไม่ใช่พอลูกจะเล่าก็แม่เหนื่อยยังไม่อยากฟัง พอหายเหนื่อยจะไปฟัง ลูกไม่อยากเล่าแล้ว

เมื่อมีลูกแล้วไม่ใช่ให้เขาแต่วัตถุ เราต้องให้เวลา ในเวลาที่เขาอยากได้ หรือลูกคุยกับเพื่อนนาน แม่อยากรู้ เลยแอบฟังลูกคุย แบบนี้ถือเป็นเรื่องก้าวก่าย หรือบังคับให้ลูกบอก เพราะคิดว่า ลูกเป็นของเรา พ่อแม่ต้องรู้ทุกอย่างของลูก บางครั้งลูกอยากมีความลับก็ได้ หรือเวลาลูกเล็กๆ หยิบของสกปรกเข้าปาก เรารีบคว้าออกทันที โดยไม่ได้คำนึงถึงความรู้สึกของลูก แม้จะบอกทีหลังแต่ลูกก็โกรธไปแล้ว จะเห็นว่า ทั้งที่มีเจตนาที่ดีก็ตาม แต่วิธีการที่แสดงนั้นผิด

พ่อแม่มักคิดว่า ลูกเป็นสมบัติของตน จึงพยายามทุกอย่างเพื่อให้ลูกเป็นไปตามที่ต้องการ ซึ่งคิดว่าดีที่สุด เช่น ในการคบเพื่อน พ่อแม่สนใจไต่ถามเรื่องเพื่อนลูกได้ แต่ไม่ใช่วิจารณ์หรือตำหนิในส่วนไม่ดีของเพื่อนลูกโดยที่ลูกยังรับไม่ได้

ที่สำคัญ ควรรู้ว่าสถานะของพ่อแม่เป็นเพียงที่ปรึกษาและรับฟัง แต่เรื่องตัดสินใจเป็นของลูก นี่ก็เป็นการฝึกจิตของพ่อแม่ให้รู้ฐานะและมีความอดทนไม่ก้าวก่ายการตัดสินใจของลูก

ชีวิตครอบครัว คือ การอยู่ร่วมกัน ธรรมะจึงเป็นหัวใจของครอบครัว ที่จะทำให้ครอบครัวมีความสุข สงบ สันติ การเลี้ยงลูก สอนลูกก็เช่นเดียวกัน ต้องเริ่มที่พ่อแม่ฝึกสติให้รู้เท่าทัน ฝึกใจให้ร่มเย็น ปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกเห็น ให้ลูกได้เรียนรู้ในสิ่งที่ดีงามด้วยใจที่รู้ ตื่น เบิกบาน พ่อแม่ที่มีธรรมะ  มีศีลธรรม มีสติ มีความอดทน จะมีความสงบเย็น ช่วยให้ลูกเติบโตมาเป็นคนดี มีสติ ใจเย็น อดทน และมี EQ ดีแน่นอนค่ะ และที่สำคัญช่วยพัฒนาภาวะผู้นำทางจริยธรรมให้กับเด็กๆด้วยค่ะ

ส่งเสริมพัฒนาการทางสมองของลูก ให้มีความฉลาดรอบด้าน มีปัญญารอบตัวและมีคุณธรรม ได้ที่นี่ค่ะ

การพัฒนาสมองของลูกพุทธบุตรให้ฉลาดรอบด้านตามหลักทฤษฎีพหุปัญญา (8 Multiple Intelligences)

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/483639

 

หมายเลขบันทึก: 483901เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2012 12:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 18:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท