ความเป็นมาของ “วัดไทยพระปฐมเจดีย์ – ศรีลังกา”


ขอบูชาแด่พระเขี้ยวแก้ว ถวายเป็นพุทธบูชาตลอดไป

วัดไทยพระปฐมเจดีย์ – ศรีลังกา มีความเป็นมาเริ่มต้นจาก พระธรรมปริยัติเวที เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ และเจ้าคณะภาค 15 (ปัจจุบัน)  ปรารภถึงความสัมพันธ์อันดีทางพระพุทธศาสนาที่ไทยกับศรีลังกามีระหว่างกันมายาวนาน ประกอบกับการที่พระเดชพระคุณท่านหลังจากที่ได้มีโอกาสไปนมัสการพระเขี้ยวแก้วที่ประเทศศรีลังกาถึง 7 ครั้ง นับตั้งแต่ พ.ศ.2524-2544 จึงประสงค์ที่จะสร้างศาสนสถานไว้เป็นเครื่องบูชาพระเขี้ยวแก้ว 

โดยเมื่อครั้งที่เดินทางไปศรีลังกาเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2544 พระเดชพระคุณท่านได้มีโอกาสไปดูที่ดินจำนวน 7 ไร่เศษ เห็นเป็นที่เหมาะสม จึงประกาศเจตนารมณ์ว่าจะซื้อที่แห่งนี้เพื่อสร้างเป็น “ศูนย์วัฒนธรรมไทยพระปฐมเจดีย์-ศรีลังกา” โดยมีคณะญาติโยมที่ร่วมเดินทางไปด้วย 20 ท่านร่วมบริจาคเงินเป็นปฐมฤกษ์และต่อมาก็ได้มีการบอกบุญจนได้ดำเนินการซื้อที่ดินเป็นที่เรียบร้อย

โดยมี “พระสีวลี” ชาวศรีลังกาเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โดยถูกต้องตามกฎหมายของศรีลังกาจากนั้นจึงมีการเริ่มทำการก่อสร้างกำแพงและอาคารต่างๆ สืบมา

(จาก ประกาศวัดพระปฐมเจดีย์ ที่ 3/2544 ลงวันที่ 29 พ.ค.2544)


              ต่อมาได้มีการก่อสร้างอุโบสถ โดยหลังจากเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2549  จนมาถึงวันที่ 9 กันยายน 2552  เนื่องจากอุโบสถใกล้แล้วเสร็จ บรรยากาศ สภาพแวดล้อมมีความเป็นวัดชัดเจนขึ้น คณะกรรมการจึงมีฉันทามติให้เปลี่ยนสถานะจาก “ศูนย์วัฒนธรรมไทยพระปฐมเจดีย์-ศรีลังกา” มาเป็น “วัดไทยพระปฐมเจดีย์ – ศรีลังกา” และมีการจัดงานพิธีผูกพัทธสีมา ปิดทองฝังลูกนิมิตเมื่อวันที่ 4-5 มิถุนายน 2554

 

              ทั้งนี้ พระธรรมปริยัติเวที ได้เขียนบทความตอนหนึ่งหัวข้อว่า ทำไม? จึงต้องไปสร้างศูนย์วัฒนธรรมฯที่ศรีลังกา” ในบทความนี้ท่านได้ปรารภถึงเจตนารมณ์ของการสร้างศูนย์ฯ ไว้ว่า

ทางวัดพระปฐมเจดีย์และคณะผู้ก่อตั้งขอถวายบรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นในศูนย์แห่งนี้ทั้งหมดและรวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ที่จะเกิดขึ้นในศูนย์แห่งนี้ต่อไปในภายหน้า ขอบูชาแด่พระเขี้ยวแก้ว ถวายเป็นพุทธบูชาตลอดไป และยังมีวัตถุประสงค์สำคัญอีก อาทิ

 

              -ส่งเสริมพระภิกษุสามเณรชาวศรีลังกาที่สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทยให้มีโอกาสมาศึกษาเล่าเรียนตามควรแก่อัตภาพ รวมทั้งกุลบุตรชาวศรีลังกาที่ประสงค์จะเข้ามาบวชและศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทยด้วย เพื่อให้ได้มีความรู้ความสามารถและรับเอาวัฒนธรรมไทยกลับไปเผยแพร่ในประเทศของตนเองด้วย

 

              -เพื่อให้เป็นที่พักพิงสำหรับคนไทยที่ประสงค์จะไปศึกษาต่อในประเทศศรีลังกาหรือที่จะเดินทางไปทัศนศึกษาในประเทศนั้น ตลอดจนทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหรือให้คำแนะนำ

 

              - เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกันและกัน ทำให้คนไทยได้รู้จักวัฒนธรรมของศรีลังกาและทำให้คนศรีลังกาได้มีโอกาสสัมผัสวัฒนธรรมไทยอย่างใกล้ชิด

 

              - เพื่อเป็นการกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

 

เรียบเรียงสรุป จากหนังสือที่ระลึกงานผูกพัทธสีมา ปิดทองฝังลูกนิมิต ณ วัดไทยพระปฐมเจดีย์-ศรีลังกา

กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา

หมายเลขบันทึก: 483786เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2012 07:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท