คนทำฮอ
นาวาอากาศโท สมเกียรติ ฮุ้นสกุล

Model of learning to live together and sustainability.


Model of learning to live together and sustainability

“แพรกหนามแดง”

Factors affecting success in the use of water is different.

(ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการใช้น้ำที่แตกต่างกัน)

     “แพรกหนามแดง” เป็นตำบลหนึ่งในอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มีแม่น้ำแม่กลองเป็นสายน้ำหลักและมีลำคลองสาขากว่า 300 คลอง ประกอบด้วยพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน 3 พื้นที่ คือ พื้นที่น้ำจืด พื้นที่น้ำกร่อย และพื้นที่น้ำเค็ม ประชาชนมีอาชีพเกษตรกรรมและประมง การดำเนินชีวิตตามสภาพพื้นที่น้ำที่แตกต่างกัน

     ต่อมามีการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ ขึ้นที่จังหวัดกาญจนบุรีอันเป็นต้นน้ำของแม่น้ำแม่กลอง ทำให้น้ำจืดจากต้นน้ำไหลเข้าสู่พื้นที่แพรกหนามแดงน้อยลง น้ำเค็มจึงรุกเข้ามาสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่ทำนา สวนผัก และเลี้ยงปลาสลิด จะด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของกรมชลประทานหรือเปล่าไม่ทราบได้ ที่ไปก่อสร้างพนังกั้นน้ำขึ้น โดยไม่ได้รับรู้ถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชนของคนแพรกหนามแดง ทำให้เกิดการแยกสายน้ำและวิถีชีวิตชุมชนของคนในพื้นที่ออกจากกัน เป็นวิถีชีวิตของคนน้ำจืด และวิถีชีวิตคนน้ำเค็ม ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่น้ำต่างคนต่างอยู่ไม่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันแบบก่อน เนื่องจากผลประโยชน์ในอาชีพที่ใช้น้ำแตกต่างกันและเป็นที่มาของปัญหาความขัดแย้งขึ้น

     ความขัดแย้งของชาวบ้านในการใช้น้ำเกิดขึ้นเป็นเวลาถึง 20ปี โดยตัวปัญหาจริงๆ คือการเปิด-ปิดพนังกั้นน้ำนั่นเอง โดยในฝั่งน้ำจืดเมื่อประตูพนังกั้นน้ำปิดตายทำให้น้ำไม่สามารถไหลเวียนได้เกิดการเน่าเสียของน้ำ เกิดการสะสมของตะกอนดินที่หน้าพนังกั้นน้ำ และเมื่อถึงหน้าน้ำหรือเมื่อเขื่อนปล่อยน้ำลงมาจะทำให้น้ำท่วมนาข้าว บ่อปลาสลิด สวนผัก ของชาวบ้านๆในฝั่งนี้จึงไปเปิดประตูพนังกั้นน้ำเพื่อระบายน้ำออก ผลจากการที่เปิดประตูระบายน้ำพนังกั้นน้ำทำให้น้ำจืดไหลทะลักเข้าสู่ส่วนน้ำเค็ม เมื่อชาวบ้านฝั่งน้ำเค็มสูบน้ำเข้าบ่อกุ้งก็ทำให้กุ้งทะเลที่เลี้ยงไว้ตายหมด

นี่คือสาเหตุแห่งความขัดแย้ง...!

     ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการใช้น้ำที่แตกต่างกันเริ่มจากการที่ปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้นำชุมชนได้ชักชวนชาวบ้านทั้งสองฝ่ายมาพูดคุยกันถึงเรื่องปัญหาการใช้น้ำที่แตกต่างกันและทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น ทำให้ชาวบ้านทั้งสองฝ่ายได้รับรู้และเข้าใจถึงปัญหาของชาวบ้านอีกฝ่ายหนึ่งเกิดความเห็นอกเห็นใจกัน จากนั้นก็แสดงความจริงใจที่จะร่วมกันหาทางออก เพื่อลดความขัดแย้งดังกล่าว โดยยึดหลักการที่ว่า ร่วมกันคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมกันทำ ร่วมกันตรวจสอบ ร่วมกันรับผลประโยชน์หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา

     จากการพูดคุยกันหลายครั้งชาวบ้านทั้งสองฝั่งจึงร่วมกันศึกษาปัญหาความขัดแย้งโดยแยกประเด็นดังนี้

1. ศึกษาความเป็นมาของปัญหาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

2. ศึกษาพฤติกรรมการใช้ประโยชน์จากน้ำที่แตกต่างกันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำลุ่มน้ำแม่กลอง

3. ศึกษาการไหลขึ้นลงของน้ำเค็มและน้ำจืดในพื้นที่

     ชาวบ้านทั้งสองฝั่งพบว่าประตูพนังกั้นน้ำที่กรมชลประทานมาสร้างไว้นี่แหละคือ ตัวเจ้าปัญหาจึงได้ช่วยกันระดมความคิดและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อหาทางออกของปัญหา โดยคิดค้นและออกแบบประตูพนังกั้นน้ำกันใหม่ โดยได้รับทุนสนับสนุนงบประมาณจาก สกว.

    เมื่อชาวชุมชนได้ร่วมด้วยช่วยกันระดมความคิดและนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ก็ค้นพบประตูระบายน้ำพนังกั้นน้ำแบบใหม่ที่เหมาะสมกับท้องถิ่น ในการใช้น้ำที่แตกต่างกันและสามารถแก้ปัญหาของพวกเขาลงได้ ส่งผลให้ชาวชุมชนเกิดการพัฒนาทางด้านทักษะทางความคิด ทักษะการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลจนสามารถนำเสนอต่อผู้สนับสนุนคือ สกว.ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่จะถ่ายทอดต่อชุมชนอื่นๆได้ และที่สำคัญทำให้คนในชุมชนแพรกหนามแดงเกิดความรักความสามัคคี และเป็นต้นแบบของการเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีชีวิตและยั่งยืน (Model of learning to live together and sustainability)

ที่มา...ดร.สมสุข แขมคำ การจัดการเทคโนโลยี ป.เอก ม.ราชภัฎเพชรบุรี

 

หมายเลขบันทึก: 483783เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2012 05:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท