สิทธิในการกำหนดเพศของบุคคล : กรณีของชายซึ่งแปลงเพศเป็นหญิง (Christine Goodwin vs. UK, 11 July 2002) ตอนที่ ๑


กรณีศึกษาจากคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลสิทธิมนุษยชนฯ หรือ ECHR ในปี ๒๐๐๒ จะช่วยให้เรามองเห็นภาพความเดือดร้อนของผู้ที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการเยียวยา มิได้หมายความว่าต้องรักษาให้หาย แต่รัฐต้องให้สิทธิแก่คนเหล่านี้ในฐานะที่เป็นมนุษย์และช่วยให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข...อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

       หลังจากที่ได้ศึกษามาใน ๒ ครั้งก่อน จะเห็นได้ว่าสิทธิในการกำหนดเพศของบุคคลนั้นเป็นหนึ่งในสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องให้การรับรอง หากเราสังเกตให้ดีจะพบว่าการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าวนี้เริ่มต้นมานานแล้วในยุโรปและอเมริกา ซึ่งล้วนแต่ใช้เวลายาวนานกว่าจะมาถึงขั้นของศาลสิทธิมนุษยชนเนื่องจากต้องต่อสู้ในศาลยุติธรรมภายในของแต่ละรัฐจนถึงศาลสูง ต่อมาอาจต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แล้วจึงมายื่นฟ้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนซึ่งก็ใช้เวลาอีกเป็นปีกว่าจะมีคำพิพากษา หากเป็นคดีรับบุตรบุญธรรมของคนเพศเดียวกันก็อาจใช้เวลาประมาณ ๖ ปี ตั้งแต่เริ่มกระบวนการต่อศาลภายใน จนกระทั่งศาลสิทธิมนุษยชนมีคำตัดสิน เห็นได้ว่าบุคคลเหล่านี้ต้องดำเนินชีวิตอย่างลำบากในขณะที่คดีกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยหากต้องดำรงชีวิตอยู่โดยขาดการยอมรับจากสังคม เพื่อนร่วมงาน และที่สำคัญคือขาดการยอมรับโดยกฎหมาย ทำให้สถานะของคนเหล่านี้ไม่มั่นคง จึงมีปัญหาต่างๆตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประกันสังคม การรับเงินหลังเกษียณ การใช้คำนำหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากได้รับการแปลงเพศแล้ว กฎหมายจะยอมรับสิทธิในการสมรสหรือไม่? หากไม่ยอมรับ รัฐจะเยียวยาคนกลุ่มนี้อย่างไร มีทางออกอย่างอื่นให้หรือไม่?  

 

      จึงขอนำคำพิพากษาของ ECHR มาประกอบการศึกษาในครั้งนี้ เพราะเห็นว่าเป็นคำตัดสินที่ศาลได้วางหลักกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของเพศที่สามรวมทั้งเหตุผลที่ศาลใช้อธิบายไว้อย่างมากมาย และยังมีส่วนที่เป็นงานวิจัยที่ศาลใช้ประกอบการพิจารณาคดีที่น่าสนใจอีกเช่นกัน บางท่านอาจเคยได้ยินได้อ่านมาแล้วเพราะเป็นคำพิพากษาเมื่อปี ๒๐๐๒ ผ่านไปสิบปี กฎหมายเพื่อการรับรองสิทธิของคนกลุ่มนี้มีความก้าวหน้าแค่ไหน เพียงไร สิ่งที่ควรสังเกตในคดีนี้คือ ปีเกิด ช่วงเวลาแปลงเพศ ของผู้ร้อง เพราะเกิดขึ้นในยุคที่การยอมรับบุคคลเพศที่สามนั้นเป็นเรื่องยากต่อการทำความเข้าใจกับสังคม ตลอดจนความพยายามในการเข้ารับการรักษาบำบัดหลายครั้ง (เข้าใจว่าคนในยุคนั้นคงเห็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศเป็นโรคที่รักษาได้) แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้ผู้ร้องกลับมาเป็นเพศที่ตรงตามลักษณะทางกายภาพได้  

 

 

  ECHR, Aff. Christine Goodwin vs. UK, 11 July 2002

 

 

ข้อเท็จจริง 

 

     ผู้ร้องในคดีนี้เป็นชายที่แปลงเพศเป็นหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดเมื่อปี ๑๙๓๗ ปรากฏตามข้อเท็จจริงว่าในช่วงชีวิตเยาว์วัยของผู้ร้องนั้น ผู้ร้องมักแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายของสตรีอยู่เสมอ จนกระทั่งในปี ๑๙๖๔ ก็ได้เข้ารับการบำบัด จนกระทั่งแพทย์ได้ลงความเห็นว่าผู้ร้องเป็นผู้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ กล่าวคือ การสั่งการของสมองว่าให้เป็นเพศใดนั้นตรงข้ามกับลักษณะทางกายภาพ  อย่างไรก็ตามผู้ร้องก็ได้สมรสและมีบุตร ๔ คนด้วยกัน

          ตลอดระยะเวลาดังกล่าวจนถึงปี ๑๙๘๔ ผู้ร้องได้แต่งกายเป็นชายเสมอมาในการทำงาน และแต่งกายเป็นหญิงในวันหยุดพักผ่อน ต่อมาในปี ๑๙๘๕ ผู้ร้องก็ได้เข้ารับการรักษาอย่างจริงจังอีกครั้ง เป็นการบำบัดเกี่ยวกับปัญหา Sexual Identity ที่โรงพยาบาล Charing Cross Hospital ที่เชี่ยวชาญในด้านนี้โดยเฉพาะ โดยที่ผู้ร้องจะต้องเข้ารับการรักษาทุกๆ ๓ เดือน ท้ายที่สุดแพทย์สั่งให้บำบัดด้วยฮอร์โมน และต้องเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆนี้จากทางโรงพยาบาล เนื่องจากเสียงของผู้ร้องและลักษณะภายนอกเริ่มเปลี่ยนไปเป็นหญิงมากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องพบจิตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ในปี ๑๙๘๖ ผู้ร้องได้เข้ารับการผ่าตัดกล่องเสียงให้เป็นหญิง และมีรายชื่ออยู่ในลิสต์ที่จะได้รับการแปลงเพศในปี ๑๙๘๗ ต่อมาจึงได้ผ่าตัดแปลงเพศในปี ๑๙๙๐ ที่น่าสนใจในส่วนนี้คือผู้ร้องเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลของรัฐ คือ National Health Service และยิ่งไปกว่านั้นยังได้รับความคุ้มครองจากประกันสุขภาพอีกด้วย หมายความว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการแปลงเพศจากชายเป็นหญิงของผู้ร้องนั้นอยู่ในความดูแลของทาง NHS

 

ภายหลังจากแปลงเพศ ผู้ร้องก็หย่ากับภริยา แต่ยังคงได้รับกำลังใจจากลูกๆทุกคนเช่นเดิม

 

ปัญหาต่างๆทางกฎหมายเริ่มเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ร้องแปลงเพศแล้ว

 

     ๑. ผู้ร้องเคยตกเป็นเหยื่อจากการคุกคามทางเพศ โดยเพื่อนร่วมงานในช่วงปี ๑๙๙๐- ๑๙๙๒ แม้ว่าผู้ร้องตั้งใจที่จะดำเนินคดีต่อผู้กระทำละเมิดดังกล่าว แต่ก็ไม่อาจทำได้ เนื่องจากตามกฎหมายแล้วผู้ร้องยังคงเป็น “ชาย” อยู่นั่นเอง ศาลแรงงานจึงได้มีคำตัดสินเช่นนี้ เข้าใจว่ากฎหมายอังกฤษในขณะนั้นคงไม่คุ้มครองกรณีการคุกคามทางเพศจากคนเพศเดียวกัน เพราะหากกฎหมายคุ้มครอง แม้ผู้ร้องจะถูกละเมิดจากเพศชาย ก็ไม่มีปัญหาอะไร ผู้ร้องมิได้โต้แย้งหรืออุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าว และท้ายที่สุดกลับต้องออกจากงาน โดยนายจ้างระบุว่าเป็นเหตุผลทางสุขภาพ แต่ผู้ร้องได้ชี้แจงต่อศาลสิทธิมนุษยชนว่าจริงๆแล้วมีปัญหาเกี่ยวกับเพศ

 

        ๒. ต่อมาผู้ร้องได้งานใหม่ แต่ไม่กล้าให้ข้อมูลเกี่ยวกับประกันสังคมของตน เพราะนายจ้างจะสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆรวมทั้งทราบว่าตนผ่านการแปลงเพศมาแล้ว ผู้ร้องจึงได้ขอให้ทางสำนักงานประกันสังคม หรือ Department of Social Security ออกหมายเลขประกันสังคมให้ใหม่  แต่ท้ายที่สุดผู้ร้องก็จำต้องให้เลขที่เดิมแก่นายจ้าง และภายหลังนายจ้างก็ทราบเรื่องการแปลงเพศ เนื่องจากผู้ร้องมีปัญหาในการทำงานอีก กล่าวคือ เพื่อนร่วมงานพากันไม่พูดคุยสนทนากับผู้ร้อง และสนทนาเรื่องการแปลงเพศของผู้ร้องในยามลับหลัง

 

       ๓. ทางสนง.ประกันสังคม ได้แจ้งผู้ร้องทราบในปี ๑๙๙๗ ว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิได้รับเงินประกันสังคมเมื่อมีอายุ ๖๐ ปี ซึ่งเป็นเกณฑ์อายุเมื่อเกษียณของหญิงตามกม.อังกฤษ ในขณะที่ผู้ร้องยังคงเป็น “ชาย” ตามกม. จึงต้องใช้เกณฑ์อายุ ๖๕ เช่นเดียวกับชายอื่นๆ หมายความว่าต้องชำระเงินไปจนถึงปี ๒๐๐๒ เพื่อให้ได้สิทธิดังกล่าว อย่างไรก็ตามในปีเดียวกันนั้นเองทางสนง.ประกันสังคมคงได้ทำการศึกษากรณีของผู้ร้อง จึงได้มีหนังสือยกเว้นให้เป็นกรณีพิเศษ เท่ากับว่าผู้ร้องไม่มีปัญหาในเรื่องนี้

          ผู้ร้องจึงฟ้องรัฐบาลอังกฤษต่อศาลเนื่องจากการกระทำของรัฐเป็นการละเมิดพันธกรณีตามมาตรา ๘, มาตรา ๑๒, มาตรา ๑๓, และมาตรา ๑๔ แห่งอนุสัญญา ECHR

 

                ทั้งหมดนี้คือข้อเท็จจริงโดยสังเขปค่ะ

 

 

ศาลสิทธิมนุษยชนได้แยกพิจารณากรณีต่างๆดังนี้

 

๑. รัฐบาลอังกฤษละเมิดพันธกรณีตามมาตรา ๘ แห่งอนุสัญญาฯหรือไม่ The respect of private life

 

 

ประเด็นที่ผู้ร้องยกขึ้นกล่าวอ้างในคดี

 

       ๑. การที่กฎหมายมิได้ให้การรับรองทางสถานะแก่บุคคลที่ผ่านการแปลงเพศแล้วนั้น เป็นที่มาของการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ตลอดจนการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมต่อผู้ร้องในการดำเนินชีวิตประจำวัน  (เห็นได้จากข้อเท็จจริงในการทำงาน ซึ่งผู้ร้องถูกคุกคามทางเพศ ถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม เพื่อนร่วมงานไม่ยอมคบค้าสมาคมด้วย) ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากกฎหมายมิได้รับรองสถานะของเพศใหม่ที่ได้จากการผ่าตัดแปลงเพศนั่นเอง  และยังส่งผลให้ทางราชการรวมถึงสนง.ประกันสังคมยังต้องปิดบังข้อมูลส่วนตัวของผู้ร้องโดยแยกเก็บข้อมูลไว้ต่างหาก เป็นเหตุให้การเข้าถึงข้อมูลเป็นไปด้วยความยากลำบาก (เช่น ต้องนัดทุกครั้งที่ต้องการติดต่อประกันสังคมและต้องไปด้วยตนเอง ไม่อาจติดต่อทางโทรศัพท์ได้ เพราะมีเจ้าหน้าที่บางคนเท่านั้นที่จะเข้าถึงข้อมูลได้) ซึ่งถ้ากฎหมายให้การรับรองสถานะของผู้ที่ผ่านการแปลงเพศ ก็จะทำให้สังคมยอมรับ และไม่ต้องปฏิบัติกันอย่างหลบๆซ่อนๆเช่นนี้   

 

       ๒. ปัญหากับนายจ้าง ผู้ร้องเชื่อว่าการที่นายจ้างทราบถึงการแปลงเพศของตน เป็นเหตุให้ตนมิได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งอย่างที่ควรจะเป็น

 

         ๓. อายุที่ใช้พิจารณาการเกษียณ ตามกม.อังกฤษ ผู้ชาย ๖๕ ผู้หญิง ๖๐  ผู้ร้องต้องปฏิบัติงานและส่งเงินจนกว่าจะอายุครบ ๖๕ ปี แม้ว่าจะได้แปลงเพศเป็นหญิงแล้วก็ตาม ทั้งนี้กฎหมายใช้โครโมโซมและเหตุผลทางชีววิทยาเป็นเกณฑ์แบ่งเพศหญิงและชาย ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าเกณฑ์ที่กม.อังกฤษใช้นั้นขัดต่อมาตรา ๘ แห่งอนุสัญญา ECHR นอกจากนี้ยังต้องเสียสิทธิอื่นๆเช่น การได้ขึ้นรถเมล์ฟรีสำหรับสตรีที่มีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป เพราะหากเป็นชายจะต้องอายุ ๖๕ ปีขึ้นไปเท่านั้น

 

          ท้ายที่สุด ผู้ร้องได้อ้างว่ากม.ของรัฐอื่นๆ อย่างเช่น อิตาลี[1] เนเธอร์แลนด์[2] หรือแม้กระทั่งตุรกี[3] ยังยอมรับการเปลี่ยนสถานภาพทางกฎหมายของบุคคลที่แปลงเพศแล้ว รวมถึงกรณีที่ศาลนิวซีแลนด์ได้เคยพิพากษายอมรับไปในทางเดียวกันนี้โดยรับฟังหลักฐานทางการแพทย์ประกอบ  ผู้ร้องจึงเห็นว่าอังกฤษควรจะให้การยอมรับบุคคลแปลงเพศเช่นเดียวกันกับนานาประเทศ

 

 ข้อต่อสู้ของรัฐบาลอังกฤษ 

  

       รัฐบาลอ้างว่าในเรื่องของการแปลงเพศนั้น กม.ของแต่ละประเทศก็แตกต่างกันไปมิได้มีความเห็นเป็นอย่างเดียวกันเสียทั้งหมด  การที่กม.อังกฤษไม่ยอมรับสถานะใหม่ของบุคคลที่แปลงเพศแล้วย่อมไม่อาจถือได้ว่ารัฐอังกฤษละเมิดมาตรา ๘ ซึ่งรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับข้อกล่าวอ้างของผู้ร้องว่าในปัจจุบันมีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และมีการพัฒนาการของสังคมในทางที่ยอมรับบุคคลแปลงเพศมากขึ้นในสังคม   รัฐบาลยังเห็นว่าที่ผู้ร้องอ้างว่าการกระทำของรัฐกระทบต่อชีวิตประจำวันนั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากผู้ร้องเองก็มีเอกสารประจำตัว อย่างเช่น หนังสือเดินทางหรือใบอนุญาตขับขี่ที่สามารถเลือกได้ว่าจะใช้คำนำหน้าว่าอย่างไร (แต่ปัญหาที่พบจากข้อเท็จจริงคือ ผู้ร้องจำเป็นต้องใช้ “สูติบัตร” ในหลายๆกรณีที่สำคัญ และในสูติบัตรย่อมแสดงให้เห็นเพศดั้งเดิมของผู้ร้อง)  

       ส่วนในเรื่องของเงินบำนาญที่จะได้รับหลังเกษียณอายุนั้น รัฐบาลเห็นว่าการแบ่งอายุระหว่างชายหญิงที่ใช้ในกม.อังกฤษนั้นสอดคล้องกับกม.ประชาคมยุโรป และการยอมให้ผู้ร้องซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเพศชายสามารถขอรับเงินเกษียณอายุได้เมื่ออายุ ๖๐ ปีนั้น ย่อมเป็นการเลือกปฏิบัติหรือให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ร้อง ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อประชาชนทั่วไป  

 

     ในเรื่องขอการถูกคุกคามทางเพศนั้น เห็นว่าผู้ร้องสามารถใช้สิทธิได้ตามกม.อาญา หรือตามกม. ปี ๑๙๗๕ เกี่ยวด้วยการเลือกปฏิบัติโดยใช้เพศเป็นเกณฑ์ ซึ่งนายจ้างจะต้องรับผิดหากนายจ้างทราบเรื่องที่เกิดขึ้นและไม่หาทางป้องกัน รัฐอังกฤษเห็นว่ามีกม.ภายในเพียงพอที่จะคุ้มครองบุคคลแปลงเพศได้อยู่แล้ว

 

 

    ในครั้งถัดไปจะเป็นเรื่องของคำพิพากษาศาลค่ะ นอกจากที่ว่าศาลจะพิพากษาว่าอย่างไรแล้วนั้น สิ่งสำคัญคือเหตุผลที่ศาลท่านได้ให้ไว้ในแต่ละประเด็น ซึ่งได้วางหลักกฎหมายและแสดงการใช้การตีความอนุสัญญาฯไว้อย่างน่าสนใจ  

 

 

 

 

[1] มาตรา ๖ ของกฎหมาย ๑๖๔ ลงวันที่ ๑๔ เมษายน ๑๙๘๒

 

[2] มาตรา ๒๙ ประมวลกฎหมายแพ่งเนเธอร์แลนด์

 

[3] มาตรา ๒๙ ประมวลกฎหมายแพ่งตุรกี แก้ไขเพิ่มเติม ๔ พ.ค. ๑๙๘๘ 

หมายเลขบันทึก: 483781เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2012 04:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 01:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท