การประเมินการปฏิบัติ (Performance Assessment): ตอนที่ 1 rubric คืออะไร ชนิดและความสำคัญของ rubric


การประเมินการปฏิบัติ (Performance Assessment): ตอนที่ 1 rubric คืออะไร ชนิดและความสำคัญของ rubric

ท่านผู้อ่านที่รัก

ทุกวันนี้ครูทุกท่านคงเคยได้ยินและคุ้นเคยกับคำว่า Rubric กันไม่มากก็น้อย เหตุผลที่รู้จักคำนี้อาจมาจากการต้องเขียนเป็นแบบย้อนกลับบ้าง (backward design) แต่จะมีใครสักกี่คนที่สามารถสร้าง rubric ไว้ใช้ในชั้นเรียนของตน โดยส่วนตัวผมไม่การประเมินแบบ rubric นี้เลย เพราะมันมีความเป็นปรนัยเพียงพอที่จะแยกเด็กเก่งออกจากเด็กอ่อนได้ อย่างไรก็ดี วันนี้ผมจำเป็นต้องเขียนแบบ backward design เพราะโรงเรียนบังคับ ก็เลยเปิดหาข้อมูลที่เกี่ยวกับ rubric ได้เจอบทความที่ดีๆเยอะมาก ผมก็เลยตัดสินใจมานำเสนอเรื่อง rubric เพื่อให้ครูทั้งหลายได้ฝึกฝนการทำและสร้าง rubric ส่วนตัวของตนเอง

                1. rubric คืออะไร

                ฉัตรศิริ ปิยะพิมลสิทธิ์ (เกณฑ์การให้คะแนน <ออนไลน์> เข้าถึงได้จากhttp://www. watpon.com /Elearning/mea5.htm . วันที่ค้นข้อมูล 29 มี.ค. 2555) กล่าวว่า Scoring Rubric คือเกณฑ์การให้คะแนนที่ถูกพัฒนาโดยครูหรือผู้ประเมินที่ใช้วิเคราะห์ผลงานหรือกระบวนการที่ผู้เรียนได้พยายามสร้างขึ้น

                Wikipedia (Rubric <ออนไลน์> เข้าถึงได้จาก http://en.wikipedia.org/wiki/Rubric_(academic) วันที่ค้นข้อมูล 29 มี.ค. 2555) กล่าวว่า Rubric คือ เครื่องมือการประเมินเพื่อการสื่อสารถึงความคาดหวังในด้านคุณภาพ หรือมาตรฐานการปฏิบัติงานสำหรับกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง

                สรุปว่า rubric คือ แบบวัดหรือเครื่องมือที่เป็นมาตราส่วนประมาณค่าซึ่งประกอบไปด้วยเกณฑ์ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เพื่อใช้ในการวัดกระบวนการหรือผลงานที่สร้างโดยนักเรียน

                2. ประเภทของ rubric

                โดยปกติแล้ว เราคุ้นเคยประเภทของ rubric ว่ามีอยู่ 2 ประเภท กล่าวคือ 1. Holistic rubric หรือ เกณฑ์การให้คะแนนแบบรวม และ Analytic rubric หรือเกณฑ์การให้ข้อมูลแบบแยกส่วน แต่ฉัตรศิริ ปิยะพิมลสิทธิ์ กล่าวว่า rubric มีอยู่ 3 ประเภท ดังนี้

1. Holistic Rubrics เป็นเกณฑ์การให้คะแนนผลงานหรือกระบวนการที่ไม่ได้แยกส่วนหรือแยก

องค์ประกอบการให้คะแนน คือจะประเมินในภาพรวมของผลงานหรือกระบวนการนั้น

2. Analytic Rubrics เป็นเกณฑ์การให้คะแนนที่แยกส่วนหรือองค์ประกอบคุณลักษณะของผลงานหรือ

กระบวนการ แล้วนำแต่ละส่วนหรือองค์ประกอบของคุณลักษณะมารวมกันเป็นคะแนนรวม

3. Annotated Holistic Rubrics ผู้ประเมินจะประเมินแบบ holistic rubrics ก่อนแล้วจึงประเมินแยกส่วน

องค์ประกอบบางคุณลักษณะที่เด่น ๆ เพื่อใช้เป็นผลสะท้อนในบางคุณลักษณะของผู้เรียน

                3. ความสำคัญของ rubric

 

                3.1 ความจำเป็นของหลักสูตรอิงมาตรฐาน หลักสูตรที่เราใช้ในปัจจุบันนี้เป็นหลักสูตรแบบอิงมาตรฐาน (แต่ผมว่ามันย้อนกลับไปหาหลักสูตร 2521 ปรับปรุงปี 2533 มาก) นั่นคือ เราในฐานะที่เป็นครูต้องพยายามสอนให้นักเรียนของเรา รู้ และสามารถทำอะไรได้ในมาตรฐานของหลักสูตรหรือตัวชี้วัดในหลักสูตร เมื่อเราต้องวัดความสามารถของเด็กในการทำอะไรได้ เราจึงจำเป็นต้องมอบหมายงานให้กับผู้เรียน ซึ่งการมอบหมายงานนั้นเราจะดูที่กระบวนการในการทำงานของเด็ก หรือ ผลงานของเด็กก็ได้

                3.2 การประเมินศักยภาพของผู้เรียนโดยให้ลงมือปฏิบัตินั้น ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องชัดเจนเหมือนกับข้อสอบปรนัยอื่นๆ ดังนั้น rubric จึงมีความจำเป็นเพื่อให้การประเมินเป็นไปอย่างยุติธรรมมากขึ้นและปราศจากการลำเอียง โดยนัยนี้เราจะเห็นว่า ถ้าเราจะประเมินความรู้ การประเมินโดยใช้เครื่องมือแบบเก่ายังเป็นสิ่งจำเป็น แต่ถ้าเราจะประเมินศักยภาพของเด็กในการทำงานหรือปฏิบัติงาน (Performance Assessment) เราจำเป็นใช้ rubric นี้ในการประเมิน   

หมายเลขบันทึก: 483667เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2012 21:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มกราคม 2014 20:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ดิฉันเองใช้ Rubrics ในการประเมินภาคปฏิบัติของนักศึกษามาตลอดค่ะ ตัวอย่างเช่นที่ได้กำหนด Rubrics ในการประเมินกิจกรรมการสนทนากับชาวต่างชาติในสถานการณ์จริงของนักศึกษา โดยใช้ Holistic Rubrics ซึ่งได้กำหนดระดับการประเมินไว้ 5 ระดับ คือ ระดับ 1 : ควรปรับปรุงอย่างยิ่ง ระดับ 2 : ควรปรับปรุง ระดับ 3 พอใช้ ระดับ 4 ดี และระดับ 5 ดีเยี่ยม และแต่ละระดับก็จะมีเกณฑ์กำหนดไว้ เช่น
  • ระดับ 1 : ควรปรับปรุงอย่างยิ่ง เกณฑ์คือ ตื่นเต้นมากจนไม่สามารถเริ่มต้นการสนทนาได้เองต้องพูดตาม Script ที่เตรียมไว้ แทบจะไม่สามารถสื่อสารให้ผู้ร่วมสนทนาเข้าใจได้ และสร้างความอึดอัดใจให้กับผู้ร่วมสนทนา
  • ...และระดับ 5 ดีเยี่ยม เกณฑ์คือ สามารถเริ่มต้นการสนทนาอย่างเป็นธรรมชาติ ใช้ถ้อยคำในการสนทนาได้ถูกต้องด้านภาษาและเหมาะสมกับวัฒนธรรมของคู่สนทนา การสนทนาดำเนินไปด้วยความราบรื่น และได้ข้อมูลครบถ้วนตามข้อกำหนด และสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ร่วมสนทนาและตนเอง เป็นต้น    

ครับผมขอบคุณ ผศ.วิไลมากนะครับในการช่วยแบ่งป้นประสบการณ์การใช้ rubric เดี๋ยวผมจะเขียนต่อแต่ตอนนี้ยังไม่มีเวลาครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท