ฝึกนักวิจัยในโรงพยาบาล


คำว่า "วิจัย"กับคนทำงานเป็นยาขม ที่ไม่อยากข้องแวะ ทั้งที่ไม่เคยทำ แต่ได้รับการบอกเล่าว่า เป็นของสูงเป็นเรื่องของคนจบ ป.โทขึ้นไป

ฝึกนักวิจัยในโรงพยาบาล ....


        คำว่า "วิจัย"กับคนทำงานเป็นยาขม ที่ไม่อยากข้องแวะ ทั้งที่ไม่เคยทำ แต่ได้รับการบอกเล่าว่า เป็นของสูงเป็นเรื่องของคนจบ ป.โทขึ้นไป ทั้งคนที่เรียนจบโท ก็มีประสบการณ์การทำวิทยานิพนธ์ว่าเท่ากับทำวิจัย (ทั้งที่การทำวิทยานิพนธ์เป็นวิจัยรูปแบบหนึ่งที่ผู้เรียนต้องแสดงตนว่ามีความรู้ในเรื่องนั้นอย่างดี ขณะวิจัย เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้สำหรับการหาคำตอบ/หาความรู้)

         ดังนั้นการไปบอกให้ใครมาทำวิจัยในหน่วยงาน เป็นการหาเรื่องใส่ตัว ... แต่ในระยะหลังเริ่มมีกระแส R2R มาแรง ทำให้มีตัวชี้(พาไป)วัดกำหนดให้ ทำให้มีการแปลเพี้ยนจาก Routine to research(แปลงงานประจำเป็นวิจัย) เป็น Research to Routine (เอางานวิจัยเป็นงานประจำ) ทำให้ต้องมีการ "พาทำวิจัย"

        เริ่ม "หาพวก" แรกๆพอชวนก็ดูมีคนสนใจเยอะเพราะเป็นกระแส พอท้ายก็เหลือแค่กลุ่มเดียว เพราะเขาบอกว่าอยากทำ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร อยากแก้ปัญหา หาทางออกไม่ได้ 

       กลุ่มที่หลงเหลือที่ได้ตกลงร่วมชะตากรรมคือ พยาบาลแผนกผู้ป่วยใน เริ่มต้น พวกเขาก็มีเงื่อนไขกับผมว่า "พวกหนูเป็นพยาบาลขึ้นเวร รวมตัวกันได้บางโอกาส ดังนั้นการทำต้องเป็นฤกษ์สะดวก บางครั้งก็อาจไม่ครบทีม ก็จะพยายามพากันทำ" ส่วนเงื่อนไขของเราขอให้ทำงานส่งตามใบงาน

     "ออกแบบบทเรียน" จากการตกลงบริการกับทีม เราเองได้ออกแบบกระบวนการเรียน "วิจัยในหน่วยงาน" โดยกำหนดคร่าวๆ ๑. หาเรื่องและกำหนดปัญหาหรือโจทย์วิจัย ๒. กำหนดรูปแบบการวิจัย ออกแบบการวิจัย วางแผนการวิจัย ๓.ออกแบบเครื่องมือเก็บข้อมูล ๔. วิเคราะห์ข้อมูล ๕.เรียบเรียงผลเพื่อคืนข้อมูลแก่ผู้เกี่ยวข้องเพื่อการปรับเปลี่ยน ๖.ทำรายงาน ๗.(หวังไว้ว่าจะไป)เสนอผลการวิจัยในเวทีที่เป็นมาตรฐาน(เล็งๆไว้ประชุมวิชาการของพยาบาลชุมชน)

     "เริ่มหาเรื่อง" ขั้นตอนนี้ได้พูดคุยกับทีม พบว่า สิ่งที่อยากทำมีหลายอย่าง ถ้าอยากให้ทำก็ขอให้บอกเลย แต่เมื่อพูดคุยกลับพบว่า สิ่งที่เขาลำบากใจคือการดูแลผู้ป่วยใกล้ตายในแผนก "บางครั้งไม่รู้จะบอกเขาอย่างไร" "หมอเดินมาบอกเรา พี่ช่วยบอกเขาหน่อย ผม NR แล้ว" "เราจะส่งต่อผู้ป่วย ไปให้รพสต. เขาก็ดูแลไม่ได้ ญาติก็โทรมาหาเราให้ไปดู" สรุปเป็นประเด็นใหญ่ว่า ต้องการแก้ปัญหาการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มานอนในโรงพยาบาล

     "หาข้อมูล มาสนับสนุน" สิ่งที่ได้พูดคุยกันเป็นสิ่งที่ประสบของแต่ละคน ไม่มีหลักฐานยืนยัน จึงให้ไปรวบรวมข้อมูลที่เป็นผู้ป่วยมาที่คิดว่า "เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มานอน รพ." ว่ามีอะไรบ้าง แล้วมาเรียบเรียง เล่าให้ฟัง เพื่อจะได้มีข้อมูลสนับสนุนที่เป็นเชิงประจักษ์

     "เอาข้อมูล มาเล่า"

          ข้อมูลที่ทีมผู้เรียนวิจัยมาเล่า เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ จากการรวบรวมข้อมูลที่บันทึกในระเบียนของแผนก พร้อมกับข้อมูลเชิงคุณภาพที่ได้จากการพูดคุยกันในกลุ่มพยาบาลที่มีประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในแผนกผู้ป่วยใน การนำข้อมูลมานำเสนอทำให้ผู้เรียนได้เห็นการวิธีการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ การจัดกลุ่มข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการนำเสนอข้อมูล จากผลดังกล่าว ทำให้เห็นภาพของปัญหาชัดเจนขึ้น ได้แก่ จำนวนของผู้ป่วยที่มา admit สาเหตุของการ admit โรคหรือสาเหตุการเจ็บป่วย เช่น พบว่า จำนวนผู้ป่วยที่มา admit มาจำนวนหลักร้อย สาเหตุการadmit ส่วนใหญ่เกิดจาก ภาวะของโรคและที่สำคัญคือ ผู้ดูแลไม่รู้จะดูแลอย่างไร
นอกจากนี้จากข้อมูลยังพบว่า ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มา admit เป็นผู้ป่วยมะเร็ง และในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยมะเร็งตับ

        ข้อมูลเชิงคุณภาพ จากการพูดคุยก็คือ กระบวนการดูแล พบว่า แต่ละขั้นตอนการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่มีความชัดเจนว่าจะต้องดูแลกันอย่างไร แต่ละคนใช้ทักษะเฉพาะตัวในการดูแล เช่น การประเมินความต้องการดูแล การกำหนดผู้ดูแลที่แท้จริง การกำหนดความต้องการในทักษะการดูแลของผู้ดูแล การส่งต่อเพื่อการดูแลต่อเนื่อง ล้วนเป็นสิ่งที่ค้นพบระหว่างการทบทวนข้อมูล เริ่มเห็นเค้าลางของ "โจทย์วิจัย"

       สิ่งที่เห็นร่วมกันหลังจากร่วมพูดคุยกันในข้อมูลที่กลับไปค้นคว้าและจัดเก็บมาเล่าให้กันฟัง จะเห็นปัญหาจากการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ทั้งในตัวผู้ดูแล และ เจ้าหน้าที่ในหน่วย อยู่หลายจุด แต่เพื่อให้เห็นชัดในประเด็นการดูแลผู้ป่วย จึงได้ให้ทีมกลับไปค้นคว้า หลักการการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อจะทำให้กำหนดประเด็นโจทย์วิจัยให้ชัดเจนขึ้น

คำสำคัญ (Tags): #routine to research
หมายเลขบันทึก: 483540เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2012 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท