บทเรียนที่ไม่ตาย 1 ชาตรี สำราญ


การเรียนรู้ที่แท้จริงนั้นผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง ส่วนความรู้สำเร็จรูปที่ครูเป็นผู้บอกให้นั้น ผู้เรียนจะมีโอกาสรู้ได้น้อยมาก ผู้เรียนแค่จำข้อความที่ครูบอกนำไปทำข้อสอบตอบแล้วก็ลืมหมดไปในที่สุด เพราะสิ่งที่จำได้จากการบอกเล่าของครูนั้นไม่ใช่ความรู้แท้

การที่จะสอนให้ผู้เรียนเกิดความรู้แท้ได้นั้น  ผู้สอนจะต้องให้ผู้เรียน เห็น และรู้ซึ้งถึง วิธีการเรียนรู้ เมื่อผู้เรียนเข้าถึงวิธีการเรียนรู้ของตนแล้ว ผู้เรียนย่อมจะนำวิธีการเรียนรู้นั้นมาใช้ได้  นอกจากนี้ผู้เรียนจะต้องตอบตนเองได้ว่า เรียนไปทำไม  เพราะทุกครั้งที่เรียนผู้เรียนจะต้องเรียนรู้อย่างมีเป้าหมายคนที่มีเป้าหมายในการเดินทางย่อมจะไม่เดินออกนอกเส้นทางฉันใดการเรียนรู้ก็เป็นฉันนั้น

                เมื่อผู้เรียนรู้ตนเองว่า “เรียนเรื่องนี้ไปทำไม”  และผู้เรียนสามารถเข้าถึงวิธีการเรียนของตนเองได้แล้ว  สิ่งที่ครูผู้สอนควรจะฝึกผู้เรียนต่อไปก็คือวิธีการคิด เพื่อให้ผู้เรียน คิดเป็น

                การคิดเป็นคุณลักษณะสำคัญที่ผู้เรียนทุกคนพึงเกิด  ความถนัดด้านนี้ เพราะปัจจุบันนี้  สถานการณ์ต่าง ๆ ในบ้านเมืองของเรา มีความสับสนวุ่นวายกันมาก  โดยเฉพาะเกี่ยวกับข่าวสารต่าง ๆ   หลาย ๆ ข่าวที่เป็นเรื่องเดียวกันแต่สาระของข่าวต่างกัน ๆ จนกระทั่งไม่รู้ว่าจะเชื่อข่าวใด   ตรงนี้เองที่การคิดจะเข้ามามีบทบาท  คนที่รู้จักคิด  รู้วิธีคิด   คิดเป็นจะได้เปรียบในการแยกแยะ  วิเคราะห์ข้อมูล  หาความน่าเชื่อถือและความเป็นไปได้ของข้อมูลแล้วมาสรุปเป็นความรู้เฉพาะตน   ส่งผลให้ไม่หลงเชื่อตามข่าวที่มี  ไม่ตกเป็นทาสของข่าวนั้น ๆ 

 

 

ชาตรี  สำราญ

นำเสนอวิธีสอนการคิดแบบ

บทเรียนที่ไม่ตาย

 

 

                เรื่องเล่าต่อไปนี้  เป็นการเล่าถึงวิธีการสอนของครูคนหนึ่ง  ซึ่งหลงใหลต่อวิธีสอนที่นำเสนอในเล่มนี้  ด้วยความที่เชื่อว่า  การเรียนรู้ที่แท้จริงนั้นผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง  ส่วนความรู้สำเร็จรูปที่ครูเป็นผู้บอกให้นั้น  ผู้เรียนจะมีโอกาสรู้ได้น้อยมาก  ผู้เรียนแค่จำข้อความที่ครูบอกนำไปทำข้อสอบตอบแล้วก็ลืมหมดไปในที่สุด  เพราะสิ่งที่จำได้จากการบอกเล่าของครูนั้นไม่ใช่ความรู้แท้  ไม่ใช่ความรู้ที่ค่อยๆผุดพรายขึ้นมาจากบึ้งจิตของผู้เรียนเอง  ความรู้แท้นี้ผู้เรียนจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับตัวผู้เรียนเองได้เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้

                ลองสังเกตความรู้ที่ฝังใจ เรานั้นเวลาที่เรามีปัญหา  เราจะสามารถดึง  ตัวรู้ ตัวนั้นออกมาแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้  ไม่ต้องเสียเวลานึกนาน  พอเกิดปัญหาขึ้นมาก็จะรำลึกถึงตัวรู้ที่ตนรู้ นำมาแก้ปัญหาได้ นี่คือความรู้แท้  นี่คือความรู้ที่ติดตัวผู้เรียนจึงจะมีอยู่ในตัวผู้เรียนคนนั้นๆ ตลอดไป  ความรู้อย่างนี้ ผู้เรียนจะค่อยๆ สั่งสมไว้ที่ละนิดๆ ได้ข้อมูล ครั้งหนึ่ง พินิจพิจารณาจนรู้ครั้งหนึ่ง  มีข้อมูลเพิ่มขึ้นเต็มที่  ตัวรู้ก็จะเต็มที่ ความเต็มที่ของการรู้นี่แหละคือความรู้ (Knowledge ) ที่เราต้องการ  ความรู้ตัวนี้แหละที่เราสามารถดึงออกมาใช้งานได้อย่างปัจจุบันทันด่วน  เพราะเป็นความรู้ที่กลืนตัวเรา เป็นความรู้ที่เป็นตัวเราได้แล้ว  เรียกว่ารู้จริงในเรื่องนั้นๆ สามารถนำมาใช้ได้จริง ๆ  การที่สามารถนำใช้ได้จริง ๆ  เรียกว่า รู้แจ้ง  จึงสามารถนำมาแสดงให้คนอื่นเห็นได้ว่า  เรารู้เรื่องใดบ้าง รู้แค่ไหน เช่น ช่างซ่อมรถยนต์ ฟังเสียงเครื่องยนต์ก็รู้จุดที่ควรแก้ไขลงมือซ่อมจนสามารถแก้ไขเครื่องยนต์ได้อย่างแท้จริง  และเป็นความสามารถแท้ของช่างซ่อมรถยนต์คนนี้  ช่างเขียนภาพเหมือน  พอมีหุ่นมาให้ ก็สามารถเขียนภาพได้เหมือนหุ่น  อย่างนี้เรียกว่า มีความรู้แท้ในเรื่องการเขียนภาพเหมือนและเป็นความสามารถแท้ของช่างเขียนภาพคนนั้นความรู้แบบนี้เป็นความรู้ ฝ่ายทางโลก

                ตัวความรู้แท้และความสามารถแท้นี้แหละที่ต้องการให้เกิดแก่ผู้เรียนทุกคน  เพราะผู้เรียนสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริงของการเรียนรู้ได้  ขอยกตัวอย่างของผู้ปฎิบัติธรรมที่เกี่ยวข้องกับความสามารถแท้มาเล่าสู่กันฟังบ้าง

                ผู้ปฎิบัติธรรมที่สามารถปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงแก่นธรรม ผู้ซึ่งถึงพระไตรลักษณ์ เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่เกิดขึ้นในจิตของผู้ปฎิบัติธรรมผู้นั้นอย่างแท้จริง  ธรรมนั้นย่อมคุ้มครองผู้นั้นได้ เช่น เรามีแจกันโบราณ เรารักเราหวง แต่วันหนึ่ง แจกันนั้นเกิดหล่นแตกละเอียด จิตลึกของเราก็จะผุดพรายออกมาว่า     “ มันเป็นเช่นนั้นเอง เป็นรูปได้ก็แตกสลายได้” ความรู้สึกลึกๆนี้จะทำลายความรักความหวงความเสียดายไปหมดสิ้น มีแต่ความเฉยเข้าแทนที่ในจิต เพราะจิตดวงนั้นเข้าถึงธรรม จิตดวงนั้นเห็นความจริงตามความเป็นจริง ว่า “สรรพสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา สรรพสิ่งทั้งหลายย่อมดับไปได้เป็นธรรมดา” นั่นคือธรรมะที่มีอยู่ในจิตผุดพรายขึ้นมาสอนจิต  ให้เห็นถึงความไม่เที่ยง ของสิ่งนั้นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีอาการ เกิดขึ้น  ตั้งอยู่  และดับไป  ธรรมนี้ไม่ใช่พูดแต่ปาก  หากจิตผุดพรายธรรมนี้ขึ้นมาด้วยตัวของจิตเอง  เมื่อจิตรู้ จิตตื่น จิตเห็นความไม่เที่ยงของสิ่งนั้น  ความเสียดาย  ความเศร้าโศกเสียใจย่อมหมดไปจากจิต  เมื่อจิตไม่เกิด ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นๆ จิตจะไม่ทุกข์ การที่จิตไม่ทุกข์เพราะว่าจิตเข้าถึงธรรม  นี่คือความรู้แท้ของผู้ปฎิบัติธรรมนั้นและเป็นความสามารถแท้เฉพาะตนเช่นกันความรู้อย่างนี้แหละที่เรียกว่า “ปัญญา” ซึ่งเป็นความรู้ที่แท้จริง ความรู้แบบนี้เป็นความรู้ฝ่ายทางธรรม

                การที่จะสอนให้ผู้เรียนเกิดความรู้แท้ได้นั้น  ผู้สอนจะต้องให้ผู้เรียน เห็น และรู้ซึ้งถึง วิธีการเรียนรู้ เมื่อผู้เรียนเข้าถึงวิธีการเรียนรู้ของตนแล้ว ผู้เรียนย่อมจะนำวิธีการเรียนรู้นั้นมาใช้ได้  นอกจากนี้ผู้เรียนจะต้องตอบตนเองได้ว่า เรียนไปทำไม  เพราะทุกครั้งที่เรียนผู้เรียนจะต้องเรียนรู้อย่างมีเป้าหมายคนที่มีเป้าหมายในการเดินทางย่อมจะไม่เดินออกนอกเส้นทางฉันใดการเรียนรู้ก็เป็นฉันนั้น

                เมื่อผู้เรียนรู้ตนเองว่า “เรียนเรื่องนี้ไปทำไม”  และผู้เรียนสามารถเข้าถึงวิธีการเรียนของตนเองได้แล้ว  สิ่งที่ครูผู้สอนควรจะฝึกผู้เรียนต่อไปก็คือวิธีการคิด เพื่อให้ผู้เรียน คิดเป็น

                การคิดเป็นคุณลักษณะสำคัญที่ผู้เรียนทุกคนพึงเกิด  ความถนัดด้านนี้ เพราะปัจจุบันนี้  สถานการณ์ต่าง ๆ ในบ้านเมืองของเรา มีความสับสนวุ่นวายกันมาก  โดยเฉพาะเกี่ยวกับข่าวสารต่าง ๆ   หลาย ๆ ข่าวที่เป็นเรื่องเดียวกันแต่สาระของข่าวต่างกัน ๆ จนกระทั่งไม่รู้ว่าจะเชื่อข่าวใด   ตรงนี้เองที่การคิดจะเข้ามามีบทบาท  คนที่รู้จักคิด  รู้วิธีคิด   คิดเป็นจะได้เปรียบในการแยกแยะ  วิเคราะห์ข้อมูล  หาความน่าเชื่อถือและความเป็นไปได้ของข้อมูลแล้วมาสรุปเป็นความรู้เฉพาะตน   ส่งผลให้ไม่หลงเชื่อตามข่าวที่มี  ไม่ตกเป็นทาสของข่าวนั้น ๆ 

                บ้านเมืองมีความสับสนวุ่นวายมากเท่าไร  การคิดจะมีคุณค่าต่อผู้คนมากขึ้นเท่านั้น

                เทคนิคการคิดเป็นเทคนิคที่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต  เพราะวิธีการคิดพัฒนาอยู่ตลอดเวลา  การเรียนรู้ก็จะต้องเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา  จึงกล่าวได้ว่า  กลวิธีการคิดเป็นบทเรียนที่ไม่ตาย

                การสอนให้ผู้เรียนคิดเป็นนั้นฟังดูน่าจะง่าย  แต่พอนำใช้สอนจริงก็พบภาพหลากหลายที่น่าสนใจเรียนรู้  เช่น  ผู้เรียนบางคนแสดงอาการง่วงนอน  ผู้สอนอย่าเพิ่งท้อถอย  อย่าเพิ่งคิดว่าบทเรียนของเราไม่ดี  กิจกรรมการเรียนไม่สนุก  ไม่เร้าใจ ผู้เรียนจึงเบื่อหน่าย  แต่ในความเป็นจริงนั้น  คนที่ไม่ค่อยคิด  หรือไม่เคยคิดเป็นระบบ   พอให้คิดจะเกิดอาการดังกล่าวข้างต้น  นั่นหมายถึงว่า  ครูผู้สอนต้องทบทวนย้อนกลับไปถึงการจัดกิจกรรมก่อน ๆ ที่ผ่านมาของตนว่า เคยฝึกให้ผู้เรียนคิดบ้างไหม  สอนให้เชื่อกับให้จำบ่อย ๆ ใช่ไหม   ผลการสอนจึงมาปรากฏในตอนนี้  เรียกว่า มารับกรรม

                เมื่อรู้ว่า ไม่ค่อยได้ฝึกฝนให้ผู้เรียนคิด  ก็กลับมาฝึกคิดให้ผู้เรียนได้คิด  ยังไม่สายเกินไป  เริ่มต้นวันนี้แหละดีที่สุด

อ่านเป็นเล่มได้ที่ https://docs.google.com/docume... 


หมายเลขบันทึก: 483354เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2012 09:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 13:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท