เทคนิคการสร้างแผนการเรียนรู้แบบบูรณาการ 15/1 ชาตรี สำราญ


การวัดและประเมินผลนั้น ไม่ใช่ทำเพื่อตัดสินว่า ผู้เรียนจะสามารถเลื่อนชั้นได้หรือไม่ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่คุณครูต้องมุ่งวัดและประเมินผล เพื่อหาทางช่วยเหลือผู้เรียนเป็นรายบุคคล

15. กิจกรรมการเรียนรู้…....

สู่การวัดและประเมินผล

 

               

               ในตอนที่  14 ผมได้กล่าวว่ากิจกรรมการเรียนรู้มีความสัมพันธ์กับการวัดและประเมินผล อีกทั้งมีความสัมพันธ์กับจุดประสงค์นำทางหรือจุดประสงค์การเรียนรู้ในแผนการเรียนรู้นั้นๆ ด้วย   ซึ่งทั้งจุดประสงค์การเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนรู้และการวัดผลประเมินผลนั้น  ถ้าคุณครูมองให้ลึก  วิเคราะห์ให้เห็นภาพ ก็จะเห็นว่า  ทั้งหมดคือ หนึ่งเดียว เพราะถ้า

               “เราวางจุดประสงค์การเรียนรู้ไว้อย่างไร

                 เราต้องนำพาผู้เรียนไปให้ถึงจุดนั้น

                 เราต้องประเมินผลให้เห็นได้ว่าเราทำได้

                 ตรงเป้าหมายมาก – น้อยเพียงใด

ดังนั้น เวลาเราเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้หนึ่งข้อ เราต้องพิจารณาว่า“จุดประสงค์นี้เราจะต้องดำเนินกิจกรรมอย่างไร แค่ไหน”  แล้วเราก็วางแผนการเรียนหรือเขียนกิจกรรมนำพาผู้เรียนให้เรียนจนรู้และเข้าใจหรือบรรลุจุดประสงค์นั้น  นั่นแสดงว่า บรรดากิจกรรมการเรียนรู้กี่ข้อก็ตามแต่ จะต้องเขียนให้เชื่อมโยงต่อเนื่องกันเป็น

ลูกโซ่จนถึงข้อสุดท้าย  และจะต้องให้บรรลุถึงจุดประสงค์นั้น ๆเช่น  จุดประสงค์เขียนไว้ว่า “สามารถระบุคำนามและคำสรรพนามที่กำหนดให้ได้ถูกต้อง” ผมจะต้องคิดจัดกิจกรรมให้ผู้เรียน สนุก กับการเล่น เรียนไปจนถึงข้อสุดท้าย  ผู้เรียนสามารถแสดงความสามารถว่าตนรู้เรื่องคำนามและคำสรรพนามที่กำหนดให้ได้

               สำหรับวิธีการเขียนกิจกรรมให้สอดรับกับจุดประสงค์การเรียนรู้และการวัดและประเมินผลนั้น

               ผมมีเคล็ดลับง่าย ๆ คือ   ผมจะแบ่งกระดาษออกเป็น 3  ส่วน ส่วนแรกผมจะเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้  ส่วนที่   2   ผมจะเขียนกิจกรรมการเรียนรู้ ส่วนที่  3  ผมจะเขียนการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ โดยผมจะเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้ก่อน  แล้วจึงเขียนการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ส่วนกิจกรรมการเรียนรู้จะเขียนตอนสุดท้าย ดังนี้

 

จุดประสงค์

การเรียนรู้

กิจกรรมการเรียนรู้

การวัดและประเมินผลการเรียนรู้

สามารถระบุคำนามและคำสรรพนามที่กำหนดให้ได้ถูกต้อง

 

  ***ผมจะเขียนกิจกรรมข้อ 5ก่อนโดยให้ตรงหรือตอบจุดประสงค์การเรียนรู้ว่าสอดรับกันมากน้อยเพียงใดแล้วจะเขียนข้ออื่น ๆ ที่เสริมให้ กิจกรรมข้อ 5 มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเช่นเขียนข้อ 6 แล้วกลับมาเขียนข้อ 4,3,2,1การคิดเขียนแบบนี้ทำให้เขียนกิจกรรมง่ายขึ้น***

1.

2.

3.

4.

5. นักเรียนแต่ละคนชี้คำนามและคำสรรพนาม ที่ครูกำหนดให้ โดยนักเรียนแต่ละคนต้องอธิบายเหตุผลด้วยว่า“ทำไมคำ ๆนี้จึงจัดอยู่ในกลุ่มคำนามหรือคำสรรพนาม

6. นักเรียนแต่ละคน นำคำนามและคำสรรพนามมาแต่งประโยคแล้วเขียนบันทึกไว้ในสมุดผลงานของตน พร้อมส่งให้ครูประเมินผล

 

    ครูสังเกตพฤติกรรมการระบุคำนามและคำสรรพนามของนักเรียนแต่ละคน (ดูเกณฑ์การประเมินผลหมายเลข...) ครูอ่านผลงานเรียงความของนักเรียนแต่ละคน(ดูเกณฑ์การประเมินผลหมายเลข..)

 

               โปรดสังเกตดูให้ดีว่า  กิจกรรมข้อ 5  นั้นนักเรียนสามารถชี้คำนามและคำสรรพนามที่ครูกำหนดให้พร้อมกับนักเรียนจะต้องอธิบายเหตุผลด้วยว่า คำใดเป็นคำนาม  คำใดเป็นคำสรรพนาม ทำไมคำเหล่านี้ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มคำนั้น ๆ นั่นคือพฤติกรรมที่ผู้เรียนทำได้อย่างนี้เป็นพฤติกรรมที่สอดรับกับจุดประสงค์การเรียนรู้ที่ระบุว่า“สามารถระบุคำนามและคำสรรพนามที่กำหนดให้ได้ถูกต้อง” เมื่อผู้เรียนเรียนรู้จนบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว ผมจะเพิ่มกิจกรรมข้อ  6 เข้าไปให้ผู้เรียนมีโอกาสแสดงความสามารถแท้ที่มีอยู่ในแต่ละคนออกมา คือ  การนำคำที่เรียนรู้มาแต่งประโยคและเขียนบันทึกไว้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเพิ่มความเข้าใจในบทเรียนนั้นได้มากยิ่งขึ้นไปอีก

               เมื่อผมเขียนกิจกรรมข้อ 5-6  ได้แล้ว  ผมก็นึกถึงกิจกรรมข้อ4  ว่า ก่อนที่ผู้เรียนจะสามารถชี้คำนามและคำสรรพนามได้นั้น พวกเขาจะเรียนรู้อย่างไรก่อน  เช่น  เล่นเกมคำนาม คำสรรพนาม  ตามกติกาและขั้นตอนที่กำหนดไว้ในเกมนั้น ๆ

               เมื่อข้อ  4  ให้ผู้เรียนเล่นเกม  ข้อ 3 จะต้องทำอะไรก่อน และข้อ 2  ข้อ  1  จะทำอะไร นั่นคือกิจกรรมที่ย้อนทวนอย่างนี้จะช่วยให้ผมคิดกิจกรรมได้ง่ายกว่ารูปแบบเดิมๆ ที่เขียนจาก 1,2,3   เรียงลำดับไป นี่คือเคล็ดลับที่ผมค้นพบ

               เมื่อสามารถกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดรับกับจุดประสงค์การเรียนรู้แล้ว ผมก็จะนึกถึงว่า ต่อไปผมจะกำหนดการวัดและประเมินผลว่าจะทำอย่างไร นั่นหมายถึงว่า  เวลาที่ผมวัดหรือประเมินผล ผมก็จะดูตรงที่ผู้เรียนแต่ละคน

-         สามารถระบุคำนามและคำสรรพนามที่กำหนดให้ได้จริงหรือไม่

-         มีผู้เรียนกี่คนที่สามารถระบุคำนาม คำสรรพนามได้ถูกต้อง

-         มีผู้เรียนอีกกี่คนที่ยังไม่สามารถระบุคำนาม คำสรรพนามได้ถูกต้อง

-         มีคำใดบ้างที่ผู้เรียน (คนใด) ยังระบุได้ไม่ถูกต้อง  กี่คำ

-         มีคำใดบ้างที่ผู้เรียนระบุได้ถูกต้องมาก-น้อยเท่าไร

ทั้งนี้เพื่อที่จะหาทางช่วยเหลือผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้เพราะมันเป็นหน้าที่ของเราผู้เป็นครู

ในหนังสือ “กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์” (2544) กรมวิชาการ  กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดแนวทางการวัดและประเมินผลไว้ว่า

  1. ต้องวัดและประเมินผลทั้งความรู้และความคิด  ความสามารถ ทักษะและกระบวนการ  เจตคติ  คุณธรรม  จริยธรรม ค่านิยมในวิทยาศาสตร์ รวมทั้งโอกาสในการเรียนรู้ของผู้เรียน
  2. 2.      วิธีการวัดและประเมินผลต้องสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้
  3. ต้องเก็บข้อมูลที่ได้จากการวัดและประเมินผลอย่างตรงไปตรงมา และต้องประเมินผลภายใต้ข้อมูลที่มีอยู่
  4. 4.      ผลการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนต้องนำไปสู่การแปลผล และลงข้อสรุปที่สมเหตุสมผล
  5. การวัดและประเมินผลต้องมีความเที่ยงตรงและเป็นธรรมทั้งในด้านของวิธีการวัด โอกาสของการประเมิน

อ่านแนวทางการวัดและประเมินผลแล้ว ก็ควรจะมองเห็นชัดเจนว่าคุณครูจะต้องทำอย่างไร และในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ยังบอกถึงจุดประสงค์ของการวัดและประเมินผลว่า

1.  เพื่อวินิจฉัยความรู้   ความสามารถทักษะและกระบวนการ  เจตคติ  คุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมของผู้เรียน และเพื่อซ่อมเสริมผู้เรียนให้พัฒนาความรู้ความสามารถและทักษะได้เต็มศักยภาพ

               2. เพื่อใช้ข้อมูลย้อนกลับให้แก่ตัวผู้เรียนเองว่าบรรลุตาม

      มาตรฐานการเรียนรู้เพียงใด

  1. เพื่อใช้ข้อมูลในการสรุปผลในการเรียนรู้และเปรียบเทียบถึงระดับพัฒนาการเรียนรู้

จะเห็นได้ว่าการวัดและประเมินผลนั้น ไม่ใช่ทำเพื่อตัดสินว่า ผู้เรียนจะสามารถเลื่อนชั้นได้หรือไม่ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น  แต่คุณครูต้องมุ่งวัดและประเมินผล เพื่อหาทางช่วยเหลือผู้เรียนเป็นรายบุคคล  โดย

-         ผู้เรียนที่เรียนเก่ง เราก็สร้างให้เก่งขึ้นไปอีก

-         ผู้เรียนที่เรียนปานกลางเราก็เสริมให้เรียนเก่งขึ้น

-         ผู้เรียนที่เรียนอ่อน เราก็ซ่อมให้เรียนดีขึ้น

มาถึงตรงนี้  สำหรับผมนั้นมั่นใจว่า ผมวัดและประเมินผลผู้เรียน เพื่อนำข้อมูลการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคนมาวิเคราะห์ดูว่า

                               ใครควรจะ           ซ่อม

                               ใครควรจะ           เสริม

                               ใครควรจะ           สร้าง

                               และครูควรพัฒนาต่ออย่างไร

แล้วผมก็จะออกแบบกิจกรรมการสอน เพื่อฝึกฝนให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตรงตามศักยภาพของแต่ละคน

อ่านเป็นเล่มได้ที่ https://docs.google.com/docume...



หมายเลขบันทึก: 483254เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2012 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 13:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท