เทคนิคการสร้างแผนการเรียนรู้แบบบูรณาการ 14/1 ชาตรี สำราญ


อดทนและเฝ้ารอ คือ คาถาที่ผมต้องท่องเป็นมนตราประจำในขณะเข้าห้องสอน

14. จะเขียนกิจกรรมการเรียนรู้อย่างไร

 

               

                ในตอนที่  13  ผมได้กล่าวว่า  “ถามตนเองก่อนสอน”  การถามตนเองก่อนที่จะทำอะไรนั้น  เป็นการปลุกสติและสัมปชัญญะของเราให้ฟื้นคืนคงอยู่ในจิตสำนึกของเราตลอดเวลา  คุณครูผู้สอน เด็ก ๆ ด้วย สติและสัมปชัญญะนั้นจะสามารถพัฒนาพฤติกรรมการสอนของตนให้เข้มข้นขึ้นเสมอไป  เพราะรู้ว่า ทำอะไร กำลังเป็นอย่างไร  ควรจะทำสิ่งใดต่อ  เราจะเห็นได้ว่า ครูนักพัฒนาที่แท้จริงจะเขียนแผนการเรียนรู้ล่วงหน้า  เป็นการเตรียมการสอนและจะสอนตามแนวทางที่วางแผนไว้  ที่ผมกล่าวว่า จะสอนตามแนวทางที่วางไว้ นั่นหมายถึงว่า  แผนการเรียนรู้นั้นเป็นเรื่องที่เราคาดเดาว่า วันนั้นสถานการณ์อย่างนั้นน่าจะสอนอย่างนั้น  แต่พอถึงเวลาสอนจริง  สถานการณ์นั้นอาจจะเปลี่ยนแปลงไป  แต่เราก็สามารถนำกิจกรรมเค้าโครงเดิมนั้นมาปรับใช้ได้กับสถานการณ์นั้น ๆ  แม้ว่าจะไม่ตรงตามแผนร้อยเปอร์เซ็นต์  แต่ก็สามารถดำเนินการไปได้ตามรอยเดียวกัน  สื่อและเรื่องราวสอนก็สามารถนำมาปรับใช้ได้เช่นกัน  เหตุการณ์อย่างนี้ผมเคยพบผ่านมาบ่อย ๆ แต่ก็สามารถแก้สถานการณ์ได้ดี เพราะเราเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลาแล้ว

                การจัดทำแผนการเรียนรู้นั้น  ถ้าถามผมว่า อะไรสำคัญมาก  ผมขอตอบว่า  การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญมาก  ทำไมผมจึงคิดอย่างนี้  ก็เพราะว่าในการจัดกิจกรรมนั้น   เราจะต้องจัดให้ผู้เรียนปฏิบัติการเรียนแล้วบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้  ได้เนื้อหาสาระตรงตามเป้าที่วางไว้  สามารถวัดและประเมินผลว่า ทุกเรื่องที่ผู้เรียนเรียนนั้นรู้ได้ตรงตามวัตถุประสงค์และได้สาระการเรียนรู้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้  และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ  การจัดกิจกรรมการเรียนรู้นั้น เมื่อผู้เรียนเรียนแล้วจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตรงตามเป้าหมายที่รัฐวางไว้  เกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ตรงตามคุณลักษณะที่รัฐพึงประสงค์  ตรงนี้สำคัญมาก  ครูอย่าได้มองข้ามและเพิกเฉยสิ่งนี้  นั่นคือ คุณครูจะต้องกระทำการจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนเรียนรู้   บรรลุเป้าหมายที่รัฐพึงประสงค์อย่างแท้จริง

                เมื่อเขียนมาถึงตรงนี้  ผมอยากจะกล่าวสรุปว่า  การจัดกิจกรรมการเรียนรู้นั้น  ผู้จัดจะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ในแผนการเรียนรู้นั้นและต้องให้สนองคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของรัฐด้วย  เช่น  หลักสูตรการศึกษาพุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533) รัฐต้องการให้คุณครูผู้สอนสร้างคำถามให้ผู้เรียนไปศึกษาค้นหาคำตอบในรูปแบบของการฝึกคิดตาม  ลงมือปฏิบัติ ออกแบบบันทึกข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลเอง แล้วก็ได้พัฒนาสู่กระบวนการเรียนรู้โดยกำหนดปัญหาปลายเปิด ( Open – ended  problems ) ให้ผู้เรียนคิดวางแผน  ออกแบบการทดลองและลงมือปฏิบัติศึกษา  ค้นคว้า  ตรวจสอบความคิดด้วยตนเองมากขึ้น  แต่มาในระยะนี้  หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช 2544 นั้น  “ได้พัฒนากระบวนการเรียนรู้ คือ กิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( Science  and  technology  project ) ที่ผู้เรียนเป็นผู้ระบุปัญหาหรือคำถามตามความสนใจของตนเองหรือของกลุ่ม  วางแผนหาวิธีการที่จะแก้ปัญหาด้วยการสร้างทางเลือกที่หลากหลาย โดยใช้ความรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่เรียนรู้มา  มีการตัดสินใจเลือกทางเลือกที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา  ลงมือปฏิบัติและประเมินผลการแก้ปัญหาสรุปเป็นความรู้ใหม่  ซึ่งข้อความนี้ปรากฏชัดเจนอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ( 2544 ) เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้  ขอคุณครูอย่าได้คิดว่า  “นี่เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์”  เปล่าเลย  นี่เป็นเรื่องของรัฐ  ๆ  ต้องการให้เยาวชนของชาติเป็นผู้รู้รักตั้งคำถามว่างแผนการเรียนรู้ที่หลากหลายไปค้นหาคำตอบมาสรุปเป็นความรู้ใหม่ของตน  โดยการใช้กระบวนทางวิทยาศาสตร์  ซึ่งพฤติกรรมพึงประสงค์นี้ ถูกระบุอยู่ในทุกสาระการเรียนรู้  ลองศึกษาวิเคราะห์ข้อความต่าง ๆ ให้ดี  ก็จะพบข้อความหรือพฤติกรรมที่พึงประสงค์อย่างชัดเจน

                ทีนี้ก็จะมีคำถามว่า  แล้วกลุ่มสาระภาษาไทยจะให้นักเรียนตั้งคำถามอย่างไร  เราต้องยึดหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ว่า “...ผู้เรียนเป็นผู้ระบุปัญหาหรือคำถามตามความสนใจของตนเองหรือของกลุ่ม”  นั่นก็หมายความว่า ผู้เรียนจะเรียนเรื่องใด ผู้เรียนก็มีสิทธิ์ตั้งคำถาม หรือหารายละเอียดหรือประเด็นที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง  เช่น  เรื่อง คำ  ผู้เรียนสามารถตั้งคำถามเพื่อหาสาระการเรียนรู้ได้ว่า

                1. คำ คืออะไร  เช่นอะไรบ้างที่เรียกว่า คำ

                2. คำ สามารถจำแนกออกได้กี่ชนิด  มีอะไรบ้าง

                3.  คำแต่ละชนิดมีความหมายอย่างไรบ้าง มีคำใดบ้างที่จัด

                     อยู่ในชนิดนั้น

                4. ทำไมเราต้องแยกคำเหล่านั้นออกเป็นชนิดต่าง ๆ

                5. คำเหล่านั้นนำใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง

                6. ถ้าเราไม่นำคำเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ให้ตรงตามหน้าที่

                    ของคำแต่ละชนิดจะเกิดผลอย่างไรบ้าง

 

การตั้งคำถามอย่างนี้  ถามเพื่อที่จะเป็นประเด็นในการค้นหารายละเอียดของชนิดของคำอย่างเจาะลึก  และเมื่อได้คำตอบมาแล้ว ผู้เรียนสามารถตั้งคำถามเพื่อสร้างประเด็นเรียนรู้ให้ลึกลงไปอีกได้  และตรงนี้เองครูจะสามารถประเมินผลได้ว่า ใครมีภูมิรู้ลึกกว่ากัน เพราะคำถามที่ตั้งขึ้นนั้นเป็นทางนำสู่การค้นหาคำตอบ ซึ่งจะเป็นความรู้ใหม่ของผู้เรียนเอง

                อีกอย่างหนึ่งเมื่อผู้เรียนได้คำตอบมาเป็นสิ่งที่ผู้เรียนรู้แล้ว ครูต้องกระตุ้นให้ผู้เรียนตั้งคำถามต่อไปว่า

                7. แล้วเราจะนำคำเหล่านั้นไปใช้ได้กรณีใดบ้าง และจะใช้

                    อย่างไรบ้าง

ถ้าผู้เรียนตอบได้  แสดงหรืออธิบายวิธีการนำใช้ได้ยกตัวอย่างถูกต้อง  แสดงว่าผู้เรียนรู้จริง คือรู้ว่าอะไรเป็นอะไร  นำใช้ในเวลาใด  อย่างไร  ที่สำคัญมาก การเรียนหลักภาษาต้องเรียนแบบไม่ใช่เรียนเพื่อตอบข้อสอบ  แต่จะต้องเรียนเพื่อนำใช้ประโยชน์ได้จริง ๆ เป็นการเรียนใช้ไม่ใช่เรียนจำ

                แล้วคุณครูให้ผู้เรียนนำคำเหล่านั้นมาสร้างเรื่อง  เขียนเป็นเรื่องสั้น  เรื่องยาว  บทละคร   บทประพันธ์ หรือง่าย ๆ ก็คือ แต่งประโยค

                มองดูคำถามทั้ง  7  ข้อ  จะไม่ใช่เรื่องยาก แต่จากประสบการณ์ของผมพบว่า ใหม่ ๆ ลูกศิษย์ของผมนั่งนิ่ง  เงียบ  เมื่อผมให้วางแผนการเรียนรู้เอง   ตั้งคำถามเอง  พวกเขาบอกผมว่า “ไม่รู้จะตั้งคำถามว่าอย่างไร”  ผมต้องค่อย ๆ ชี้นำโดยการตั้งคำถามย่อย ๆ นำทางให้พวกเขาคิดค้นตั้งคำถามขึ้นมา  และต้องใช้เวลานาน  ต้องฝึกบ่อย ๆ เด็ก ๆ เหล่านั้นจึงจะสามารถตั้งคำถามเองได้  อดทนและเฝ้ารอ คือ คาถาที่ผมต้องท่องเป็นมนตราประจำในขณะเข้าห้องสอน

                เมื่อเด็ก ๆ บอกผมว่า “อยากไปเรียนในป่าไม้ข้างโรงเรียน”  ผมจะถามเขากลับไปว่า  “จะเรียนเรื่องอะไร”  เมื่อเด็ก ๆ ตอบผมจะเขียนแสดงให้เห็นช่องคำถาม  คือ  จะเรียนเรื่องอะไรกับช่องคำตอบที่พวกเขาตอบ  เป็นการเริ่มต้นฝึกคิดค้นหาคำตอบและฝึก

การตั้งคำถาม  คำถามที่ผมนำใช้ประจำ คือ

                1. เราจะเรียนเรื่องอะไรบ้าง

                2. เราจะเรียนเรื่องนั้นอย่างไร

                3. เราจะมีวิธีการเรียนแบบใด

                4. เราจะพิสูจน์คำตอบหรือผลการเรียนที่ได้มาว่าถูกต้องมาก-น้อย  ด้วยวิธีการใด

ฝึกฝนจนเด็ก ๆ จำสูตรนี้ได้  พอเราหาเรื่องเรียนได้ คำถามทั้ง  4 ข้อนี้เด็ก ๆ  ก็จะนำมาใช้ทันที แล้วผมก็ค่อย ๆ เปลี่ยนคำถามแบบอื่นให้เหมาะสมกับเรื่องนั้น ๆ บ้าง ค่อย ๆฝึก จนกระทั่งเด็ก ๆ สามารถตั้งคำถามได้เอง  นานแต่คุ้มค่า

อ่านเป็นเล่มได้ที่ https://docs.google.com/docume...



หมายเลขบันทึก: 483146เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2012 08:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 13:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท