บันทึกการเดินทาง ฉบับ Judicial Officers....Bruxelles Luxembourg Paris


เจ้าพนักงานบังคับคดีมีบทบาทสำคัญในอันที่จะบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา บทบาทและหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพนี้จึงเป็นสิ่งที่นักกฎหมายในทุกสาขาไม่ควรละเลย ในทางตรงข้ามควรตระหนักถึงความสำคัญทั้งในทางนิติศาสตร์และทางเศรษฐศาสตร์ของเจ้าพนักงานบังคับคดี ความร่วมมือในระดับระหว่างประเทศตลอดจนระดับภูมิภาคดังเช่นในอาเซียนจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดเสียมิได้

                   

             จบการศึกษาดูงานระยะสั้นในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาแล้วค่ะ (แม้ว่าคณะฯจะเดินทางไปดูงานต่อที่สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศสุดท้ายก็ตาม) เป็นการเดินทางที่ได้รับประโยชน์และความรู้เกี่ยวกับการบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีในฐานะ “วิชาชีพ”หนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าวิชาชีพอื่นๆของนักกฎหมาย หากจะเปรียบกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบเป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ แน่นอนว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมเป็นเฟืองหรือกลไกสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้การอำนวยความยุติธรรมนั้นเป็นไปได้จริง.....กล่าวคือช่วยให้กฎหมายทรงความศักดิ์สิทธิ์และใช้บังคับได้จริง          

             นอกจากความสำคัญในทางนิติศาสตร์แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดียังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอีกด้วย ตามที่ได้เคยกล่าวไว้เสมอๆค่ะว่าหากเจ้าหนี้ชนะคดีในประเทศหนึ่งแล้วไม่สามารถนำคำพิพากษาไปบังคับในต่างประเทศซึ่งมีทรัพย์ของลูกหนี้ได้นั้น ก็เท่ากับว่าเวลาและเงินทองที่เสียไปแล้วนั้นต้องสูญเปล่า เช่นเดียวกัน..หากศาลต่างประเทศยอมรับและบังคับให้ตามคำพิพากษาฉบับนั้น..แต่...เมื่อถึงชั้นบังคับคดีกลับไม่สามารถบังคับได้จริง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ย่อมไม่ต่างอะไรกับกรณีแรก หมายความว่า กระบวนการทางกฎหมายที่เริ่มมาทั้งหมดต้องสูญเปล่า เพราะไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากลูกหนี้ได้ นับเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

                ตามปกติแล้วผู้เขียนจะไม่ค่อยลงลึกไปถึงเรื่องการบังคับคดีค่ะ มักจะหยุดเพียงแค่เรื่องของการยอมรับและบังคับตามคำพิพากษาศาลต่างประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องขอขอบพระคุณกรมบังคับคดี ท่านอธิบดีฯ ตลอดจนท่านอื่นๆในคณะ และพี่ตั๊กคนสวยที่ชักชวนให้ไปร่วมศึกษาดูงานค่ะ  

 

                ขอเล่าเป็น ๒ ส่วนนะคะ

 

 

๑. กฎหมายภายในของแต่ละประเทศ


            สังเกตว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีในเบลเยี่ยม ลักเซมเบิร์กและฝรั่งเศสจะเป็นอาชีพอิสระ มีสำนักงานเป็นของตนเอง บริหารงานเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้อำนาจรัฐเพื่อให้สามารถบังคับคดีเอากับทรัพย์ของลูกหนี้ได้ จะเรียกว่าสวมหมวกสองใบก็คงไม่ผิดนัก 

 

       ในเรื่องของการสอบเป็นจพค.นั้นจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อย่างเช่น ในฝรั่งเศสกำหนดให้สามารถสอบได้แค่คนละ ๔ ครั้งเท่านั้นหากยังสอบไม่ผ่านในครั้งที่ ๔ ก็เป็นอันปิดฉากค่ะ (จริงๆแล้ววิทยากรที่บรรยายให้คณะฯฟังเค้าบอกว่า ถ้ายังสอบไม่ผ่านใน ๔ ครั้ง ก็แสดงว่าไม่มีความสามารถที่จะมาเป็นจพค. ให้ไปทำอย่างอื่นจะดีกว่า ทำนองว่าไม่ใช่ทุกคนหรอกนะที่จะเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ^^” แรงได้อีก ขนาดเป็นล่ามยังไม่กล้าแปลเลยค่ะ) ส่วนในเบลเยี่ยมและลักเซมเบิร์กไม่ได้กำหนดไว้เช่นนี้ แต่จะไปกำหนดในเรื่องของ “จำนวน” เจ้าพนักงานบังคับคดีไว้แทน เช่น เบลเยี่ยมมีได้ ๕๔๐ คน ลักเซมเบิร์กกำหนดไว้ที่ ๑๙ คน การที่จะมาเป็นจพค.ได้นั้น ต้องรอให้จพค.เสียชีวิตหรือเกษียณอายุไปเสียก่อน คล้ายๆตำแหน่งศาสตราจารย์ของบางประเทศ ส่วนอายุที่จะเกษียณนั้น เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ ๗๐-๗๒ ปีค่ะ เรียกว่ารอจน....เลยทีเดียว 

         

     ในเบลเยี่ยมและลักเซมเบิร์กจะกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเป็นจพค.ไว้ว่าต้องจบปริญญาโททางกฎหมายเป็นอย่างน้อยและต้องฝึกงานอีกหลายปี ในขณะที่ฝรั่งเศสกำหนดเพียง Master 1 แต่ต้องเข้ารับการอบรมในสถาบันอบรมศึกษาของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเวลา ๒ ปี และยังต้องฝึกงานในเวลาเดียวกันอีก ๒ ปี จึงจบหลักสูตร จากนั้นจึงมีสิทธิสอบออกค่ะ (การสอบนี้เองที่กล่าวในตอนต้นว่าสอบได้ไม่เกิน ๔ ครั้งในชีวิต >_

 

               ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งคือ อำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับลูกหนี้ เนื่องจากแต่ละประเทศมีกฎหมายที่แตกต่างกันไปในเรื่องนี้ อีกทั้งยังเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ได้หลายประการ ทั้งเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล การรักษาความลับของลูกค้า ตัวอย่างเช่น กฎหมายเยอรมันมิได้ให้อำนาจในเรื่องนี้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี เป็นหน้าที่ของลูกหนี้ที่จะต้องแถลงหรือแสดงรายการทรัพย์สินที่ตนมีอยู่ให้จพค.ทราบ ในขณะที่กฎหมายฝรั่งเศสในปี ๒๐๑๐ ให้อำนาจแก่จพค.ในการเข้าถึงข้อมูลทางทะเบียนและบัญชีเงินฝากของลูกหนี้ได้ และเป็นหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองที่เกี่ยวข้องจะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับทรัพย์ของลูกหนี้เมื่อจพค.ร้องขอ

     ในช่วงที่มีการร่างกฎหมายฉบับนี้ก็มีเสียงคัดค้านในประเด็นเกี่ยวด้วยสิทธิส่วนบุคคล แต่ในทุกเรื่องย่อมต้องมีการชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์สาธารณะ ในเมื่อศาลใช้อำนาจตุลาการในนามของประชาชนชาวฝรั่งเศส คำพิพากษาที่ออกมาจึงต้องได้รับการบังคับอันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และแสดงว่าอำนาจที่ประชาชนชาวฝรั่งเศสให้มานั้นได้รับการบังคับตามอย่างแท้จริง และการที่คำพิพากษาจะได้รับการบังคับได้จริงย่อมขึ้นอยู่กับอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีด้วยเช่นกัน หากไม่มีกฎหมายให้อำนาจในการเข้าถึงข้อมูลบางประการอันเป็นประโยชน์ต่อการรวบรวมทรัพย์สินแล้วนั้น ย่อมเกิดคำถามว่าแล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีจะบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาชำระหนี้ได้อย่างไร? ลูกหนี้อาจโยกย้ายถ่ายโอนเงินในบัญชี หุ้น ทรัพย์สินอื่นๆไปเสียก่อน  ที่สำคัญคือกฎหมายฝรั่งเศสให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีในการเข้าถึงข้อมูลบัญชีเงินฝากของลูกหนี้ได้ทุกธนาคารในฝรั่งเศส โดยร้องขอไปทาง La Banque de France  (เนื่องจากเป็นเพียงบันทึกการเดินทาง จะไม่ลงรายละเอียดให้นะคะ)

 

         ๒. กฎหมายหรือความร่วมมือระหว่างประเทศ

 

             เป็นเรื่องน่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งในการศึกษาดูงานค่ะ ขอเล่าก่อนว่าความร่วมมือในระดับระหว่างรัฐเกี่ยวกับงานบังคับคดีนั้น มีองค์กรผู้นำคือ UIHJ หรือ l’Union internationale des huissiers de justice et officiers judiciaires ที่ก่อตั้งขึ้นในปี ๑๙๔๙ เนื่องจากการประชุมสภาจพค.ฝรั่งเศส และทำให้ประธานสภาจพค.ฝรั่งเศสคือ M. Jean Soulard ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของความร่วมมือระหว่างจพค.ของแต่ละรัฐ จึงได้ริเริ่มก่อตั้งสหภาพจพค.ระหว่างประเทศขึ้น โดยมีที่สำนักงานใหญ่อยู่ที่ปารีส  แนวคิดนี้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในปี ๑๙๕๒ ซึ่งมีการประชุม UIHJ ครั้งแรกค่ะ

 

          วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อให้ UIHJ เป็นตัวแทนของจพค.ของรัฐสมาชิกในเวทีระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น EU UN หรือการประชุมระหว่างประเทศอื่นๆ ตลอดจนการมีบทบาทในการเสนอร่างกฎหมายและร่างสนธิสัญญาระหว่างประเทศในเรื่องนี้

 

         ได้ทราบเพิ่มเติมว่าความร่วมมือในส่วนของการบังคับคดีในระดับระหว่างประเทศนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกฎหมายด้านอื่นๆ ในสหภาพยุโรป นั่นคือ นำเรื่อง e-Justice มาใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่นเดียวกับที่เราเห็นในเรื่องความร่วมมือทางด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายต่างประเทศของ HCCH หรือ The Hague Conference on Private International Law ทั้งนี้เนื่องจากความยุ่งยากในทางปฏิบัติของอนุสัญญากรุงลอนดอน ซึ่งมุ่งที่จะให้ความช่วยเหลือในการตอบคำถามศาลต่างประเทศเกี่ยวกับข้อมูลกม.ภายในของตน (ที่เคยกล่าวไปแล้วในบันทึกครั้งก่อนๆ) ต่างกันตรงที่ว่าในเรื่องของการบังคับคดีนั้นจะมีองค์กรที่ชัดเจนที่ช่วยรวบรวมข้อมูลสำหรับกฎหมายว่าด้วยการบังคับคดีไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามคือองค์กรที่มีอำนาจบังคับคดีในแต่ละรัฐ ช่วยให้มีความชัดเจน ถูกต้องมากขึ้น ตลอดจนมีความน่าเชื่อถือมากกว่ากรณีของอนุสัญญากรุงลอนดอนเรื่องกม.ต่างประเทศซึ่งบัญญัติไว้อย่างกว้าง

 

          สำหรับองค์กรผู้ริเริ่มรวบรวมข้อมูลเกี่ยวด้วยการบังคับคดีในแต่ละรัฐคือ UIHJ โดยใช้วิธีการเชื้อเชิญให้ประเทศสมาชิกตอบแบบสอบถามซึ่งประกอบไปด้วยคำถามเกี่ยวกับกฎหมายภายในว่าด้วยการบังคับคดีของแต่ละรัฐ และนำไปเผยแพร่ไว้บนเว็บไซต์ของ UIHJ ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือผู้สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้โดยง่าย      

      สังเกตว่าการเริ่มต้นของความร่วมมือต่างๆนั้นหากจะให้ง่ายที่สุดก็ต้องเริ่มจากสมาชิกในกลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค ดังเช่นที่ความร่วมมือในการตอบแบบสอบถามนี้ได้เริ่มจากประเทศสมาชิก EU จากนั้นจึงได้ขยายไปยังประเทศนอกกลุ่ม จนในที่สุดมีประเทศที่ให้ความร่วมมือด้าน e-Justice กับ UIHJ ถึง ๗๒ ประเทศด้วยกัน            

 

             บทบาทสำคัญอีกประการหนึ่งคือ UIHJ จะให้คำปรึกษาแนะนำและความช่วยเหลือทางวิชาการแก่รัฐต่างๆในการปรับปรุงหรือพัฒนากฎหมายภายในของตนเพื่อที่จะเข้าเป็นสมาชิกของ UIHJ นอกจากบรรดารัฐทั้งหลายยังมีองค์การระหว่างประเทศ หรือกลุ่มความร่วมมือต่างๆเข้าเป็นภาคีด้วยเช่นกัน ได้แก่ UN, EU, The Hague Conference on Private International Law, OHADA สำหรับ EU นั้น สังเกตได้ว่าการให้ความร่วมมือกับ UIHJ จะช่วยให้การบังคับใช้สนธิสัญญาของสหภาพตลอดจนกฎหมายของสหภาพ เช่น  EC Regulation มีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ (เช่น กรณีของ Brussels I)  

 

          นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งคือ การเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการส่งคำคู่ความและหมายบังคับคดีที่มีมานานแล้ว แทนที่จะใช้ความร่วมมือในลักษณะทวิภาคีดังเช่นที่ประเทศไทยนิยมกระทำ (เช่น ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการศาลระหว่างไทยและอินโดนีเซีย, ความตกลงฯระหว่างไทยและจีน, ความตกลงฯระหว่างไทยและออสเตรเลีย, ความตกลงฯระหว่างไทยและสเปน) ก็ควรหันมาให้ความสำคัญกับความร่วมมือในกลุ่มหรือประชาคมเศรษฐกิจ เพราะจะทำให้การพัฒนากฎหมายเป็นไปได้ง่ายและใช้ในวงกว้าง

      แน่นอนว่าก่อนที่จะมีความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้นในรูปของอนุสัญญาระหว่างประเทศ ก็เป็นไปได้ว่าจะเริ่มจากการจัดทำกฎเกณฑ์ในลักษณะของ Guideline หรือ Model Law ที่มิได้มีลักษณะบังคับ แต่ให้รัฐต่างๆสามารถนำไปพิจารณาประกอบการยกร่างหรือแก้ไขกฎหมายได้ (ที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น กม.อนุญาโตตุลาการของไทยฉบับล่าสุดที่ได้รับอิทธิพลจาก UNCITRAL Model Law มาเป็นส่วนใหญ่) เรียกได้ว่าเป็น Harmonisation of Law นั่นเองค่ะ 

 

แนะนำเว็บไซต์ของ UIHJ ค่ะ มีข้อมูลของประเทศใน EU เกี่ยวกับการบังคับคดี 

http://www.uihj.com/europe_1012039.html

 

เบลเยี่ยม

http://www.gerechtsdeurwaarders.be/

 

ลักเซมเบิร์ก

http://www.huissier.lu/

 

ฝรั่งเศส

http://www.huissier-justice.org/default.aspx

http://vosdroits.service-public.fr/particuliers/F2158.xhtml 

หมายเลขบันทึก: 483140เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2012 07:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 14:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท