การประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวซึ่งมีสถานะผิดกฎหมายในฝรั่งเศส


สิทธิในการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานหรือสิทธิมนุษยชนนั่นเอง การจัดการในเรื่องหลักประกันสุขภาพย่อมมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ในประเทศฝรั่งเศสซึ่งเรียกได้ว่าเป็นรัฐสวัสดิการ อีกทั้งยังถือได้ว่าเป็นต้นแบบของการจัดสรรหลักประกันสุขภาพให้แก่คนต่างด้าวหรือคนไร้รัฐไร้สัญชาติอีกด้วย

 

                เคยเขียนไว้ในบันทึกก่อนหน้านี้เล็กน้อยในเรื่องของ Aide médicale de l’État หรือ AME คือความช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลจากรัฐนั่นเอง แต่เป็นหลักประกันสุขภาพประเภทที่รัฐฝรั่งเศสมีให้แก่ “บุคคลในสถานะพิเศษ” ค่ะ

                บันทึกคราวที่แล้วยุติลงตรงที่ CMUC หรือส่วนที่เป็น complementary สำหรับคนทั่วไปรวมทั้งนักศึกษา ซึ่ง AME นี้จัดเป็นประกันสุขภาพอีกประเภทหนึ่งที่คนทั่วๆไปและนักศึกษาก็สามารถขอได้ค่ะแต่ต้องมีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ กล่าวคือ เป็นคนต่างด้าว ที่อาศัยอยู่ในฝรั่งเศสอย่างผิดกฎหมายค่ะ

 

  ๑. คนต่างด้าวที่มีสถานะผิดกฎหมาย

 

เช่น คนที่ไม่มีบัตรต่างด้าว หรือ titre de séjour ซึ่งเป็นเอกสารอนุญาตให้พำนักอาศัยในฝรั่งเศสได้โดยมีกำหนดระยะเวลา ซึ่งจริงๆแล้วยังมีบุคคลอื่นๆที่ตกอยู่ใน “สถานะผิดกฎหมาย” ได้ เช่นกัน เนื่องจากกม.ประกันสุขภาพใช้คำว่า la régulation relative au séjour en France ฉะนั้นกม.ที่เราต้องค้นต่อไปเพื่อตอบคำถามว่า กรณีเช่นไรจึงจะถือว่าคนต่างด้าวนั้นอยู่ในสถานะผิดกม. ก็คือกม.ว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งรวมเรื่องสิทธิในการพำนักอาศัยในฝรั่งเศสด้วย

 

                ข้อสังเกต  เมื่อใช้ถ้อยคำว่า “สถานะผิดกฎหมาย” จะหมายรวมถึง ๑) คนต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกต้องตามกม. แต่ต่อมาบัตรต่างด้าวหมดอายุและทางราชการไม่ต่ออายุให้ ๒) คนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกม. และอาศัยในฝรั่งเศสอย่างผิดกม.มาโดยตลอด ๓) คนต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารยืนยันหรือแสดงสถานะของตน

            รายละเอียดการเรื่องคนเข้าเมืองอยู่ในบันทึกก่อนหน้านี้ค่ะ

 

โดยกม.ให้สิทธิดังกล่าวครอบคลุมไปถึงบุคคลดังต่อไปนี้ด้วย

                ๑) บุตรของบุคคลที่มีสิทธิได้รับ AME

                ๒) คู่สมรส แม้ว่าจะแยกกันอยู่ แต่ต้องยังไม่จดทะเบียนหย่า และต้องไม่ได้รับประโยชน์จากประกันประเภทอื่น

                ๓) บุคคลที่อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ประกันตนแบบ AME ซึ่งต้องปรากฏด้วยว่าอยู่ในความดูแลเลี้ยงดูอุปการะของผู้ได้รับ AME อย่างถาวร  (เห็นได้ว่าข้อดีของประกันแบบ AME คือ ถือตามข้อเท็จจริง และไม่ปฏิเสธความเป็นจริงที่เกิดขึ้น)

                ๔) บุคคลที่มีความสัมพันธ์กับผู้มีสิทธิขอ AME โดยวิธีการ PACS (เป็นสถาบันพิเศษที่กม.สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี ๑๙๙๙ คือ ไม่ใช่การสมรส แต่มีหลักฐานทางทะเบียนค่ะ ที่สำคัญสามารถทำได้ระหว่างคนเพศเดียวกัน หมายความว่า หากจดทะเบียน Pacsé กันแล้ว คู่ของคุณก็มีสิทธิได้รับการคุ้มครองจาก AME ค่ะ)

                ๕) บุพการี, ผู้สืบสันดาน, พี่หรือน้องร่วมสายโลหิต  แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องอาศัยอยู่ในครัวเรือนเดียวกันกับผู้ประกันตน AME

                ๖) ผู้ที่เข้ามาขออาศัยอยู่กับบุคคลที่มีสิทธิได้รับ AME หมายถึง บุคคลที่มาพำนักอยู่โดยมิได้เป็นบุพการี บุตร หรือพี่น้อง ต้องอาศัยอยู่ในการดูแลรับผิดชอบของผู้ประกันตนตั้งแต่ ๑๒ เดือนขึ้นไป  (ตามปกติคนต่างด้าวที่อพยพเข้ามาอยู่ในฝรั่งเศสนั้นมักจะทยอยเข้ามาและมาอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ อาจเป็นบุตรหลานของเครือญาติที่ฝากให้เข้ามาอาศัยเพื่อจะหางานทำ)

 

ดูๆไปแล้วรัฐนี้ใจดีมากค่ะ คงเป็นหลักมนุษยธรรม คือเข้ามาแล้วแม้จะอยู่แบบผิดกม. ก็ต้องดูแลเยียวยากันไป ส่วนจะทำให้คนเหล่านี้ "ถูกกม." ขึ้นมา หรือจะทำอย่างไรต่อไปนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ยิ่งตอนนี้ Sarkozy ประกาศว่า "มีคนต่างด้าวเยอะเกินไป" เสียด้วย ก็ต้องดูกันต่อไปค่ะ 

 

 ๒. คนต่างด้าวที่ถูก “ควบคุมตัว” จากทางการฝรั่งเศสตามกม.คนเข้าเมือง (en rétention administrative)

กม.จะอนุญาตให้ควบคุมตัวไว้ได้ไม่เกินกี่วัน ในระหว่างนี้หากเจ็บป่วยก็จะได้รับการคุ้มครองรักษาพยาบาลค่ะ

 

๓. คนต่างด้าวหรือคนฝรั่งเศสที่ถูกตำรวจควบคุมตัวตามกม.อาญาในฐานะผู้ต้องสงสัย หรือ garde à vue

นอกจากนี้ พลเมืองของ EU เอง หากเดินทางเข้ามาพำนักในฝรั่งเศสนั้นตามปกติแล้วไม่ต้องขอวีซ่าจะอยู่ได้ ๓ เดือน หากเกินกว่านี้โดยไม่มีเอกสารจะถือว่าอาศัยอยู่โดยผิดกม. ซึ่งคนเหล่านี้ก็มีสิทธิขอ AME เช่นกัน (ใจดีมากค่ะ)

 

                เงื่อนไขเรื่องการพำนักในฝรั่งเศส

ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะต้องมี เพื่อประกอบการขอประกันสุขภาพตามนี้ค่ะ

                ๑. พำนักอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสติดต่อกันเป็นเวลามากกว่า ๓ เดือน และ

                ๒. การพำนักนั้นต้องมีลักษณะเป็นหลักแหล่งค่ะ คือไม่โยกย้ายจนไม่สามารถระบุได้ว่าอาศัยอยู่ที่ใดแน่ หมายความว่า ต้องมี “ที่อยู่ประจำ” หรือ Habitual residence นั่นเอง

                เงื่อนไขต่อมาคือ ผู้มีสิทธิขอประกันตนจะต้องเป็นคนยากไร้ กล่าวคือ มีเงินได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กม.กำหนด โดยคำนวณจากองค์ประกอบโดยรวมทั้งครัวเรือน เช่น รายได้ รายจ่าย จำนวนบุคคลที่ต้องเลี้ยงดูอุปการะ ซึ่งเป็นเกณฑ์เดียวกับที่ใช้คำนวณการขอ CMUC

 

                Co-payment

 

            มีการเรียกเก็บเงินสมทบด้วยเช่นกัน โดยผู้ประกันตนต้องชำระ ๓๐ ยูโร/ปี ในรูปของอากรสแตมป์ค่ะ

ข้อยกเว้น  บุตรผู้เยาว์ของผู้ประกันตนค่ะ ได้รับประโยชน์การรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

 

                สิทธิที่ได้รับ

น่าสนใจมากค่ะ เพราะผู้ประกันตนจะได้รับการดูแล 100% ทั้งค่ายา ค่าแพทย์ ครอบคลุมถึงการตั้งครรภ์ด้วยค่ะ ส่วนที่มีผู้อ่านถามว่าแล้วคลอดได้กี่ครั้ง จะไปค้นคำตอบก่อนค่ะ แต่กม.ไม่ได้ระบุไว้ว่าได้แค่คนเดียว ก็น่าจะหมายถึงการช่วยเหลือทุกครั้งของการตั้งครรภ์ รวมถึงการคลอด

 

แต่ค่าใช้จ่ายในการนี้จะต้องเป็นไปตามอัตราที่ใช้อยู่ใน Social security ค่ะ คือไม่เกินไปกว่านี้ ที่สำคัญคือ ผู้ประกันตนไม่ต้องชำระค่ารักษาพยาบาล หรือค่ายา ล่วงหน้าไปก่อนเหมือนอย่างกรณีการใช้ประกันสุขภาพของคนทั่วไปที่มิใช่ AME หมายความว่า ผู้ที่ยากไร้จริงๆ จะได้รับการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม และอย่างทันท่วงทีค่ะ

 

                การบริการที่ AME ไม่ครอบคลุม

มีสองประเภทใหญ่ค่ะ

 

๑) ผลิตภัณฑ์ เวชภัณฑ์ หรือการบริการทางการแพทย์ การรักษาอื่นๆที่พิจารณาแล้วเห็นว่ามิได้ “มีความจำเป็นหรือสำคัญ” ต่อการรักษาโรคนั้นๆ  เช่น วารีบำบัด อันนี้มีเรื่องโจ๊กฝรั่งเศสจะเล่าค่ะ แก้เครียด ตามปกติแล้วประกันสุขภาพแบบเสริม หรือ complementary จะจ่ายสำหรับการบำบัดบางอย่างให้ด้วย แต่ต้องให้แพทย์ลงความเห็นว่าจำเป็น  ก็จะมีผู้ประกันตนบางคนที่ “ตื๊อ” ให้แพทย์วินิจฉัยโรคและออก prescription ให้ว่าอาการป่วยนั้นจำเป็นจะต้องได้รับการบำบัดโดยสปา ฮ่าๆๆๆๆ ไม่ว่าจะสปาเฉยๆ สปาสาหร่าย แช่น้ำแร่ แหม...น่าป่วยจริงๆ เพราะประกันจ่ายค่ะ ออกเงินเองเล็กน้อย  หรือคนไข้บางคน “ตื๊อ” ขอให้สั่งยาให้เยอะๆ เพื่อเก็บไว้ใช้ครั้งหน้า หรือจะเอาแต่ยาแพงๆ เพราะประกันจ่ายอีก  

หรือที่นึกออกอีกอย่างคือ Chiropractic ที่แม้แต่ประกันสังคมตามปกติของฝรั่งเศสก็ไม่จ่ายให้ค่ะ น่าจะเหมือนของไทยที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากแพทยสภา (หรือเปล่า????)

 

๒) ผลิตภัณฑ์ หรือการบำบัดอย่างอื่นที่ไม่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการรักษาหรือเพื่อป้องกันโรคนั้นๆ เช่น Assisted reproductive technology

แต่หากเป็นในส่วนของบุตรผู้เยาว์ของผู้ประกันตน AME รัฐจะออกค่ารักษาให้หมดค่ะ (เข้าใจว่าแม้การบำบัดจะไม่ได้สำคัญอย่างมาก แต่ก็คงยังจ่ายให้อยู่)

 

สำหรับ soins hospitaliers คือ ค่าพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องมือ ห้องพัก ค่าวิชาชีพ แล็ป ที่กินกว่า ๑๕,๐๐๐ ยูโร ผู้ประกันตนจะต้องยื่นคำร้องและได้รับการยินยอม “ล่วงหน้า” จากหน่วยงาน   AME ถึงจะได้รับการช่วยเหลือ

 

ข้อยกเว้น ถ้าเป็นบุตรผู้เยาว์ของคนเหล่านี้ หรือการรักษาที่ต้องกระทำภายใน ๑๕ วันหลังจากแพทย์สั่ง ไม่สามารถแจ้งและรอการอนุมัติได้ จะได้รับการช่วยเหลือทันที

 

นึกสงสัยขึ้นมาค่ะว่า แล้วถ้าไม่มี ๓๐ ยูโรล่ะ เป็นไปได้รึเปล่า?? แล้วทำอย่างไร??  

ลองคิดๆๆๆๆดู ก็นึกได้ว่า ฝรั่งเศสมีเงินช่วยเหลือเลี้ยงชีพให้กับคนต่างด้าว คือ ผู้ลี้ภัย และคนไร้รัฐไร้สัญชาติต่างหากค่ะ คือ 

revenu de solidarité active (RSA) ก็คงไปเอามาจากตรงนี้ได้ค่ะ

 

 

 

ข้อมูลส่วนใหญ่มาจาก

http://www.service-public.fr/

หมายเลขบันทึก: 483136เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2012 07:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท