ภาพรวมของกฎหมายประกันสังคมสำหรับคนทำงานหรือผู้ใช้แรงงานในระดับสหภาพ


กฎหมายการประกันสุขภาพในระดับสหภาพหรือประชาคมความร่วมมือระหว่างประเทศนั้นจะสอดคล้องและช่วยส่งเสริมให้นโยบายการเคลื่อนย้ายคนและแรงงานโดยเสรีนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่ต้องการหรือจำเป็นต้องเดินทางไปทำงานยังรัฐสมาชิกอื่นๆจะได้รับประกันสุขภาพและการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพไม่น้อยไปกว่าสิทธิที่เคยได้รับในรัฐของตน

วัตถุประสงค์ที่ต้องมีกฎหมายระดับสหภาพหรือประชาคมมารองรับ

 

เพื่อรองรับตลาดแรงงานของสหภาพยุโรปอันเนื่องมาจากการเปิดเสรีในการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างรัฐสมาชิก ซึ่งการมีกฎหมายที่ชัดเจนในเรื่องนี้จะส่งเสริมให้การเปิดเสรีดังกล่าวสามารถ “เป็นไปได้จริง” เนื่องจากคนทำงานอาจมิได้ทำงานอยู่ในรัฐใดรัฐหนึ่งเพียงรัฐเดียว แต่อาจประกอบอาชีพในหลายประเทศ และงานที่ทำนั้นอาจมิใช่งานประจำ กล่าวคือมิได้มีสถานะเป็นลูกจ้างประจำ ซึ่งก็สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในรัฐที่ตนไปประกอบอาชีพการงานอยู่ได้เช่นกัน นอกจากนี้การเดินทางเพื่อมาหางานหรือมาปฏิบัติงานในรัฐสมาชิกอื่นอาจเป็นเหตุให้คนเหล่านี้ต้อง “สูญเสียสิทธิ” ซึ่งมีอยู่เดิมตามกม.ประกันสังคมในรัฐของตน จึงต้องประกันว่าจะได้รับการดูแลรักษาพยาบาล รวมถึงได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลคืนหรือค่ายาคืนทั้งหมดหรือบางส่วนได้ในสัดส่วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้  ขอให้สังเกตว่ามิใช่การรักษาพยาบาลโดยปราศจากค่าใช้จ่าย แต่เป็นกรณีของ Copayment หมายความว่าคนทำงานดังกล่าวมีความสามารถที่จะชำระค่ารักษาพยาบาลได้บางส่วน และได้ซื้อประกันสุขภาพไว้แล้วตั้งแต่ต้น

 

          ด้วยเหตุนี้กม.สหภาพจึงต้องให้ความคุ้มครองแก่บุคคลเหล่านี้ในฐานะ “พลเมืองของสหภาพ” ซึ่งจะต้องได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกันและอย่างทั่วถึง โดยนำหลักเรื่อง Anti-discrimination มาใช้ประกอบ ซึ่งหลักนี้เองทำให้สหภาพยุโรปขยายสิทธิในการประกันสังคมให้ครอบคลุมถึงแรงงานอพยพ คนไร้รัฐไร้สัญชาติและครอบครัว

................................................................................................

 

ตัวบทกฎหมายหลักที่รองรับสิทธิในเรื่องประกันสังคม  

๑. สนธิสัญญาจัดตั้งประชาคมยุโรป หรือปัจจุบันเป็นสหภาพยุโรป Treaty on the Functioning of the EU – สังเกตว่าหัวข้อการประกันสังคมจะอยู่ในหมวดของนโยบายของสหภาพ ภายใต้หัวข้อเรื่อง Free circulation of people, services, and capital

๒. Regulation CE no. 1408/71 ที่ตราขึ้นตั้งแต่ปี ๑๙๗๑ – เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้การประกันสังคมแก่ลูกจ้างคนทำงานและครอบครัวที่อาศัยอยู่บนดินแดนของ EU

 

หลักการสำคัญที่ได้จากกฎหมายข้างต้น 

รัฐสมาชิกต้องจัดให้มีมาตรการที่จำเป็นเพื่อรองรับแนวคิดเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี โดยเฉพาะระบบที่สามารถให้การประกันแก่บรรดา “ผู้ใช้แรงงานอพยพ” และครอบครัวของคนเหล่านี้ที่เข้ามาอยู่ใน EU

 

ข้อสังเกต  

 

๑. นิยามของคำว่า “คนทำงาน” ที่ในตัวบทภาษาอังกฤษใช้คำว่า Workers และ Travailleurs ในภาษาฝรั่งเศส  

ต้องเริ่มจากการให้คำจำกัดความเสียก่อน เพื่อหา “ผู้ทรงสิทธิ” ตามกฎหมายนี้   

คำถามคือ จะหาได้จากที่ใด? 

หากมิได้มีการให้นิยามไว้ในตัว Regulation ก็คงต้องหาจากคำพิพากษาหรือจากกฎหมายอื่นๆของสหภาพประกอบไป  สิ่งสำคัญคือ การตีความและนิยามต้องไม่อิงกฎหมายภายในของรัฐสมาชิก (เรื่องนี้รออ่านบทความของอ้อมนะคะ ^^) 

                Workers มีทั้งประเภทที่เป็นลูกจ้างประจำและที่มิใช่ลูกจ้างประจำ  ที่เห็นว่าต้องตีความก็เนื่องมาจากว่าคำว่า Workers จะหมายถึงเพียงผู้ใช้แรงงานหรือจะรวมไปถึงผู้ประกอบวิชาชีพด้วยหรือไม่ และหาทำงานประเภทรับจ้างทำของจะรวมอยู่ด้วยหรือไม่

                แต่ในส่วนของขอบเขตการบังคับใช้ในแง่บุคคลนั้น Regulation ฉบับนี้ได้บัญญัติชัดเจนให้ครอบคลุมถึงบุคคลประเภทต่อไปนี้ค่ะ

                ๑) คนชาติของรัฐสมาชิก

                ๒) คนต่างด้าวในสายตาของสหภาพ ก็คือ คนที่มาจากรัฐที่มิได้เป็นสมาชิกสหภาพนั่นเอง

                ๓) คนไร้รัฐไร้สัญชาติ ที่ใช้คำว่า les apatrides หรือ Stateless persons

                ๔) ผู้ลี้ภัย

                ๕) นักเรียนนักศึกษา หรือผู้ที่มาฝึกงานในสหภาพ (จะยกไปเขียนเป็นบันทึกต่างหากค่ะ)  

                ๖) ครอบครัวของบุคคลใน ๕ ข้อแรก ที่ติดตามมาอาศัยอยู่ในสหภาพ  

 

๒. นิยามของคำว่า la sécurité sociale หรือ Social welfare นั้นคืออะไร? ทั้งนี้เพื่อหาว่าครอบคลุมถึงเรื่องใดบ้าง เมื่อศึกษาแล้วจะพบว่าหมายรวมถึง

                - การรักษาพยาบาล

                - การดูครรภ์และการคลอด

                - การดูแลผู้สูงอายุ

                - ทหารผ่านศึก

                - คนพิการทุพพลภาพ

                - อุบัติเหตุที่เกิดจากการทำงานและการปฏิบัติหน้าที่

                - เงินช่วยเหลือเมือเสียชีวิต

                - คนว่างงาน

                - ผู้เกษียณอายุก่อนเวลาราชการ

                - การช่วยเหลือครอบครัว

จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เราสนใจหรือวัตถุแห่งการศึกษาของเราคือเรื่องแรก “การประกันสุขภาพ” ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบการประกันสังคมค่ะ

                ขอย้ำอีกครั้งว่า การประกันสังคมที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นถือเป็น “สิทธิ” ซึ่งจะก่อให้เกิด “หน้าที่” บางประการต่อผู้ทรงสิทธิอย่างเท่าเทียมกันและเป็นอย่างเดียวกันกับ “คนชาติ” ของรัฐสมาชิกนั้นๆ

นอกจากนี้ คนชาติของรัฐนอกสหภาพซึ่งอาศัยอยู่ในดินแดนของสหภาพ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเข้าเงื่อนไขต่างๆที่กำหนดไว้ตาม Regulation ที่กล่าวมา ย่อมได้รับ “สิทธิ” ในการประกันสังคมอย่างเท่าเทียมกันกับคนชาติของรัฐนั้นๆเช่นกันค่ะ ตามหลัก Equality of Treatment

 

ข้อสังเกต 

นอกไปจาก Regulation ซึ่งมีผลบังคับใช้โดยตรงต่อรัฐสมาชิก กม.ลำดับรองดังเช่น Directive จะมีประสิทธิผลได้ ย่อมต้องอาศัยความร่วมมือของรัฐสมาชิกด้วย เพราะเมื่อ Directive มีผลใช้บังคับ บรรดารัฐสมาชิกมีหน้าที่ผูกพันในอันที่จะต้องแก้ไขหรือตรากฎหมายภายในให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกฎหมายสหภาพเช่นว่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น กรณีของคนทำงานบนเรือ เรือนั้นเดินทางไปในหลายประเทศ บุคคลดังกล่าวอาจมิได้มีสัญชาติเดียวกับเรือ หรืออาจไร้สัญชาติก็ได้ กรณีนี้ให้ถือว่าเรือมีสัญชาติใด คนงานบนเรือก็ตกอยู่ภายใต้กฎหมายประกันสุขภาพของรัฐเจ้าของสัญชาติเรือ

 

:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

 

          ในส่วนของกฎหมายภายในของฝรั่งเศสนั้น มีหลักประกันสุขภาพที่เรียกว่า AME Aide médicale de l’État ซึ่งใช้สำหรับคนต่างด้าวที่อยู่ใน “สถานะผิดกฎหมาย” เช่น เข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือเข้าเมืองถูกกฎหมายแต่ต่อมาเอกสารหมดอายุ หรือปราศจากเอกสารประจำตัวทุกชนิด  แม้แต่หลักประกันประเภทนี้ก็ต้องมีการชำระเงินในรูปแบบของ “อากรสแตมป์” ค่ะ และได้รับการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานตามวงเงินที่กฎหมายกำหนด แต่บรรดาบุตรผู้เยาว์ของคนเหล่านี้จะได้รับการรักษาพยาบาลฟรีโดยได้รับการยกเว้นอากรสแตมป์และได้รับการรักษาโดยปราศจากวงเงินขั้นสูงค่ะ

 

หลังจากที่ได้ความรู้จากทั้งอ.แหวว คุณหมอจุ๊ก อ.ด๋าว  แล้วนั้น คงเป็นเรื่องที่เราเห็นร่วมกันได้อย่างไม่ยากเย็นว่าหลักเรื่อง Social contribution ควรถูกนำมาใช้เป็นเกณฑ์ประกอบการวางนโยบายในเรื่องหลักประกันสุขภาพแก่คนไร้รัฐไร้สัญชาติ  แต่ในประเด็นของ “งบประมาณ” ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่นั้น อยากทราบว่าจะแก้ไขอย่างไร เพราะต้องยอมรับว่างบประมาณจากรัฐคงไม่พอ หากจะขอความช่วยเหลือจากองค์การรปท.อย่างที่อ.แหววได้ให้ความเห็นไปนั้น จะมีความเป็นไปได้เพียงใดในลักษณะถาวรของเงินอุดหนุนดังกล่าวค่ะ

 

                ก่อนที่จะเขียนเรื่องของการประกันสุขภาพของนักศึกษาต่างด้าวในฝรั่งเศสนั้น สิ่งหนึ่งที่พอจะบอกได้ก็คือ การทำประกันของนักศึกษาต่างด้าวดูจะง่ายกว่าในแง่ที่ว่านักศึกษาต่างด้าวส่วนมากจะสามารถ “ซื้อ” ประกันได้ คงมีบางส่วนที่เป็นภาระแก่รัฐฝรั่งเศสจริงๆ คือต้องยื่นขอประกันจาก CMU - Couverture maladie universelle สำหรับส่วนหลังนั้น ต้องมีการแสดงเงินได้ประกอบการยื่นคำขอค่ะ เพื่อให้เห็นว่าไม่สามารถชำระเงินค่าประกันได้จริงๆ  และมีขั้นตอนเงื่อนไขและเอกสารราชการต่างๆพอสมควร ตรงจุดนี้เองที่อ้อมเห็นว่าบางครั้งก็ทำให้กลายเป็น “อุปสรรค” ในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลเช่นกันค่ะ

หมายเลขบันทึก: 483133เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2012 06:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 สิงหาคม 2012 14:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท