20. พบแล้ว...ช้างพระราชทานเชือกที่สอง สง่างามและร่าเริง


ช้างพระราชทาน สง่างามและร่าเริง

 

ตามหาช้างพระราชทาน พบแล้วเชือกที่สอง

ผมเคยเขียนบันทึก ที่05 และ 06 ตามหาช้างพระราชทานและข่าวช้างพระราชทาน ไปแล้ว  http://www.gotoknow.org/blogs/posts/481100     และhttp://www.gotoknow.org/blogs/posts/481123  และได้เล่าว่าเจอช้างพลาย 1 เชือกแล้ว ชื่อราชา อยู่ที่วัด Kande Vihara โดยราชาถูกจัดให้อยู่ตามธรรมชาติใต้โคนต้นไม้ในป่าละเมาะหลังวัดและทานแต่ซางมะพร้าว และเท่าที่ผมได้ไปดู ช้างราชาอาจจะตกมันบ่อยและไม่เชื่องนัก  จึงมิได้ถูกนำไปรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยววัดเหมือนช้างศรีลังกาที่ชื่อกุมารีซึ่งน่ารักและรับแขกด้วยดี

นอกจากเรื่องที่วัดมิได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเรื่องช้างราชา โดยมิได้ระบุว่าเป็นช้างพระราชทานแต่อย่างใด บอกแต่เพียงว่าเป็นช้างที่ได้รับจากประธานาธิบดีศรีลังกาเท่านั้น ผมก็รู้สึกไม่ค่อยดีแล้ว ยิ่งได้ไปเห็นเจ้าราชาอาศัยอยู่ในป่าละเมาะแบบธรรมชาติตามที่คนศรีลังกานิยมก็รู้สึกว่าไม่ค่อยถูกต้องเพราะมิใช่ช้างธรรมดาแต่เป็นช้างพระราชทานเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับศรีลังกา

จากการค้นข้อมูลในเน็ตก็พบว่าช้างที่ศรีลังกาได้จากประเทศไทยนั้นมิใช่มีราชาเชือกเดียวแต่มี 2 เชือกที่มาพร้อมกัน ทำให้ผมต้องค้นหาช้างต่อไป ในที่สุดก็ทราบว่ามีช้างพลายอีกเชือกหนึ่งชื่อ Kandula อยู่กับวัดเกลานียะ ซึ่งผมเคยไปเยือนมาแล้วแต่ไม่ทราบว่ามีช้างไทยอยูเพราะช้างถูกนำไปเลี้ยงไว้ที่อื่น คือที่ Ingiriya นัยว่าเพราะเป็นสถานที่เหมาะสมมีลำธารมีป่าเหมาะสำหรับช้างจะอาศัยได้ตามธรรมชาติ เมื่อทราบดังนี้ ผมจึงเดินทางไปตามหาช้างกันดูล่าในไม่ช้า

Ingiriya อยู่ห่างจากโคลัมโบประมาณ 1 ชม. เมื่อถึงสถานที่ รถของเราต้องเลี้ยวลงข้างทางเข้าไปในป่าละเมาะแห่งหนึ่งโดยใกล้ๆ มีลำธารเล็กๆ ไหลผ่านถนน ผมมองเห็นอะไรบางอย่างอยู่ในน้ำ จะว่าเป็นโขดหินก็ไม่แน่ใจเพราะสีดำๆ พอลงจากรถไปดูริมลำธารจึงพบว่าเป็นช้างนั้นเอง ช้างนอนแช่ในน้ำอย่างไม่ไหวติง ดูท่าทางมีความสุขเหลือเกิน ตัวนั้นไม่ใช่ช้างจากประเทศไทย ลุงคนหนึ่งอายุมากแล้วบอกผมพร้อมชี้ให้ดูช้างอีกตัวหนึ่งที่อยู่ริมลำธารถัดไปซึ่งผมมองไม่เห็นเพราะตลิ่งสูง ตัวนี้คือกันดูลา ช้างจากประเทศไทย

กันดูลาตัวใหญา ขาใหญ่มาก อยู่ในท่าที่นอนตะแคงขวาแช่น้ำอย่างมีความสุข งวงเล็กๆ ส่ายไปมาในน้ำแล้วก็พ่นน้ำออกมาทำให้รู้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิต มิฉะนั้นจะดูเหมือนโขดหินในลำธาร

ควาญช้างชื่ออุบะเสนากับชายที่ชื่อว่าราชาซึ่งเป็นผู้ดูแลช้าง เดินลงน้ำไปในลำธารเพื่อปลุกกันดูลาเพื่อที่จะเรียกขึ้นมาให้ทูตไทยได้พบ กันดูลาคงถูกขัดจังหวะความสุข ค่อยๆ พลิกตะแคงตัวช้าๆ ลุกจากน้ำด้วยท่าทางที่น่าชมมาก แม้จะอยู่บนตลิ่งห่างไปกว่า 5-6 เมตร ผมก็รู้สึกว่ากันดูลาเป็นช้างพลายที่มีขนาดใหญ่มาก และสง่างามด้วยสมกับเป็นช้างจากไทย จะบอกว่าหล่อก็เกรงใจแต่เป็นช้างหน้าตาดีจริงๆ

 

กันดูลาแสนรู้มากเมื่อคนเลี้ยงช้างขึ้นขี่คอก็ยกโซ่จากในน้ำส่งให้โดยดี จากนั้นก็ค่อยๆ เดินขึ้นตลิ่งมาพบทูตไทยอย่างเป็นงานเป็นการ เป็นภาพที่งดงามของช้างเยื้องยาตรที่ผมเพิ่งเคยเห็น จากในลำธาร กันดูลาเดินตรงรี่เข้ามาหาทูตและคณะทำเอาพวกเราต้องถอยห่าง ดีที่ควาญช้างคุมมาเองผมเลยรู้สึกปลอดภัยและทักทายเจ้ากันดูลาอย่างใกล้ชิด และเหมือนจะรู้ว่าเรานำผลไม้มาให้ กันดูลาเลยมาหยุดตรงหลังรถเอางวงดมไปมาคงจะได้กลิ่นกล้วยที่เราเตรียมมา จากนั้นผมและคณะก็นำกล้วย แตงโมออกมาป้อนกันดูลาอย่างมีความสุขทั้งคนทั้งช้าง

 

เห็นช้างอยู่ในสภาพที่เป็นธรรมชาติมีควาญช้างและคนดูแลที่รักช้างแบบนี้ ผมก็รู้สึกดีและพอใจที่เห็นความสุขความร่าเริงของช้าง ควาญบอกว่ากันดูลาเป็นช้างที่สง่างาม ได้ทำหน้าที่อัญเชิญพระบรมสารีรกธาตุเปราเฮรามาแล้วกว่าร้อยครั้งและเป็นช้างที่มีชื่อเสียงในบริเวณนี้ ระหว่างที่ผมสนทนากับกันดูลานั้นก็มีคนศรีลังกาขับรถผ่านมาก็มาร่วมวงด้วย

ผมกับคณะอยู่กับเจ้ากันดูลาพอสมควรเพราะผลไม้ที่ซื้อมาหมดแล้วและก็อยากให้กันดูลาลงไปเล่นน้ำต่อ จึงลากลับและคิดว่าจะต้องแวะไปเยี่ยมอีกในอนาคต

 

 

ในช่วงเย็นผมได้พบกับปลัดกระทรวงการต่างประเทศศรีลังกา Karunatilaka Amunukama และภรรยาจึงเล่าเรื่องกันดูลาให้ฟัง ทั้งสองคนบอกว่าดีใจมากที่ได้รับทราบเรื่องกันดูลาเพราะสมัยที่ตนเป็นทูตศรีลังกาประจำประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินโครงการนี้เองและจำได้ว่าควาญช้างจากสุรินทร์เมื่อมาส่งช้างพลายทั้งสองเชือกแล้วถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความเสียใจเพราะเป็นช้างที่เคยเลี้ยงมาเหมือนลูก ท่านปลัดกรุณาฯ บอกว่าในสมัยนั้นช้างทั้งงคู่ยังตัวเล็กเพราะเป็นลูกช้าง ผมจึงได้ให้ดูภาพถ่ายที่ได้ไปบันทึกมา ท่านถึงกับตื่นเต้นเพราะบัดนี้ช้างตัวใหญ่ขึ้นมาก

กันดูลามีสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์คืองาที่ยาวและสวยงาม สมแล้วที่ได้รับหน้าที่ที่ทรงเกียรตัญเชิญแห่พระบรมสารีริกธาตุเป็นประจำ แต่ในขณะเดียวกันผมก็อดคิดถึงราชามิได้ ราชาดูตัวไม่ใหญ่เท่ากันดูลาและไม่ร่าเริงเท่ากันดูลาอย่างเห็นได้ชัด ที่อยู่อาศัยก็ต่างกันและความสุขก็คงไม่เท่ากัน

ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือมีจิตใจรักสุขเกลียดทุกข์ ความสุขของช้างคนเราสัมผัสได้แน่นอน จากกรณีของกันดูลา ผมรู้สึกอย่างชัดเจนถึงความสุขของกันดูลาที่ออกมาจากกริยาท่าทางและแววตารวมทั้งผิวพรรณ ผมได้สัมผัสเจ้ากันดูลาก็พบว่าหนังนิ่ม อาจเป็นเพราะเพิ่งขึ้นจากน้ำก็เป็นได้ กันดูลาสนิทสนมกับผู้คนและไม่มีอาการระแวงเลย ต่างกับเจ้าราชาอย่างชัดเจน

ความในใจของผมที่เคยบอกในบันทึกก่อนคือถือว่าช้างทั้งคู่มาทำหน้าที่ผู้แทนประเทสในต่างต่างแดน ไม่ต่างจากตัวผมเอง หากจะช่วยช้างทั้งสองเชือกให้มีความสุขมากขึ้น ผมจะหาทางทำอย่างเต็มที่ ฝากทุกท่านที่รักช่วยระดมสมองด้วยว่าเราจะช่วยราชากับกันดูลาอย่างไร ......ฝากไว้ให้กัลยาณมิตรคิดเป็นการบ้านต่อครับ 

 

หมายเลขบันทึก: 483016เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2012 18:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

งามสง่าน่าชม สมเป็นช้างพระราชทาน

Ico48

ขอบคุณครับ

ภาพข้างบนนี้เป็นมงคลยิ่งนักครับ เคยมีพี่สาวคนหนึ่งส่งมาให้ผม แต่เนื่องจากไม่ทราบที่มา เลยไม่ได้เผยแพร่ต่อ

หากจำไม่ผิด เป็นคุณเศวต ช้างพระราชทานใช่ไหมครับ แต่จะที่ไหน เมื่อไหร่ ไม่ทราบจริงๆ ครับ

หากมีท่านผู้รู้ทราบ ขอข้อมูลเป็นวิทยาทานด้วยครับ

สง่างามมากค่ะ ดีใจที่ได้เห็นค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

 

อจ.จันทวรรณครับ

น่าแปลกครับ ผมพบช้างเมื่อใด เป็นอยากไปเล่นและสัมผัสกับช้าง เหมือนกับเคยคุ้นเคยกันมาก่อน เคยไปขี่ช้างครั้งแรกที่อัสสัม ยังจดจำมาไม่รู้ลืม

วันนี้ได้มาตามหาและพบช้างไทยในต่างแดน ตื่นเต้นครับ

เพิ่งเห็นว่าช้างที่สง่างามเป็นแบบนี้เอง คงเปรียบได้กับคนหน้าตาดี

ประเทศไทยและประเทศศรีลังกา มีอะไรที่เหมือนกันหลายอย่าง อย่างหนึ่งที่แน่นอนก็คือช้างนี่ละครับ

ขอบคุณครับที่แวะมาทักทายกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท