เทคนิคการสร้างแผนการเรียนรู้แบบบูรณาการ 7/2 ชาตรี สำราญ


เมื่อเราแยกแยะแจกแจงตัวบ่งชี้ออกมาก็จะได้สิ่งที่ต้องการหรือคุณลักษณะ 3 ด้านด้วยกันคือด้านทักษะพิสัย ( Process หรือ P ) ให้ทำอะไรด้านพุทธิพิสัย ( Knowledge หรือ k ) ให้ทำเรื่องใดด้านจิตพิสัย ( Attitude หรือ A ) ให้ทำแค่ไหน

สำหรับการวิเคราะห์  มาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้นนั้น  ผมมีวิธีการวิเคราะห์ดังนี้

                ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับคำในแต่ละมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้นก่อน  เช่น

                สาระที่  1  ศาสนา  ศีลธรรม  จริยธรรม

                มาตรฐาน   ส. 1.1

ตรงนี้ถ้าหากเขาเขียนไว้เพียง มาตรฐาน ส.1.1  ขอให้เข้าใจและอ่านว่า “มาตรฐาน สังคมศึกษา ฯ สาระที่  1  ข้อ  1.1  ตัวแรกหลัง ส.  นั้นหมายถึงข้อที่  ถ้าเป็นสาระที่  2  ข้อ 1.  ตัวเลขข้างหน้าก็จะเปลี่ยนเป็น มาตรฐาน ส. 2.1  ทันที

                และคำอีกหลาย ๆ คำในมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้นแต่ละรายข้อย่อย  เวลาเรานำเขียนในจุดประสงค์นำทางนั้น เราต้องแปลความหรือถอดรหัสเสียก่อน  ซึ่งจะกล่าวในตอนต่อไปที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวเหล่านี้  เพราะจะทำให้ไม่สับสนเวลาอ่าน

                ในการวิเคราะห์มาตรฐานช่วงชั้น  แต่ละข้อย่อย ๆ ของช่วงชั้นนั้น ๆ  ของสาระและมาตรฐานนั้น  เราต้องมองให้เห็นภาพว่า มาตรฐานข้อย่อย ๆ แต่ละข้อนั้นต้องการให้ผู้เรียนเกิดภาพในประเด็น

  1. ให้ผู้เรียนทำอะไร
  2. ให้ผู้เรียนทำในเรื่องหรือสถานการณ์ใด
  3. ให้ผู้เรียนทำได้เพียงใดในสถานการณ์นั้น ๆ

ประเด็นทั้ง   3    ประเด็นนี้ซ่อนลึกอยู่ในมาตรฐานย่อย ๆ นั้นเอง  เช่น  ในสาระที่  1  สิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิต  มาตรฐาน ว.1.2 ข้อย่อยที่  1

                “สังเกต  สำรวจลักษณะต่าง ๆ  ของสิ่งมีชีวิตใกล้ตัวและอธิบายได้ว่า   สิ่งมีชีวิตมีการถ่ายทอดลักษณะจากพ่อ และ / หรือแม่ สู่ลูกหลาน...”

พอเราเห็นมาตรฐานย่อย หรือที่เขาชอบเรียกว่า ตัวบ่งชี้  อันหมายถึงว่า   ถ้าผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมตามที่ระบุไว้ในมาตรฐานย่อยนี้ครบทุกข้อ  ก็บ่งชี้ได้ว่า ผู้เรียนคนนั้นบรรลุ มาตรฐาน ว.1.2   ของระดับช่วงชั้นนั้น  ดังนั้นในมาตรฐาน ว. 1.2  ข้อย่อยที่  1   ก็จะเรียกว่า  สาระที่  1  ของกลุ่มวิทยาศาสตร์ มาตรฐานข้อ  1.2  ตัวบ่งชี้ ข้อ 1  อ่านอย่างนี้ก็ได้ 

เมื่อเราเห็นตัวบ่งชี้  ข้อ  1  ว่า ดังนี้แล้ว  เราก็รีบวิเคราะห์ดู ดังนี้

 

ตัวอย่างที่  1         สาระที่ 1  มาตรฐาน ว.1.2  ตัวบ่งชี้ที่ 1  ช่วงชั้นที่ 1

ให้ทำอะไร

ให้ทำเรื่องใด

ให้ทำแค่ไหน

1. สังเกต

    สำรวจ

        ลักษณะต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตใกล้ตัว

   อธิบายได้ว่า สิ่งมีชีวิตมีการถ่ายทอดลักษณะจากพ่อและ/หรือแม่สู่ลูกหลาน

ตัวอย่างที่  2   สาระที่ 2 มาตรฐาน ส 2.1  ตัวบ่งชี้ที่ 1 ช่วงชั้นที่ 1

                “1.  รู้และปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย  ยอมรับในความสามารถ  เห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่นในฐานะสมาชิกที่ดีของครอบครัวโรงเรียนและชุมชน”

ให้ทำอะไร

ให้ทำเรื่องใด

ให้ทำแค่ไหน

1. รู้และปฏิบัติตน

      เป็นพลเมืองดี  ตามวิถีชีวิตประชาธิปไตย

     ยอมรับในความสามารถ เห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น ในฐานะสมาชิกที่ดีของครอบครัว  โรงเรียนและชุมชน

  

ตัวอย่างที่  3    สาระที่  4  มาตรฐาน  ท. 4.2  ตัวบ่งชี้ที่  1  ช่วงชั้นที่ 1

                “1. สามารถใช้ทักษะทางภาษาเป็นเครื่องมือการเรียน  การแสวงหาความรู้และการทำงานร่วมกับผู้อื่นและใช้เทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาการเรียน”

ให้ทำอะไร

ให้ทำเรื่องใด

ให้ทำแค่ไหน

1. สามารถใช้ทักษะทางภาษา

      เป็นเครื่องมือการเรียน  การแสวงหาความรู้และการทำงานร่วมกับผู้อื่น 

      ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาการเรียน

ตัวอย่างที่ 4  สาระที่ 3  มาตรฐาน ท.3.1 ตัวบ่งชี้ที่  1  ช่วงชั้นที่ 3

                “1. สามารถสรุปความ จับประเด็นสำคัญ วิเคราะห์ วินิจฉัย  ข้อเท็จจริง  ข้อคิดเห็น และจุดประสงค์ของเรื่องที่ฟังและดู  สังเกตการณ์ใช้น้ำเสียง  กิริยาท่าทาง  การใช้ถ้อยคำของผู้พูดและสามารถแสดงทัศนะจากการฟังและดูสื่อรูปแบบต่าง ๆ อย่างมีวิจารณญาณ”

ให้ทำอะไร (P)

ให้ทำเรื่องใด (K)

ให้ทำแค่ไหน (A)

- สามารถสรุปความ

 

- สามารถจับประเด็นสำคัญ

- สามารถวิเคราะห์

- สามารถวินิจฉัย

 

- สังเกต

- ข้อเท็จจริงของเรื่องที่ฟังและดู

- ข้อคิดเห็นของเรื่องที่ฟังและดู

- จุดประสงค์ของเรื่องที่ฟังและดู

 

- การใช้น้ำเสียง กิริยาท่าทาง การใช้ถ้อยคำของผู้พูด

 

 

    สามารถแสดงทัศนะจากการฟังและดูสื่อรูปแบบ ต่าง ๆ อย่างมีวิจารณญาณ

 

                จะเห็นได้ว่า  เมื่อเราแยกแยะแจกแจงตัวบ่งชี้ออกมาก็จะได้สิ่งที่ต้องการหรือคุณลักษณะ  3  ด้านด้วยกันคือ

  1. ด้านทักษะพิสัย   ( Process หรือ P ) ให้ทำอะไร
  2. ด้านพุทธิพิสัย  ( Knowledge หรือ k ) ให้ทำเรื่องใด
  3. ด้านจิตพิสัย  ( Attitude หรือ A ) ให้ทำแค่ไหน

ภาพที่ปรากฏต่อผู้เรียนภายหลังการเรียนรู้แล้ว คือ  ผู้เรียนทำอะไรเป็น (P)  ทำแล้วผู้เรียนเรียนรู้เรื่องอะไร (K)  แล้วผู้เรียนมีความรู้สึกอย่างไร (A)  แต่นั่นแหละคุณลักษณะที่เขียนไว้ในตัวบ่งชี้นี้ บางตัวบ่งชี้ก็มีไม่ครบ 3  ตัว  เช่น

 

ตัวอย่างที่  5         สาระที่ 3  มาตรฐาน พ.3.2  ตัวบ่งชี้ที่ 1  ช่วงชั้นที่ 3

                “1. ออกกำลังกายและเลือกเข้าร่วมเล่นกีฬาตามความถนัดและความสนใจ”

ให้ทำอะไร

ให้ทำเรื่องใด

ให้ทำแค่ไหน

ออกกำลังกาย

 

   เลือกเข้าร่วมเล่นกีฬาตามความถนัดและความสนใจ

 

                 เมื่อเราฝึกฝนจนสามารถแยกแยะแจกแจงตัวบ่งชี้ได้อย่างดี  จนมองเห็นภาพคุณลักษณะนิสัยที่ซ่อนอยู่ในตัวบ่งชี้เหล่านี้แล้ว  เราก็ไม่จำเป็นต้องเขียนแยกแยะออกเป็นสดมภ์  3  สดมภ์ก็ได้  เรามาทำแบบสากลนิยม  คือ  ขั้นวิเคราะห์หลักสูตร  ดังตัวอย่างต่อไปนี้

 

ตัวอย่าง   การวิเคราะห์ตัวบ่งชี้สู่ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง

มาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น

(ตัวบ่งชี้) ป.4-6

ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายภาค

1.  สำรวจ  สังเกต เปรียบเทียบลักษณะของตนเองกับคนในครอบครัว ลักษณะของสมาชิกของสิ่งมีชีวิตใกล้ตัวและอธิบายการถ่ายทอดลักษณะของสิ่งมีชีวิตในแต่ละรุ่น  รวมถึงลักษณะที่มีการแปรผันจากบรรพบุรุษ

1.1 สำรวจ สังเกต ลักษณะของตนเองกับคนในครอบครัว

1.2  เปรียบเทียบลักษณะของตนเองกับคนในครอบครัว

1.3  สำรวจ สังเกตลักษณะของสมาชิกของสิ่งมีชีวิตใกล้ตัว

1.4  เปรียบเทียบลักษณะของสมาชิกของสิ่งมีชีวิตใกล้ตัว

1.5  อธิบาย การถ่ายทอดลักษณะของสิ่งมีชีวิตในแต่ละรุ่นรวมถึงลักษณะที่มีการแปรผันจากบรรพบุรุษ

จะเห็นว่า  ผมวิเคราะห์ตัวบ่งชี้หรือมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้นออกละเอียดเป็นข้อ ๆ  ได้ถึง  5  ข้อ  “ถามว่าทำไม”  ผมขอตอบว่า  ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายภาค  นั่นคือ จุดประสงค์การเรียนรู้ปลายทางดี ๆ นี่เอง  ถ้าจุดประสงค์ปลายทางมีความละเอียด  ชัดเจน  เราย่อมนำผู้เรียนไปสู่จุดหมายนั้นได้ง่ายยิ่งขึ้น  เมื่อเราแยกแยะวิเคราะห์ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายภาคไว้ละเอียด  เวลาเรากำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้หรือจุดประสงค์นำทาง  เราก็สามารถซอยจุดประสงค์ปลายทางให้ถี่ขึ้น  นั่นคือ  จุดประสงค์นำทางจะละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก  ส่งผลให้สาระการเรียนรู้ก็ละเอียดตามจุดประสงค์การเรียนรู้และยังผลให้เวลา วัดและประเมินผล  ก็จะละเอียดตรงตามจุดประสงค์การเรียนรู้  นั่นคือ เราจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้สอดรับกันทั้งหมดนั่นเอง

                ถามว่า “ถ้าไม่ซอยละเอียดอย่างนี้ได้ไหม”  ขอตอบว่า ได้ เพราะทางใคร ทางคนนั้น  อย่าลืมว่า นี่เรากำลังจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาของเรานะ  เพราะฉะนั้น  เราคือคณะครู  ผู้บริหาร  ผู้ปกครองนักเรียน  คณะกรรมการสถานศึกษาและภูมิปัญญาท้องถิ่น  ที่เข้าร่วมคิดร่วมทำจะต้องร่วมรับผิดชอบด้วยกัน

                ทีนี้ถ้าถามว่า “เราจะนำผลการเรียนรู้ที่คาดหวังไปเขียนเป็นจุดประสงค์ปลายทางจะได้ไหม”  เพราะรูปแบบการเขียนแผนการเรียนรู้นั้น บางแห่งบางที่จะต้องมีทั้งผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง  จุดประสงค์ปลายทาง  สำหรับผมนั้น  ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาค ก็คือ จุดประสงค์ปลายทางนั่นเอง  จะต่างกันก็เพียงแต่รูปแบบการเขียนเท่านั้น

                การเขียนจุดประสงค์ปลายทางนั้น  จะเขียนตามแบบที่เราจะให้เกิดพิสัยด้านใด  ก็จะเขียนบ่งบอกพิสัยนั้น  เช่น

  1. ด้านพุทธิพิสัย  (Knowladge  k )  นั้นจะเขียนนำว่า

“เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ...”

ตัวอย่างเช่น

1.1    เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการ สำรวจ สังเกต ลักษณะของตนเองกับคนในครอบครัว

1.2    เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการเปรียบเทียบ ลักษณะของตนเองกับคนในครอบครัว

1.3    เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการ สำรวจ สังเกต ลักษณะของสิ่งมีชีวิตใกล้ตัว

  1. ด้านทักษะพิสัย  ( Process  P )  นั้นจะเขียนนำว่า

เพื่อให้นักเรียนสามารถเกี่ยวกับ.....”

ตัวอย่างเช่น

2.1    เพื่อให้นักเรียนสามารถสำรวจ สังเกต ลักษณะของตนเองกับคนในครอบครัว

2.2    เพื่อให้นักเรียนสามารถเปรียบเทียบลักษณะของตนเองกับคนในครอบครัว

  1. ด้านจิตพิสัย ( Attitude  A )  นั้นจะเขียนนำว่า

เพื่อให้นักเรียนตระหนักในคุณค่าของ....”

เพื่อให้นักเรียนมีเจตนคติที่ดีต่อ.......”

ตัวอย่างเช่น

3.1      เพื่อให้นักเรียนตระหนักในคุณค่าของวิธีการ สำรวจ  สังเกต  ลักษณะตนเองกับคนในครอบครัว หรือ

เพื่อให้นักเรียนนำวิธีการสำรวจ สังเกต ที่เรียนรู้มาไปใช้ในการเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ

3.2      เพื่อให้นักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อวิธีการเปรียบเทียบลักษณะของตนเองกับคนในครอบครัว    หรือ

         เพื่อให้นักเรียนสมัครใจเข้าร่วมกิจกรรมการสำรวจ  สังเกต  เรื่องราวที่กำลังเรียนรู้

                จะเห็นได้ว่า คำที่นำขึ้นต้นคือคำว่า เพื่อให้ แล้วคำที่ตามมามักจะเป็นคำที่มีความหมายกว้าง ๆ เช่น เห็นคุณค่า  ตระหนัก  มีเจตคติ  นอกจากนี้ก็ยังมีคำอื่น ๆ อีก ซึ่งถ้าได้ศึกษาเรียนรู้กัน แล้วก็จะพบเห็นคำเหล่านั้น

                ถ้าเข้าใจสิ่งเหล่านี้แล้วก็ดำเนินการขั้นต่อไป

 อ่านเป็นเล่มได้ที่ https://docs.google.com/docume...



 

หมายเลขบันทึก: 482953เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2012 11:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 13:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท