เทคนิคการสร้างแผนการเรียนรู้แบบบูรณาการ 5 ชาตรี สำราญ


การสอนแบบบูรณาการนั้น เราเน้นให้ผู้เรียน เรียนรู้จากกิจกรรม ทักษะและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผู้เรียนปฏิบัติจะเป็นทางนำสู่ความรู้ที่ผู้เรียนรู้ได้ด้วยวิธีการปฏิบัติเอง ไม่ใช่จากการบอกเล่าของครู

5.  จะเริ่มต้นเขียนแผนการเรียนรู้

แบบบูรณาการอย่างไร

 

                คำถามที่ผมนำมาเป็นชื่อตอนย่อยที่  5  นี้  เป็นคำถามที่ผมคิดว่ามีคำตอบง่าย ๆ  แต่ทำยาก  ทำไมผมจึงกล่าวอย่างนี้  ลองฟังดูนะ  ผมจะตอบว่า “แล้วแต่ความถนัดของใครคนนั้น”  ตรงนี้สำคัญมาก  วิธีการของใครก็เป็นวิธีการของคนนั้น   เพราะแต่ละคนถนัดไม่เหมือนกัน  และต่างคนต่างก็ฝังใจอยู่กับวิธีการที่ตนถนัดแล้วมักจะนำวิธีการนั้นมาดำเนินงานที่ตนกำลังกระทำอยู่  ผมขอตอบอย่างนี้จริง ๆ

                สำหรับตัวของผมเอง  ผมคิดว่า การเริ่มต้นเขียนแผนการเรียนรู้แบบบูรณาการนั้น  คุณครูจะต้อง ปรับวิธีการคิดผจงลิขิตวิธีการสอนของตนเองเสียก่อน  ทำไมผมจึงกล่าวอย่างนี้ ลองอ่านดูต่อไปเถอะครับ

                ขั้นที่  1   ปรับวิธีการคิด  ผจงลิขิตวิธีการสอน

                                1.1  ปรับวิธีการคิด  หมายถึงว่า    ตราบใดที่คุณครูยังยืนกรานอยู่ด้วยคำพูดที่มาจากการกระทำและความคิดว่า  “สอนไม่ทันต้องรีบสอนให้จบหลักสูตร  (คือหนังสือแบบเรียน)  อยู่อย่างนี้แล้ว  คุณครูก็จะไม่สามารถสอนแบบบูรณาการได้ เพราะการสอนแบบบูรณาการนั้น  เราเน้นให้ผู้เรียน เรียนรู้จากกิจกรรม  ทักษะและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผู้เรียนปฏิบัติจะเป็นทางนำสู่ความรู้ที่ผู้เรียนรู้ได้ด้วยวิธีการปฏิบัติเอง  ไม่ใช่จากการบอกเล่าของครู  ผู้เรียนกระทำกิจกรรมหนึ่งก็จะได้ตัวรู้มาหนึ่งตัว  ทำต่อก็จะรู้ต่อ  ทำจนครบทุกกิจกรรม ผู้เรียนสามารถนำข้อมูลความรู้ที่ได้จากตัวรู้นั้นมานั่งอภิปราย   คิดทบทวนสรุปเป็นองค์ความรู้ของตน  ภาพเปรียบเทียบง่าย ๆ  คือ  เริ่มต้นเรียน  ผู้เรียนจะร้องว่า  ออ!  เรียน  ไป ๆ ก็จะ อ่อ !  แล้ว  อ้อ !  จนถึงขั้น อ๊อ !  และสุดท้ายจะตะโกน อ๋อ  รู้แล้ว ๆ นั่นเอง  เมื่อเป็นอย่างนี้  ถ้าให้ผู้เรียนเรียนรู้จากหนังสืออย่างเดียว  เล่มเดียว  ก็จะไม่เกิดภาพอย่างที่กล่าวมา   ครูจำเป็นต้องให้ผู้เรียนศึกษา ค้นคว้า  หาความรู้จากหนังสือหลาย ๆ เล่มจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย  นำตัวรู้ที่ได้มาเทียบเคียงหาความสอดคล้องและความสอดรับกัน  แล้วสรุปเป็นองค์ความรู้สำหรับตน

                นอกจากนั้น  การเรียนรู้แบบบูรณาการจะไม่ยึดห้องเรียนเป็นที่ตั้ง  แต่สถานที่เรียนจะเปลี่ยนไปตามแหล่งที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ได้  โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ต้องวางแผนการเรียนเอง  ดังนั้น  สถานที่เรียนของผู้เรียนก็ต้องดูที่แผนการเรียนรู้ที่วางไว้  จะเรียนที่ไหน  จะเรียนกับใคร   จะมีวิธีการเรียนอย่างไร  ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้บอกครู  ไม่ใช่ครูเป็นผู้กำหนด  ครูจะเป็นเพียงผู้รับทราบ  แล้วคอยเอื้ออำนวยการให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างคล่องตัว  ครูจะคอยเป็นพี่เลี้ยงที่คอยเติมเต็มให้ผู้เรียนรู้จริงในเรื่องนั้น ๆ

                อีกอย่างหนึ่ง  การเรียนแบบบูรณาการนั้น ไม่มีตารางเรียน  ไม่มีชั่วโมงเรียน  ไม่มีวิชาที่จะเรียนเป็นรายชั่วโมง  เพราะฉะนั้น  ตารางเรียนหรือตารางสอนจะบอกว่า สัปดาห์นี้เรียนหน่วยใดเรื่องอะไร  ตอนใด มากกว่าบอกชั่วโมงเรียน  เพราะบางเรื่องบางกิจกรรมเรียนรู้ใน  1  ชั่วโมง  แต่บางกิจกรรมใช้เวลาเรียนมากกว่า  2  ชั่วโมง  บางทีก็เรียนถึง  5  ชั่วโมงก็มี  ทั้งนี้ขึ้นอยู่ที่กิจกรรมนำสู่การเรียนรู้  ที่บอกว่าเรียนตอนใดนั่นหมายถึงว่า  ในหน่วยใหญ่นั้นจะมีตอน  ย่อย ๆ  อีก อย่างเช่น  ครูบังอร  หลีเจริญ  สอนเรื่อง บทเรียนจากประสบการณ์จริงของชีวิต  มีหน่วยย่อยถึง  6  หน่วยย่อย  ดังได้กล่าวมาแล้วตอนต้น  ถ้าเป็นอย่างนี้ ตารางเรียนจะกำหนดหน่อยย่อยและบอกว่า “ช่วงนี้ไปเรียนรู้ที่แหล่งเรียนรู้ใด”  ดูตัวอย่างตามบทเรียนของระดับอนุบาลนั้นจะเห็นภาพที่ใกล้เคียงกันมาก  และการสอนแบบบูรณาการนั้น ผมคิดว่า เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ไปตามบท  (กิจกรรม) ที่ผู้เรียนวางแผนไว้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริงและบทเรียนเหล่านั้น  ผู้เรียนจะต้องปฏิบัติจริงต้องมีการวางแผนการทำงาน  ทำงานแล้วมาสรุปเป็นตัวรู้กันจริง ๆ ไม่ใช่ท่องจำตำรามาบอกว่าจะหยิบหนังสือเล่มใด  วิชาใดมาเรียนดังแต่ก่อน หรือดังการสอนแบบไม่ใช้วิธีการบูรณาการไม่ได้

                ทั้งหมดนี้คือการปรับวิธีคิดในเบื้องต้น ทำ ๆ ไปก็ต้องปรับความคิดไปเรื่อย ๆ  เพราะปัญหาที่เกิดระหว่างจัดกิจกรรมการเรียนรู้นั้นมีบ่อยและมากด้วย  ถ้าคิดว่าเป็นปัญหาและยุ่งยาก  การสอนจะไม่สนุก   แต่ถ้าคิดว่าทุกปัญหาก่อให้เกิดปัญญา  แล้วจะสนุก  เพราะทุกขณะที่คิดแก้ปัญหา  ครูย่อมเกิดการเรียนรู้  มันเป็นการผดุงปัญญาครูผู้สอน  ส่งผลให้ครูผู้สอนรู้ลึกถึงรากของการบูรณาการที่แท้จริง  ครูต้องเตรียมตัวเตรียมใจ  สนุกกับการผจญกับปัญหาที่จะเกิด  เมื่อเกิดปัญหา  หาทางแก้ไข  แก้ไขได้แล้วก็บันทึกไว้เป็นข้อมูลความรู้สำหรับครู  ทำบ่อย ๆ ได้ข้อมูลความรู้บ่อย ๆ  นำสรุปเป็นความรู้  เป็นตำราวิชาการของตัวครูเองนั่นแหละ

                1.2  ผจงลิขิตวิธีการสอน  ข้อนี้สำคัญมาก  และมีผลต่อเนื่องมาจากข้อ 1   ถ้าการสอนของครูคือการเรียนรู้  การสอนของครูก็คือตำราเล่มใหญ่ของครู  ดังนั้นการบันทึกข้อมูลต่าง  ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทำการสอน ก็คือ การบันทึกผลการเรียนรู้ของครูทุกระยะ  เมื่อได้ข้อมูลมากพอที่จะสรุปเป็นเรื่อง ๆ เป็นตอน ๆ  ก็สรุปไว้เป็นตำราวิชาการเล่มเล็ก ๆ ของครู  ถ้าทำบ่อย ๆ ในที่สุดก็จะได้ตำราเล่มใหญ่  ผมเชื่อว่าตำราของใครก็ของคนนั้น  ซึ่งย่อมมีข้อแตกต่างและข้อเหมือนกันได้  สิ่งนี้แหละที่จะทำให้ตลาดวิชาการบ้านเรา กว้างขวางขึ้นมา

                คนที่ทำจริง  ทำได้  รู้ได้  รู้จริง  และทำเป็นนั้น จะสามารถนำเสนอผลแห่งความสำเร็จได้ดี  ผู้ฟังจะฟังเข้าใจง่าย  เพราะผู้นำเสนอ อธิบายง่าย ๆ  ละเอียดลึกซึ้ง  ยกตัวอย่างประกอบการอธิบายได้อย่างเห็นภาพชัดเจน  พูดได้ว่ามีทั้งหลักการ  หลักเกณฑ์ และหลักฐาน  มาประกอบการนำเสนอ

                และอีกอย่างหนึ่งสำหรับครูผู้รักที่จะเขียนแผนและสอนแบบบูรณาการสอน  จะต้องออกแบบและเขียนแผนการสอนนั้นด้วยตนเอง  อย่าได้ซื้อแผนการสอนสำเร็จรูปมาใช้สอนเพราะแผนเหล่านั้นจะไม่ตรงตามปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนของเรา  สถานการณ์จะห่างไกลจากใจเด็กผู้เรียน  มันจึงไม่เร่งเร้าให้ผู้เรียนอยากรู้  เพราะทุกอย่างไม่ได้เกิดขึ้นมาจากความต้องการรู้ของผู้เรียน

                นี่คือการปรับวิธีการคิด  ผจงลิขิตวิธีการสอน  อันเป็นการเริ่มต้น เดินเข้าสู่ประตูงานการวางแผนการสอนแบบบูรณาการ

อ่านเป็นเล่มได้ที่ https://docs.google.com/docume...



หมายเลขบันทึก: 482882เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2012 18:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 13:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท