เทคนิคการสร้างแผนการเรียนรู้แบบบูรณาการ 4 ชาตรี สำราญ


การที่เราจะคิดออกแบบบทเรียนแบบบูรณาการได้นั้น อันดับแรกครูผู้สอนจะต้องรู้ซึ้งถึงสภาพปัญหาชุมชนเสียก่อนว่า ชุมชนรอบโรงเรียนมีปัญหาใดบ้าง ต้องเริ่มที่ตรงนี้ก็เพราะหลักสูตรต้องการให้สถานศึกษาจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาชุมชน

4. จะจัดการเรียนแบบบูรณาการ

ได้อย่างไร

 

                ในตอนที่  3  ผมได้ทิ้งท้ายไว้ด้วยคำถามว่า “แล้วจะจัดทำบทเรียนแบบบูรณาการสอนอย่างไร”  คำถามนี้มีการท้าทายให้ตัวผมเองต้องคิดเรียบเรียงภาษามาเขียนตอบคำถาม

                การที่เราจะคิดออกแบบบทเรียนแบบบูรณาการได้นั้น อันดับแรกครูผู้สอนจะต้องรู้ซึ้งถึงสภาพปัญหาชุมชนเสียก่อนว่า ชุมชนรอบโรงเรียนมีปัญหาใดบ้าง  ทำไมจึงต้องเริ่มที่ตรงนี้ก็เพราะหลักสูตรต้องการให้สถานศึกษาจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาชุมชน” ใช่ไหม และปัญหาชุมชนยังเป็นสถานการณ์ในชีวิตจริงของผู้เรียนอีกด้วย  ถ้าเราจัดบทเรียนอย่างนี้ก็เท่ากับเราฝึกให้ผู้เรียนเรียนรู้เรื่องจริงที่ใกล้ตัวของผู้เรียน  และเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เข้าไปร่วมในกิจกรรมการแก้ปัญหาของชุมชนได้ด้วย

               แล้วถ้าไม่เดินเข้าไปศึกษาปัญหาในชุมชนอย่างแท้จริงแล้ว  จะใช้แนวทางใดได้อีกบ้าง  ขอตอบว่า  ใช้เหตุการณ์สมมติที่เป็นสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้เผชิญกับสถานการณ์นั้น ๆ  โดยนำปัญหาชุมชนมาสร้างสถานการณ์เรียนรู้  แล้วต้องคิดหาหนทางแก้ไขปัญหาที่กำลังผจญอยู่ให้ได้   บทเรียนอย่างนี้จะเป็นไปในแนวทางของ Story   Line   คือ เดินเรื่องสอนเป็นเรื่องราวต่อเนื่องและเชื่อมโยงสรรพสาระการเรียนรู้มากกว่า 2-3  สาระมาเดินเรื่องให้ผู้เรียนได้เรียนรู้   เป็นการบูรณาการข้ามสาระการเรียนรู้   ส่วนในการแก้ปัญหาชุมชน  ซึ่งผมนำเสนอในอันดับแรกนั้นเป็นการเรียนรุ้แบบกรณีศึกษาชุมชน

                การเรียนรู้แบบกรณีศึกษาชุมชนนั้นเหมาะกับนักเรียนที่อยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่  4   ขึ้นไป  เพราะจะต้องไปเรียนรู้ในชุมชน  นักเรียนโตพอที่จะควบคุมตนเองได้  แต่บทเรียนแบบ Story   Line   นั้น เหมาะที่จะใช้กับเด็ก ๆ  ช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-3)  ถึงช่วงชั้นที่  4   แต่นั่นแหละผมชอบที่จะนำแบบเรียนทั้งสองนี้มาคลุกเคล้ากันแล้วนำไปใช้ในการออกแบบสอนเด็ก ๆ  ลูกศิษย์ของผมซึ่งมันก็สนุกดี   เป็นการเรียนแบบจินตนาการบ้าง   ผจญกับความเป็นจริงบ้าง  

                บทเรียนที่ครูผู้สอนหรือสถานศึกษาได้ทำการศึกษาสภาพปัญหาชุมชนแล้วนำมาออกแบบจัดกิจกรรมการเรียนรู้นั้น  ผมพอจะมีตัวอย่างมาให้ดูได้  เช่น

             1.  อาจารย์นวลละออ  สาครนาวิน   เจ้าของโรงเรียนนวลวรรณศึกษา  ชอยอุดมสุข  51 บางจาก   เขตพระโขนง  กรุงเทพมหานคร  ได้เห็นปัญหาจากนักเรียน  และเด็ก ๆ รอบบริเวณโรงเรียน  เริ่มอ้วนขึ้นมาอย่างผิดปกติ  เมื่อศึกษาเจาะลึกลงไปก็พบว่า เด็ก ๆ เหล่านี้รับประทานขนมและอาหารประเภทที่เต็มไปด้วยโปรตีน  ไขมันและน้ำตาลซึ่งเป็นอาหารสำเร็จรูป  อาจารย์นวลละออ  สาครนาวิน  กับคณะครูโรงเรียนนวลวรรณศึกษา  จึงคิดแก้ปัญหานี้โดยการออกแบบบทเรียนขึ้นมาในปีการศึกษา 2547  บทเรียนชื่อ  บทเรียนจากบัวบุณทริก  และในปีการศึกษา 2548  จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง  ภายใต้ชื่อหน่วยการเรียนว่า  พลังงานที่สะสมอยู่ในบัวหลวง

             บทเรียนทั้ง  2  หน่วยการเรียนนี้  ต้องการที่จะให้นักเรียน  เรียนรู้และเข้าถึงคุณค่าของอาหารไทย ๆ  นำมาจากพืชสมุนไพร  แต่ใช้นาบัว  ซึ่งเป็นแหล่งเรียนในชุมชนเป็นตัวกระตุ้นความสนใจ  โดยมีภูมิปัญญาท้องถิ่นคือ เจ้าของนาบัว  เป็นผู้เชี่ยวชาญในการนำเสนอเรื่องราวของบัวให้นักเรียนเรียนรู้ จากบัวในนาบัวจนกระทั่งถึงอาหารบัวจานเด็ดที่นักเรียนเรียนแล้วสามารถปรุงมารับประทานกันได้  และทุกวันนี้เด็ก ๆ ที่ผ่านการเรียนบทเรียนนี้มา    ได้หันมาสร้าง้น้ำจากพืชสมุนไพรจำหน่ายในโรงเรียนและผู้ปกครองนักเรียนที่สนใจสั่งซื้อไปรับประทานด้วย  หมายถึงว่า พฤติกรรมการบริโภคของเด็ก ๆ  ในโรงเรียนนวลวรรณศึกษาเปลี่ยนจากการรับประทานอาหารที่เสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บมาสู่การรับประทานอาหารจำพวกพืชสมุนไพรและผักมากขึ้น   ปัญหาโรคอ้วนก็ค่อย ๆ ลดลง  เพราะทางบ้านของนักเรียนก็มีส่วนมาร่วมปรุงแต่งอาหารให้ลูก ๆ รับประทานด้วย

                2.  อาจารย์ศันสนีย์    ปูรณํน  อาจารย์ใหญ่โรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์  อำเภอนาทวี  จังหวัดสงขลา กับคณะครูตระหนักถึงปัญหาที่ผู้ปกครองนักเรียนมาพูดคุยหรือบ่นให้ฟังว่า  ผลไม้ในสวนของตนลดลง   มีผลผลิตน้อยกว่าปกติ   คณะครูเองก็สังเกตพบว่าขณะนี้มีสิ่งแปลกประหลาดเกิดขึ้น คือ ผีเสื้อมีน้อยมาก  เมื่อนำเด็ก ๆ  ไปเรียนรู้ในสวนป่าข้างโรงเรียนก็พบว่าผีเสื้อไม่ค่อยมี  “บทเรียนเรื่องผีเสื้อหายไปไหน”  ก็เกิดขึ้นที่โรงเรียนแห่งนี้เด็ก  ๆ  ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่  6   ต่างก็ได้เรียนรู้เรื่องนี้  จากการคอยสังเกตบันทึกแล้วนำผลมาร่วมอภิปราย  สรุปได้ว่า  “ขาดดอกไม้”  แม้ในโรงเรียนศรีนครินทร์ ฯ เอง ต้นไม้มีมากแต่ไม้ดอกที่จะยั่วแมลงและผีเสื้อนั้นไม่ค่อยมี  โดยเฉพาะพวกดอกไม้ป่าทีอุดมด้วยน้ำหวานก็ไม่มี  นักเรียนจึงร่วมกันทดลองปลูกต้นไม้ดอกขึ้นมา  ในที่สุดก็มีผีเสื้อเพิ่มขึ้น  จึงได้วางแผนในการจะปลูกไม้ดอกให้มากขึ้น

                3.  ผอ.สุรพล  กุลตังวัฒนา   ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหาดกวน  ตำบลไชยบุรี  อำเภอท่าอุเทน  จังหวัดนครพนม  เห็นผิดสังเกตเกี่ยวกันการมาโรงเรียนของนักเรียน  ในปีการศึกษา  2546  มีเด็กมาสายมาก เด็กนักเรียนหลายคนขาดเรียนคนละหลายวัน  บางคนก็ขาดหายไปเฉย ๆ  จึงได้ร่วมประชุมปรึกษากับคณะครูแล้วออกไปศึกษาข้อมูลในชุมชน  พบว่าช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ  พ่อ-แม่นักเรียนต่างมีผลกระทบ  ต้องทิ้งลูกให้อยู่กับตา-ยายหรือปู่-ย่า ตนเองออกไปหางานทำต่างจังหวัด   เด็ก ๆ ไม่มีอาหารรับประทาน   ความลำบากยากจน  ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์การมาเรียนสายและการขาดเรียน  โรงเรียนบ้านหาดกวนไม่ได้ละเลยต่อปัญหานี้ ได้จัดทำบทเรียนที่กินได้ให้เป็นหน่วยการเรียนรู้หน่วยหนึ่งของโรงเรียนขึ้นมา  ครูนำพานักเรียนปลูกผัก  เลี้ยงปลา  เลี้ยงสัตว์แล้วนำผลผลิตมาหุงต้มเป็นอาหารเลี้ยงนักเรียน นำเงินงบประมาณอาหารกลางวันมาสมทบกับพืชผัก  สัตว์เลี้ยงในบทเรียนช่วยให้เด็กมีอาหารรับประทาน  ผอ.สุรพล ไม่หยุดอยู่แค่นั้น  พบเห็นว่าชาวบ้านปลูกผักสวนครัว เลี้ยงปลาโดยใช้พวกสารเคมีมาก  เงินหมดไปกับการซื้ออาหารสารเคมีเลี้ยงสัตว์  ผอ.สุรพลจึงได้ไปฝึกอบรมผลิตน้ำปุ๋ยชีวภาพ ( E.M ) แล้วนำมาใช้เป็นตัวอย่าง  หาครอบครัวทดลองปลูกผัก  เลี้ยงปลา  โดยผลิตอาหาร  ปุ๋ยผสมน้ำยาชีวภาพ  เวลาล่วงเลยมา  3  ปี  โรงเรียนบ้านหาดกวนก็ได้รับการรับรองจาก “กลุ่มเกษตรคิวเซ”  ให้เปิดเป็น “ศูนย์ส่งเสริมเกษตรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”  มีผู้ปกครองนักเรียนมากมายเข้ารับการฝึกอบรม  ผลิตปุ๋ยชีวภาพและอาหารเลี้ยงสัตว์  โดยมี ผอ.สุรพล   กุลตังวัฒนา   เป็นวิทยากรและกลุ่มนักเรียนเป็นผู้สาธิตการผลิต

                4.  อาจารย์เสาวนีย์    ไชยมงคล   สอนอยู่ที่โรงเรียนบ้านสันมะเค็ด  อำเภอเวียงป่าเป้า  จังหวัดเชียงราย  ได้ร่วมมือกับครูภายในโรงเรียนศึกษาถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน  พบว่า  บ้านสันมะเค็ดไม่ค่อยมีต้นไม้จึงไม่มีป่าไม้  ภูเขาจะเป็นภูเขาเตียนโล่ง  หน้าร้อนจะมีไฟป่าเผาผลาญต้นหญ้าและต้นไม้เล็ก  ๆ บนภูเขาบ่อยครั้ง  ผลที่เกิดขึ้นคือ  มีความร้อนสูง  บทเรียนกรณีศึกษาป่าชุมชนก็เกิดขึ้น  โดยอาจารย์เสาวนีย์   ไชยมงคล   กับเพื่อนครูได้กระตุ้นให้เด็ก ๆ วางแผนออกไปเรียนรู้เรื่องราวป่าบ้านสันมะเค็ดในอดีตสู่ปัจจุบัน  ก่อนออกสู่หมู่บ้านนักเรียนต้องเตรียมคำถามไว้มากมาย แล้วออกไปหาข้อมูล   ได้ข้อมูลมาก็นำมาอภิปราย  หาข้อสรุปและร่วมกันพิจารณาว่ายังขาดข้อมูลด้านใด  จะตั้งคำถามแบบใด  แล้วร่วมกันตั้งคำถามใหม่  ไปหาข้อมูลใหม่  ทำหลาย ๆ ครั้งจนได้ข้อมูลพอที่จะนำเสนอชุมชน  ก็เรียนเชิญผู้นำชุมชน  และชาวบ้านมาฟังการนำเสนอข้อมูลที่นักเรียนสรุปได้  แล้วร่วมกับชุมชนอภิปรายหาวิธีการแก้ปัญหา  จนในที่สุด ทุกคนสรุปร่วมกันว่า   เลิกเผาป่า  เลิกทำไร่เลื่อนลอย  เริ่มการปลูกป่า  และได้ดำเนินการติดต่อกันมาหลายปี  ทุกวันนี้บ้านสันมะเด็ดมีป่าชุมชน  มีพรรณไม้หลายหลาก  และมีความร่มเย็นจากไอป่า  บทเรียนหน่วยนี้ใช้วิธีการกรณีศึกษาป่าชุมชน  เริ่มต้นดำเนินการประมาณปี พ.ศ. 2537  ทุกวันนี้  โรงเรียนบ้านสันมะเด็ดยังใช้วิธีการกรณีศึกษาเรียนรู้เรื่องที่อยากรู้อยู่อีก

                5.  อาจารย์มนัส  บูรพา    โรงเรียนวัดหนองหมู    อำเภอพยุหคีรี  จังหวัดนครสวรรค์   เห็นปัญหาที่เกิดในหมู่บ้าน คือ ชาวนารอบ ๆ โรงเรียนทำนาแล้วขาดทุนปีต่อปี  จึงได้คิดบทเรียนระบบนิเวศน์ในนาข้าวขึ้นมา  นำเด็ก ๆ ไปเรียนรู้ถึงค่าใช้จ่ายในการทำนาครั้งหนึ่ง ๆ ของชาวบ้าน  แล้วมาคิดวิเคราะห์ดูว่า  ขาดทุนเพราะอะไร   ในที่สุดก็พบว่า  สารเคมีพวกปุ๋ยเคมี  ยาฆ่าแมลง  คือตัวกินทุนที่รุนแรงสำหรับชาวนา  อาจารย์มนัส  บูรพา  จึงได้เริ่มทำนาแปลงทดลองที่หน้าโรงเรียน  เด็ก ๆ ไถนา  ปักดำ  และดูแลนาข้าวโดยไม่ใช้สารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น  ใช้ระบบนิเวศน์ในนาข้าว  อันประกอบด้วยการนำธรรมชาติอุปถัมภ์ธรรมชาติ  ปุ๋ยคอกจากวัวควายที่ย่ำไปในนาหลังฤดูการเก็บเกี่ยว  ซังข้าวและต้นหญ้าที่นำมาเปลี่ยนสภาพเป็นปุ๋ยเลี้ยงดินที่เตรียมปลูกต้นข้าว  และยาฆ่าแมลงที่เคยซื้อก็เปลี่ยนเป็นให้แมลงฆ่าแมลง  คือ แมลงบางจำพวกในนาข้าวไม่ได้กัดกินต้นข้าวแต่คอยดักจับแมลงบางพวกที่มากัดกินต้นข้าวเป็นอาหาร  เด็ก ๆ  เข้าไปศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศน์พวกนี้  แล้วบันทึกไว้เป็นตำราเรียนที่เขียนด้วยเด็ก  เป็นบทเรียนที่ดีมาก  และผลของการใช้ระบบธรรมชาติอุปถัมภ์ธรรมชาติของอาจารย์มนัส  บูรพา  ปรากฏผลว่า ขายข้าวได้กำไร   และกำไรสูงสุดอยู่ตรงที่    เด็ก ๆ ลูกศิษย์ของอาจารย์มนัส  บูรพา  ได้เรียนรู้วิธีการอยู่รอดในสังคมเกษตรแบบพอเพียงที่ยั่งยืน

                6.  อาจารย์บังอร   หลีเจริญ   ครูโรงเรียนบ้านยาแลเบ๊าะ  อำเภอรือเสาะ  จังหวัดนราธิวาส  พบว่า ชาวบ้านยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับการรับบริการจากสถานที่ราชการและรัฐวิสาหกิจในชุมชน   อาจารย์บังอรจึงได้จัดทำหน่วยการเรียนขึ้นหน่วยหนึ่งชื่อ  บทเรียนจากประสบการณ์จริงของชีวิต  มีหน่วยการเรียนย่อย ๆ จำนวน 6 หน่วยย่อยคือ

                6.1  แหล่งเรียนรู้ที่โรงพยาบาล

                6.2  ศึกษาที่ว่าการอำเภอ

                6.3  การปกครองส่วนท้องถิ่น

                6.4  ศึกษาสถานีรถไฟ

                6.5  สุขสันต์ปีใหม่ที่ไปรษณีย์

                6.6  ธนาคารที่ฉันรู้จัก

บทเรียนทั้ง  6  หน่วยย่อยการเรียนนี้  นักเรียนจะต้องวางแผนออกไปเรียนรู้ที่สถานที่แหล่งนั้นจริง  ไปเรียนรู้แล้วกลับมาสรุปเป็นตำราเรียนของตนเองได้

                บทเรียนทั้ง  6  เรื่องของหน่วยการเรียนนี้  เด็ก ๆ ชั้นประถมศึกษาปีที่  4  ของโรงเรียนบ้านยาแลเบ๊าะ  ชอบมากเพราะ

  1. ได้ไปเรียนรู้นอกห้องเรียน
  2. ได้เรียนรู้ในสภาพจริง
  3. ได้เรียนรู้จากครูหลากหลาย ( เจ้าหน้าที่ของสถานที่  นั้น ๆ )
  4. ประทับใจต่อเจ้าหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่ให้การต้อนรับ
  5. เป็นการเรียนที่อิ่มเพราะเรียนรู้ไปชิมไปกับอาหารว่างที่ได้รับบริการจากสถานที่นั้น ๆ
  6. ได้รับความตื่นเต้นกับความรู้ใหม่ ๆ ที่ตนเคยรู้มาก่อนเพียงนิดเดียว  แต่พอมาเรียนรู้จริงได้รู้มาก ๆ ยิ่งขึ้น

นักเรียนโรงเรียนบ้านยาแลเบ๊าะ  ได้เรียนรู้แบบวิธีการเรียนรู้จากบทเรียนจากประสบการณ์จริงของชีวิต  ติดต่อกันได้เพียง 2   ปี  คือ พ.ศ . 2547-2548  ก็ต้องหยุดเพราะสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้แบบนี้

                ในตอนที่  4   นี้ผมชี้ให้เห็นถึงภาพของครูจำนวนหนึ่งที่จัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการข้ามสาระ  โดยที่ผู้เรียนออกไปเรียนรู้ในสถานที่เรียนและหน่วยการเรียนนั้น ๆ  ได้อย่างไม่คิดพะวงว่าตนกำลังเรียนวิชาใด  แต่เมื่อเรียนแล้วรู้เรื่องที่เรียนและสามารถดึงความรู้จากสาระการเรียนรู้ที่เคยผ่านการเรียนรู้มานำใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะที่ผจญกับสถานการณ์การเรียนรู้เรื่องหนึ่ง  การรับรู้แบบนี้เป็นการรับรู้แบบกินยาแอสไพริน  กินยาเข้าไปไม่นานก็หายปวด  เรียนไปไม่นานก็รู้เรื่องที่อยากรู้

                แล้วตอนต่อไป ผมจะเขียนถึงวิธีการคิดเขียน บทเรียนแบบบูรณาการ ครับ...

 อ่านเป็นเล่มได้ที่ https://docs.google.com/docume...


หมายเลขบันทึก: 482880เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2012 18:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 13:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท