เทคนิคการสร้างแผนการเรียนรู้แบบบูรณาการ 2 ชาตรี สำราญ


ตลอดเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ผมคอยถามตัวเองเสมอมาว่า บูรณาการสอนอย่างไรให้สนุก และเกิดการเรียนรู้ ควบคู่ไปด้วย

2.  ครูบูรณาการสอนอย่างไร

 

                ตลอดเวลา  10  กว่าปีที่ผ่านมา  ผมคอยถามตัวเองเสมอมาว่า  บูรณาการสอนอย่างไรให้สนุก  และเกิดการเรียนรู้  ควบคู่ไปด้วย  คิดวิธีสอนแบบบูรณาการแล้วทดลองสอน  สังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนบันทึกไว้  นำผลที่สรุปได้จากการสังเกต  มาทบทวนพัฒนาวิธีการสอนที่จะให้สนุกและเกิดการเรียนรู้ควบคู่ไปด้วยนั้น  มีอยู่  2  แบบ  คือ

                1. แบบผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน  วิธีนี้ ผมเรียกว่า วิธีการบูรณาการแบบยาแอสไพริน  กล่าวคือ เราสามารถนำส่วนประกอบต่าง ๆ  ของแต่ละสาระการเรียนรู้มาหลอมรวมกันจนไม่เห็นส่วนปลีกย่อยในสิ่งใหม่  เช่น  เรารับประทานยาแอสไพรินเข้าไป  1  เม็ด  เราเห็นว่านั่นคือ ยาแอสไพริน  จำนวน 1  เม็ด  แต่เราไม่เห็นหรือไม่สนใจเลยว่ายาเม็ดนั้นมีส่วนประกอบเนื้อยาปลีกย่อยอะไรบ้าง  เพราะทุกอย่างถูกบดเข้าเป็นยาเม็ดเดียวกันหมด

              การสอนบูรณาการด้วยวิธีที่ 1  นี้ก็เช่นเดียวกัน  ผู้จัดทำเรื่องราวสอนจะต้องนำกิจกรรม  สถานการณ์(เนื้อหาสาระ) และจุดประสงค์ของเนื้อหา/ กิจกรรมนั้น ๆ มาหลอมรวมผูกให้เป็นเรื่องเดียวกัน  เวลานำสอน เด็ก ๆ  ผู้เรียนจะเรียนไป ๆ  โดยไม่นึกถึงว่าตนกำลังเรียนสาระการเรียนรู้ใด  แต่เขาสนุกเพลินและรู้เรื่องราวที่เรียนเหล่านั้น  แม้แต่การวัดและประเมินผลก็สามารถวัดประเมินผลแบบองค์รวม หรือแยกย่อยรายสาระการเรียนรู้ก็ย่อมได้  วิธีการนี้เรียกว่า  หลอมรวมองค์ประกอบย่อยให้เป็นของใหม่โดยไม่เห็นรูปลักษณ์เดิม

              การสอนบูรณาการด้วยวิธีที่  2   เป็นการสอนแบบหลอมรวมองค์ประกอบย่อยเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน  แต่ยังคงเห็นองค์ประกอบย่อยเหล่านั้น   ผมเรียกวิธีสอนแบบนี้ว่า  การบูรณาการสอนแบบส้มตำ   เวลาเรารับประทานส้มตำนั้น เราจะอร่อยกับรสชาติของส้มตำ  โดยไม่แยกว่านี่เป็นรสของมะละกอ  นี่รสของถั่วลิสง  นี่รสของมะนาว   มันเป็นรสของส้มตำแท้ ๆ  แต่พอเรานั่งดูในส้มตำนั้น จะเห็นมะละกอ   มะนาว   ถั่วลิสง  กุ้งแห้ง  พริกโขลก  คลุกกันอยู่ในจานใบนั้น  จานส้มตำนั่นเอง  รสชาติส้มตำเป็นรสชาติใหม่ที่มีส่วนผสมเก่า   ซึ่งผู้รับประทานส้มตำก็เพลินในรสชาติส้มตำ  ไม่สนใจต่อส่วนผสมที่โขลกรวมเข้าด้วยกัน   ฉันใดก็ดี  การสอนบูรณาการแบบวิธีที่  2  นี้  ผู้เรียนจะเรียนไปตามเรื่องที่ผู้สอนผูกโยงขึ้นอย่างไม่คิดว่านี่คณิตศาสตร์นะ   นั่นวิทยาศาสตร์นะ  แต่ทว่าทุกอย่างเป็นเรื่องเดียวกันหมด  เพียงแต่นำกระบวนการและวิธีการของสาระการเรียนรู้แบบซ่อนรายวิชาเก่า ๆ เอาไว้  ในกิจกรรมที่นำมาเรียงร้อยใหม่  ใช้ชื่อเรื่องใหม่  จนเกิดบทสรุปใหม่เป็นทฤษฎีใหม่แต่ยังเห็นเค้าของเก่าอยู่

                รูปแบบการสอนทั้งสองแบบนี้  มีความเหมือนในความต่าง คือ

                แบบที่  1   เป็นการสังเคราะห์จากการนำส่วนประกอบหลากหลายอย่างมาหลอมรวมกันเข้าจนเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์เดิมมาสู่รูปลักษณ์ใหม่เกิดเป็นสิ่งใหม่ขึ้นมา  แทบจะมองหาภาพเดิมของส่วนประกอบที่มาหลอมรวมไม่เห็น

                แบบที่  2   นำส่วนประกอบเดิม ๆ  มาหลอมรวมกันเข้าจนกลายเป็นของใหม่  แต่ยังคงมองเห็นเค้าโครงเดิมอยู่

 

                การจัดทำแผนการเรียนรู้แบบบูรณาการนั้น  ถ้าคุณครูมัวห่วงใยอยู่กับรายละเอียดของแต่ละสาระการเรียนรู้  มุ่งประเด็นจะสอนให้จบเนื้อหาของวิชานั้น ๆ ในหนังสือตำราเล่มนั้นแล้วจะยากต่อการจัดทำแผนการเรียนรู้แบบบูรณาการ  แต่ใช่ว่าผู้จัดทำจะไม่สนใจต่อเนื้อหาสาระเสียเลยทีเดียว  ผมหมายถึงว่า ผู้จัดทำแผนบูรณาการต้องเข้าถึงจุดประสงค์ของเนื้อหาสาระนั้นจนถึงแก่นแท้เสียก่อนเข้าถึงแบบรู้ว่า

                สอนไปทำไม   ( จุดประสงค์ )

                สอนด้วยวิธีการใด  (วิธีการเรียนรู้)

              ผู้เรียนจะรู้อะไรหรือได้อะไร  ( เนื้อหาสาระ )

                ทั้ง  3  ประเด็นนี้ครูผู้จัดทำแผนแบบบูรณาการต้องเข้าให้ถึง  เพราะนี่คือ แก่นแท้ เมื่อเห็นเนื้อแท้ของสิ่งนั้นก็ย่อมจะนำมาโขลก คลุก เข้าให้เป็นของใหม่ได้โดยไม่เสียส่วนเดิม เหมือนยาแอสไพริน  แม้จะเป็นยาใหม่แต่สรรพคุณของสมุนไพรไม่เปลี่ยนแปลง  แถมรสชาติดีกว่ากันอีกเยอะเลย  นี่แหละคือ สอนให้สนุกแต่เกิดการเรียนรู้ในเรื่องที่เรียน

                ถามว่าแล้วจะทำอย่างไร

                นี่คือปัญหาที่ต้องการคำตอบ

อ่านเป็นเล่มได้ที่ https://docs.google.com/docume...


 

หมายเลขบันทึก: 482821เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2012 13:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 13:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท