เทคนิคการสร้างแผนการเรียนรู้แบบบูรณาการ 1 ชาตรี สำราญ


“จำเป็นไหมที่เราจะต้องบูรณาการให้ครบทั้ง 8 สาระวิชา” “จำเป็นไหมที่เราจะต้องชวนทุกคนในครอบครัวไปหาอาหารรับประทานนอกบ้านทุกมื้อ”

1.  ทำไมต้องบูรณาการสอน

 

                “ทำไมต้องบูรณาการสอน”  คุณครูหลายคนถามผมอย่างนี้  และพวกเขายังถามต่อไปอีกว่า  “ถ้าไม่บูรณาการ แล้วจะสอนได้ไหม”  ผมฟังคำถามเหล่านี้แล้วมักจะยิ้มมากกว่าตอบ  เพราะคำถามอย่างนี้น้อยครั้งที่ผู้ถามจะต้องการคำตอบ  แต่เขาต้องการหาเรื่องจากการตอบคำถามมากกว่า

                ผมชอบตอบคำถามของคุณครูที่ถามผมว่า “จำเป็นไหมที่เราจะต้องบูรณาการให้ครบทั้ง  8   สาระวิชา”  คำถามอย่างนี้ผู้ถามต้องการคำตอบที่สามารถแก้ปัญหาที่ค้างคาหัวใจผู้ถามอยู่  และคำตอบที่ผมตอบก็คือ  ผมจะย้อนถามกลับไปว่า “จำเป็นไหมที่เราจะต้องชวนทุกคนในครอบครัวไปหาอาหารรับประทานนอกบ้านทุกมื้อ” คำตอบที่ตอบกลับมา คือ  ไม่จำเป็น บางครั้งก็จะชวนพ่อบ้าน (หรือแม่บ้าน) ไปรับประทานอาหาร  ส่วนลูก ๆ เขาจะอยู่บ้าน และบางครั้งก็จะไปกันทั้งครอบครัว  นี่คือคำตอบที่ซ่อนอยู่ในคำถาม  เป็นเหตุผลชวนคิดที่ผมไม่ต้องเสียเวลาอธิบายหรือยกแม่น้ำทั้งห้ามาอ้างอิง  ผู้ถามจะเข้าใจง่าย เพราะถามเองตอบเอง

                ความจริงแล้วนั้น  กระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการได้ระบุไว้ชัดเจนในแนวดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตั้งแต่ “หลักสูตรประถมศึกษา  พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533 )  ที่กำหนดแนวดำเนินการไว้ว่า

1. จัดการเรียนการสอนให้ยืดหยุ่นตามเหตุการณ์และสภาพท้องถิ่น  โดยให้ท้องถิ่นพัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นตามความเหมาะสม

2.  จัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางให้สอดคล้องกับความสนใจและสภาพชีวิตจริงของผู้เรียนและให้โอกาสเท่าเทียมกันในการพัฒนาตนเองตามความสามารถ

3.  จัดการเรียนการสอนให้มีความสัมพันธ์  เชื่อมโยงหรือบูรณาการ  ทั้งภายในกลุ่มประสบการณ์ และระหว่างกลุ่มประสบการณ์ให้มากที่สุด

4.  จัดการเรียนการสอนโดยเน้นกระบวนการเรียนรู้ กระบวนการคิดอย่างมีเหตุผลและสร้างสรรค์  และกระบวนการกลุ่ม

5.  จัดการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริงมากที่สุด  และเน้นให้เกิดความคิดรวบยอดในกลุ่มประสบการณ์ต่าง ๆ

6.  จัดให้มีการศึกษา ติดตามและแก้ไขข้อบกพร่องของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง

7.  ให้สอดแทรกการอบรมด้านจริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ในการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมต่าง ๆ  อย่างสม่ำเสมอ

8.  ในการเสริมสร้างค่านิยมที่ระบุไว้ในจุดหมาย ต้องปลูกฝังค่านิยมที่เป็นพื้นฐาน  เช่น  ขยัน  ซื่อสัตย์  ประหยัด  อดทน  มีวินัย  รับผิดชอบ  ฯลฯ  ควบคู่ไปด้วย

9.  จัดสภาพแวดล้อมและสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้และการปฏิบัติจริงของผู้เรียน

 

                ถ้าหากเราอ่านหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช 2544  อย่างพินิจพิจารณา วิเคราะห์ทุกข้อความแล้ว  เราจะพบว่า “แนวดำเนินการ” ทั้ง  9  ข้อที่คัดมาจาก  หลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521  (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533 )  นั้น  ซ่อนอยู่ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งนั้น  เพียงแต่ว่าไม่ได้เขียนระบุชัดเจนเป็นรายชื่อดั่งแต่ก่อน    เช่นในหน้าที่  9  ของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช 2544  กล่าวถึง การจัดหลักสูตร  ที่เน้นให้เห็นภาพการจัดหลักสูตรช่วงชั้นที่  1 และช่วงชั้นที่ 2  ว่า

                “การศึกษาระดับนี้เป็นช่วงชั้นแรกของการศึกษาภาคบังคับ  หลักสูตรที่จัดขึ้น  มุ่งเน้นให้ผู้เรียนพัฒนาคุณภาพชีวิต กระบวนการเรียนรู้ทางสังคม  ทักษะพื้นฐานด้านการอ่าน  การเขียน  การคิดคำนวณ  การคิดวิเคราะห์  การติดต่อสื่อสาร  และพื้นฐานความเป็นมนุษย์   เน้นการบูรณาการอย่างสมดุลทั้งในด้านร่างกาย  สติปัญญา  อารมณ์  สังคมและวัฒนธรรม”

                อ่านมาถึงตรงนี้  ก็จะเห็นได้ว่า  หลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช  2521  (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533)  นั้นจะเน้นการบูรณาการในเชิงรูปธรรม  กล่าวคือ มุ่งเน้นให้ผู้จัดกิจกรรม การเรียนการสอน  บูรณาการสรรพวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน แล้วนำสอน  เพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้ในรูปแบบเรียนเป็นเรื่องเดียวกัน  แต่ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544  จะเน้นผลผลิตที่ได้จากการบูรณาการสาระการเรียนรู้ออกมาในด้านนามธรรม  กล่าวคือ ผู้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนจะต้องบูรณาการสรรพสาระการเรียนรู้เข้าเป็นเรื่องเดียวกัน  โดยที่ผู้เรียนเรียนรู้ จนถึงขั้นสามารถพัฒนาการคุณภาพชีวิตของตน อย่างสมดุลทั้งในด้านร่างกาย  สติปัญญา  อารมณ์  สังคมและวัฒนธรรม  นี่คือความลึกซึ้งของการบูรณาการการเรียนรู้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2544  หรือจะพูดง่าย ๆ ว่า  จะต้องจัดการศึกษาให้เข้าถึงจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์นั่นเอง

 

                เมื่อสังเกต  ศึกษา ลึกเข้าไปให้ถึงหน้า 21  ของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ก็จะพบว่า  ภารกิจสำคัญที่ครูผู้สอนและสถานศึกษาจะต้องจัดการเรียนรู้  นั่นคือ

                “....การจัดการเรียนรู้ในแต่ละช่วงชั้น  ควรใช้รูปแบบ/วิธีการที่หลากหลาย  เน้นการจัดการเรียนการสอนตามสภาพจริง  การเรียนรู้ด้วยตนเอง  การเรียนรู้ร่วมกัน การเรียนรู้จากธรรมชาติ  การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง  และการเรียนรู้แบบบูรณาการ  การให้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้  การเรียนรู้คู่คุณธรรม “ทั้งนี้ต้องพยายามนำกระบวนการจัดการ  กระบวนการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม  กระบวนการคิดและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไปสอดแทรกในการเรียนการสอนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้  ซึ่งการเรียนรู้ในลักษณะองค์รวมการบูรณาการเป็นการกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ร่วมกัน  ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ  โดยนำกระบวนการเรียนรู้จากกลุ่มสาระเดียวกันหรือต่างกลุ่มสาระการเรียนรู้มาบูรณาการ ในการจัดการเรียนการสอน.....”

                ผมคิดว่าเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้  ความชัดเจนของเหตุผลที่จะตอบคำถามว่า “ทำไมจึงต้องบูรณาการการสอน” พอที่จะทำความเข้าใจในคำถามและคำตอบได้

                นอกจากนี้  หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ยังตอบคำถามที่ถามว่า “แล้วจะบูรณาการอย่างไร” ได้อย่างชัดเจนมาก ถ้าหากเราเปิดไปอ่านในหน้า 20  และ 30  ซึ่งเขียนไว้ว่า

                “1. การกำหนดสาระการเรียนรู้และผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาค....สามารถกำหนดในลักษณะผสมผสานบูรณาการ จัดเป็นชุดการเรียนแบบยึดหัวข้อเรื่องหรือจัดเป็นโครงงานได้”

                และใน แนวทางการจัดหลักสูตรสถานศึกษา (หน้า 31 ,32  และ 33 )  ก็ได้กล่าวถึงเรื่อง การจัดทำหน่วยการเรียนรู้ ไว้ว่า

                “ 5  การจัดหน่วยการเรียนรู้  โดยการนำเอาสาระการเรียนรู้รายปีหรือรายภาคที่กำหนดไว้ไปบูรณาการจัดทำเป็นหน่วยการเรียนรู้หน่วยย่อย ๆ  เพื่อสะดวกในการจัดการเรียนรู้และผู้เรียนได้เรียนรู้ในลักษณะองค์รวม....”

                “ในการจัดทำหน่วยการเรียนรู้ อาจบูรณาการทั้งภายในและระหว่างสาระการเรียนรู้ หรือเป็นการบูรณาการเฉพาะเรื่องตามลักษณะการเรียนรู้ หรือเป็นการบูรณาการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้เรียน....”

                มาถึงตรงนี้  ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า การบูรณาการนั้นมีกำหนดอยู่ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช 2544  อีกทั้งยังระบุชัดเจน ว่าจะให้ทำอย่างไร  ในเรื่องอะไร  หวังผลแค่ไหน  ขอเพียงแต่เราช่วยกันถอดรหัสที่ซ่อนอยู่ในหลักสูตรออกมา  บันทึกไว้ให้เห็นภาพชัดเจน  แล้วนำสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง

                อยากรู้ว่า “เราจะบูรณาการสอนอย่างไร

อ่านเป็นเล่มได้ที่ https://docs.google.com/docume...


 

 

หมายเลขบันทึก: 482819เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2012 13:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 13:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท