พัฒนาอย่างเรียบง่าย สู่เป้าหมายอย่างสมดุล


เราทำคุณภาพเพื่อให้ได้คุณภาพ ไม่ใช่ทำคุณภาพเพื่อให้ได้ใบรับรองคุณภาพ ทำแบบเงียบๆ เรียบง่าย ศึกษากันเองจากตำราและเอกสารแล้วเอามาประยุกต์ใช้

ตลอดระยะเวลา 11 ปีของการเป็นแพทย์ในชนบทหลังจากจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ความตั้งใจเดิมตั้งแต่เข้าเรียนปี 1 ที่จะออกไปทำงานในชนบทเมื่อจบปี 6 ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงโดยเลือกไปทำงานครั้งแรกเป็นแพทย์ประจำที่โรงพยาบาลงาว  จ.ลำปาง  อยู่ 1 ปี แล้วได้รับการชักชวนจากผู้บังคับบัญชาให้ไปอยู่ที่โรงพยาบาลแม่พริก จ.ลำปางโดยได้เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลและเป็นแพทย์ประจำอยู่คนเดียว 2 ปีแม้จะอยู่คนเดียวแต่ก็พยายามระดมพลังปัญญาความร่วมมือของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่ซึ่งส่วนใหญ่จบใหม่ทั้งนั้นพัฒนาโรงพยาบาลจนมีคนไข้เชื่อถือศรัทธามาใช้บริการมากและสามารถพัฒนาจนได้รับรางวัลโรงพยาบาลชุมชนดีเด่นจังหวัดลำปาง 3 ปีซ้อนแต่ก็มีจุดเปลี่ยนผ่านในชีวิตในการทำงานเมื่ออยู่แม่พริกได้ 3 ปีก็ได้ขอย้ายมาอยู่ที่โรงพยาบาลบ้านตาก จ.ตากตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน  จากประสบการณ์การทำงานที่ได้มาจากลำปาง 4 ปีรวมกับประสบการณ์จากการทำกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนา กิจกรรมกีฬาต่างๆในขณะเป็นนักศึกษาแพทย์รวมทั้งความสมดุลในชีวิตครอบครัวที่พออยู่พอกินตามอัตภาพได้ช่วยให้สามารถเข้ามาทำหน้าที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตากได้อย่างมีความสุขและทำงานที่เป็นประโยชน์ได้มาก อำเภอบ้านตากเป็นอำเภอขนาดกลางที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองตากนักแต่สภาพภายในอำเภอก็ยังมีความเป็นชนบทอย่างแท้จริง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ป่าเขามากกว่าที่ราบลุ่ม มีตลาดเล็กๆอยู่ห่างจากที่ตั้งโรงพยาบาลประมาณ 2 กิโลเมตร มีชาวไทยและชาวไทยภูเขารวมทั้งแรงงานต่างชาติอพยพอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่แน่นอนเพราะมีการเคลื่อนย้ายข้ามเขตแดนไปๆมาๆ โรงพยาบาลอยู่บนเนินเขาที่มีพื้นที่รอบๆเป็นที่ต่ำหรือเหว การพัฒนาพื้นที่จะทำได้ยาก เมื่อจะก่อสร้างอะไรต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการปรับถมดินสูงกว่าปกติ จนอดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่านหนึ่งพูดว่าโรงพยาบาลบ้านตากพัฒนายากเพราะอยู่ในเหว  ตอนที่ตัดสินใจย้ายจากแม่พริกมาบ้านตากไม่ได้หวังว่าจะอยู่ใกล้เมืองมากขึ้นแต่เพราะมีแพทย์รุ่นพี่ท่านหนึ่งได้พูดว่าการอยู่อำเภอเล็กๆไกลๆนั้นไม่ต้องทำอะไรมากคนไข้ก็มารักษาอยู่แล้วเพราะเขาไม่มีทางเลือกและเจ้าหน้าที่ก็เป็นคนรุ่นหนุ่มสาวไม่มีพันธะก็จะพัฒนาง่าย  ทำให้ผมมาคิดว่าถ้าอยู่อำเภอที่ใหญ่ขึ้นและใกล้เมืองมากกว่าเดิม ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น เจ้าหน้าที่มีอายุและมีครอบครัวแล้วเราจะสามารถพัฒนางานได้ไหม ผมเลือกมาที่โรงพยาบาลบ้านตาก โรงพยาบาลที่ถูกมองข้ามทั้งแพทย์และประชาชน เพราะตลอด 30 ปีมีผู้อำนวยการถึง 23 คน(ผมเป็นคนที่ 23) มีการเปลี่ยนแพทย์ประจำทุกปี ซึ่งผิดกับโรงพยาบาลรอบๆตัวจังหวัดอื่นๆที่ผู้อำนวยการมักจะอาวุโสและอยู่นาน  พอมาอยู่ก็รับรู้ว่าเมืองตากเป็นเมืองเล็กๆ เงียบๆเป็นทางผ่าน ประมาณ 3 ทุ่มตลาดก็เงียบแล้ว การเดินทางก็ลำบาก เป็นทางผ่านก็จริง แต่รถโดยสารที่มีสภาพไม่ค่อยดี มีสนามบินแต่ไม่มีเครื่องบินลง ยิ่งตัวอำเภอบ้านตากไม่ต้องพูดถึงประมาณ 2 ทุ่มก็เงียบแล้ว ดึกๆถ้าหิวก็ต้องทำกินเองเท่านั้น  แต่ในเรื่องของความเป็นมิตรของประชาชนถือว่าดีมาก หมอรุ่นก่อนๆเขามักบอกว่าคนบ้านตากหัวหมอแต่ผมมาอยู่ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร  มีปัญหาบ้างเล็กๆน้อยๆเท่านั้นและผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่นก็จะช่วยสร้างความเข้าใจให้ได้  พอมาอยู่โรงพยาบาลบ้านตากพบว่ามีผู้มารับบริการผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 120 คนต่อวันจากประชากร 50,000 คนเท่าๆกับแม่พริกตอนที่ย้ายมามีประชากร15,000 คน ก็มาคิดว่าทำไมคนไข้น้อย แต่มีพี่แพทย์คนหนึ่งพูดว่า คนไข้น้อยแต่คนป่วยอาจจะมากก็ได้ ผมก็มาพิจารณาและก็เห็นจริงตามนั้นคือคนที่เจ็บป่วยส่วนหนึ่งไปรักษาที่อื่น  ผมกับทีมงานก็เลยมาปรึกษากันและหาข้อมูลจากประชาชนผู้นำชุมชนและตกลงกันว่าเราต้องสร้างศรัทธาทั้งศรัทธาในกลุ่มเจ้าหน้าที่กันเองและศรัทธาจากประชาชน ด้วยการปรับปรุงบริการให้รวดเร็ว มีพฤติกรรมบริการที่ดี เข้าถึงบริการได้ง่าย พัฒนาศักยภาพบริการให้มากขึ้นพร้อมทั้ง พร้อมทั้งเข้าถึงชุมชนให้มากขึ้นเพื่อสร้างความคุ้นเคย ความยอมรับพัฒนาทั้งศักยภาพทางการแพทย์และศักยภาพทางการพูด โดยใช้แนวทางที่เรียกว่านโยบาย 4 C คือ Cleanความสะอาดปลอดภัยของอาคารสถานที่  Care คุณภาพบริการทั้งเทคนิคบริการและพฤติกรรมบริการ Cooperation ความร่วมมือกัน การทำงานเป็นทีมของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข  Communityเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ดูแลสุขภาพของชุมชน การเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน  โดยกำหนดปรัชญาของโรงพยาบาลบ้านตากว่าโรงพยาบาลชุมชน  เพื่อชุมชน เพื่อสุขภาพดี  เน้นการสร้างสุขภาพด้วยไม่ใช่แค่ซ่อมสุขภาพอย่างเดียว การกำหนดนโยบายอย่างชัดเจนทำให้เจ้าหน้าที่เห็นธงที่จะก้าวไป เพราะแต่เดิมเปลี่ยนผู้อำนวยการบ่อย พอเปลี่ยนคนก็เปลี่ยนแนวทางทำงาน พอผมมาอยู่ก็เลยต้องตั้งธงให้ชัด  ทั้งนี้ผมได้เน้นย้ำเสมอว่าเป้าหมายสูงสุดของเราคือโรงพยาบาลอยู่ได้  เจ้าหน้าที่มีความสุขและประชาชนมีคุณภาพชีวิตดี  นั่นคือเราจะสร้างสมดุลทั้ง 3 ด้านนี้ไปพร้อมๆกัน แม้จะช้า แม้จะยากก็จะช่วยกันฝ่าฟัน ไม่ใช่เอาแค่โรงพยาบาลอยู่ได้ มีเงินบำรุงมากมาย โรงพยาบาลสวยหรูแต่เจ้าหน้าที่ทุกข์  งานสุขภาพของประชาชนบริการประชาชนแย่  หรือดูแลแต่ประชาชนจนเจ้าหน้าที่ทุกข์หรือโรงพยาบาลอยู่ไม่ได้  หรือไม่เอาแต่เจ้าหน้าที่สบายโดยไม่มองประชาชนจากการพัฒนาระบบบริการในเรื่องอาคารสถานที่ การต้อนรับพูดจา ตรวจตรงเวลา  ปรับเวลาราชการให้สอดคล้องกับเวลาราษฎร  ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวบ้านที่จะอยู่อย่างง่ายไม่มีกฎเกณฑ์อะไรมากนักผิดกับราชการที่มีระเบียบกฎเกณฑ์มากเมื่ออกมาให้ชาวบ้านปฏิบัติตามก็ทำให้เกิดการไม่ปฏิบัติตามได้ง่ายซึ่งโรงพยาบาลต้องปรับตัวและอะลุ่มอล่วยไม่เถรตรงเกินไป  ในปีแรกมีคนไข้เฉลี่ยจาก 120 คนเป็นกว่า 200 คน  อัตราครองเตียงจาก 60% กลายเป็น 120 % ทำให้เกิดภาวะคนไข้ล้นเตียง แออัด ให้ไปนอนโรงพยาบาลจังหวัดก็ไม่อยากไปและไกลบ้าน  แม้ไม่ต้องเสียค่ารักษา ไม่เสียค่ารถก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่อยู่ที่กินจิปาถะ ยังไงก็ขออยู่ที่บ้านตากดีกว่า  บางทีในความรู้สึกของคนมีเงิน มีรถยนต์ส่วนตัว หรือคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ที่มีรถโดยสารสะดวกอาจมองว่าระยะแค่ 20-30 กิโลเมตรนี่เป็นระยะทางใกล้ๆ  เดี๋ยวเดียวก็ถึง  แต่ในความรู้สึกของประชาชนคนยากจนเขากลับมองว่ามันไกลมากสำหรับเขา  ผมกับทีมงานก็เลยมานั่งคิดกันว่าเราต้องพัฒนาโรงพยาบาลเพราะคนส่วนใหญ่ที่มีทางเลือกไม่มากจะได้มาใช้บริการที่โรงพยาบาลเราอย่างสบายใจ.....

ติดตามฉบับเต็มได้ใน www.bantakhospital.com ครับ

หมายเลขบันทึก: 4824เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2005 23:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ช่วยกรุณา เล่าใน บล็อกเขียนใหม่ก็ได้ เกี่ยวกับ

ความร่วมมือกับชุมชน ด้านสมุนไพร และ พัฒนาการ  หรือ บทเรียนก็ได้

เช่น อะไร ที่นิยมใช้  5-10 ลำดับ แรก ในระดับหมอบ้าน และ แพทย์ ใช้แตกต่างกันอย่างไร   ใช้ใครช่วยแปรรูป เภสัชกร  เครื่องมือ ลงทุนซื้อไว้อย่างไร

กระจายสมุนไพรแปรูปแล้วอย่างไร  สอ.สนใจ หรือไม่

ประสบการณ์ คุณหมอพิเชษฐ์เอง หลายปีนี้  ใช้สมุนไพรอะไร มากที่สุด     และจะเชียร์หมู่คณะแพทย์พยาบาลให้หันมาใช้สมุนไพร อะไรกับผป.

ผมจะได้ขอเรียนรู้จาก สุดยอดรพ.แห่งชาติ (จากใจจริงน่ะครับ )

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท