ชีวิตที่พอเพียง : ๑๕๑๗. เปิดกระโหลกตัวเอง เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคม และความยั่งยืน


 

          ไปประชุมกรรมการ SCB วันที่ ๒๓ ก.พ. ๕๕   ท่านอดีตนายกฯ อานันท์ กรุณามอบเอกสารปาฐกถาโดย อดีต ปธน. อัฟริกาใต้FW de Klerk(ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ)เรื่อง The Relationship between Good Governance, Social Responsibility and Sustainabilityผมเอากลับมาอ่านที่บ้านแล้วตาสว่างและรู้สึกเหมือนได้เปิดกระโหลก 

          เป็นการตีความความสัมพันธ์ระหว่างธรรมาภิบาล  ความรับผิดชอบต่อสังคม  และความยั่งยืน ในระดับประเทศ   และเชื่อมกับความเป็นพลเมือง .... พลเมืองที่รับผิดชอบต่อสังคม  

          ประเทศจะไม่ยั่งยืน หากพรรคการเมืองกับประชาชนร่วมมือกันโกงประเทศ   ขอให้อ่านข้อความในปาฐกถาตอนท้ายๆ จะเข้าใจว่าโกงอย่างไร    กำลังเกิดอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ 

          ความยั่งยืนที่ท้าทายสังคมไทยในขณะนี้ คือความยั่งยืนของประเทศ    ไม่ใช่เพียงความยั่งยืนระดับพื้นที่  ระดับองค์กร และระดับบุคคล 

          ที่จริงความยั่งยืน ๔ ระดับนี้ มันเกี่ยวข้อง ผูกพันกัน

          ปธน. เดอ เคลิร์ก เปิดฉากการปาฐกถา โดยชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยแรกของความเจริญก้าวหน้า ยั่งยืน ของสังคม คืออิสรภาพ (Freedom)  ที่ช่วยส่งเสริมให้บุคคลขยายศักยภาพของตนเอง   ไม่ถูกปิดกั้นโดยรัฐเข้ามากำหนด   เขายกตัวอย่าง “ธรรมาภิบาล” (Governance) ประเทศ ของอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ ที่เปิดกว้างให้ปัจเจกชนใช้ความริเริ่มสร้างสรรค์ของตนได้เต็มที่ในสมัยคริสตศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ ทำให้ ๒ ประเทศนี้นำหน้าโลกในด้านความเจริญก้าวหน้า   โดยที่ทั้งสองประเทศนี้เป็นราชอาณาจักร มีระบบกษัตริย์ที่เข้มแข็ง

          การต่อสู้ระหว่างลัทธิเสรีประชาธิปไตยกับลัทธิเผด็จการ พิสูจน์แล้วในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒   และช่วงสงครามเย็น   เผด็จการแพ้   ผมตีความว่าเพราะเผด็จการปิดกั้นศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์    ทำให้พลเมืองมีพลังน้อย ด้อยด้านความริเริ่มสร้างสรรค์ (creativity), นวัตกรรม (innovation), และความเป็นพลวัต (dynamism) ซึ่งมีอยู่ในสังคมเสรี

          เมื่อระบอบเผด็จการพ่ายแพ้ นักประวัติศาสตร์ใหญ่ Francis Fukuyama บอกว่า การค้นหาระบบธรรมาภิบาลในอุดมคติได้สิ้นสุดแล้ว   เป็นการจบสิ้นของประวัติศาสตร์ (The End of History)

          ฟูกูยามาผิดครับ   เขาประเมินศักยภาพของมนุษย์ผิด

          มนุษย์ที่มีอิสรภาพ มีศักยภาพทั้งด้านดีและด้านชั่ว   ธรรมาภิบาลต้องกำกับหรือจำกัดด้านชั่ว ไม่ให้ออกฤทธิ์ หรือออกฤทธิ์ได้น้อย   ความยากอยู่ที่ในดีมีชั่ว ในชั่วมีดี คือเป็นโลกแห่งความซับซ้อนซ่อนเงื่อนยิ่ง

          ในระบอบการเมืองแบบประชานิยมสุดขั้ว ที่พิสูจน์แล้วด้วยหายนะ ความไม่ยั่งยืน ของบ้านเมือง (เช่น กรีซ ในปัจจุบัน)   เท่ากับพรรคการเมืองเสนอนโยบายให้ผลประโยชน์ที่ไม่สมเหตุสมผล หรือแพงเกินไป   ที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศรับไม่ไหว    เพื่อแลกกับคะแนนเสียงเลือกตั้ง   ประชาชนเลือกพรรคที่เสนอผลประโยชน์แก่ตนสูงสุด โดยไม่แคร์ว่าประเทศในภาพรวมอยู่ไม่ได้ หากใช้นโยบายเช่นนั้น   นโยบายประชานิยมสุดขั้ว จึงเป็นนโยบายกระตุ้นความเห็นแก่ตัว    ไม่เน้นความรับผิดชอบต่อสังคม   จึงไม่ยั่งยืนอย่างที่เห็นๆ อยู่

          ความยั่งยืนของสังคม จึงต้องการความรับผิดชอบต่อสังคมในทุกมิติหรือทุกฝ่าย   โดยที่ต้องมีความรู้สำหรับให้คนในสังคมได้ตัดสินว่า สิ่งที่พรรคการเมืองใช้หาเสียง ว่าจะให้สิ่งนั้นสิ่งนี้แก่ประชาชนนั้น สมเหตุสมผลต่อขีดความสามารถในการหารายได้ของประเทศในขณะนั้นหรือไม่

          มหาวิทยาลัยน่าจะทำงานวิจัยนโยบายสาธารณะ เพื่อบอกสังคมในเรื่องนี้

          ความยั่งยืน ต้องการปัญญา  เอามาใช้ตัดสินว่า นโยบายสาธารณะที่ซับซ้อนยิ่งนั้น เป็นนโยบายที่รับผิดชอบต่อสังคม หรือเป็นนโยบายมอมเมา

          ผมไม่ได้สรุปบทความเอามาบันทึกนะครับ   ใครอยากได้ปัญญาจากปาฐกถานี้ต้องอ่านเอาเอง   ผมบันทึกปรากฏการณ์เปิดกระโหลกของผมเท่านั้น

 

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ก.พ. ๕๕

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 482132เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2012 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 15:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณสำหรับบันทึกดีดีคะ

 เห็นด้วยที่น่าจะทำงานวิจัยเกี่ยวกับ นโยบายสาธารณะ

 เพื่อให้สังคมได้เห็นภาพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท