เท็บเล็ตกับการเรียนรู้ของเด็กประถม


ใช้เท็บเล็ตเพื่อสอนในเด็กประถม เหมาะสมจริงหรือ

วันที่ 14 มีนาคม 2555

    จากแนวความคิดในการส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนระดับประถมศึกษาโดยการแจกเท็บเล็ตให้กับนักเรียน เพื่อใช้ในการค้นคว้าหาความรู้ที่ทันสมัย ทั้งยังเป็นการช่วยเหลือไม่ให้เด็กนักเรียนต้องแบกหนังสือจำนวนมากไปโรงเรียน นับว่า เป็นแนวความคิดที่มีประโยชน์และน่าสนใจ จากการวิเคราะห์ประโยชน์ของการใช้อุปกรณ์เท็บเล็ตเพื่อการศึกษาในการเรียนระดับประถมศึกษานี้ จะพบว่ามีข้อดีหลายประการ เช่น สามารถบรรจุเรื่องราวที่น่าสนใจ โดยอาจจะแปลงบทเรียนปกติ ให้เป็นบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีระบบมัลติมีเดียซึ่งดึงดูดความสนใจของเด็กได้มากกว่าการอ่านหนังสือตามที่คุณครูสอนในชั้นเรียน ซึ่งจะทำให้นักเรียนสามารถเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้น ประเทศจะตัดต้นไม้เพื่อนำมาผลิตกระดาษน้อยลง ถือเป็นการลดปัญหาโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนั้นนักเรียนยังสามารถติดตามข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อเวลาถ้าเท็บเล็ตนั้นสามารถเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เนตหรือไวไฟได้ ตัวคุณครูเองก็จะสามารถค้นหาเรื่องราวดีๆ ผ่านยูทูปแล้วนำมาสอนนักเรียน จึงนับว่าทำให้เกิดการปฏิวัติด้านการเรียนการสอนไปสู่ยุคดิจิตอลและรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคไอทีได้เป็นอย่างดี

    แต่อย่างไรก็ตามก็มีเรื่องที่น่ากังวลใจเกี่ยวกับการด่วนตัดสินใจในการดำเนินการในครั้งนี้ที่ผู้ปกครองและคุณครูควรจะพิจารณาในการใช้เท็บเล็ตเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนหลายประการ เนื่องจากในเด็กวัยประถมนี้ยังต้องการเวลาที่จะพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา ผ่านกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม ทั้งจากเพื่อนๆ และบุคคลรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครูอาจารย์ หรือสังคมที่เป็นจริงรอบๆ ตัวเขา การใช้เด็กนักเรียนใช้เท็บเล็ตในขณะที่อายุยังน้อย จะทำให้เด็กขาดโอกาสในการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น นิ้วมือทั้งสิบ เพราะได้ใช้แค่เพียงปลายนิ้วในการจิ้มหรือลากในเมนูบนเท็บเล็ต กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น แขน ขา ก็จะไม่ค่อยได้ใช้ เพราะอาจจะเพลิดเพลินอยู่กับการเล่นเกมหรือท่องอินเทอร์เน็ตบนเท็บเล็ต แม้บางท่านอาจจะบอกว่า สามารถจำกัดเวลาให้เล่นได้ก็ตาม แต่ด้วยความเป็นเด็ก เมื่อมีสิ่งมากระตุ้นความสนใจแบบนี้ ย่อมจะอดไม่ได้ที่จะสนุกจนเพลิน จึงพลาดโอกาสในการเรียนรู้ด้านสังคมกับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน ส่งผลให้ขาดการพัฒนาในด้านอารมณ์และสังคมอย่างช่วยไม่ได้ อีคิวลดลง ความสามารถในการอดได้ รอได้ ลดน้อยลง สมาธิสั้นลง เพราะทุกอย่างที่ต้องการสามารถหาได้ผ่านเท็บเล็ต เหมือนมีของวิเศษอยู่ในมือ ทนความผิดหวังไม่ได้ ทำงานที่ต้องใช้เวลาหรือความพยายามอย่างหนักได้น้อยลง สื่อสารกับคนไม่เป็น ในที่สุดอาจนำไปสู่การแยกตัว นอกจากนั้นถ้าผู้ปกครองหรือคุณครูไม่ได้สอนให้เด็กรู้จักการคิด ไตร่ตรองอย่างมีเหตุผลและวิจารณญาณ ก็จะทำให้เด็กเกิดการคล้อยตามสื่อออนไลน์ที่เห็นโดยขาดการยั้งคิด อาจจะถูกล่อลวงจากผู้ไม่ประสงค์ดีออนไลน์เข้ามาจนถึงในบ้านโดยที่ไม่รู้ตัว

    ดังนั้นการก้าวตามเทคโนโลยีที่นำสมัย โดยการเปิดโลกของการเรียนรู้ออนไลน์ผ่านเท็บเล็ต จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่งในการปฏิวัติการเรียนรู้ แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะพัฒนาเด็กนักเรียนของเราให้ครบทุกด้าน ทั้งทางร้างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม ไม่เช่นนั้นแล้วย่อมจะทำให้เกิดปัญหาตามมาไม่สิ้นสุด ทุกสิ่งที่เข้ามามีทั้งข้อดีและข้อควรระวัง หากเรารีบร้อน ไม่รู้เท่าทัน ขาดสติ ความรอบคอบในการไตร่ตรอง ย่อมจะทำให้เราตกเป็นเหยื่อของมันในที่สุด แล้วท่านผู้อ่านคิดอย่างไรกับเรื่องนี้กันบ้างครับ

หมายเลขบันทึก: 481935เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2012 12:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาไม่ทันครูอ้อยอีกแล้ว

ถ้าเป็น ม.1 เห็นด้วยเต็มๆ

ป.๑ หลักสูตร บอกว่า ภาคเรียนแรก ให้เตรียมความพร้อม

ด้านร่างกายและจิตใจ ให้เขาสนุกสนาน รักที่จะเรียนรู้

อย่าเพิ่งยัดอะไรลงไปในสมองเด็ก มากนัก

ป.๑ เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาลายมือและการอ่าน

แบบสะกดตัวผสมคำ เข้าใจพื้นฐานของสระ พยัญชนะ

ซึ่งแทบเล็ต ทำได้ แต่เข้าไม่ถึงหัวจิตหัวใจ แก่นแท้ของทักษะที่แท้จริง

และแทบเล็ต ก็ไม่ผ่านการประชาพิจารณ์ หริอวิจัย ใดๆทั้งสิ้น

ประถมต้น ครูผู้สอน ดีที่สุด

ครั้งหนึ่ง รัฐบาลแบบพ่อค้าและผู้รับเหมาให้คอมพิวเตอร์เกลื่อนเมือง ตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้

เราต้องแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ มันสาหัสยิ่งกว่ายาบ้า

คอมพิวเตอร์ มีทุกโรงเรียน มีครบ ในโรงเรียนโครงการพิเศษต่างๆ แล้วเป็นไง

คุณภาพตกต่ำมากว่า ๑๐ ปีแล้ว ดังนั้น อีก ๕ - ๑๐ ปี ข้างหน้า จะมีแต่เเด็กเซื่องๆซึมๆ

คิดวิเคราะห์ไม่เป็น พูด หรือเขียนเป็นเรื่องเป็นราวไม่ได้ นี่คือการวางยาทางการศึกษาชัดๆ

ขออภัยที่พูดมากนะครับ และแทบเล็ต ก็คือ ทับ(เด็ก)เละ หรือ แทบเละ นั่นเอง

  • ผมคิดว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสียครับอาจารย์
  • มีงานวิจัยจากหนังสือเล่มนี้ในบทท้ายด้วยครับ

เห็นด้วยกับคุณครูชยันต์มากครับ เมื่ออ่านแล้วคิดตามก็รู้สึกโกรธผู้วางนโยบายด้านการศึกษาโดยใช้แนวคิดนี้มากๆ เลย (แต่เพราะมีคนเลือกเขามาก จึงต้องทำใจยอมรับเสียงข้างมากของประเทศ) เนื่องจากสิ่งที่เขาทำเหล่านี้จะส่งผลต่ออนาคตของชาติอย่างมาก เราคงจะต้องช่วยกันแก้ปัญหาต่อไปนะครับ

ขอขอบคุณคุณครูขจิตมากครับที่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ แต่ผมยังหาเวลาไปยืมมาอ่านไม่ได้ จึงอยากขอความกรุณาคุณครูช่วยสรุปให้อ่านบ้าง เพื่อจะได้ขยายมุมมองและเกิดประโยชน์ต่อไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท