พระพุทธศาสนา : พัฒนาผู้นำ


กระบวนการพัฒนาผู้นำ ผู้เขียนได้ถือตามหลักพุทธธรรม โดยแบ่งประเด็นที่จะศึกษา ออกเป็น ๔ ประเภทใหญ่ ๆ ตามที่ปรากฏใน ทีฆนิกายปาฏิกวรรค และในอังคุตตรนิกาย ปัญจวรรค ได้แก่ การพัฒนาด้านศีล (สีลภาวนา ) การพัฒนาด้านกาย (กายภาวนา) การพัฒนาด้านจิตใจ (จิตภาวนา) การพัฒนาด้านปัญญา (ปัญญาภาวนา) ในประเด็นที่จะศึกษานั้นผู้เขียนได้อธิบายหลักการพัฒนาในแต่ละประเด็นไปตามลำดับ คือ การพัฒนาด้านศีล การพัฒนาด้านกาย การพัฒนาด้านจิตใจ และส่วนสุดท้ายการพัฒนาด้านปัญญา

พระพุทธศาสนา : พัฒนาผู้นำ

กระบวนการพัฒนาผู้นำ ผู้เขียนได้ถือตามหลักพุทธธรรม  โดยแบ่งประเด็นที่จะศึกษา ออกเป็น ๔ ประเภทใหญ่ ๆ ตามที่ปรากฏใน ทีฆนิกายปาฏิกวรรค และในอังคุตตรนิกาย ปัญจวรรค ได้แก่ การพัฒนาด้านศีล (สีลภาวนา ) การพัฒนาด้านกาย (กายภาวนา) การพัฒนาด้านจิตใจ (จิตภาวนา) การพัฒนาด้านปัญญา (ปัญญาภาวนา)[1]  ในประเด็นที่จะศึกษานั้นผู้เขียนได้อธิบายหลักการพัฒนาในแต่ละประเด็นไปตามลำดับ คือ การพัฒนาด้านศีล การพัฒนาด้านกาย การพัฒนาด้านจิตใจ และส่วนสุดท้ายการพัฒนาด้านปัญญา และบทวิเคราะห์ การบวนการพัฒนาผู้นำตามแนวของพระพุธทศาสนา  มีลักษณะที่สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนาที่เป็นหลักสากล มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

๑) การพัฒนาด้านศีล (สีลภาวนา)

                   การพัฒนาตนเองด้วยหลักศีลนั้น โดยเนื้อหาสาระสำคัญ ก็เพื่อให้บุคคลสามารถดำรงตนให้อยู่ร่วมกับสังคม หรือ อยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างปกติสุข ทั้งศีลที่เป็นสิกขาบท ทั่วไป และศีลที่เป็นองค์มรรค คือ อธิศีลสิกขา ดังจะได้กล่าวถึงคำแปล ความหมาย และประเภทของศีลไปตามลำดับ ดังต่อไปนี้

            (๑.๑) คำแปลของศีล มีคำแปลหลายอย่าง ได้แก่ แปลว่า เศียร หมายความว่า ศีรษะ ถ้าคนมีศีรษะขาดก็ตาย ถ้าศีรษะบาดเจ็บก็ไม่สบาย ฉันใด ถ้าคนศีลขาดก็ตายจากความดีต่าง ๆ ศีล แปลว่า ปกติ หมายความว่า รักษากาย วาจา ให้เรียบร้อยดีเป็นปกติ ศีล แปลว่า เย็น หมายความว่า เย็นกาย เย็นใจ ไม่มีภัย ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู ไม่มีความเดือดร้อน มีแต่ความสงบสุข ศีล แปลว่า เกษม หมายความว่า ปลอดภัย ไม่มีอันตราย มีแต่ความสุขกาย สบายใจอยู่เสมอ ศีล แปลว่า ตั้งกายกรรม วจีกรรม ไว้ด้วยดี หมายความว่า รักษากายให้ตั้งอยู่ในสุจริต ๓ รักษาวาจาให้ตั้งอยู่ในวจีสุจริต ๔ ไว้เป็นปกติ ศีล แปลว่า เข้าไปรับรองกุศลกรรมไว้ หมายความว่า เมื่อบุคคลมีศีลดีแล้ว คุณธรรมอื่น ๆ ที่ดีงาม เช่น ขันติ เมตตา สัจจะ สันโดษ วิริยะ ปัญญา เป็นต้น ก็เกิดขึ้นมาตามลำดับ[2]

          (๑.๒) ลักษณะ หน้าที่ ผลปรากฏ เหตุเกิดของศีล มีอธิบายว่า ลักษณะของศีล คือ มีการรักษากาย วาจาให้เรียบร้อยดีงาม หน้าที่ของศีล คือ มีการกำจัดความทุศีล ผลปรากฏของศีล คือ มีความสะอาดกาย วาจา ใจ (กายโสเจยฺยํ วจีโสเจยฺยํ มโนโสเจยฺยํ) ส่วนเหตุเกิดของศีล คือ หิริ (ละอายชั่ว) และโอตตัปปะ (กลัวบาป)[3]

            (๑.๓) ความหมายของศีล ในแง่ของการฝึกฝนตน คือ การฝึกฝนอบรมตนซึ่ง เรียกว่า อธิศีล หรือ ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมในทางความประพฤติอย่างสูง หรือ การฝึกฝนอบรมความประพฤติทางกาย วาจา คือ ระเบียบวินัย การอยู่ร่วมกับผู้อื่น และในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ด้วยดี ให้เกื้อกูลไม่เบียดเบียน ไม่ทำลาย เป็นพื้นฐานแห่งการฝึกอบรมจิตใจใน อธิจิตตสิกขา เรียกสั้น ๆ ว่า ศีล[4] และศีลยังหมายถึง ระเบียบความประพฤติ หรือระเบียบความเป็นอยู่ทั้งส่วนตัว และที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทางกายวาจา ตลอดถึงทำมาหาเลี้ยงชีพ ซึ่งได้กำหนดวางไว้เพื่อทำให้ความเป็นอยู่นั้น กลายเป็นสภาพอันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่การงานต่าง ๆ ประจำวัน โดยเป็นไปเพื่อความหมายอันดีงาม นั่นคือ การทำให้คนในสังคม หรือ ชุมชนมีระเบียบวินัย ขณะเดียวกันศีลก็เป็นเครื่องป้องกันความชั่วไปในตัวอีกโสดหนึ่งด้วย แล้วศีลยังช่วยส่งเสริมโอกาสสำหรับทำความดี โดยฝึกคนให้รู้จักสร้างความสัมพันธ์ ด้วยกายวาจาที่ดีงาม กับสภาพแวดล้อม ในทางอุดมคติแล้วศีลนั้น ต้องการให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ปราศจากการเบียดเบียนทำร้ายกันและกัน และช่วยเหลือกันตามฐานะทางสังคมจะอำนวยให้อีกด้วย[5]นอกจากนั้น ศีลครอบคลุมไปถึงการไม่ละเมิดระเบียบวินัย หรือการไม่เจตนาล่วงเกินเบียดเบียนผู้อื่น ถ้ามองในด้านการกระทำ ศีล จึงหมายถึง ความไม่ละเมิดและการไม่เบียดเบียน สาระของศีลอยู่ที่ความสำรวม หมายถึง การสำรวมระวังคอยปิดกั้น หลีกเว้นไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นนั่นเองเป็นศีล และสภาพจิตของผู้ไม่คิดจะละเมิด ไม่คิดเบียดเบียนใครนั่นแหละเป็นตัวศีล[6]

            (๑.๔) ความหมายของศีลที่เป็นระเบียบทางสังคม หมายถึง ศีลที่เป็นระเบียบทาง สังคม หรือระบบการนั้น ๆ ศีลจึงมีความเข้มงวดกวดขัน เคร่งครัด หยาบ ประณีต และรายละเอียดต่าง ๆ กัน ดังมีศีล ๕ ศีล ๘ ศีลของคฤหัสถ์ ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร ศีล ๒๒๗ สำหรับพระภิกษุสงฆ์ เป็นต้น

            (๑.๕) ศีลเป็นเหตุให้พัฒนาตนเองจนถึงขั้นวิมุตติหลุดพ้น หมายถึง ศีลที่ทำให้เกิดสภาพความเป็นอยู่ที่เกื้อกูลแก่การปฏิบัติกิจต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงจุดหมายที่ดีงามโดยลำดับ ไปจนถึงจุดหมายสูงสุดของชีวิต ในกิมัตถิยสูตร กล่าวถึงสาระสำคัญของกุศลศีล ว่าสามารถเป็นเหตุให้ดับทุกข์ได้ โดยพระอานนท์ได้ทูลถามพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับผลแห่งศีลที่เป็นกุศล และพระองค์ได้ตรัสตอบว่าศีลที่เป็นกุศล ทำให้สามารถดับทุกข์ได้ มีลำดับการพัฒนา ได้แก่ ศีลที่เป็นกุศล เป็นเหตุให้เกิดอวิปปฏิสาร (ความไม่เดือดร้อนใจ) อวิปปฏิสาร เป็นเหตุให้เกิดปราโมทย์ ปราโมทย์ เป็นเหตุให้เกิดปีติ ปีติ เป็นเหตุให้เกิดปัสสัทธิ ปัสสัทธิ เป็นเหตุให้เกิดสุข สุข เป็นเหตุให้เกิดสมาธิ สมาธิ เป็นเหตุให้เกิดยถาภูตญาณทัสสนะ ยถาภูตญาณทัสสนะ เป็นเหตุให้เกิดนิพพิทาและวิราคะ นิพพิทาและวิราคะ เป็นเหตุให้เกิดวิมุตติญาณ ทัสสนะ วิมุตติญาณทัสสนะ เป็นธรรมสูงสุด

            (๑.๖) ศีลทำให้สมาชิกของสังคมหรือชุมชนนั้นอยู่ร่วมกันด้วยดี หมายถึง ศีลทำให้สังคมสงบเรียบร้อย สมาชิกต่างดำรงอยู่ด้วยดี และมุ่งหน้าปฏิบัติกิจของตน โดยสะดวก

            (๑.๗) ศีลจัดเป็นเครื่องมือเพื่อฝึกหัดขัดเกลาตนเอง ทำให้กิเลสอย่างหยาบเบาบาง ลง ด้วยการควบคุมยับยั้งสังวร ปรับการแสดงออกทางกายวาจาให้เกื้อกูลแก่สภาพความเป็นอยู่ และการอยู่ด้วยกันด้วยดี ซึ่งเป็นความจำเป็นพื้นฐานสำหรับพัฒนาชีวิตของตนให้พร้อมที่จะเป็นที่รองรับกุศลธรรมทั้งหลาย เฉพาะอย่างยิ่ง คือ เป็นพื้นฐานของสมาธิ หรือการฝึกปรือคุณธรรมทางจิตใจที่สูงขึ้นไป[7]

            (๑.๘) ประเภทของศีลเพื่อนำมาพัฒนาตนเองและสังคม ศีลเพื่อเสริมสร้างความ ดีงามของชีวิตและสังคม คือ หลักคำสอนในสิงคาลกสูตรทั้งหมด เรียกคิหิวินัย หมายถึงวินัยของคฤหัสถ์ เป็นศีลสำหรับประชาชน มี ๒ ระดับ ได้แก่ ระดับแรก ธรรมขั้นศีล คือ ศีลในแง่ธรรม หมายถึง หลักความประพฤติระดับกายวาจาและอาชีวะที่นำมาแนะนำสั่งสอน โดยเน้นที่ปัจเจกชนเป็นสำคัญ ในขั้นนี้ มีความหมายไปถึง อธิศีลสิกขา ซึ่งหมายถึง การฝึกความประพฤติสุจริตทางกาย วาจา และอาชีวะ ได้แก่ รวมเอาองค์มรรค สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ เข้ามาว่าโดยสาระก็คือ การดำรงตนด้วยดีในสังคม รักษาระเบียบวินัย ปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบทางสังคมให้ถูกต้องมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีงามเกื้อกูลประโยชน์ ช่วยรักษาและส่งเสริมสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะในทางสังคม ให้อยู่ในภาวะเอื้ออำนวยแก่การที่ทุก ๆ คนจะสามารถดำเนินชีวิตที่ดีงาม หรือ ปฏิบัติตามมรรคกันได้ด้วยดี กล่าวโดยย่อ อธิศีลสิกขา คือ ความประพฤติด้านศีล ตัวอย่างพุทธพจน์ที่แสดงเรื่องศีลในแง่ธรรม สำหรับคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนที่แสดงถึงบทบาทของศีลและปัญญาของบุตรธิดาต่อบิดามารดา ดังนี้ “บุตรธิดาที่สามารถยังมารดาบิดาผู้ทุศีล ผู้ไม่มีศรัทธาให้ตั้งมั่นในศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญาได้ การกระทำอย่างนั้น ชื่อว่า บุตรได้ตอบแทนแก่มารดาบิดา”[8] ระดับที่สอง วินัยที่เป็นศีล คือ ศีลในแง่ที่เป็นวินัย หมายถึง กฎระเบียบข้อบังคับที่กำหนดวางกันขึ้นเป็นบัญญัติทางสังคม เพื่อกำกับความประพฤติของบุคคลตามความมุ่งหมายเฉพาะของหมู่ชนหรือชุมชนนั้น โดยมากมุ่งเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติตามธรรมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและผู้ฝ่าฝืนต้องได้รับโทษตามความรับผิดชอบต่อชุมชน หรือ สังคมนั้นอีกชั้นหนึ่ง ต่างจากผลทางจิตใจตามกฎธรรมชาติ นั่นคือ วิธีฝึกคนให้มีศีล ซึ่งเป้าหมายของวินัยที่เป็นศีล[9]ได้แก่ ศีลระดับสังคมสงฆ์ มีเป้าหมายที่สำคัญอยู่ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความดีงามที่เป็นไปโดยความเห็นชอบร่วมกันของสงฆ์ ความผาสุกแห่งสงฆ์ กำราบคนหน้าด้าน ไม่รู้จักอาย ความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม ปิดกั้นความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความเดือดร้อนที่จะมีในปัจจุบัน บำบัดความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความเดือดร้อนที่จะมีในภายหลัง ความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปของคนที่ยังไม่เลื่อมใส ความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปของคนผู้เลื่อมใสแล้ว ความดำรงมั่นแห่งสัทธรรม และส่งเสริมความเป็นระเบียบเรียบร้อย สนับสนุนวินัยให้ หนักแน่น[10] ส่วนในอังคุตตรนิกาย ได้เพิ่มเข้ามาอีก ๒ ข้อ คือ เพื่อเอื้ออนุเคราะห์แก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย และเพื่อตัดรอนฝักฝ่ายของภิกษุผู้มีความปรารถนาชั่วร้าย[11]

 

      ๒) การพัฒนาด้านกาย (กายภาวนา)

       การพัฒนาด้านกายนั้น จัดอนุโลมอยู่ในการพัฒนาระดับศีล เพราะลำพังเพียงกายอย่างเดียว ไม่มีศีลควบคุมแล้ว พระพุทธศาสนาไม่ถือเป็นการพัฒนาทางกาย แต่ตรงกันข้ามถ้าพัฒนากายด้านเดียวแล้ว อาจเป็นการส่งเสริมให้เกิดตัณหาความทะยานอยาก เพื่อให้ได้วัตถุมาบำรุงกายให้เจริญ โดยพระพุทธศาสนาไม่พิจารณาการพัฒนากายแยกต่างหากจาก จริยธรรม เพราะลำพังความเจริญทางกายอย่างเดียว ย่อมไม่มีความหมายเป็นสิกขา และตามปกติจะเอียงไปทางเป็นการสนับสนุนให้ตัณหาได้เครื่องมือที่จะเสพแสวงหายื้อแย่งโลกามิส[12]ซึ่งเป็นสายตรงข้ามกับการศึกษา คือ ไตรสิกขาเพื่อพัฒนาฝึกปรือตนเองให้เจริญยิ่งขึ้น เมื่อไม่พัฒนาเรื่องกายให้ชัดเจนหรือชำนาญแล้วก็ย่อมตกเป็นเครื่องมือของวัตถุนิยมไปโดยหลีกเลี่ยงได้ยาก และโดย  เฉพาะในสังคมปัจจุบันที่ใช้สื่อมวลชนสาขาต่าง ๆ เช่น สื่อทางโทรทัศน์ สื่อทางหนังสือพิมพ์ สื่อทางอินเตอร์เน็ต เป็นต้น มอมเมาให้ผู้ไม่ฝึกฝน พัฒนาตนเองต้องเสียคน เสียความดีของตนไปก็มากด้วยสื่อที่เข้ามาแล้วไม่พัฒนากายหรืออินทรีย์ให้รู้เท่าทันตามจึงทำให้เกิดปัญหาตามมาทางสังคมหลายประการ ฉะนั้น การพัฒนากายตามหลักพระพุทธศาสนา มีดังต่อไปนี้

            (๑) ความหมายในการพัฒนากาย คือ พัฒนาอินทรีย์ ๖ การพัฒนากายในความหมายที่แท้จริง ก็คือ การพัฒนาอินทรีย์ ได้แก่ การใช้อินทรีย์ ๖ ภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้สำหรับสัมพันธ์ หรือเป็นทาง เชื่อมต่อกับโลกภายนอก (คือ อินทรีย์ ภายนอก ๖) ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ที่ใจรับรู้ เปิดช่องทางที่เข้าไปสัมพันธ์กับสภาพ แวดล้อมทางวัตถุ และทางธรรมชาติทั้งหมด ในการฝึกพัฒนากาย หรือ ฝึกพัฒนาอินทรีย์นั้น การพัฒนากายจึงเป็นการการพัฒนาอินทรีย์ คือ ฝึกให้มีอินทรีย์สังวร ได้แก่ การสำรวมอินทรีย์ ๖ เพื่อเป็นเครื่องมือให้เกิดความแข็งแกร่งของศีล ความประพฤติ เพื่อสนับสนุนจิตให้มีพลังงานที่มั่นคงและเป็นทางให้เจริญปัญญาอีกด้วย ในมหาอัสสปุรสูตร พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่าเป็นกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า

“เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเป็น ผู้คุ้มครองทวารแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย เห็นรูปทางตาแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ จักปฏิบัติเพื่อความสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรม คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จักรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์…ฟังเสียงทางหู..ฯลฯ  รู้ธรรมทางใจ..”[13]

            (๒) วัตถุประสงค์ในการพัฒนา (พัฒนาอินทรีย์ ๖) มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกฝนใน ด้านการใช้งาน คือ ทำให้อินทรีย์เหล่านั้น มีความเฉียบคม มี ความละเอียด มีความไว มีความคล่อง มีความจัดเจน คล้ายกับการฝึกทักษะและเพื่อฝึกฝนในด้านการเลือกสิ่งที่มีคุณค่า และมีประโยชน์มากที่สุด ขณะเดียวกันก็มีวิธีหลีกเว้นจากสิ่งที่เป็นภัย เป็นโทษหรือสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ไม่ให้ทะลักเข้ามาสู่อินทรีย์ภายใน โดยมีใจเป็นตัวรับรู้ทั้งหมด จะต้องป้องกันไว้ก่อน

                   (๓)  การเตรียมความพร้อมในการพัฒนากาย (พัฒนาอินทรีย์ ๖) การเตรียมความพร้อมในก่อนการพัฒนากายมีความจำเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ ในความพร้อมส่วนตัวซึ่งหมายถึงความดีหรือบุญเก่าเป็นทุนเดิม สถานที่หรือที่โคจรไป บุคคลที่ควรคบหาสมาคมด้วย หรือกัลยาณมิตร แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ในการพัฒนา ทัศนคติ ค่านิยม ตลอดจน ความไม่ประมาท ในการพัฒนาตนเองอยู่เสมอด้วยสติสัมปชัญญะ มี ๖ ประการ ได้แก่ (๑) ความพร้อมเรื่องส่วนตัว ได้แก่ คุณสมบัติเฉพาะที่เป็นอุปนิสัยเดิมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน[14] คือ ความเป็นคนได้สั่งสมความดีมาแต่เดิม (ปุพเพกตปุญญตา) การมีความพร้อมในด้านต่างๆ คือ มีสติกปัญญา   (สชาติกปัญญา) ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น การวางตนให้พอเหมาะคือ รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาลเวลา รู้ชุมชนและรู้บุคคล เรื่องราวที่ตนไปเกี่ยวข้อง และต้องใช้อินทรีย์นั้น ๆ อย่างระมัดระวังรอบคอบ[15]  (๒) ความพร้อมด้านสถานที่ทำกิจกรรม หมายถึง การเว้นจากที่ อโคจรและไปที่สู่ที่โคจร หมายถึง การไปมาหาสู่ในสถานที่อันไม่เหมาะสม เช่นการไปมาหาสู่หญิงแพศยา หญิงโสเภณี หญิงหม้าย บัณเฑาะก์ โรงสุรา[16]ในปัจจุบันนี้ สำหรับเยาวชนไม่ควรไปบ่อยนัก ได้แก่ บรรดาร้านเล่นเกมส์ ร้านอินเตอร์เน็ต เพราะเป็นแหล่งสร้างความรุนแรงด้านความรู้สึกทางอารมณ์เป็นอย่างยิ่ง[17] แต่ควรไปในที่โคจร เช่น วัดเป็นสถานที่ทำบุญ โรงเรียนสถานศึกษาต่างๆ เป็นต้น  (๓) ความพร้อมด้านแหล่งความรู้ และแบบอย่างที่ดี (กัลยาณมิตร) ได้แก่ บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติที่จะสั่งสอน แนะนำ ชี้แจง ชักจูง ช่วยบอกช่องทาง หรือ เป็นตัวอย่างให้ผู้อื่นดำเนินไปในมรรคาแห่งการฝึกฝนอบรมอย่างถูกต้อง[18]  เช่น พระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก ครู อาจารย์ และท่านผู้เป็นพหูสูตรทรงปัญญา สามารถสั่งสอนแนะนำเป็นที่ปรึกษาได้ แม้จะอ่อนวันกว่า[19] นัยตรงกันข้าม ควรเว้นบุคคลผู้เป็นคนพาล มิใช่บัณฑิตเสีย  (๔) ความพร้อมด้านแรงจูงใจใฝ่รู้สร้างสรรค์ (ฉันทสัมปทา) ได้แก่ ความพร้อมด้านความพึงพอใจ โดยมีกุศลจิตเป็นพื้นฐาน รู้จักวิจารณญาณควบคุมต่ออินทรีย์ภายใน เมื่อได้รับสัญญาณจากอินทริย์ภายนอก เช่น เมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียงเป็นต้น แล้วปฏิบัติตามขั้นตอนการรับรู้อย่างมีสติสัมปชัญญะ คือ ให้มีความพอใจในกุศลการทำสุจริตกรรม ซึ่งมีฉันทะเป็นผู้นำเบื้องต้น และละเว้นอกุศลการทำทุจริตกรรมอันมีตัณหาเป็นตัวนำก่อน เมื่อลงมือปฏิบัติหน้าที่กิจการงานของตนเอง เพื่อความปลอดภัยจากตัวทุกข์นั่นเอง หรือ ให้มีทุกข์น้อยที่สุด ถ้าเราสามารถปฏิบัติตน ฝึกฝนตนให้มีฉันทสัมปทานี้[20] (๕) ความพร้อมด้านทัศนคติและค่านิยมให้รับแนวเหตุผล (ทิฐิสัมปทา) ได้แก่มีความถึงพร้อมด้วยความเห็นเข้าใจตามนัยเหตุผล หลักการที่เห็นสมข้อที่ถูกใจ ปัจจุบันนิยมเรียกว่า ค่านิยม รวมไปถึงอุดมการณ์ แนวทัศนะในการมองโลก ที่นิยมเรียกว่า โลกทัศน์และชีวทัศน์ต่าง ๆ ตลอดจนทัศนคติพื้นฐานที่สืบเนื่องจากความเห็น ความเข้าใจ และความใฝ่นิยมเหล่านั้น ซึ่งความเห็นนี้ ถือว่าสำคัญมากต่อการแสดงออกทางกาย และวาจา ถ้าคิดดีเห็นดีก็จัดเป็นกุศลกรรมบท ถ้าคิดชั่วก็จะพูดชั่วและทำชั่วเป็นอกุศลกรรมบท  (๖) ความพร้อมด้านสติความตื่นตัวในการทำกิจ (อัปปมาทสัมปทา) ได้แก่ ความไม่ประมาท ความเป็นอยู่อย่างมีสติ ความไม่เผลอ ความไม่เลินเล่อเผลอสติ ความไม่ปล่อยปละละเลย ความระมัดระวังที่จะไม่ทำเหตุแห่งความผิดพลาดเสียหาย และไม่ละเลยโอกาสที่จะทำเหตุแห่งความดีงามและความเจริญ เป็นคนรอบคอบ โดยเมื่อกล่าวสรุป คือ ไม่ประมาทใน ๔ สถาน คือ ในการละกายทุจริต ประพฤติกายสุจริต ในการละวจีทุจริตประพฤติวจีสุจริต ในการละมโนทุจริต ประพฤติมโนสุจริต และในการละมิจฉาทิฐิ แล้วประพฤติสัมมาทิฐิ[21]

 

      ๓) การพัฒนาจิต (จิตภาวนา)

       การพัฒนาจิต หมายถึง อธิจิตตสิกขาในไตรสิกขานั่นเอง ซึ่งหมายถึง การฝึกปรือในด้านคุณภาพและสมรรถภาพของจิต ได้แก่รวมเอาองค์มรรคข้อสัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ เข้ามา ว่าโดยสาระก็คือ การฝึกให้มีจิตใจเข้มแข็ง มั่นคง แน่วแน่ ควบคุมตนได้ดี มีสมาธิ มีกำลังใจสูง ให้เป็นจิตที่สงบ ผ่องใส เป็นสุขบริสุทธิ์ปราศจากสิ่งรบกวนหรือทำให้เศร้าหมองอยู่ในสภาพเหมาะแก่การใช้งานมากที่สุดโดยเฉพาะการใช้ปัญญาอย่าง ลึกซึ้ง และตรงตามความเป็นจริง๕๙ กล่าวโดยย่ออธิจิตตสิกขา ก็คือ หลักสมาธิ ความแน่วแน่แห่งจิตใจ โดยใช้หลักสมถะและวิปัสสนาเป็นสำคัญ ในการพัฒนาจิตเพื่อให้มีคุณภาพที่ดี จนสามารถละอวิชชาได้ตามลำดับ ดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า “สมถะที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมให้จิตเจริญ จิตที่เจริญแล้ว ย่อมละราคะได้ วิปัสสนาที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมให้ปัญญาเจริญ ปัญญาที่เจริญแล้ว ย่อมละอวิชชาได้”[22] การจะพัฒนาจิตใจให้เกิดความสำเร็จในด้านต่างๆ เช่น ให้มีกำลังที่เข้มแข็ง มีสุขภาพจิตที่ดี เป็นต้น ควรทราบถึง คุณสมบัติของจิตโดยสังเขป จากนั้น พึงทราบเป้าหมายในการพัฒนาจิต ดังต่อไปนี้

            (๑)  คุณสมบัติของจิต เมื่อกล่าวถึงคุณสมบัติของจิต ย่อมมีลักษณะที่พิเศษหลาย ประการ ได้แก่ ดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยาก ดิ้นรนไปมา เห็นได้ยาก ละเอียดยิ่งนัก เที่ยวไปไกล เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีรูปร่าง อาศัยอยู่ในถ้ำ[23]

            (๒) เป้าหมายในการพัฒนาจิต คือ ทำให้บุคคลที่ฝึกฝนพัฒนาจิตดีแล้ว ย่อมได้ถึงเป้าหมายได้ใน ๓ ลักษณะ ได้แก่  (๑) ด้านคุณภาพของจิต คือ ให้มีคุณธรรมต่าง ที่เสริมสร้างจิตใจให้ดีงาม เป็นจิตใจที่สูง ประณีต เช่น มีเมตตา มีความรัก ความเป็นมิตร มีกรุณา อยากช่วยเหลือ ปลดเปลื้องทุกข์ของผู้อื่น มีจาคะ คือ มีน้ำใจเผื่อแผ่ มีคารวะ มีความกตัญญู เป็นต้น (๒)  ด้านสมรรถภาพของจิต คือ ให้เป็นจิตที่มีความสามารถ เช่น มีสติดี มีวิริยะ คือ ความเพียร มีขันติ คือ อดทน มีสมาธิ คือ จิตตั้งมั่นแน่วแน่ มีสัจจะ คือ จริงจัง มีอธิษฐาน คือ เด็ดเดี่ยวแน่วแน่ต่อจุดหมายที่ทำ เป็นจิตใจที่พร้อมและเหมาะที่จะใช้งานโดยเฉพาะงานทางปัญญา คือ การคิดพิจารณาให้เห็นความจริงชัดเจนถูกต้อง (๓) ด้านสุขภาพของจิต คือ ให้เป็นจิตที่มีสุขภาพที่ดี มีความสุข สดชื่น ร่าเริงเบิกบานปลอดโปร่ง สงบ ผ่องใส พร้อมที่จะยิ้มแย้มได้ มีปีติ ปราโมทย์ ไม่เครียด ไม่กระวนกระวาย ไม่คับข้องใจ ไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง ไม่หดหู่โศกเศร้า เป็นต้น[24]

 

      ๔) การพัฒนาด้านปัญญา (ปัญญาภาวนา)

       ปัญญา หมายถึง ความรู้ทั่ว ปรีชาหยั่งรู้เหตุผล ความรู้เข้าใจชัดเจน ความรู้เข้าใจหยั่งแยกได้ในเหตุผล ดีชั่ว คุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น และรู้ที่จะจัดแจง จัดสรร จัดการ ความรอบรู้ในกองสังขารมองเห็นตามเป็นจริง”[25] ปัญญานั้น เป็นเครื่องวินิจฉัยสุตะ คือ ความรู้ที่เข้ามานั้นเป็นข้อมูลดิบ เป็นของดิบ ยังไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร มีคุณค่าอย่างไร จะเอาไปใช้อย่างไร ถ้าคนไม่มีปัญญา ความรู้นั้นก็เอามากกองไว้เฉย ๆ ไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร แต่คนที่มีปัญญาจะสามารถวินิจฉัยได้ เลือกเฟ้นได้ว่า ถ้าเราจะทำอะไรให้สำเร็จ      สักอย่างหนึ่ง จะต้องเอาความรู้นี้ไปใช้ไปทำอย่างไร ไปดัดแปลงอย่างไร เอาความรู้นั้นไปยักเยื้องใช้งานทำการแก้ไขปัญหาจัดทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จผลตามต้องการได้ ความรู้ที่เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ความรู้ที่สามารถสืบสาวเหตุปัจจัยของสิ่งต่าง ๆ ความรู้ที่สามารถคิด พิจารณาวินิจฉัยได้ เลือกเฟ้นกลั่นกรองได้ เชื่อมโยงประสานได้ ทำให้เอาสุตะหรือข้อมูลข่าวสารวิชาการต่าง ๆ ไปใช้งาน สามารถจัดสรร จัดการทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จได้ ความรู้อย่างนี้ เรียกว่า ปัญญา[26]การมีปัญญาที่พัฒนาแล้ว ได้แก่การได้ฝึกฝนอบรมตนเองให้มีปัญญารู้สิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง เช่น การมีปัญญาพิจารณารู้ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ตามความเป็นจริงปราศจากการยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา[27]

       ส่วนความหมายปัญญาในแง่ของอธิปัญญาสิกขา หมายถึง การฝึกปรือปัญญาให้เกิดความรู้ ความเข้าใจสรรพสิ่ง ทั้งปวงตามความเป็นจริง จนกระทั่งหลุดพ้น มีจิตใจเป็นอิสระ ผ่องใส เบิกบานโดยสมบูรณ์ ได้แก่รวมเอาองค์มรรค ข้อสัมมาทิฐิ และสัมมาสังกัปปะ สองอย่างแรกเข้ามา ว่าโดยสาระก็คือ การฝึกอบรมให้เกิดปัญญาบริสุทธิ์ที่รู้แจ้งชัดตรงตามสภาพความเป็นจริง ไม่เป็นความรู้ ความคิด ความเข้าใจที่ถูกบิดเบือนเคลือบคลุม ย้อมสี อำพราง หรือ พร่ามัว เป็นต้น เพราะอิทธิพลของกิเลสมี อวิชชาและตัณหาเป็นผู้นำที่ครอบงำอยู่ การฝึกปัญญาเช่นนี้ต้องอาศัยการฝึกจิตให้บริสุทธิ์เป็นพื้นฐาน แต่ในเวลาเดียวกัน เมื่อปัญญาที่บริสุทธิ์รู้เห็นตามเป็นจริงนี้เกิดขึ้นแล้ว ก็กลับช่วยให้จิตนั้น สงบ มั่นคง บริสุทธิ์ ผ่องใสแน่นอนยิ่งขึ้น[28] เมื่อกล่าวโดยย่ออธิปัญญาสิกขา ก็คือ ปัญญา ความรอบรู้ ความเข้าใจตามความจริงนั่นเอง

       ปัญญามีหลายชื่อด้วยกัน ปัญญา ที่เป็นตัวความรู้ในสังขารนั้น เป็นสิ่งที่จะต้องทำให้เกิดให้มีขึ้น ต้องฝึกปรือ ทำให้เจริญเพิ่มพูนขึ้นไปโดยลำดับ ปัญญาจึงมีหลายขั้นหลายระดับ และมีชื่อเรียกต่างๆ ตามขั้นตอนของความเจริญบ้าง ตามทางเกิดของปัญญานั้นบ้างตามลักษณะเฉพาะของปัญญาชนิดนั้นบ้าง อันจะพึงศึกษา ดังจะยกตัวอย่างชื่อของปัญญามาแสดง เช่น เรียกว่า ปริญญา ญาณ วิชชา อัญญา อภิญญา พุทธิ โพธิ สัมโพธิ เป็นต้น[29]

       ด้วยเหตุที่ปัญญา มีความหมายและสาระสำคัญดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ พึงทราบถึงความรู้ที่จำแนกโดยพัฒนาการทางปัญญา ประเภทของการเกิดขึ้นแห่งปัญญา ความรู้ที่จำแนกโดยกิจกรรมและผลงานของมนุษย์ ความรู้ชุดเบ็ดเตล็ด ความถูกต้องของความรู้ เหตุปัจจัยให้เกิดปัญญา มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

                        ๑) ความรู้ที่จำแนกโดยพัฒนาการทางปัญญา ความรู้ที่อยู่ในขอบเขตของการฝึก อบรม สามารถแบ่งตามลำดับของการพัฒนาการหรือ ความเจริญทางปัญญา มี ๓ ทาง ได้แก่ (๑) สัญญา ความกำหนดได้หมายรู้ ได้แก่ ความรู้ที่เกิดจากการกำหนดหมาย หรือจำได้หมายรู้ ซึ่งบันทึกไว้เป็นแบบเทียบเคียง และเป็นวัตถุดิบของการรู้และการคิดต่อ ๆ ไป สัญญาที่เกิดขึ้นตามปกติในกระบวนการรับรู้อาจจะแตกต่างกันได้เป็นความรู้หลายระดับ ตั้งแต่รู้คลุมเคลือไปจนถึงรู้ชัดเจน ตั้งแต่บางแง่ถึงรู้สมบูรณ์ รู้พลาดถึงรู้ถูกต้อง ซึ่งเป็นเพียงเรื่องการรับรู้และไม่รู้เท่านั้น จึงเป็นเรื่องของการพัฒนาความรู้โดยตรง  (๒) ทิฐิ ความเห็น หมายถึง ความเข้าใจโดยนัยเหตุผล คือ ความรู้ที่ได้ข้อสรุปอย่างใดอย่างหนึ่ง และมีความยึดถือไว้กับตัวตน อาจเป็นความรู้ที่มาจากแหล่งภายนอก แต่ได้คิดกลั่นกรองยอมรับ หรือ สรุปเข้ามาเป็นของตนเอง โดยพระสารีบุตรอธิบายไว้ในมาคันทิยสูตร แสดงความหมายของคำว่า “ทิฐิ” ว่าหมายถึง สัมมาทิฐิ เท่านั้น มี ๑๐ ประการ ได้แก่ ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่บูชาแล้วมีผล การเซ่นแล้วมีผล ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วมีอยู่ โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามีคุณ บิดามีคุณ สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมีอยู่ สมณะพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบรู้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยตนเอง แล้วสอนให้ผู้อื่นรู้แจ้งมีอยู่ในโลก[30] (๓) ญาณ คือ ความรู้  ญาณ หมายถึง ความหยั่งรู้ เป็นไวพจน์หนึ่งของปัญญา ความหมายเฉพาะในปัญญาที่ทำงานออกผลเป็นเรื่อง ๆ ญาณคือความรู้บริสุทธิ์ที่ผิดสว่างขึ้นมา เป็นความรู้ที่มองเห็นสภาวะของสิ่งนั้น ๆ โดยไม่มีความรู้สึกของตนหรือความยึดถือตัวตนเข้าไปเกี่ยวข้อง ญาณมีหลายระดับ บางครั้งเกิดขึ้นโดยอาศัยความคิดเหตุผล และไม่ขึ้นต่อความคิดเหตุผล แต่ออกไปสัมผัสกับสภาวะที่เป็นอยู่จริง[31]

       สัญญาเป็นวัตถุดิบของความรู้และความคิดต่างๆ สัญญาจึงเป็นพื้นฐานให้เกิด ทิฐิ และญาณ เมื่อทิฐิ ญาณ เกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมมีการหมายรู้ตามทิฐิ หรือ ญาณนั้น จึงเกิดเป็นสัญญาใหม่ ซึ่งเป็นวัตถุดิบของความรู้และความคิดอื่นต่อไปอีก ข้อแตกต่างระหว่างทิฐิและญาณคือทิฐิทำให้เกิดสัญญาที่ผิด พลาด ส่วนญาณจะช่วยให้เกิดสัญญาที่ถูกต้อง และ แก้สัญญาที่ผิดพลาดได้ ดังนั้น เมื่อกล่าวถึง สัญญา ทิฐิ และญาณแล้ว ย่อมมีแหล่งให้เกิด ให้อาศัย รวมเรียกหลัก ๓ อย่างนี้ว่า ทางเกิดของปัญญาก็ได้ ดังต่อไปนี้

            ๒) ประเภทของการเกิดขึ้นแห่งปัญญา ประเภทหรือแหล่งความรู้ ๓ อย่างที่กล่าวมา คือ สัญญา ทิฐิและญาณ นั้น มีความสัมพันธ์กับการเกิดปัญญา ๓ ประการ คือ (สุตมยปัญญา) คือ ปัญญาที่เกิดจากการคิดพิจารณาหาเหตุผลด้วยตนเอง[32] (จินตมยปัญญา) คือ ปัญญาที่เกิดจากการเล่าเรียนหรือถ่ายทอดต่อกันมา (ภาวนามยปัญญา) คือ ปัญญาที่เกิดจากการลงมือปฏิบัติฝึกหัดอบรม[33] ในการทำกิจกรรมใด ๆ ของมนุษย์ จะต้องอาศัย ความรู้ ความเข้าใจ เพื่อจะได้พัฒนาให้ถูกต้องเหมาะสม และเกิดผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ จึงสรุปความรู้ในชุดจำแนกโดยกิจกรรมและผลงานของมนุษย์ เป็นลำดับ

                        ๓) ความรู้ที่จำแนกโดยกิจกรรมและผลงานของมนุษย์ ความรู้ชุดนี้เป็นความรู้ที่เนื่องด้วยการปฏิบัติการทางสังคม เช่น การสื่อสาร ถ่ายทอด แสวงหา เอ่ยอ้าง นับถือ และที่เป็นมรดกทอดต่อกันสืบ ๆ มาเป็นสมบัติของมนุษย์ มี ๓ ประการ[34]ได้แก่ ๑) สุตะ (หรือ สุติ) ความรู้ที่ได้สดับ เล่าเรียน หรือถ่ายทอดกันมามี ๒ ได้แก่ (๑) ความรู้ที่ได้ด้วยการสดับตรับฟัง เช่น ฟังพระเทศน์ แม้แต่การศึกษา จากตำรา คัมภีร์พระไตรปิฎก เป็นต้น (๒) ความรู้ที่บางศาสนา ถือว่าได้รับการเปิดเผยแจ้งดลใจ จากองค์บรมเทพ เช่น ศาสนาพราหมณ์ที่ถือว่าตนได้รับถ่ายทอดโดยตรงจากพระพรหม ความรู้นี้ เรียกว่า สุติ  ๒) ทิฐิ คือ ความเห็น ทฤษฎี ลัทธิ ความเชื่อถือต่าง ๆ ได้แก่ ความรู้ที่ได้ลงข้อสรุปให้แก่ตนอย่างใดอย่างหนึ่ง ประกอบด้วยความยึดถือผูกพันกับตัวตน จนเกิดเป็นสำนักเพื่อเผยแผ่ลัทธิความเชื่อของตนเอง  ๓) ญาณ คือ ความรู้ ความหยั่งรู้ ความรู้บริสุทธิ์ ความรู้ตรงตาม มลภาวะ หรือปัญญาที่ทำงานออกผลเป็นเรื่อง ๆ หรือมองเห็นตลอดสายในด้านหนึ่ง ๆ ญาณเป็นความรู้ระดับสุดยอดของปัญญามนุษย์ และเป็นผลสำเร็จสำคัญของมนุษย์ ด้วยเหตุว่า ญาณ สามารถผลักดันให้มนุษย์สำเร็จขั้น โพธิญาณ ซึ่งหมายถึง ความตรัสรู้ เช่น การที่ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เราเรียกว่า สัมมาสัมโพธิญาณ เป็นศัพท์เฉพาะพระองค์ นอกจากนี้ ยังมีวิธีจำแนกความรู้อย่างอื่นอีก จัดเป็นข้อปลีกย่อยลงไป คือ นำความรู้หมวดต่าง ๆ ในเบื้องต้นที่กล่าวแล้วนั้น มาคลุกเคล้าเข้าหมวดกัน

            ๔) ความรู้ชุดเบ็ดเตล็ด ความรู้ในชุดนี้รวมแล้ว มี ๕ ลักษณะ ได้แก่ (๑) ความรู้ที่ได้จากการบอกกล่าว เล่าลือ ตรับฟัง เล่าเรียน ถ่ายทอด (๒) ความรู้ที่ได้จากการคิดเหตุเหตุผล คือ ตรรก อ

หมายเลขบันทึก: 481730เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2012 22:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 20:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นมัสการครับ

I think the article above is not completely printed.

I would like to read the rest of it.

Would the venerable look into this please?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท